ป.ป.ช.เสนอคณะรัฐมนตรียกระดับการป้องกันการทุจริตและเกณฑ์การประเมิน ITA แบบใหม่ "ยิ่งเปิดเผย ยิ่งโปร่งใส"

Last updated: 2 ก.พ. 2564  |  6934 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ป.ป.ช.เสนอคณะรัฐมนตรียกระดับการป้องกันการทุจริตและเกณฑ์การประเมิน ITA แบบใหม่ "ยิ่งเปิดเผย ยิ่งโปร่งใส"

คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นชอบให้มีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐยกระดับ ITA ทั่วประเทศ

        คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ในคราวการประชุมครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอรายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจเสนอมาตรการ ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ รวมทั้งการจัดให้มีมาตรการ กลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ

        สำหรับรายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็นการสรุปผลการประเมินฯ ในมิติที่มีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายพัฒนาการบริหารจัดการภาครัฐทั้งในเชิงภารกิจและในเชิงพื้นที่ โดยวิเคราะห์เจาะลึกให้เห็นถึงจุดอ่อนหรือข้อผิดพลาดสำคัญที่ส่งผลให้ผลการประเมินในภาพรวมระดับประเทศยังไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมถึงถอดบทเรียนต้นแบบการบริหารจัดการของจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งประสบความสำเร็จในการยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐภายในจังหวัด เพื่อนำไปสู่การให้ข้อเสนอแนะเชิงกลยุทธ์ต่อคณะรัฐมนตรี ในการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือแก่หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศให้สามารถพัฒนาการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยข้อเสนอแนะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีถึงคณะรัฐมนตรี สรุปได้เป็น 7 ประเด็นหลัก ดังนี้

1) เสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประเมิน ITA ของหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ และรายงานสรุปผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

2) คณะรัฐมนตรี ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรเร่งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาการเปิดเผยข้อมูลและบริการสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565 เป็นหลัก โดยกำหนดนโยบาย โครงการ กิจกรรม การกำกับควบคุมหรือการกำหนดตัวชี้วัดการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลและบริการสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน เนื่องจากผลการประเมิน ITA ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า ค่าคะแนนจากตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่ฉุดรั้งการบรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ คือ ค่าคะแนนของตัวชี้วัดที่ 9 การเปิดเผยข้อมูล และตัวชี้วัดที่ 10 การป้องกันการทุจริต

3) คณะรัฐมนตรีและผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดตัวชี้วัดประเมินผลการปฏิบัติราชการ ควรกำหนดตัวชี้วัดการกำกับดูแลการประเมิน ITA ของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลการประเมิน ITA ในแต่ละขั้นตอน และกลั่นกรองข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะให้มีความถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การประเมินที่กำหนด อันจะยังผลให้แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ สามารถบรรลุเป้าหมายตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ได้ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เนื่องจากในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้บริหารของหน่วยงานหลายแห่ง ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลและบริการภาครัฐที่ได้เผยแพร่ไว้ทางเว็บไซต์ของหน่วยงานก่อนส่งคำตอบเข้าสู่ระบบ ITAS

4) คณะรัฐมนตรี ผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผู้บริหารสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ควรสนับสนุนการออกแบบโครงสร้างของเว็บไซต์ และส่วนต่อประสานกับผู้ใช้งานเว็บไซต์ (user interface) ที่เหมาะสมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงข้อมูลและบริการสาธารณะผ่านระบบสารสนเทศที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และอำนวยความสะดวกให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ข้อมูลภาครัฐในมิติของการพัฒนาและการป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ (machine readable) ตลอดจนเพื่อประหยัดงบประมาณในการจัดจ้างออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งที่มีความกระจัดกระจายไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ควรศึกษาแนวทางการพัฒนาเครื่องแม่ข่าย (server) ระบบเครือข่าย (network) พร้อมซอฟต์แวร์ (software) ที่จำเป็นในระดับจังหวัด เพื่อรองรับเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในจังหวัด ซึ่งจะช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลภาครัฐมีความเสถียรมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้เป็นจำนวนมาก

5) คณะรัฐมนตรี ผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผู้บริหารสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ควรกำหนดกิจกรรมเสริมสร้างแรงจูงใจเชิงบวกในการพัฒนาและยกระดับการเปิดเผยข้อมูลและบริการภาครัฐผ่านระบบสารสนเทศ เพื่อเป็นการมอบสิ่งจูงใจและสร้างต้นแบบในการพัฒนาให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนกำหนดมาตรการให้หน่วยงานที่มีผลการประเมิน ITA ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ต้องเข้ารับการอบรมและจัดทำแผนการพัฒนาปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเพื่อยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสให้ดียิ่งขึ้น

6) คณะรัฐมนตรีและองค์กรสื่อของรัฐ ควรสนับสนุนงบประมาณในการผลิตสื่อออนไลน์หรือรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาในการเสริมสร้างองค์ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ขององค์กรหรือประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้ประโยชน์จากระบบสารสนเทศในการเปิดเผยข้อมูลและให้บริการประชาชน เพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจ องค์ความรู้ และสร้างความตระหนักให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนได้เห็นถึงประโยชน์ของการเปิดเผยข้อมูลและการรับบริการภาครัฐผ่านระบบสารสนเทศ

7) ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการกำกับดูแลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการส่วนภูมิภาค และกำกับดูแลการปฏิบัติราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท ควรกำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลและบริการสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานอย่างน้อยตามที่กฎหมายกำหนด

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้