ผลศึกษาเผยอุบัติเหตุทางถนน ทำคนไทย “อายุขัยสั้นลง” 5 ปีทำสูญเสียทางเศรษฐกิจ 12 ล้านล้านบาท ฉุดรั้งขีดความสามารถพัฒนาประเทศ

Last updated: 14 ธ.ค. 2565  |  3050 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ผลศึกษาเผยอุบัติเหตุทางถนน ทำคนไทย “อายุขัยสั้นลง” 5 ปีทำสูญเสียทางเศรษฐกิจ 12 ล้านล้านบาท ฉุดรั้งขีดความสามารถพัฒนาประเทศ

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ข้อมูล 3 ฐานคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนรวม 96,230 ราย เฉลี่ยปีละ 19,246 ราย เป็นชายมากกว่าหญิงในสัดส่วน 3.7 ต่อ 1 ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 15-19 ปี คิดเป็น 11.37% และ 20-24 ปี คิดเป็น 11.05% ในจำนวนนี้ 80% เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์ ขณะที่ภาพรวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจ รวมเฉียดล้านล้านบาท

‘อุบัติเหตุทางถนน’ นอกจากส่งผลกระทบต่อผู้ที่ประสบภัยแล้ว ยังทำให้เกิดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยโดยรวมอย่างมหาศาล เพราะการเสียชีวิตจากและบาดเจ็บทั้งทางกายและใจจากอุบัติเหตุ ทำให้ผู้ประสบภัยและครอบครัวสูญเสียผลิตภาพ ส่งผลต่อผลิตภาพโดยรวมของประเทศ อีกทั้ง อุบัติเหตุยังก่อให้เกิดต้นทุนอื่นๆ เช่น ต้นทุนในการดำเนินคดี ต้นทุนจากผลกระทบต่อสภาพการจราจร เป็นต้น

สถิติข้อมูลผู้เสียชีวิตสะสม ประเทศไทย ปี 2565 จาก ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน (ThaiRSC) พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติบนท้องถนนสะสม 13,814 ราย โดยมากถึง 81% เป็นอุบัติจากการขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์  เป็นเพศชายมากกว่าหญิง และช่วงอายุที่เสียชีวิตมากที่สุดคือ 36 – 60 ปี คิดเป็นเกือบ 40% ของผู้เสียชีวิตสะสม

ขณะที่ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) เปิดเผยผ่านรายงาน GLOBAL STATUS REPORT ON ROAD SAFETY 2018 หมายเหตุ รายงานฉบับปี 2018 เป็นรายงานฉบับล่าสุดของ WHO (ข้อมูลวันที่ 14 ธันวาคม 2565) ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้น จากข้อมูลปี 2559 พบว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงถึง 1.35 ล้านคนต่อปี ทั่วโลก หรือทุก 1 ชั่วโมง จะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 155 คน โดยรายงานระบุด้วยว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 8 ของคนทุกกลุ่มอายุทั่วโลก

คาดปี 2565 ผู้เสียชีวิต จะมากถึง 1.8 หมื่นราย

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 โครงการแผนงานยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน’ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (International Health Policy Program : IHPP) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยงานด้านความปลอดภัยทางถนน ในเวที BIG Talk 2022 เรื่อง ‘How to ช่วยชีวิตคนไทย จากอุบัติเหตุทางถนน’โดยผลสรุปชี้ชัดว่า การสูญเสียทรัพยากรมนุษย์จากอุบัติเหตุ เป็นมหันตภัยร้ายแรงที่บั่นทอนศักยภาพการพัฒนาประเทศไทย

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุและวิกฤตบำบัดแห่งองค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า ความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงส่งผลให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ยังมีผลกระทบต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ และสังคมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียของกลุ่มเยาวชน และวัยแรงงานที่เป็นอนาคตของประเทศชาติ โดยในปี 2656 ตั้งแต่เดือนเมษายน - ตุลาคม 2565 พบว่า ตัวเลขตายบนถนนมากกว่าปี 2564 ทุกเดือน เฉลี่ยเดือนละ 10% จึงคาดว่ายอดรวมผู้เสียชีวิตปีนี้ จะมากถึง 18,000 ราย เพิ่มขึ้นจาก 16,000 ราย ในปีที่ผ่านมา

“ใช่วงเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม เป็นช่วงไฮซีซั่นการท่องเที่ยว มีงานบุญ และปีใหม่ ซึ่งจะมีการเดินทางมากขึ้น น่าเป็นห่วงว่าอุบัติเหตุในช่วงนี้ จะมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น ที่น่าสังเกตคือไทยเราเป็นประเทศเดียวในเอเชีย ที่ติด 10 อันดับแรกของโลก ที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงสุด นอกนั้นอยู่ในแถบแอฟริกาเกือบทั้งหมด กลุ่มนี้เป็นประเทศที่รายได้ต่ำ ระบบสาธารณูปโภคไม่ดี การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มข้น ซึ่งในไทยเราเองไม่ได้แย่ขนาดนั้น แต่ทำไมคนไทยเรายังตายกันมากมายเช่นนี้” นพ.วิทยา กล่าว

ประชากรชายมีแนวโน้มการสูญเสียสูงขึ้น

ดร.ภญ.ฐิติพร สุแก้ว นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) จากแผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) รายงานข้อค้นพบเชิงวิชาการ ‘เพื่อลดการเสียชีวิตลงอย่างรวดเร็วและได้ผล’ ระบุว่า หากประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย ลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงไปได้ 50% ให้เหลือ 12 รายต่อแสนประชากร ภายในปี 2570 ได้สำเร็จ จะช่วยเพิ่มอายุคาดเฉลี่ย (LE) 0.9 ปี ในกลุ่มประชากรชาย และ 0.2 ปีในกลุ่มประชากรหญิง และเพิ่มอายุคาดเฉลี่ยที่มีสุขภาพดี (HALE) เท่ากับ 0.8 ปีในกลุ่มประชากรชาย และ 0.2 ปีในกลุ่มประชากรหญิง ตรงกันข้ามหากปัญหาอุบัติเหตุไม่ได้รับการแก้ไข จะกระทบต่อการสูญเสียระยะเวลา ที่ประชากรไทยจะมีชีวิตอยู่ และอยู่อย่างมีสุขภาพดี

ทั้งนี้ สถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทย พบการสูญเสียของประชากรชายมีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่ผลกระทบที่เกิดจากประชากรหญิงมีแนวโน้มคงที่ ดังนี้

1.ผลกระทบต่ออายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด: ในปี พ.ศ. 2562 ข้อมูลจากความสูญเสียในเพศชาย แสดงถึงอายุคาดเฉลี่ยที่ลดลง เนื่องจากปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่ไม่ได้รับการแก้ไข โดยลดลง 1.9 ปี เมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2557 ที่ค่าเฉลี่ยลดลง 1.5 ปี สำหรับเพศหญิงในปี พ.ศ. 2562 ลดลง 0.5 ปี เมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2557 ที่ค่าเฉลี่ยลดลง 0.4 ปี

2.ผลกระทบที่เกิดต่ออายุคาดเฉลี่ยที่มีสุขภาวะของประชากร: ในปี พ.ศ. 2562 ข้อมูลจากความสูญเสียในเพศชาย พบค่าเฉลี่ยการมีสุขภาพดีจากที่ควรจะเป็น ลดลง 1.6 ปี เมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2557 ที่ค่าเฉลี่ย 1.3 ปี สำหรับเพศหญิงในปี พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2557 อัตราคงที่ที่ 0.4 ปี

“กล่าวได้ว่าทุกความพยายาม ในการลดการตายจากอุบัติเหตุทางถนน ไม่เพียงช่วยเพิ่มอายุขัยของประชากรไทย ขณะเดียวกันยังลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรในระยะยาว เพื่อให้สอดคล้องเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปีด้านสาธารณสุขที่แสดงความยืนยาวของชีวิตที่คาดหวัง ว่าคนเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างมีสุขภาพดีไม่ต่ำกว่า 75 ปี” ดร.ภญ. ฐิติพร ระบุ

ตายบนท้องถนน กระทบเศรษฐกิจ 5.1 แสนล้านบาท

ด้าน พญ.ศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยตัวเลขคาดการณ์ความสูญเสียทางเศรษฐกิจปี 2566 กรณีเกิดผู้พิการรายใหม่จากอุบัติเหตุทางถนน ระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ข้อมูล 3 ฐานคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนรวม 96,230 ราย เฉลี่ยปีละ 19,246 ราย เป็นชายมากกว่าหญิงในสัดส่วน 3.7 ต่อ 1 ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 15-19 ปี คิดเป็น 11.37% และ 20-24 ปี คิดเป็น 11.05% ในจำนวนนี้ 80% เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์ ขณะที่ภาพรวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจ รวมเฉียดล้านล้านบาท แบ่งตามระดับความรุนแรง ดังนี้

- เสียชีวิต 511,515 ล้านบาท
- บาดเจ็บรุนแรง (IPD) 158,669 ล้านบาท
- บาดเจ็บเล็กน้อย (OPD) 144,957 ล้านบาท
- พิการ 306,156 ล้านบาท

เชื่อระบบตัดคะแนน ช่วยส่งเสริมผู้ขับขี่ให้มีวินัยมากขึ้น

ขณะที่ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการ ปปง. เน้นย้ำการขับขี่ตามกฎจราจรเพื่อลดอุบัติเหตุ รวมถึงแจ้งเตือนมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ภายใต้นโยบายตัดแต้มใบขับขี่ ที่จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2566 อย่างเต็มรูปแบบ กล่าวว่า ที่ผ่านมาโทษเกี่ยวกับการผิดกฎหมายจราจร จะมีแต่โทษปรับและบำเพ็ญประโยชน์ ทุกคนจึงคิดว่าไม่รุนแรงและไม่เกรงกลัว เพราะแค่มีเงินจ่ายก็จบ แต่กฎหมายใหม่ภายใต้ระบบตัดคะแนน ไม่ว่ารวยหรือจนทุนคนมี 12 คะแนนต่อปีเท่ากัน คะแนนจะถูกตัดมากน้อยขึ้นแค่ไหน อยู่กับประเภทความผิดที่ผู้ขับขี่ละเมิด

พล.ต.ต.เอกรักษ์ เชื่อว่ามาตรการนี้จะทำให้ผู้ขับขี่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตระหนักและหันมาเคารพกฎจราจรมากขึ้น และในที่สุดอุบัติเหตุก็จะลดลงตามไปด้วย เพราะหากถูกตัดแต้มจนหมด จะถูกพักใช้ใบขับขี่หรือห้ามขับรถเป็นเวลา 90 วัน  หากทำผิดซ้ำๆ อาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตทุกประเภท โดยระหว่างนั้นหากพบว่าฝ่าฝืนถูกจับได้ จะมีโทษถึงขั้นจำคุก 3 เดือน และหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท ใครที่ต้องการขอคืนคะแนนต้องเข้าอบรมใหม่ โดยกรมการขนส่งทางบก แต่กระบวนการเหล่านี้ผู้ขับขี่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง เพื่อให้ได้คะแนนคืนมา

ทั้งนี้ นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์กรอนามัยโลก กล่าวเสริมว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติด้านความปลอดภัยทางถนนฉบับที่ 5 ซึ่งเริ่มต้นในปีนี้ลากยาวไปถึงปี พ.ศ. 2570 เน้นย้ำว่า “ทุกชีวิตมีความหมายและมีคุณค่ากับสังคม” และเนื่องจากแผนฉบับที่ 4 ไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่เขียนไว้ ส่วนสำคัญจากระบบติดตามกำกับไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น แผนฉบับที่ 5 ที่ตั้งเป้าลดตายลงครึ่หนึ่ง ให้ลดเหลือ 12 ต่อแสนประชากร จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก จะสำเร็จหรือไม่ต้องใช้ความมุ่งมั่นอย่างสูง อาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานและภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะการเพิ่มอัตราการสวมหมวกนิรภัย และคุมพฤติกรรมดื่มไม่ขับ จะลดการเสียชีวิตลงได้ถึง 12,000 คน

สำหรับข้อเสนอต่อฝ่ายการเมือง ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการกำหนดนโยบายลดและป้องกันอุบัติเหตุนั้น ทุกพรรคควรกำหนดการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ โดยในระยะสั้นต้องเร่งขับเคลื่อนนโยบายหมวก เมา เร็ว เพื่อลดความสูญเสียบนท้องถนน ขณะเดียวกันควรสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสถาบันวิชาการความปลอดภัยทางถนน เพื่อสนับสนุนการวิจัยกำหนดนโยบายในด้านนี้ รวมถึงปรับหลักการใช้ Safe system approach ในการแก้ไขอุบัติเหตุให้เกิดความยั่งยืน

ทั้งหมดนี้ คือข้อมูลผลศึกษาที่บ่งชี้ว่า อุบัติเหตุทางถนน ทำคนไทยอายุขัยสั้นลง จากปี 2560-2562 โดยในระยะเวลา 5 ปี ไทยทำสูญเสียทางเศรษฐกิจ 12 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดรั้งขีดความสามารถพัฒนาประเทศ จะต้องติดตามต่อไปว่า การรปับแผนบังคับใช้กฎหมายจราจร จากการปรับเป็นการตัดคะแนนนั้น จะช่วยให้คนไทยมีวินัยหรือกวดขันวินัยจราจรมากขึ้นหรือไม่ เพราะอุบัติเหตุบท้องถนนไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ผู้ประสบเหตุเท่านั้น ยังส่งผลภาพรวมต่อประเทศอีกด้วย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้