ศาลฎีกายกฟ้อง สุเทพ เทือกสุบรรณ คดีทุจริตโรงพัก-แฟลตตำรวจ

Last updated: 22 ส.ค. 2566  |  3101 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ศาลฎีกายกฟ้อง สุเทพ เทือกสุบรรณ คดีทุจริตโรงพัก-แฟลตตำรวจ

ศาลพิพากษายกฟ้อง สุเทพ เทือกสุบรรณ และพวก ในคดีทุจริตก่อสร้างโรงพักและแฟลตตำรวจ

          วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (สนามหลวง) นัดอ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมพวก 6 คน ในคดีร่วมกันกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการในการจัดจ้างโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน และโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก หรือแฟลตตำรวจ จำนวน 396 แห่ง

          โดยศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้องจำเลย ทั้ง 6 คน ซึ่งประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และ นายวิศณุ วิเศษสิงห์

          ซึ่งองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่า ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องพิจารณาว่า มติคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 7/2552 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ได้อนุมัติหลักการซึ่งรวมถึงวิธีการจัดจ้างโดยให้กระจายการจัดจ้างไปยังหน่วยงานในสังกัดในภูมิภาคด้วย อันมีผลผูกพันให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2548 มาตรา 10 กำหนดว่า ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องกำหนดประเด็นที่ประสงค์จะให้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ความเห็นชอบหรือมีมติในเรื่องใดให้ชัดเจน ถ้าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ความเห็นชอบ หรือมีมติในเรื่องที่เสนอ ให้ถือว่ามติคณะรัฐมนตรีมีผลผูกพันเฉพาะหลักการแห่งประเด็นที่เสนอ เว้นแต่มติของคณะรัฐมนตรีจะระบุไว้ชัดเจนถึงรายละเอียดที่อนุมัติ เห็นชอบ หรือมีมติ แสดงว่ารายละเอียดข้อใดที่มติคณะรัฐมนตรีไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนย่อมไม่ถือว่ามีผลผูกพัน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากมติคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 7/2552 แล้ว ไม่มีข้อความระบุอย่างชัดเจนถึงรายละเอียดในเรื่องวิธีการจัดซื้อจัดจ้างว่าจะต้องดำเนินการโดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1-9) ซึ่งได้ความจากนาย ส.และนาย ธ.อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เบิกความว่า มติคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 7/2552 ไม่รวมการจัดซื้อจัดจ้าง พยานทั้งสองปากมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรีจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือส่วนข้อความในมติคณะรัฐมนตรีตอนถัดไปที่ว่า โดยให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ นั้น ย่อมหมายถึงความเห็นที่อยู่ในหน้าที่ของสำนักงบประมาณเท่านั้น

          นอกจากนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มิได้ขออนุมัติในเรื่องวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง อันสอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2548 มาตรา 4 ประกอบกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เลือกวิธีการจัดซื้อจัดจ้างเองกรณีรับฟังได้ว่า มติคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 7/2552 เป็นการอนุมัติเฉพาะประเด็นเรื่องงบประมาณ ไม่รวมถึงวิธีการจัดจ้าง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ตามที่โจทก์ฟ้อง กรณีเป็นอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่จะใช้ดุลพินิจและตัดสินใจทบทวนได้ แม้จำเลยที่ 1 จะใช้เวลาพิจารณาเพียง 2 วันก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฎข้อพิรุธผิดปกติวิสัยส่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าไปมีส่วนริเริ่มหรือใช้ให้เจ้าพนักงานเสนอความเห็นเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการจัดซื้อจัดจ้างไม่ว่าแบบใดต่างก็เลือกดำเนินการได้และมีชั้นตอนประกาศเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้ประกอบการทั่วไปได้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมได้ ไม่อาจฟังตามที่โจทก์อ้างว่าการรวมการจัดจ้างไว้ที่ส่วนกลางจะทำให้ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เสมอไป ส่วนที่คณะกรรมการกำหนดราคากลางชุดใหม่ได้กำหนดราคากลางวงเงินจำนวน 6,388,000,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคากลางเดิมที่กำหนดจำนวน 6,100,538,900 บาท ก็ดี หรือผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินการก่สร้างตามโครงการให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายได้ก็ดี ล้วนแต่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าไปรับรู้หรือมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ทั้งโจทก์มิได้ไต่สวนและฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการกระทำความผิดตามฟ้อง อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นปัญหาต่อไปว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 7/2552 เป็นการอนุมัติเฉพาะประเด็นเรื่องงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างจึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่จะต้องดำเนินการไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ การขอเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างเกิดจากข้อทักท้วงของผู้ปฏิบัติงานเองที่เสนอมาตามขั้นตอนปกติตั้งแต่ก่อนที่จำเลยที่ 2 จะมีการมอบหมายงานตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 579/2552 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 แล้วโดยเฉพาะจำเลยที่ 2 มิได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการขอเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างนั้นมาแต่แรก และข้อทักท้วงของเจ้าหน้าที่พัสดุข้อหนึ่งก็สอดคล้องกับที่กรมบัญชีกลางเคยมีหนังสือตอบข้อหารือระบว่า กรณีที่ได้รับจัดสรรงบประมาณในครั้งเดียวกัน หากไม่มีเหตุผลประการใดที่ทำให้ส่วนราชการไม่สามารถดำเนินการในครั้งเดียวกันได้แล้ว ส่วนราชการต้องจัดซื้อหรือจัดจ้างในครั้งเดียวกัน และเมื่อพิจารณาต่อไปเห็นได้ว่า การขอเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างของจำเลยที่ นั้นยังคงใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยการประกวดราคาเช่นเดิม ซึ่งจำเลยที่ 1 เคยมีคำสั่งเห็นชอบมาก่อนแล้ว จำเลยที่ 2 คงเสนอขอเปลี่ยนแปลงจากการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1 - 9) มาเป็นการเสนอราคาทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียวเท่านั้น

          ซึ่งวิธีการเสนอราคาทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียวก็ได้เคยมีการศึกษาข้อดีข้อเสียกันมาแล้วตั้งแต่ในคราวก่อน กรณีจึงมีเหตุผลและข้อมูลที่จำเลยที่ 2 จะเสนอให้จำเลยที่ 1 ให้ความเห็นชอบเช่นเดิม นอกจากนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะเห็นชอบแล้วก็ยังต้องมีขั้นตอนการประกาศประกวดราคาต่อไป ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฎว่าได้มีผู้เสนอราคาแข่งขันกัน 5ราย และแข่งขันสู้ราคากันถึง 73 ครั้ง ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 2 เสนอขอเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างเพียงอย่างเดียวจึงยังไม่ถึงขั้นใกล้ชิดต่อผลสำเร็จในการกำหนดตัวผู้รับจ้างล่วงหน้าหรือกีดกันผู้เสนอราคารายอื่นได้ เมื่อจำเลยที่ 2 มีได้กระทำการอื่นใดนอกเหนือจากไปนี้อีก พยานหลักฐานจากการไต่สวนจึงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์แอบแฝงหรือเอื้อประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยมิชอบ ส่วนที่ข้อเท็จจริงปรากฎว่าคณะกรรมการกำหนดราคากลางชุดใหม่ได้กำหนดราคากลางวงเงินสูงกว่าราคากลางเดิมนั้น ก็เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดราคากลางเอง และได้ความว่าเหตุที่ราคากลางสูงขึ้นเป็นผลมาจากมีการเปลี่ยนแปลงแบบแปลนก่อสร้าง ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำของจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะจำเลยที่ 5 ได้เสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเดิม ราคากลางใหม่มิได้มีผลกระทบทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณเพิ่มขึ้นแต่อย่างใดส่วนที่ต่อมาผู้เสนอราคาไม่ดำเนินการก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในขั้นตอนของการบริหารสัญญา ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นกรณีเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1 - 9) หรือเป็นกรณีเสนอราคาทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียวก็ตาม ย่อมไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นความเสียหายที่จำเลยที่ 2 คาดเห็นได้ว่าต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นกระทำความผิดตามฟ้องอุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทาง อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมรวมทั้งหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร (กวพ) 1002/ว6 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2532 เรื่อง การประเมินราคาในงานประกวดราคาจ้างก่อสร้าง มิได้มีข้อกำหนดโดยชัดแจ้งให้คณะกรรมการประกวดราคามีหน้าที่ต้องพิจารณารายละเอียดและราคาต่อหน่วยของวัสดุแต่ละ รายการที่ปรากฏในบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคา สำหรับเอกสารประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เลขที่ 15/2553 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2553 แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการประกวดราคาจะพิจารณาจากราคารวมเป็นสำคัญ

          คดีนี้เมื่อพิจารณาจากราคารวมแล้วปรากฎว่าจำเลยที่ 5 เสนอราคารวม เป็นเงิน 5,848,000,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลาง จำนวน 540,000,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 8.45 ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5 เสนอราคาต่ำจนถึงขั้นคาดหมายได้ว่าจะไม่อาจดำเนินงานตามสัญญาได้ นอกจากนั้น โจทก์คงกล่าวหาว่าบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้าง ( BOQ) ของจำเลยที่ 5 มีรายการผิดปกติเพียงรายการเดียวคือ รายการเสาเข็มมีราคาต่ำ โดยจำเลยที่ 5 ยื่นเสนอราคาเสาเข็ม ราคาหน่วยละ 2,520 บาทซึ่งต่ำกว่าราคากลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กำหนดราคาไว้หน่วยละ 6,360 บาท และต่ำกว่าราคาของกองดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดราคาไว้หน่วยละ 8,050 บาท แต่ข้อนี้ได้ความว่าผู้เสนอราคาสามารถปรับลดราคาวัสดุที่ใช้ในการก่สร้างบางรายการลงได้ตามศักยภาพในการบริหารต้นทุนราคา และกำไรของผู้เสนอราคา เพียงแต่จะต้องอยู่ภายในกรอบวงเงินที่เสนอและได้รับการยืนราคาครั้งสุดท้าย จำเลยที่ 5 ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตเสาเข็มที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการนี้ จึงมีเหตุที่จำเลยที่ 5จะปรับลดราคาในส่วนเสาเข็มตอกให้เหลือหน่วยละ 2,520 บาทได้ อันเป็นวิสัยของการเสนอราคาที่จะต้องแข่งขันกันอย่างเสรีตามความเป็นธรรมและความเหมาะสมแห่งสภาพวัสดุนั้น อีกทั้งค่างานเสาเข็มเป็นเงินทั้งสิ้น 233,089,387.50 บาท ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับจ้างตามสัญญาจ้าง จำนวน 5,848,000,000 บาท คิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณอัตราร้อยละ 3.98 ยิ่งสนับสนุนให้เห็นว่าลำพังเฉพาะราคาเสาเข็มรายการเดียวยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่ จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 จะต้องเสนอไม่รับราคารวมทั้งหมดของจำเลยที่ 5 มาเจรจาปรับราคาเพิ่มขึ้น แม้จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 จะมิได้นำเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้างเสนอให้คณะกรรมการประกวดราคาพิจารณา แต่ก็ไม่มีข้อพิรุธประการใดว่าจะเป็นการปกปิดเพื่อเอื้อประโยชน์แก่จำเลยที่ 5 ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 มีเจตุนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหักค่าเสาเข็มได้น้อยกว่าราคาที่แท้จริงนั้น ไม่ปรากฏว่าโดยปกติทั่วไปผู้ประกอบการจะคำนึงถึงเรื่องนี้กันตั้งแต่ในชั้นยื่นเสนอราคา จึงไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 มีเจตนาวางแผนเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 5 นอกจากเรื่องราคาเสาเข็มดังกล่าวแล้วก็ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงใดแสดงให้เห็นว่ามีการกำหนดตัวจำเลยที่ 5 ไว้เป็นผู้รับจ้างล่วงหน้า หรือสมรู้ร่วมคิดกันกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อประโยชน์แก่จำเลยที่ 5 ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญาโดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันอย่างเป็นธรรม หรือสั่งการให้เลือกจำเลยที่ 5 เป็นผู้ชนะการเสนอราคาโดยเฉพาะเจาะจง อันจะเป็นเหตุให้ต้องยกเลิกการประกวดราคาแต่อย่างใด

          พยานหลักฐานที่ไต่สวนมาฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้อง อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นปัญหาสุดท้ายว่า จำเลยที่ 5 และที่ 6 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้อง กล่าวหาว่า จำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 3 และ ที่ 4 ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 10 และมาตรา 12ซึ่งการสนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 นั้นจะต้องมีผู้อื่นเป็นตัวการในการกระทำผิด หากเป็นกรณีที่ไม่มีตัวการกระทำผิดในความผิดดังกล่าว ผู้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในความผิดนั้น ก็ย่อมไม่มีความผิดในฐานเป็นผู้สนับสนุน เมื่อคดีนี้ได้วินิจฉัยแล้วว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดดังกล่าวกรณีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 5 และที่ 6 ในฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์และอุทธรณ์จำเลยที่ 2 อีกต่อไป เพราะไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปได้พิพากษายืน

ความเป็นมาคดีทุจริตโรงพัก

          สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษา “ยกฟ้อง” นายสุเทพกับพวก เป็นจำเลยที่ 1-จำเลยที่ 6 ประกอบด้วย พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์ บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และนายวิศณุ วิเศษสิงห์

          สำหรับคดีโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาแต่ละรายแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 8 เสียง (น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณา) ดังนี้

          - การกระทำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และการกระทำของพลตำรวจเอก ปทีป ตันประเสริฐ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)

          - การกระทำของคณะกรรมการประกวดราคา แบ่งออกเป็นราย ๆ ดังนี้ 

          1. การกระทำของพลตำรวจตรี สัจจะ คชหิรัญ และพันตำรวจโท สุริยา แจ้งสุวรรณ์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2552 มาตรา 10 และมาตรา 12 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)

          2. การกระทำของพันตำรวจเอก จิรวุฒิ จันทร์เพ็ญ พันตำรวจเอก สุทธี โสตถิทัต พันตำรวจเอก พิชัย พิมลสินธุ์ พันตำรวจเอก ณัฐเดช พงศ์วรินทร์ และพันตำรวจเอก ณัฐชัย บุญทวี มีมูลความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 78 (1) (2) และ (9)

          3. บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด โดยนายวิษณุ วิเศษสิงห์ กรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท และนายวิษณุ วิเศษสิงห์ ในฐานะส่วนตัว มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว

          4. สำหรับผู้ถูกกล่าวหาอื่น ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พลตำรวจเอก เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว พลตำรวจโท ธีรยุทธ กิติวัฒน์ และพลตำรวจโท สุพร พันธุ์เสือ ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

ความเป็นมาคดีทุจริตแฟลตตำรวจ

          ขณะที่คดีโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) จำนวน 163 หลัง คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 8 เสียง ดังนี้

          - การกระทำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นกรรมเดียวกันกับกรณีอนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดจ้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำดังกล่าวมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

          - การกระทำของคณะกรรมการประกวดราคา ได้แก่ พลตำรวจโท ธีรยุทธ กิติวัฒน์ พลตำรวจตรี สัจจะ คชหิรัญ พันตำรวจเอก ปัทเมฆ สุนทรานุยุตกิจ พันตำรวจเอก จิรวุฒิ จันทร์เพ็ญ พันตำรวจตรี สิทธิไพบูลย์ คำนิล พันตำรวจเอก พิชัย พิมลสินธุ์ และพันตำรวจตรี สมาน สุดใจ มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)

          - การกระทำของดาบตำรวจ สายัณ อบเชย มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)

          - การกระทำของพันตำรวจโท คมกริบ นุตาลัย คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติด้วยคะแนนเสียง 5 เสียง ต่อ 3 เสียง ว่ามีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)

          - การกระทำของ บริษัท พีซีซีฯ โดยนายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล กรรมการผู้จัดการ ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ และนายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล ในฐานะส่วนตัว มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้