สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า

Last updated: 4 เม.ย 2561  |  3800 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า

เครือข่ายลดอุบัติเหตุ รณรงค์ทุกพื้นที่ทั่วไทย กำหนดพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย ปลอดเหล้า แก้ปัญหาอุบัติเหตุตั้งแต่ต้นทาง ส่วนเทศกาลสงกรานต์จังหวัดขอนแก่น ชูต้นแบบเข้มงวดเล่นน้ำสงกรานต์ต้องไร้แอลกอฮอล์

        วันนี้ (4 เมษายน 2561) ที่พิพิธบางลำพู ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพมหานคร ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานในพิธีแถลงข่าว “สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า” จัดโดย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ร่วมกับ สสส. เพื่อกระตุ้นเตือนเรื่องความปลอดภัยทางถนน และรณรงค์ให้ประชาชนเห็นประโยชน์ของการมีพื้นที่ปลอดภัยปลอดเหล้าในการเล่นน้ำสงกรานต์ รักษาค่านิยมประเพณีการเล่นน้ำที่ดีงามของไทย

 

 ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

        ศ.นพ.อุดมศิลป์ กล่าวว่า ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ช่วงสงกรานต์ ปี 2560 พบว่า มีอุบัติเหตุทางถนน 3,690 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 390 ราย มีผู้บาดเจ็บ 3,808 คน สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ การเมาสุรา 43.06% รองลงมาคือ ขับรถเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด 27.86% รถจักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 84.91% สอดคล้องกับข้อมูลการบาดเจ็บและเสียชีวิตของกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงเวลาเดียวกัน เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ดื่มสุรา 1,674 ราย หรือ 20.75% แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมเสี่ยงหลักทั้ง 2 ประเด็น เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น

        "เทศกาลสงกรานต์ 2561 นี้ เป็นเทศกาลแห่งความสุขที่ทุกคนอยากอยู่กับคนที่คุณรัก  สสส. มุ่งเน้นการดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ได้จัดทำคลิปวิดีโอรณรงค์ ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์นี้ ขับขี่ปลอดภัย ไม่มีใครเป็นหนึ่งในสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนน” ชวนทุกคนร่วมสร้างสถิติใหม่ เป็นสงกรานต์ที่ทุกคนได้กลับบ้านปลอดภัย ด้วยการขับขี่ปลอดภัย มีวินัยจราจร ที่สำคัญคือ “ดื่มไม่ขับ”  ทั้งนี้ สสส. ยังสนับสนุนให้ประชาชนที่ประสบอุบัติเหตุ สามารถร้องขอให้ตำรวจตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์คู่กรณีได้ทุกราย แม้จะบาดเจ็บ เสียชีวิต ไม่สามารถเป่าเครื่องวัดทางลมหายใจได้ โดยตำรวจนำส่งตรวจเลือดที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศฟรี" ที่ปรึกษาคณะกรรมการ สสส. ระบุ

 

 

นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานนโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)

 

        ด้านนายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานนโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า สคล. ร่วมกับ สสส. ขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุกโดยสนับสนุนการจัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัยปลอดเหล้า มาตั้งแต่ปี 2549 โดยล่าสุด ในปี 2560 มีพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้ามากถึงกว่า 3,200 แห่ง ซึ่งเป็นผลมาจากกระทรวงมหาดไทย ได้บรรจุเป็นมาตรการสำคัญให้ทุกจังหวัดต้องจัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าปลอดภัย โดยในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ที่ สสส. สนับสนุนเพียง 150 แห่ง อาทิ ถนนตระกูลข้าว  50 แห่ง และพื้นที่อื่นอีก 100 แห่ง ถือเป็นความสำเร็จที่ได้สร้างความร่วมมือแก้ปัญหาร่วมกัน

        “ขณะนี้มีข้อกังวลในเรื่อง Midnight สงกรานต์ ที่ถูกธุรกิจแอลกอฮอล์ใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมการขายเหล้า เบียร์ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของความสูญเสีย ซึ่งสังคมต้องร่วมมือดูแลและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตและความปลอดภัยของเด็กเยาวชนมากขึ้น โดยมีตัวอย่างภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จร่วมจัดพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัย อาทิ ห้าง Limelight Avenue จ.ภูเก็ต ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ และจังหวัดขอนแก่น มีนโยบาย 1 อำเภอ 1 พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า รวมทั้งภาคชุมชนพยายามพัฒนาด่านชุมชนในรูปแบบต่างๆ อาทิ ตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อปกป้องไม่ให้เกิดความสูญเสียจากการขับขี่รถด้วยความเร็วและมึนเมา” นายวิษณุ กล่าว.

สมาคมสื่อช่อสะอาด เครือข่ายสถานีวิทยุชุมชนได้ร่วมถ่ายทอดเสียงการแถลงข่าวได้ครั้งนี้ด้วย

ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม สัมภาษณ์ในรายการช่วงการแถลงข่าว

 

นายสุทนต์ กล้าการขาย และนางสาวอรอุมา สิงห์กวาง ผู้ดำเนินรายการถ่ายทอดเสียงการแถลงข่าว

 

นางสาวอรอุมา สิงห์กวาง ผู้ดำเนินรายการ "คลื่นชุมชนถนนปลอดภัย"

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้