7 วันอันตราย รวม 3 วัน เสียชีวิตแล้ว 182 ราย

Last updated: 30 ธ.ค. 2561  |  3071 จำนวนผู้เข้าชม  | 

7 วันอันตราย รวม 3 วัน เสียชีวิตแล้ว 182 ราย

ศปถ.ดูแลความปลอดภัยเส้นทางสายหลัก – สายรอง บังคับใช้กฎหมายและมาตรการทางสังคมอย่างเข้มข้น

ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2561 เกิดอุบัติเหตุ 643 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 83 ราย ผู้บาดเจ็บ 667 คน ดูแลเส้นทางสายหลัก – สายรอง เส้นทางโดยรอบสถานที่จัดงานอย่างต่อเนื่อง คุมเข้มการสัญจรทางน้ำให้ความมีความปลอดภัย มุ่งเน้นดำเนินมาตรการ “ดื่มแล้วขับ จับยึดรถ” เพิ่มความเข้มข้นด่านชุมชนเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุบัติเหตุ (อำเภอสีแดงและสีส้ม) เพื่อสร้างความปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชนในทุกพื้นที่

วันที่ 30 ธันวาคม 2561 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่สามของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 643 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 83 ราย ผู้บาดเจ็บ 667 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 40.90 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 27.22 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 74.74 รถปิคอัพ 11.66 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 69.36 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 42.15 ถนน ใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 31.88 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 27.68 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,050 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 66,404 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 859,386 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 165,093 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 45,652 ราย ไม่มีใบขับขี่ 42,649 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ บุรีรัมย์ (23 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ขอนแก่น และสกลนคร (จังหวัดละ 6 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ บุรีรัมย์ และลำปาง (จังหวัดละ 25 คน) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 3 วัน (27 - 29 ธ.ค.61) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,633 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 182 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 1,690 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 16 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (55 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ขอนแก่น (11 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (60 คน)

พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ กล่าวอีกว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ เดินทางท่องเที่ยว และทำบุญตามสถานที่ต่างๆ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้สั่งการจังหวัดดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้น กำชับเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจดูแลเส้นทางสายหลัก – สายรองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่มีสถิติอุบัติเหตุสูง ส่วนเส้นทางโดยรอบสถานที่จัดงานรื่นเริง และสถานบันเทิง ให้จัดชุดสายตรวจดูแลความปลอดภัยของประชาชนในช่วงเวลา 23.00 – 02.00 น. เป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มแล้วขับ ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามมาตรการ “ดื่มไม่ขับ จับยึดรถ” โดยพิจารณายึดรถ และใบอนุญาตขับรถ พร้อมควบคุมตัวเพื่ออบรมความประพฤติ อีกทั้งเข้มงวดการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกรายกรณีเกิดอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต ตลอดจนเน้นย้ำเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยเส้นทางสัญจรทางน้ำ ท่าเทียบเรือ และเรือโดยสาร รวมถึงสถานที่จัดงานริมน้ำ และแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ เพื่อป้องกันอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้น

นายปวิณ ชำนิประศาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มงานภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้กำชับจังหวัดบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร และภาคประชาชน เพิ่มความเข้มข้นการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน (อำเภอสีแดงและสีส้ม) ให้ดำเนินมาตรการทางสังคมและชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งด่านชุมชนและจุดสกัดในหมู่บ้าน เพื่อป้องปรามผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ เน้นเฝ้าระวังกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพิเศษ ทั้งดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกนิรภัย และการซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มากกว่า 1 คน เพื่อสร้างความปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชนในทุกพื้นที่

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า ศปถ.ได้เน้นย้ำให้จังหวัดปรับแผนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่ รวมถึงประชาสัมพันธ์มาตรการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนผ่านทุกช่องทาง เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเตือนให้ผู้ขับขี่ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ให้จังหวัด กรุงเทพมหานคร ร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีผ่านช่องทางสื่อต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลต้อนรับพุทธศักราชใหม่ 2562 และเป็นแนวทางหนึ่งในการร่วมกันลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้