'สืบพงษ์ ปราบใหญ่' ผงาดกลับนั่งเก้าอี้อธิการบดี ม.รามคำแหง เป็นรอบที่ 2

Last updated: 14 ก.พ. 2566  |  2391 จำนวนผู้เข้าชม  | 

'สืบพงษ์ ปราบใหญ่' ผงาดกลับนั่งเก้าอี้อธิการบดี ม.รามคำแหง เป็นรอบที่ 2

ศาลปกครองกลางคุ้มครองชั่วคราว 'สืบพงษ์ ปราบใหญ่' กลับนั่งอธิการบดี ม.รามคำแหง เป็นรอบที่ 2 จนกว่าจะมีคำพิพากษาคดียื่นฟ้องสภามหาวิทยาลัยถอดถอนออกจากตำแหน่งโดยมิชอบ

          เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง คดีหมายเลขดำที่ บ.362/2565 ระหว่าง นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ ผู้ฟ้องคดี กับ สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 1 ศาสตราจารย์ สมบูรณ์ สุขสำราญ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 2 และนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดี

          คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เดิมผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติในการประชุมครั้งที่ 21/2565 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีคำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 119/2565 และที่ 120/2565 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และแต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญชาล ทองประยูร เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาล ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติและคำสั่งดังกล่าว รวมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยสั่งทุเลาการบังคับตามมติและคำสั่งดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

          ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 21/2565 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ที่ถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นคำสั่งทางปกครองอันมีผลให้ผู้ฟ้องคดีต้องพ้นจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นการถาวรและเด็ดขาด ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะพิจารณาเพื่อมีมติถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งดังกล่าว จึงต้องให้โอกาสผู้ฟ้องคดีได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน ตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เสียก่อน

          เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในข้อกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดียื่นหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องทุกข์โดยบิดเบือนข้อเท็จจริง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มิได้ให้โอกาสผู้ฟ้องคดีทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาส ได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน ทั้งที่ข้อกล่าวหาดังกล่าวอาจมีผลให้ผู้ฟ้องคดีถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กรณีจึงย่อมมีผลให้มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการประชุม ครั้งที่ 21/2565 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ที่ถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และแต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญชาล ทองประยูร เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

          ซึ่งหากให้มติพิพาทมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังแก่ผู้ฟ้องคดี เนื่องจากผู้ฟ้องคดีจะเสียโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ของศาล นอกจากนั้น การทุเลาการบังคับตามมติพิพาทไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของมหาวิทยาลัยรามคำแหงหรือแก่บริการสาธารณะ เนื่องจากการที่ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง จำต้องบริหารกิจการของมหาวิทยาลัยรามคำแหงให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อีกชั้นหนึ่ง

          ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 21/2565 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 รวมทั้งคำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 119/2565 และที่ 120/2565 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ที่ถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และแต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญชาล ทองประยูร เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

อ่านฉบับเต็ม : ศาลปกครองกลางคุ้มครองชั่วคราว  

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้