'กสทช.' เปิดฟังความคิดเห็นร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 3 รับเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง

Last updated: 27 เม.ย 2567  |  3716 จำนวนผู้เข้าชม  | 

'กสทช.' เปิดฟังความคิดเห็นร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 3 รับเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง

สำนักงาน กสทช. เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะร่างประกาศแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 3 เร่งปรับตัวรับเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง ก่อนประกาศลงราชกิจจานุเบกษา มีผลใช้บังคับต่อไป

วันที่ 23 เมษายน 2567 ที่โรงแรมอมารี กรุงเทพมหานคร มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป ต่อร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2567-2571) ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 27 (1) (24) และมาตรา 47

รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า เพื่อให้กิจการโทรคมนาคมของไทยใน 5 ปีข้างหน้ามีความก้าวหน้า ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากบริการ นำไปสู่การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน สำนักงาน กสทช. จึงจัดทำร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2567-2571) ในวิสัยทัศน์หลัก อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยก้าวหน้า ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์บริการโทรคมนาคมในยุคดิจิทัลได้อย่างทั่วถึง และเพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยั่งยืน

สำหรับร่างแผนดังกล่าวประกอบด้วยยุทธศาสตร์ในการพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้น และการเข้าสู่ตลาดโทรคมนาคมของผู้ประกอบการรายใหม่ โดยเป็นการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ สนับสนุนเครือข่ายเคลื่อนที่ให้เกิดผู้ประกอบการโครงข่ายเสมือน และโครงข่ายบรอดแบรนด์เร่งให้เกิดการใช้งานโครงข่ายสายปลายทาง (Last Mile) และทบทวนกติกาแข่งขันลดการผูกขาด

ยุทธศาสตร์ที่ 2  การลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากบริการโทรคมนาคมที่หลากหลาย พัฒนาสภาพแวดล้อมเอื้อการลงทุนขยายโครงข่ายโทรคมนาคม จัดสรรคลื่นความถี่เพิ่มเติม สนับสนุนการพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ที่ขาดแคลนบริการ จัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานให้ครอบคลุมทั้งมิติเชิงพื้นที่และมิติเชิงสังคม

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การบริหารทรัพยากรโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่า และเพียงพอต่อความต้องการใช้งาน จัดสรรคลื่นความถี่มีประสิทธิภาพ เพียงพอต่อความต้องการ โดยจะทำแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap) สำหรับกิจการต่าง ๆ เช่น กิจการ IMT และกิจการอื่น ๆ รวมถึงการบริหารจัดการเลขหมายให้มีความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพศึกษาและพัฒนาหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ภาคประชาชน และคลื่นความถี่ที่อนุญาตให้มีการใช้งานเป็นการทั่วไป เพื่อให้สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้สอดคล้องกับความต้องการ และเกิดความคุ้มค่าในการใช้งาน

ทบทวนแนวทางการจัดสรรและใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่สำหรับกิจการวิทยุคมนาคม เพื่อนำไปสู่การใช้คลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ส่งเสริมการใช้คลื่นความถี่เพื่อสนับสนุนภารกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติ เช่น ส่งเสริมการใช้คลื่นความถี่ย่าน HF โดยเพิ่มจำนวนพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลาง

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การอนุญาตและกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมและวิทยุคมนาคมให้เหมาะสมกับนิเวศอุตสาหกรรมดิจิทัล จากบริบทการพัฒนาและการหลอมรวมของเทคโนโลยี และมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้งานด้านการอนุญาต เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และยกระดับการให้บริการ รวมถึงการกำกับดูแลประกอบกิจการให้เป็นไปตามกฎหมาย และพัฒนาฐานข้อมูลให้สามารถเชื่อมโยงและบูรณาการกันภายในหน่วยงาน และกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแล เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการละเมิดกฎหมาย ที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและสาธารณะ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การยกระดับการคุ้มครองและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล มุ่งเน้นให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และภัยคุกคามผ่านช่องทางโทรคมนาคม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภค ให้สามารถปกป้องสิทธิของตนเองและสามารถรับมือและป้องกันตนเองจากภัยคุกคาม ตลอดจนคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในการใช้บริการ และปลอดภัยจากภัยคุกคาม

ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงเปิดรับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน ถึง 16 พฤษภาคม 2567 เพื่อนำข้อคิดเห็นที่ได้รับใช้ประกอบการปรับปรุงร่างแผนแม่บทดังกล่าวให้สมบูรณ์ ก่อนจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับต่อไป

พล.ร.อ.ประสาน สุขเกษตร ประธานคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) กล่าวว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะครั้งนี้เป็นไปตามหน้าที่และพันธกิจของ กสทช. ที่สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่นอกเหนือจากยุทธศาสตร์ 5 ด้าน อยากให้มีการเตรียมความพร้อมการบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียม เพราะจะส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ทั้งระบบ อย่างที่สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ได้เปิดตัวบริการสตาร์ลิงก์ (Starlink) ไปก่อนหน้านี้

"ปีที่ผ่านมา ผู้ให้บริการมือถือแบบไม่มีโครงข่าย (MVNO) ลดลงอย่างมาก เนื่องจากการแข่งขันในตลาดลดลงจากการควบรวมกิจการระหว่างทรู-ดีแทค จึงขอเสนอให้ กสทช. กำกับดูแล ควบคุมการผูกขาดหรือเอื้อประโยชน์กันเองระหว่างผู้ให้บริการรายใหญ่ พร้อมกำกับให้ผู้ประกอบการคืนกำไรสู่สังคม จากกำไรที่มาจากความสามารถในการลดต้นทุนจากการแข่งขันทางธุรกิจที่ลดลง และขอให้เพิ่มดัชนีการกระจุกตัว (HHI) ที่ใช้วัดระดับประสิทธิภาพการแข่งขันในตลาดว่ามีมากน้อยเพียงใด เพื่อให้เห็นภาพของการแข่งขันได้ชัดเจนขึ้น" พล.ร.อ.ประสาน กล่าว

นายอธิป กีรติพิชญ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท เรดวัน เน็ตเวิร์ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ดัชนี HHI ของไทยช่วงปีที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสําคัญ ดังนั้น จึงตั้งคำถามว่า ตามยุทธศาสตร์ที่ 1 ในการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้น และการเข้าสู่ตลาดโทรคมนาคมของผู้ประกอบการรายใหม่จะเป็นไปได้จริงหรือไม่ เพราะในยุค กสทช. ชุดก่อนหน้า ที่มีความพยายามอย่างมากในการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการรายใหม่ จากการเปิดประมูลคลื่นความถี่ถึง 3 ครั้ง ระหว่างปี 2554-63 ก็ทำให้เกิดขึ้นจริงไม่ได้ และครั้งนี้มองว่าจะเกิดขึ้นจริงไม่ได้

ทั้งนี้ ไม่ได้เป็นความผิดของ กสทช.หรือสภาพตลาดที่ทำให้จำนวนผู้เล่นในตลาดไม่เพิ่มขึ้น แต่เป็นไปตามเทรนด์ของโลกที่จะกระตุ้นให้เกิดผู้ให้บริการ MVNO มากกว่า ซึ่งหลังจากปี 55 ที่ กสทช. อนุญาตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ช่วง 12 ปีที่ผ่านมา กลับมีโอเปอเรเตอร์เพียงรายเดียวที่แบกรับ นั่นคือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT จึงอยากให้ กสทช.พิจารณาถึงกลไกในการผลักดันเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการแข่งขันได้ ขณะเดียวกัน อยากให้กำกับดูแลราคาขายส่งที่โอเปอเรเตอร์ตั้งกับผู้ให้บริการ MVNO ให้เหมาะสมเพื่อเอื้อต่อการทำธุรกิจได้

"ผู้ให้บริการ MVNO ในไทยเดินทางมาถึงช่วงโค้งสำคัญ เพราะเราต้องพึ่งพา NT ที่กรุณาเราอยู่ตอนนี้ แต่คลื่นความถี่ย่าน 850 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz ที่ NT ถือครองอยู่ปัจจุบันจะสิ้นสุดใบอนุญาตในเดือน ก.ย.68 เราจึงมีความจําเป็นเร่งด่วนที่อยากจะเห็น Action Plan และระยะเวลาเพิ่มเติมจาก กสทช. เพราะเราคงไม่สามารถเขียนแผนปฏิบัติงานเป็นระยะเวลา 5 ปีได้ ซึ่งหวังว่า กสทช. จะรับไว้พิจารณา" นายอธิป กล่าว

ร.อ.อธิวัฒน์ อัศวศิรโยธิน ตัวแทนจากบริษัท เอ เทเลคอม จำกัด กล่าวว่า ขอให้ กสทช. มีการอัปเกรดใบอนุญาตผู้ให้บริการ MVNO แบบที่สองทั้งหมด ให้เป็นแบบที่สามได้ ขณะเดียวกัน หวังว่า กสทช.บังคับใช้กฎระเบียบและกฎหมายที่มีอยู่ในมืออย่างเข้มข้น เพื่อให้โอเปอเรเตอร์ในตลาดทั้งรายเล็กหรือรายใหญ่เป็นพันธมิตรกับโอเปอเรเตอร์รายหลัก และซื้อบริการในราคาขายส่งได้ เพื่อทำให้ต้นทุนของผู้ให้บริการ MVNO รายใหม่ ต่ำพอที่จะแข่งขันและทำธุรกิจในตลาดได้

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้