Last updated: 22 ก.พ. 2563 | 2538 จำนวนผู้เข้าชม |
ศาลรัฐธรรมนูญนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย "ยุบพรรคอนาคตใหม่" และสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง คณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ 10 ปี
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย พรรคอนาคตใหม่ กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191,200,000 บาท เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หรือไม่
โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งนายสมพล พรผล ผอ.สำนักกิจการพรรคการเมือง เป็นผู้แทนเข้ารับฟังคำวินิจฉัย ส่วนพรรคอนาคตใหม่ ไม่ส่งตัวแทนเข้ารับฟังคำวินิจฉัย
นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการรัฐธรรมนูญ เริ่มต้นอ่านคำวินิจฉัยว่า คดีนี้กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเพื่อให้มีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยศาลเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องไต่สวนพยานบุคคล แต่เพื่อประโชน์แห่งการพิจารณาให้พยานบุคคลทั้ง 17 ปาก จัดทำบันทึกถ้อยคำหรือความเห็นยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลกำหนดประเด็นวินิจฉัยไว้ 4 ประเด็น ดังนี้ 1 ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องตามพรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 หรือไม่ 2 มีเหตุให้ยุบพรรคตามพรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 หรือไม่ 3 คณะกรรมการบริหารพรรคจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือไม่ และ 4 ผู้ที่เคยเป็นกรรมการบริหารพรรคที่ถูกสั่งยุบพรรค จะจดทะเบียนก่อตั้งพรรคใหม่ภายในเวลา 10 ปีหรือไม่
โดยข้อเท็จจริงเบื้องต้นตลอดจนความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและพยานหลักฐานต่างๆ พบว่า พรรคอนาคตใหม่ นำส่งงบการเงินประจำปี พ.ศ.2561 และนำส่งงบการเงินต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง 2 ครั้ง ในวันที่ 3 ตุลาคม 2561 และวันที่ 31 ธันวาคม 2561 โดยระบุว่ามีรายได้ 71 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 72.6 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ 1.4 ล้านบาท ต่อมาจึงทำสัญญากู้เงิน 161.2 ล้านบาท โดยรับเงินต้นเรียบร้อยและยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี กำหนดส่งดอกเบี้ยทุกเดือน และต่อมามีการชำระเงินกู้บางส่วนรวม 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 4 มกราคม 2562 จำนวน 14.2 ล้านบาท ครั้งที่ 2 วันที่ 21 มกราคม 2562 โดยชำระคืนเป็นเงินสดจำนวน 8 ล้านบาท
และครั้งที่ 3 วันที่ 29 มกราคม 2562 ชำระคืนโดยโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ สาขาไทยซัมมิท จำนวน 50 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 72 ล้านบาท ต่อมาพรรคอนาคตใหม่ ทำสัญญากู้เงินจากนายธนาธร อีกจำนวน 30 ล้านบาท โดยในวันทำสัญญาได้รับเงินต้นไปจำนวน 2.7 ล้าน ทำสัญญาชำระดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปีของต้นเงินกู้ ซึ่งนายธนาธร ยอมรับว่ามีการแก้สัญญาที่กำหนดให้ส่งดอกเบี้ยทุกเดือนมาเป็นส่งดอกเบี้ยทุกปี นอกจากนี้นายธนาธร ยังบริจาคเงินจำนวน 8.5 ล้านบาท ให้กับพรรคอนาคตใหม่ ในส่วนของการชำระคืนเงินกู้พบว่า มีการจ่ายดอกเบี้ยพร้อมเบี้ยปรับ 5.8 ล้าน และการชำระดอกเบี้ยพร้อมเบี้ยปรับ 1.4 ล้านบาท
นายวรวิทย์ กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่ 1 กกต.อำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้ยุบพรรคการเมือง ตามพรป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 หรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าตาม พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดว่าเมื่อผู้ร้องมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรคการเมืองกระทำความผิด สามารถยื่นศาลสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น หรือเมื่อความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองหรือเลขาธิการกกต. ให้รวบรวมขอเท็จจริง โดยระเบียบกกต.ข้อ 54 วรรคหนึ่ง และ ข้อ 55 วรรคหนึ่ง กำหนดหลักเกณฑ์รองรับไว้ ข้อโต้แย้งของพรรคอนาคตใหม่ ที่ว่า คณะกรรมการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วว่าการกู้ยืมเงินของพรรคไม่มีมูลความผิด
การที่นายทะเบียนพรรคการเมืองตั้งฐานความผิดเสนอต่อกรรมการกกต.ให้มีมติยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลเห็นว่า ความเห็นของกรรมการกกต.มีอิสระไม่ผูกพันกับคณะกรรมการไต่สวน สืบสวน และวินิจฉัย ขณะที่การดำเนินคดีตามคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา ก็เสร็จสิ้นจากคณะกรรมการไต่สวนฯ แล้ว จึงยังไม่ถึงขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหา ประกอบกับการแจ้งข้อกล่าวหาเป็นกระบวนการดำเนินคดีอาญา ซึ่งแยกเป็นอิสระต่อกันจากกระบวนการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค ข้อโต้แย้งของพรรคอนาคตใหม่จึงฟังไม่ขึ้น
นายวรวิทย์ อ่านคำวินิจฉัยต่อไปว่า การที่ผู้ถูกร้องโต้แย้งว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยคดีนี้ ศาลเห็นว่า พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และพรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่วินิจฉัยคดีได้ ข้อโต้แย้งของพรรคอนาคตใหม่ฟังไม่ขึ้น และเป็นที่ยุติตามที่ กกต.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการตามกระบวนการพิจารณา ตั้งแต่การรับคำร้องในวันที่ 25 ธันวาคม 2562 และมีการประชุมองค์คณะตุลาการอย่างต่อเนื่องรวม 11 ครั้ง จนกระทั่งนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลได้ใช้เวลาพิจารณาคดีอย่างละเอียดถี่ถ้วนนานพอสมควร โดยให้ความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา รวมระยะเวลา 71 วัน จึงไม่ได้เร่งรัดหรือรวบรัด
นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยในประเด็นที่ 2 ว่ามีเหตุยุบพรรคผู้ถูกร้องตามมาตรา 92 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 45 บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพบุคคลในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมือง ตามวิถีทางประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารพรรคการเมือง ให้เป็นไปโดยเปิดเผยตรวจสอบได้ ให้สมาชิกมีส่วนร่วม กำหนดนโยบาย ส่งผู้สมัคร กำหนดมาตรการ ให้สามารถดำเนินการกิจการพรรคได้โดยอิสระ ไม่ถูกครอบงำหรือถูกบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกชี้นำ ครอบงำ และการให้กำหนดมาตรการให้สมาชิก ไม่กระทำฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดหมายกำหนด กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง บทบัญญัติดังกล่าว รัฐธรรมนูญมุ่งหมายเพื่อให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง มีการบริหารกิจการภายในของพรรคเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ภายในพรรคการเมืองโดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมืองสามารถปฏิบัติหน้าที่ ดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการพรรคนั้น เพื่อป้องกันมิให้พรรคการเมือง เป็นธุรกิจการเมือง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งอาศัยความได้เปรียบทางการเงินมาเป็นผู้บงการพรรคแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียวได้ รัฐสภาจึงตราพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองขึ้น เป็นกฎหมายตามมาตรา 45 บัญญัติไว้
ส่วนมาตรา 66 ของพ.ร.ป.พรรคการเมืองที่ห้ามบุคคล บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้พรรคการเมืองเกิน 10 ล้านบาทต่อปี บทบัญญัติดังกล่าวต้องการควบคุมพรรคการเมืองรับบริจาคเงินจากบุคคล เป็นมาตรการป้องกันไม่ให้พรรค บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดอาศัยความได้เปรียบทางการเงินมาเป็นนายทุนพรรคการเมือง เพื่อบงการหรือมีอิทธิพลครอบงำและชี้นำ การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามประสงค์ของตนแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียวได้ ทำให้การบริหารกิจการบ้านเมืองไม่เป็นไปโดยอิสระ ทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลกันภายในพรรคไม่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง อันเป็นการทำลายหลักความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคการเมืองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 45 และส่งผลทำให้พรรคการเมืองถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบด้วยกฎหมายของผู้บงการ หรือผู้มีอิทธิพลเหนือพรรคการเมือง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมการรับบริจาคของพรรคการเมืองเพื่อสร้างเสริมให้พรรคการเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคการเมืองเพื่อให้ประชาชนมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ
ประเด็นที่ต้องพิจารณามีว่าการที่พรรคการเมืองรับบริจาคทรัพย์เงินทรัพย์ สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันจะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 พ.ร.ป.พรรคการเมือง มีความหมายแค่ไหนเพียงไร เห็นว่า มาตรา 72 มีข้อห้าม 2 กรณี
1.พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำการฝ่าฝืน รับบริจาคเงิน พรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นทั้งการได้มาและวิธีการได้มาซึ่งเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เปิดเผย
2.พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง กระทำการฝ่าฝืนรับบริจาค เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่ง ที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการได้มา ที่มีแหล่งที่มาจากการกระทำผิดกฎหมายหรือเป็นเงินสกปรก การฟอกเงิน การค้าของเถื่อน ค้ามนุษย์ การทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งการได้มาทั้ง 2 กรณี ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเท่าใด ย่อมถือว่าเป็นการกระทำมิชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ พ.ร.ป.มาตรา72 เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ อันจะทำให้พรรคการเมืองกลายเป็นผู้สนับสนุน หรือมีส่วนร่วมช่วยเหลือกระทำความผิดไปด้วยมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ที่มีต่อระบบการเมืองของประเทศไทย เป็นมาตรการสำคัญในการเสริมสร้างระบบการเมืองของไทยให้มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือของประชาชน สอดคล้องมาตรา 77 วรรรค 1 ของกฎหมายเดียวกันที่กำหนดมาตรการ วิธีการให้พรรคการเมืองปฏิบัติ เพื่อให้ การบริจาคของพรรคการเมืองเป็นไปตามกฎหมายเปิดเผยและตรวจสอบได้
ส่วนพรรคการเมืองสามารถกู้ยืมเงินได้หรือไม่เห็นว่า การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองต้องอาศัยรายได้ โดยกำหนดแหล่งที่มาไว้ ในมาตรา 62 ของพ.ร.ป.พรรคการเมือง ดังนั้นเงินส่วนใดที่พรรคการเมืองนำมาใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ที่ไม่มีแหล่งที่มาตามกฎหมายระบุไว้ ย่อมถือว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบ ด้วยมาตรา 62 พ.ร.ป.พรรคการเมือง ถึงแม้ว่าไม่ได้ห้ามการกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองโดยชัดเจน แต่ไม่ได้รับรองว่าให้กระทำได้ ประกอบกับพรรคการเมือง เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน เงินกู้ แม้มิได้เป็นรายได้ แต่เป็นรายรับและเงินทางการเมือง การดำเนินการเกี่ยวกับการได้มาและการใช้จ่ายเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจึงจะทำได้ภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น
เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อต้องการกำหนดมาตรการทางกฎหมาย กำกับให้พรรคการเมืองตรวจสอบได้และให้พรรคการเมืองดำเนินการโดยอิสระ ไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด การกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองจึงต้องสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ปัญหามีว่าการรับบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ประโยชน์อื่นใดตามมาตรา 72 มีความหมายอย่างไร เห็นว่า เมื่อพิจารณานิยามคำว่าบริจาคตามมาตรา 4 ของกฎหมายเดียวกัน หมายรวมถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดตามที่กฎหมายกหนด ส่วนคำว่าประโยชน์อื่นใด หมายถึงการให้ทรัพย์สิน บริการ ส่วนลด โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า และการทำให้หนี้ที่พรรคการเมืองเป็นหนี้สิ้นไปด้วย ซึ่งการที่กฎหมายใช้คำว่าให้หมายความรวมถึงในการนิยามความหมาย ของคำในกฎหมาย ย่อมมีความหมายรวมถึงสิ่งอื่น นอกจากสิ่งที่จำกัดความหรือให้ความหมายไว้ด้วย
เพราะฉะนั้นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง ย่อมความหมายรวมถึงการกระทำที่มีลักษณะทำนองเดียวกับการให้บริการ หรือการให้ส่วนลด หรือว่ามีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามปกติทาง การค้า และทำให้หนี้ของพรรคการเมืองลดลงหรือสิ้นไป หรือการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง ที่ไม่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ ไม่ต้องการออกค่าใช้จ่าย ซึ่งปกติต้องจ่าย อันมีลักษณะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ดังนั้น การให้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ยโดยไม่ปกติทางกรค้า หรือการทำให้หนี้พรรคการเมืองลดลง หรือการได้เงิน หรือผลประโยชน์อื่นใด ที่ไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายที่ปกติต้องจ่าย ย่อมถือว่าเป็นประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง ตามมาตรา 4 ต้องอยู่ภายใต้เจตนารมณ์มาตรา 45 วรรค 2 และอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์เงื่อนไขการบริจาค ตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองมาตรา 66 และมาตรา 72 ด้วยเหตุนี้คำว่าบริจาค ตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองและประโยชน์อื่นใดของพ.ร.ป.พรรรคการเมือง จึงมีความหมายเฉพาะตามกฎหมายนี้
เพื่อกำหนดสิ่งที่อยู่ในขอบข่ายบังคับแห่งกฎหมายนเรื่องนี้และเป็นไปตามวัตถุประสงค์กฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการควบคุมการสนับสนุนทางการเมืองให้เป็นไปโดยพอเหมาะ พอควร แก่การดำเนินการ โดยกำหนดให้พรรคมีระบบทางการเงิน บัญชี รวมทั้งรายได้ของพรรคที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ คุ้มครองหลักประชาธิปไตยภายในพรรค และป้องกันไม่ให้บุคคลใดอาศัยพรรคเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ส่วนตน หรืออาศัยความได้เปรียบทางการเงิน มาเป็นผู้บงการ หรือมีอิทธิพลครอบงำ ชี้นำกิจการของพรรคการเมืองแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียวได้ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฎหมายงบการเงินประจำปี 2561 ของพรรคอนาคตใหม่ ตั้งแต่ 3 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2561 ที่ยื่นต่อกกต.ที่ระบุว่ามีรายได้ จากเงินทุนประเดิม 1,067,124 บาท รายได้รวม 7,173,168 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายรวม 72,663,705 บาท ค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ 1,490,537บาท แต่พรรคกลับทำสัญญากู้เงินจากนายธนาธร รวม 2 ฉบับ รวม 191.2 ล้านบาท แต่การคิดอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า ถือเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองบรรดาที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้
แม้พรรคอนาคตใหม่ จะชำระหนี้เงินกู้บางส่วนให้แก่นายธนาธร หลายครั้ง แต่การชำระคืนครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562 เป็นเงินสดจำนวนเงิน 14 ล้านบาท ภายหลังที่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินเพียง 2 วัน ถือเป็นการผิดปกติวิสัย นอกจากนี้สัญญากู้ยืมเงิน ฉบับลงวันที่ 11 เมษายน 2562 ซึ่งมีวงเงินกู้จำนวน 30 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ปี แต่วันทำสัญญา พรรคอนาคตใหม่ กลับรับเงินกู้เพียง 2.7 ล้านบาท การทำสัญญากู้เงินฉบับเพิ่มเติมโดยที่ยังมีหนี้เงินกู้ค้างชำระอยู่ไม่เป็นไปตามปกติวิสัย การทำสัญญาเงินกู้ดังกล่าวจึงลักษณะที่มีข้อตกลงในสัญญา และพฤติการณ์ในการเอื้อประโยชน์ ช่วยเหลือพรรคอนาคตใหม่ เป็นกรณีพิศษไม่เป็นปกติในทางการค้าและไม่เป็นไปตามปกติวิสัยในการให้กู้เงิน และการชำระหนี้เงินกู้ยืมและการคิดดอกเบี้ย ก็ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้าสำหรับการกู้ยืมเงินที่ไม่มีหลักประกัน ถือเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคอนาคตใหม่ บรรดาที่สามารถคำนวนเป็นเงินได้ และเมื่อรวมประโยชน์อื่นใดที่พรรครับบริจาค กู้ยืมจำนวน 191.2 ล้านบาท กับเงินที่นายธนาธรบริจาคให้กับพรรคเมื่อปี 2562 จำนวน 8.5 ล้านบาท ย่อมชัดแจ้งว่าเป็นกรณีการรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปี ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 66 วรรคสอง
จากข้อเท็จจริงพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นว่าการที่นายธนาธรให้เงินกู้พรรคอนาคตใหม่ เป็นการบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด และการที่นายธนาธรซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค ให้พรรคกู้ยืมเงินจำนวนมาก กก.บห.พรรคอนาคตใหม่ ควรที่จะรู้ว่าการเป็นหนี้จำนวนมากต่อบุคคลใด ย่อมก่อให้เกิดการครอบงำ ชี้นำโดยบุคคลที่เป็นเจ้าหนี้ อาศัยอำนาจแห่งมูลหนี้ ที่จะเรียกให้พรรคชำระหนี้ หรืองดเว้นการอันใดตามสัญญาก็ได้ ทั้งยังก่อให้เกิดความได้เปรียบทางการเเงิน มาเป็นผู้บงการพรรคแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียว อันส่งผลให้พรรคการเมืองเป็นธุรกิจการเมือง ดังนั้นการกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่ จึงมีเจตนาหลีกเลี่ยงการรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นตามมาตรา 66 เมื่อการรับบริจาคดังกล่าวต้องห้ามตามมาตรา 66 จึงเป็นการรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาชอบมิด้วยกฎหมายตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองมาตรา 72 กรณีจึงมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคอนาคตใหม่กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 อันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองตามตรา 92 วรรสอง ประกอบวรรคหนึ่ง (3)
ต่อมานายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยในประเด็นที่ 3 ว่า เมื่อศาลตัดสินให้ยุบพรรคอนาคตใหม่แล้ว ต้องเพิกถอนสิทธิสมัครของกรรมการบริหารพรรคการเมือง ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 2 มกราคม 2562 และวันที่ 11 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่ทำสัญญากู้เงินอันเป็นการกระทำความผิดจนเป็นเหตุให้ถูกยุบพรรค โดยกำหนดระเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี ซึ่งเหมาะควรกับความผิดที่ได้ ฝ่าฝืนพรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 72 เรื่องห้ามบริจาคเงินให้พรรคการเมืองเกินกว่า 10 ล้านบาทต่อปี และห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยกรรมการบริหารของพรรคที่ถูกยุบ จะจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่อีกไม่ได้ภายในเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค
ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่
อ่านต้นฉบับ คําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
18 ส.ค. 2567