ประชุมบอร์ด “กสทช.” ล่ม “วงใน” ระบุประธานบอร์ดป่วย ขอยกเลิกกะทันหัน วาระค้างเพียบหวั่นกระทบงานหลายด้าน

Last updated: 6 ก.ค. 2566  |  2560 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ประชุมบอร์ด “กสทช.” ล่ม “วงใน” ระบุประธานบอร์ดป่วย ขอยกเลิกกะทันหัน วาระค้างเพียบหวั่นกระทบงานหลายด้าน

การที่ประธาน กสทช. ยังคงไม่ปฏิบัติตามมติที่ประชุม กสทช. นอกจากจะเป็นกรณีที่ กสทช. ไม่ปฏิบัติตามมติเสียเอง... แล้วยังเป็นการไม่ปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ...และเข้าข่ายเป็นการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อีกด้วย

          สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ครั้งที่ 14/2566 ได้พิจารณารับรองมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 กรณีเห็นชอบให้เปลี่ยนตัว รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. (ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล) จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น

          และกรณีเห็นชอบให้แต่งตั้ง ผศ.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. เป็นผู้รักษาการเลขาธิการ กสทช. ตลอดจนเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย นายไตรรัตน์ นั้น

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 กรรมการ กสทช. 4 คน ได้แก่ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ,รศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ,รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ส่งหนังสือด่วนที่สุด ที่ สทช.1006/129 เรื่อง ‘ความเห็นประกอบการรายงานการประชุม กสทช. ครั้งที่ 14/2566 วันจันทร์ที่ 26 มิ.ย.2566’ ถึงเลขาธิการ กสทช. โดยมีเนื้อหา ดังนี้

‘ปธ.กสทช.’อาจเข้าข่ายผิด ม.157 ไม่ปฏิบัติตามมติบอร์ด

          ตามที่ได้มีการประชุม กสทช. ครั้งที่ 14/2566 เมื่อวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2566 ไปแล้ว โดยในการประชุมดังกล่าวได้มีการพิจารณารับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 13/2566 วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2566 ในระเบียบวาระที่ 2.6 ด้วย รายละเอียดปรากฎตามเอกสารดังแนบ นั้น

          ในการนี้ กสทช. พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ฯ ,กสทช. ศ.ดร.พิรงรองฯ ,กสทช. รศ.ดร.ศุภัชฯ และกสทช. รศ.ดร.สมภพฯ ขอนำส่งความเห็นประกอบการพิจารณารับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 13/2566 วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2566 ในระเบียบวาระที่ 2.6 (สำหรับระเบียบวาระอื่นนั้นจะนำเสนอภายหลังต่อไป) และขอให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

          1. ขอให้สำนักงาน กสทช. บันทึกความเห็นดังต่อไปนี้ไว้ในหมายเหตุท้ายมติที่ประชุม

          “1.ประเด็นความชอบด้วยกฎหมายและการไม่ปฏิบัติตามมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566

          1.1 กสทช. พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ฯ ,กสทช. ศ.ดร.พิรงรองฯ ,กสทช. รศ.ดร.ศุภัชฯ และกสทช. รศ.ดร.สมภพฯ ขอยืนยันว่า มติที่ประชุม กสทช. ในการประชุมครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2566 ระเบียบวาระที่ 5.22 ที่เห็นชอบให้มีการเปลี่ยนตัวรองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. (นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล) จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น

          และเห็นชอบให้แต่งตั้งรองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ) เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ตลอดจนเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2565 นั้น

          เป็นมติที่ประชุมที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เป็นไปตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 27 ประกอบระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2555 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ระเบียบการประชุมฯ)

          และระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการรักษาการแทน การปฏิบัติการแทน และการปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนในตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. และพนักงานของสำนักงาน กสทช. พ.ศ.2555

          โดยในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว เป็นกรณีที่กรรมการ กสทช. มีความเห็นไม่สอดคล้องกันย่อมต้องมีการลงมติ และได้ปรากฏเป็นมติที่ประชุมเสียงข้างมาก ซึ่งเป็นหลักการที่ถือปฏิบัติโดยทั่วไปของคณะกรรมการที่เป็นรูปแบบขององค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

          นอกจากนี้ ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่ามีกรรมการ กสทช. ท่านใดทักท้วงหรือคัดค้านในขณะนั้นว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งประธาน กสทช. ก็ได้ร่วมพิจารณาลงมติเห็นชอบให้แต่งตั้งรองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ) เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการกสทช. อีกด้วย

          และเมื่อปรากฎมติที่ประชุมเป็นเสียงข้างมาก ประธาน กสทช. ในฐานะประธานขององค์กรกลุ่มที่เป็นผู้แทน และมีหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินการให้มติที่ประชุมนั้น มีผลในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ โดยจะต้องเคารพในมติที่ประชุมเสียงข้างมากและต้องถือปฏิบัติตามมติที่ประชุม กสทช. ดังกล่าว ตามอำนาจและหน้าที่ที่กฎหมาย ระเบียบ หรือประกาศ ที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้

          ในกรณีมีบุคคลที่ได้รับผลกระทบเสียหายจากมติ ผู้ใดไม่เห็นด้วยกับมติ ผู้นั้นย่อมสามารถใช้สิทธิดำเนินการทางกฎหมายตามที่เห็นควรได้ หาใช่เป็นกรณีที่กรรมการ กสทช. คนใดคนหนึ่ง ที่ไม่เห็นด้วยกับมติ จะใช้วิธีการโต้แย้งคัดค้านมติโดยการไม่ปฏิบัติตามมติที่ประชุมและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเสียเอง

          ทั้งนี้ หากประธาน กสทช. ยังคงกระทำการที่ไม่เคารพเสียงข้างมาก และไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ในรูปแบบคณะกรรมการและกระทบต่อการบริหารงานภาครัฐ อันจะส่งผลให้การทำงานของคณะกรรมการไม่ประสบความสำเร็จในรูปแบบตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และยังถือเป็นการไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการอันจะส่งผลทำให้เสียหายแก่ทางราชการอีกด้วย

          1.2 ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 มาตรา 25 บัญญัติให้กรรมการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

          ดังนั้น การที่ประธาน กสทช. ยังคงไม่ปฏิบัติตามมติที่ประชุม กสทช. นอกจากจะเป็นกรณีที่ กสทช. ไม่ปฏิบัติตามมติเสียเอง แล้วยังเป็นการไม่ปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 และแก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบการประชุมฯ

          และยังเข้าข่ายจะมีลักษณะเป็นการไม่ปฏิบัติตนเพื่อรักษาจริยธรรมของ กสทช. ตามประกาศ กสทช. เรื่อง ประมวลจริยธรรมของสำนักงาน กสทช. ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 24 มีนาคม 2566 และเข้าข่ายเป็นการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อีกด้วย กรณีนี้ สำนักงาน กสทช. ควรต้องดำเนินการตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ชี้‘ไตรรัตน์’ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่‘รักษาการเลขาธิการ กสทช.’

          2. ประเด็นการปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.

          โดยที่ตามข้อ 9 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2565 ได้กำหนดว่า เลขาธิการ มีหน้าที่รับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงาน กสทช. ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หลักเกณฑ์ คำสั่ง และมติของ กสทช.

          ดังนั้น เมื่อมติที่ประชุมตามข้อ 2 (การประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2566) ตามที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น ชอบด้วยกฎหมาย และได้มีการรับรองมติที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว ถือว่ามติที่ประชุมนั้น ได้ก่อให้เกิดอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายที่บุคคลที่มีอำนาจและหน้าที่นั้นๆ จะต้องประพฤติปฏิบัติตาม

          ทั้งนี้ โดยนัยของมติที่ประชุมดังกล่าว นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. และสำนักงาน กสทช. จะต้องดำเนินการตามมติที่ประชุม กสทช. ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 และแก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบการประชุมฯ

          โดยจะต้องจัดทำคำสั่งแต่งตั้งให้รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ) เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. และเสนอต่อประธาน กสทช. ออกแต่งตั้งตามมาตรา ๒๗ (๒๔) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 และแก้ไขเพิ่มเติม

          และข้อ 6 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการรักษาการแทน การปฏิบัติการแทนและการปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทน ในตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. และพนักงานของสำนักงาน กสทช. พ.ศ.2555

          และจะต้องจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล เพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรมในแก่นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ได้ใช้สิทธิโต้แย้ง คัดค้าน และแสดงพยานหลักฐานของตนเองต่อไป ซึ่งเป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกฯเสนอ

          แต่เมื่อได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า สำนักงาน กสทช. นำเสนอคำสั่งดังกล่าวต่อประธาน กสทช. เรียบร้อยแล้ว แต่ประธาน กสทช. ไม่ลงนามในคำสั่ง จึงเป็นเหตุให้นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. อยู่ในปัจจุบัน โดยอ้างว่าประธาน กสทช. ยังไม่ลงนามในคำสั่ง

          กรณีนี้การปฏิบัติหน้าที่ของนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ดังกล่าว จะชอบด้วยกฎหมายและมีผลผูกพันต่อคู่กรณีหรือไม่นั้น กสทช. พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ฯ ,กสทช. ศ.ดร.พิรงรองฯ ,กสทช. รศ.ดร.ศุภัชฯ และ กสทช. ดร.สมภพฯ จะไม่ขอยอมรับในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

          และหากในภายภาคหน้าเกิดข้อโต้แย้งในเรื่องนี้ขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ก็จะไม่ขอร่วมรับผิดชอบในผลแห่งการกระทำนั้นๆ และจะขอดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่ผ่าฝืนกฎหมายต่อไป

          อนึ่ง ขอเรียนเพิ่มเติมว่า การที่กฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งรักษาการ เลขาธิการ กสทช. กำหนดให้ประธาน กสทช. โดยความเห็นชอบของ กสทช. แต่งตั้ง นั้น ย่อมเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนแต่งตั้งที่ถือเป็นสาระสำคัญที่มิได้กำหนดให้อำนาจเสร็จเด็ดขาดอยู่ที่ประธาน กสทช. เพียงผู้เดียว

          แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจาก กสทช. ซึ่งมีความหมายถึงการพิจารณาอนุมัติ ยินยอม หรืออนุญาต จาก กสทช. ด้วย และหาก กสทช. ไม่เห็นชอบ ประธาน กสทช. ย่อมที่จะดำเนินการแต่งตั้งแต่เพียงผู้เดียวมิได้ มิใช่เป็นกรณีที่ประธานกล่าวว่า “กสทช. แต่งตั้ง โดยความเห็นชอบของประธาน กสทช.”

          ดังนั้น การแต่งตั้งดังกล่าว จึงมิใช่อำนาจของประธาน กสทช. แต่เพียงผู้เดียวตามที่ประธาน กสทช. ได้กล่าวมาโดยตลอด แต่การแต่งตั้งโดยการออกคำสั่งเป็นหนังสือหรือเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น เป็นเพียงการจัดทำเอกสารในทางธุรการเพื่อให้การออกคำสั่งทางปกครองมีความชัดเจนเท่านั้น

          อย่างไรก็ดี ได้ปรากฏมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.598/2557 สรุปได้ว่า ถ้าปรากฎข้อเท็จจริงว่าผู้มีอำนาจได้เคยมีการออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรมอบหมายหน้าที่ในเรื่องเดียวกันนั้นแก่เจ้าหน้าที่ไว้แล้ว และต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงโดยการออกคำสั่งด้วยวาจาให้เจ้าหน้าที่คนใหม่เป็นผู้ทำหน้าที่แทน ย่อมมีผลทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษร พ้นจากทั้งหน้าที่และความรับผิดชอบ

          ซึ่งกรณีนี้ก็ได้ปรากฎข้อเท็จจริงว่า ประธาน กสทช. ได้ลงมติเห็นชอบให้แต่งตั้งรองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ) เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ด้วย ย่อมถือว่ามีเจตนาที่จะผูกพันในสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว

จี้สอบข้อเท็จจริงฯ เลขานุการ‘ประธาน’ออกข่าว‘ให้ร้ายสำนักงานฯ

          3. ประเด็นการออกข่าวประชาสัมพันธ์ของเลขานุการประจำประธาน กสทช. และประธาน กสทช.

          ตามที่ได้ปรากฏกรณีเลขานุการประจำประธาน กสทช. พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข ได้จัดทำข่าวประชาสัมพันธ์ งานเลขานุการประจำประธาน กสทช. ฉบับลงวันที่ 21 มิถุนายน 2566 โดยใช้รูปแบบและตราสัญลักษณ์ในการจัดทำข่าวประชาสัมพันธ์ของสำนักงาน กสทช. เพื่อประกาศและเผยแพร่โดยอาจมุ่งผลให้ข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับนี้มีการเผยแพร่ไปยังสื่อภายนอกด้วย

          ทั้งนี้ ข้อความในข่าวประชาสัมพันธ์ดังกล่าว มีลักษณะเป็นการนำเสนอผลของมติที่ประชุม กสทช. และการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. ตามมติที่ประชุมนั้น โดยเป็นการกล่าวในลักษณะที่ให้ร้ายสำนักงาน กสทช. และพนักงานของสำนักงาน กสทช. ว่า

“          ก่อให้เกิดความสับสน เกิดความแตกแยกในหมู่พนักงาน กสทช. เกิดการกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา อีกทั้งเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนและฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งโดยไม่มีอำนาจและหน้าที่ที่แท้จริงในการออกคำสั่งแต่งตั้งรักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. และอำนาจในการสั่งกรรมการสอบสวนทางวินัย

          หากปล่อยให้เกิดกระทำการโดยพลการโดยไม่คำนึงถึง กฎ กติกา มารยาท ในอำนาจหน้าที่เยี่ยงนี้ต่อไปจะยิ่งทำให้ สำนักงาน กสทช. เสียหาย เกิดความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและยากที่จะแก้ไขเยียวยาได้ในที่สุด”

          ทั้งนี้ เมื่อคราวประชุมครั้งที่ 14/2566 วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2566 ที่ประชุม ที่ประชุมก็ได้มีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นพิจารณาและสอบถามไปยังประธาน กสทช. ซึ่งประธาน กสทช. ได้กล่าวเพียง “รับทราบ” เท่านั้น

          ดังนั้น การกระทำของ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข จึงเป็นการดำเนินการโดยพลการ ปราศจากการสั่งการจากประธาน กสทช. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง และเป็นการกระทำที่นอกเหนือจากอำนาจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการจ้างที่ปรึกษา ผู้ปฏิบัติงาน เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการประจำคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2553

          ที่กำหนดให้เลขานุการประจำประธาน กสทช. มีหน้าที่ปฏิบัติงานเลขานุการ ประสานการปฏิบัติงานในภารกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบของประธาน กสทช. ดำเนินการตามโครงการที่ประธาน กสทช. ดำริให้สำเร็จลุล่วง และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ประธาน กสทช. มอบหมาย เพียงเท่านั้น และยังถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการก้าวก่ายและแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. และสำนักงาน กสทช.

          ทั้งนี้ เมื่อได้ปรากฎฏข้อเท็จจริงว่า ข่าวประชาสัมพันธ์ดังกล่าวได้ถูกเผยแพร์ไปยังสื่อต่างๆ ภายนอกด้วย กรณีนี้จึงส่งผลให้ กสทช. และสำนักงาน กสทช. เกิดความเสียหาย ขาดความน่าเชื่อถือ ถูกวิพากวิจารณ์จากประชาชนและหน่วยงานภายนอก ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จึงเห็นควรให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวแล้วรายงานให้ที่ประชุม กสทช. ทราบโดยเร่งด่วนต่อไป

          สำหรับกรณีที่ปรากฎข้อความในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน 2566 ฉบับที่ 26904 หน้าที่ 7 (บน) ในหัวข้อ “... หมอสรณ เปิดใจทำงาน 1 ปี นั่งเก้าอี้ประธาน กสทช....” โดยมีเนื้อความในข่าวว่า “สุดท้ายกับคำถามเบาๆ มานั่งเป็นประธาน กสทช. ยังรักษาคนไข้อยู่หรือไม่ ?

          “นพ.สรณ” บอกว่า ไม่ได้ “จับมีดผ่าตัด” โรคหัวใจมา ๙ เดือน แล้ว ส่วนการตรวจคนไข้ ก็จะใช้เวลาหยุดราชการ เสาร์อาทิตย์ แต่ไม่รับคนไข้ใหม่ เป็นการให้คำปรึกษารักษาคนไข้เก่าที่รักษากันมา 20-30 ปี เท่านั้น...” ซึ่งประธาน กสทช. ยอมรับในที่ประชุมว่าได้ให้ข่าวนี้จริง” จึงเรียนมาเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้