Last updated: 20 พ.ค. 2568 | 1021 จำนวนผู้เข้าชม |
นักกฎหมายมหาชน "ดร.ณัฏฐ์" สอนมวย “สว.นันทนา” เข้าใจผิดขั้นตอน ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ สว. 200 คนหยุดหน้าที่ทำไม่ได้ ชี้ชัด “อำนาจหยุดปฏิบัติหน้าที่” เป็นอำนาจเฉพาะของ กกต.ส่งศาลฎีกาเท่านั้น ลั่นอย่าทำตัวเกินบทบาท สว. ระวังหงายเงิบ
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 สืบเนื่องจาก น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างคำร้องเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ สมาชิกวุฒิสภาทั้ง 200 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเห็นชอบบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งในองค์กรอิสระ โดยให้เหตุผลว่าอาจมีลักษณะของ “ผลประโยชน์ขัดกัน” เนื่องจากขณะนี้ สว.จำนวนมากอยู่ในระหว่างถูกสอบข้อกล่าวหาทุจริตการสรรหา
อย่างไรก็ตาม ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน ออกมาโต้แย้งว่า แนวทางดังกล่าว อาจขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และสะท้อนความสับสนในกระบวนการใช้อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา
ดร.ณัฏฐ์ ระบุว่า หากตรวจสอบพบการกระทำทุจริตในการเลือก สว. เป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่เพียงผู้เดียว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 224 วรรคหนึ่ง (2) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 62 ซึ่งระบุว่า หาก กกต.วินิจฉัยว่า สว. ผู้ถูกกล่าวหามีความผิด ต้อง ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ เพิกถอนสิทธิ ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ
ในกรณีที่ศาลฎีกาฯรับคำร้อง ส.ว.ที่ถูกกล่าวหาจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยอัตโนมัติ ตามมาตรา 62 วรรคสอง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ ชัดเจนและมีบทบัญญัติรองรับอย่างเคร่งครัด
ส่วนการใช้ช่องตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 82 ที่ให้อำนาจ สส. หรือ สว. จำนวนหนึ่งในสิบของจำนวนทั้งหมด สามารถเข้าชื่อกันเสนอคำร้องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อนำส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของผู้ใดสิ้นสุดลงหรือไม่ นั้น ดร.ณัฏฐ์ ระบุว่า ต้อง “เฉพาะราย” และต้องเป็นกรณีที่สงสัยว่า ขาดคุณสมบัติ หรือกระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น การจะใช้กลไกดังกล่าว กับ สว. ทั้ง 200 คน รวมถึงตัวเอง เพื่อยับยั้งการโหวตในองค์กรอิสระนั้น ไม่สามารถทำได้ และอาจเข้าข่าย “ขัดต่อรัฐธรรมนูญ” เสียเอง เพราะเป็นการละเมิดสิทธิของสมาชิกวุฒิสภาคนอื่นที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัย
“รัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติใดรองรับให้ สว.หยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะบางเรื่องตามที่คุณนันทนาเสนอ” ดร.ณัฏฐ์ กล่าว พร้อมระบุว่า การอ้างเหตุผลเรื่อง “ผลประโยชน์ขัดกัน” ในลักษณะเหมารวมเช่นนี้ เป็นการเล่นใหญ่ที่ผิดซอง จนอาจทำให้ประชาชนสับสนในบทบาทของสภา
นอกจากนี้ ดร.ณัฏฐ์ ยังเน้นย้ำว่า กระบวนการสืบสวนและไต่สวนของ กกต.ยังไม่สิ้นสุด เพราะขณะนี้ คณะอนุกรรมการของ กกต.ยังอยู่ในระหว่างพิจารณา ขั้นตอนแจ้งข้อหาต่อ สว.ผู้ถูกกล่าวหาและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนในการกระทำฝ่าฝืน พรป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ยังไม่เป็นที่สุดในองค์กร กกต. แต่ยังมีขั้นตอนอีก 2 ชั้น กลั่นกรอง ได้แก่ คณะอนุกรรมการวินิจฉัย และ กกต.ชุดใหญ่ อาจมีคำวินิจฉัยชี้ขาด ยืน ยก กลับ หรือแก้ คำวินิจฉัยได้ ตามระเบียบ กกต. พ.ศ.2561 และฉบับแก้ไข พ.ศ.2566
จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า สว.กลุ่มที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหานั้นมีความผิด หรือสมาชิกภาพสิ้นสุดลงแต่อย่างใด
ดร.ณัฏฐ์ เตือนว่า “ความสง่างามกับอำนาจตามรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเดียวกัน” การที่ สว.ถูกสอบ ไม่ใช่เหตุให้สิ้นอำนาจหน้าที่ เว้นแต่มีคำวินิจฉัยจาก กกต. และคำสั่งจากศาลฎีกาฯ อย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่า การเสนอให้ สว.หยุดปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องเดียวคือ “การเห็นชอบองค์กรอิสระ” โดยอ้างความเหมาะสม อาจเป็นการ ละเมิดหลักการแบ่งแยกอำนาจ และอำนาจส่วนบุคคลของ สว.คนอื่นๆ อีกด้วย
“อย่าหลงตัวเองว่าเป็นศาล อย่าใช้อารมณ์นำหลักกฎหมาย มิฉะนั้น อาจหงายเงิบในภายหลัง” ดร.ณัฏฐ์ กล่าว
ที่มา : https://www.nationtv.tv/politic/378961639