สุนทรพจน์ ‘สี จิ้นผิง’ สำหรับ APEC CEO Summit “เอเชียแปซิฟิกไม่ควรเป็นพื้นที่ถ่วงดุลอํานาจของประเทศใหญ่”

Last updated: 18 พ.ย. 2565  |  3825 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สุนทรพจน์ ‘สี จิ้นผิง’ สำหรับ APEC CEO Summit “เอเชียแปซิฟิกไม่ควรเป็นพื้นที่ถ่วงดุลอํานาจของประเทศใหญ่”

สิ่งที่ประชาชนชาวจีนปรารถนาที่จะเห็นที่สุดคือสันติภาพและเสถียรภาพ เดินอยู่บนเส้นทางการพัฒนาอย่างสันติเป็นการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวจีน พวกเรามุ่งมั่นยืนอยู่ข้างประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง

การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation) หรือการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก 2022 ที่ประเทศไทยในปีนี้ ไม่จืดชืดจนเกินไป เมื่อ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ตอบรับคำเชิญมาเข้าร่วมประชุม ขณะที่โลกทั้งโลกกำลังจับตามองความเคลื่อนไหวของสองขั้วมหาอำนาจ สหรัฐฯ กับ จีน 

ก่อนจะถึงการประชุมสุดยอดผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจในเอเปกในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ได้มีสุนทรพจน์ในรูปแบบลายลักษณ์อักษรสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำภาคธุรกิจเอเปก (APEC CEO Summit 2022) ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565

 สุนทรพจน์ของ สี จิ้นผิง มีความแข็งกร้าว ดุดัน ในเนื้อหาและท่าที โดยเป็นการพยายามเน้นย้ำเรื่องความร่วมมือในภูมิภาค ซึ่งชัดเจนว่ามีความพยายามดึงเอเชียแปซิฟิกให้ห่างจากสหรัฐฯ หลังจากที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit 2022) ที่กัมพูชา และได้ประกาศความร่วมมือต่างๆ ตอกย้ำความเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจกันไปก่อนแล้ว และในขณะเดียวกัน สี จิ้นผิง ก็ได้โชว์วิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศจีน อันเป็นเหมือนภาพฝันที่สวยหรู และยังบอกว่าจะแบ่งปันผลประโยชน์ที่จีนได้รับออกสู่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิกด้วย

เอเชียแปซิฟิกกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกในทศวรรษที่ 21 

“ผู้แทนทางธุรกิจ สุภาพสตรี สภาพบุรุษ และเพื่อนมิตรทั้งหลาย” 

“ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสมาถึงกรุงเทพฯที่สวยงาม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นําภาคธุรกิจของเอเปก” 

“โลกมาอยู่ที่ทางแยกอีกครั้ง โลกจะไปทางไหน เอเชียแปซิฟิกจะทําอย่างไร พวกเราจําเป็นต้องให้คําตอบ” 

“ศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษของเอเชียแปซิฟิก ประชากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีหนึ่งในสามของทั่วโลก เศรษฐกิจคิดเป็น 60% และยอดมูลค่าการค้ามากกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก เป็นเขตพื้นที่การเติบโตที่มีพลวัตที่สุดของเศรษฐกิจโลก การพัฒนาเศรษฐกิจของสมาชิกเอเชียแปซิฟิกได้ประสบความสําเร็จอันยิ่งใหญ่ในอดีต จําเป็นต้องเปิดหน้าใหม่อันสดใสยิ่งใหญ่มากยิ่งขึ้นในอนาคต”

ความท้าทายต่อสันติภาพและการพัฒนาของเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้น 

“ปัจจุบัน สถานการณ์เอเชียแปซิฟิกมีความมั่นคงโดยภาพรวม ความร่วมมือของภูมิภาคมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาอย่างสันติ ความร่วมมือแบบวิน-วินเป็นกระแสหลัก ในขณะเดียวกัน โลกกําลังเข้าสู่ระยะการแปรปรวนและเปลี่ยนแปลง ความตึงเครียดของภูมิรัฐศาสตร์และการแปรผันของโครงสร้างเศรษฐกิจได้ซ้อนซับกัน ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมการพัฒนาและโครงสร้างความร่วมมือของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โรค COVID-19 ยังแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจโลกมีความกดกันในการชะลอตัว และมีความเสี่ยงเพิ่มมากยิ่งขึ้นในการถดถอย วิกฤติทางข้าวและธัญญาหาร พลังงาน และหนี้สิน ได้ปรากฏตัวพร้อมเพรียงกัน มีประเทศจํานวนไม่น้อยกําลังเผชิญหน้ากับอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ปัจจัยความไม่มั่นคงและไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น แนวคิดสงครามเย็น ลัทธิครองความเป็นใหญ่ ลัทธิเอกภาคีนิยม ลัทธิอนุรักษนิยมได้กลับมาฟื้นตัวอีก พฤติกรรมที่บ่อนทําลายกฎระเบียบสากลและความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ หนุนหลังการปะทะกันในภูมิภาค ขัดขวางความร่วมมือในการพัฒนาได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งไม่หยุด เป็นความท้าทายต่อสันติภาพและการพัฒนาของเอเชียแปซิฟิก”

“เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ ย่อมจะได้รับบทเรียนให้กับอนาคต ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิกได้ฉีดพลังอันใหญ่หลวงให้กับการพัฒนาของภูมิภาค ได้ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ประสบการณ์นี้ล้ำค่ามาก ความตั้งใจเดิมต้องยึดมั่นและทะนุถนอมไว้” 

เอเชียแปซิฟิกต้องเดินบนเส้นทางสันติ ไม่ควรกลายเป็นพื้นที่ถ่วงดุลอํานาจของประเทศใหญ่

“พวกเราต้องเดินอยู่บนเส้นทางแห่งการพัฒนาที่สันติ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเคยผ่านความยากลําบากของสงครามและความผันผวน แปรปรวน จนตกเป็นพื้นที่ถ่วงดุลอํานาจของประเทศมหาอํานาจ และเต็มไปด้วยปัญหาความขัดแย้งของโลกสากล ประวัติศาสตร์ได้บ่งบอกพวกเราว่า การเผชิญหน้าของเครือข่ายและกลุ่มประเทศ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อคติ และการดูถูก แบ่งแยก จะนํามาแค่ภัยพิบัติ เป็นเพราะด้วยเหตุว่าได้หลุดพ้นจากสงครามเย็น ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจขนาดปานกลางและย่อม จึงสามารถพัฒนาก้าวหน้าอย่างทันสมัย ‘ปาฏิหาริย์แห่งเอเชียแปซิฟิก’ จึงเกิดขึ้นได้”

“ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไม่ใช่สวนดอกไม้ของใครสักคน ไม่ควรกลายเป็นพื้นที่ถ่วงดุลอํานาจของประเทศใหญ่ ความมุ่งหวังที่สร้าง ‘สงครามเย็นใหม่’ ประชาชนจะไม่ยอมรับแน่นอน ยุคสมัยก็ไม่อนุญาตแน่นอนเหมือนกัน” 

ต้องเปิดกว้าง ครอบคลุม ไม่แบ่งแยก ถ้าปิดกั้นจะทำลายห่วงโซ่อุปทาน

“พวกเราต้องเดินอยู่บนเส้นทางแห่งการเปิดกว้างและครอบคลุม การเปิดกว้างและครอบคลุมเป็นเงื่อนไขขั้นพื้นฐานแห่งความเจริญก้าวหน้าของมนุษยชาติ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เขตเศรษฐกิจต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกได้ร่วมกันสร้างตลาดที่มีความบูรณภาพกัน ส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจเหนียวแน่นมากขึ้น อ้าแขนกอดโลกไว้อย่างแข็งขัน เปิดที่ว่างอันกว้างใหญ่ไพศาลให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจ องค์การเอเปคยืนหยัดลัทธิภูมิภาคที่เปิดกว้าง หลักการที่หลากหลาย และไม่แบ่งแยก ได้สร้างโครงสร้างความร่วมมือของภูมิภาคที่เปิดกว้างและเอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เป็นเพราะเหตุที่ว่ามีวิสัยทัศน์แบบนี้ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจึงสามารถจับโอกาสโลกาภิวัตน์ไว้ได้อย่างดี ผลักดันการสร้างประชาคมเศรษฐกิจของภูมิภาคเดินอยู่ในแถวหน้าของยุคสมัย”

“การเปิดกว้างจะนํามาซึ่งความเจริญก้าวหน้า การปิดกั้นจะทําให้ล้าหลัง ขัดขวางจนทําลายห่วงโซ่อุตสาหกรรมและอุปทานที่มีมาตั้งนานแล้วของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้ล่มสลาย ย่อมจะส่งผลให้ความร่วมมือเศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิกเข้าสู่ทางตัน”

ต้องสมัครสมานสามัคคี ร่วมกันผลักดันให้เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกอยู่ในแถวหน้าของการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก

“พวกเราต้องเดินอยู่บนเส้นทางแห่งความสมัครสมานสามัคคี ‘ปาฏิหาริย์แห่งเอเชียแปซิฟิก’ สร้างสรรค์ขึ้นมาได้เพราะทุกประเทศจับมือฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ และร่วมแรงร่วมใจทํางานด้วยกัน ตลอดกาลที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยืนหยัดเจตจํานงที่เป็นครอบครัวใหญ่ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ฟันฝ่าความเสี่ยงและอันตรายนานัปการ เดินไปสู่ข้างหน้าท่ามกลางมหาสมุทรแห่งเศรษฐกิจโลก และได้กําเนิดมาซึ่งเจตนารมณ์แห่งประชาคม และเป็นรากฐานที่หนาแน่นแห่งการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”   

“ปัจจุบันนี้ เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกกําลังเข้าสู่ระยะเวลาสําคัญในการฟื้นฟูหลังเกิดโรค COVID-19 เขตเศรษฐกิจต่างๆ ล้วนเผชิญหน้ากับอุปสรรคนานัปการ เช่น ห่วงโซ่อุปทานไม่เป็นระเบียบและสับสน ข้าว ธัญญาหาร และพลังงานขาดแคลน มีแรงกดดันในด้านเงินเฟ้อ เป็นต้น พวกเราต้องกระชับความร่วมมือ สนับสนุนซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผลักดันให้เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกเดินอยู่ในแถวหน้าแห่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก” 

ต้องเรียนรู้บทเรียน 6 ประการจากอดีต เพื่อรับมือความท้าทายของยุคสมัย 

“สุภาพสตรี สุภาพบุรุษ และเพื่อนมิตรทั้งหลาย”

“ภายในสถานการณ์ใหม่ พวกเราต้องเรียนรู้บทเรียนและประสบการณ์จากประวัติศาสตร์ เพื่อรับมือกับความท้าทายของยุคสมัย ยืนหยัดในการสร้างประชาคมเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ร่วมแรงร่วมใจกันเปิดหน้าใหม่แห่งการพัฒนา ร่วมกันสร้างประชาคมเอเชียแปซิฟิกที่มีอนาคตร่วมกัน” 

ประการแรก ส่งเสริมรากฐานการพัฒนาที่สันติอย่างหนาแน่น พวกเราต้องยึดมั่นในวัตถุประสงค์และหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ สร้างวิสัยทัศน์แห่งความมั่นคงปลอดภัยที่เป็นน้ําหนึ่งใจเดียวกัน มีบูรณาภาพ มีความร่วมมือและยั่งยืน ร่วมกันคัดค้านแนวคิดสงครามเย็นและการปฏิปักษ์ระหว่างเครือข่ายและกลุ่มประเทศต่างๆ สร้างโครงสร้างความมั่นคงปลอดภัยของเอเชียแปซิฟิก และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่การพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงปลอดภัยที่ยั่งยืนของเอเชียแปซิฟิก”  

ประการที่สอง ยึดมั่นในแนวคิดการพัฒนาที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง พวกเราต้องให้ความสําคัญกับเรื่องส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ คํานึงถึงความต้องการของผู้ด้อยโอกาส แก้ไขปัญหาความห่างทางรายได้ สร้างสภาพแวดล้อมแห่งการพัฒนาที่ครอบคลุมและเปิดกว้าง เขตเศรษฐกิจต่างๆ ของเอเชียแปซิฟิกที่พัฒนาแล้วต้องแสดงบทบาทในเชิงบวก สนับสนุนเขตเศรษฐกิจที่กําลังพัฒนาอย่างแข็งขัน สร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนอันใหม่ที่สมัครสมานสามัคคี เสมอภาค สมดุล และเอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย” 

ประการที่สาม สร้างโครงสร้างอันเปิดกว้างที่มีระดับสูงขึ้น พวกเราต้องส่งเสริมความร่วมมือภายใต้กรอบขององค์การเอเปก ผลักดันกระบวนการของเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก ปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปก ต้องเข้าร่วมการปฏิรูปขององค์การการค้าโลกอย่างรอบด้านและลึกซึ้ง ต้องผลักดันให้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสําหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และข้อตกลงความสัมพันธ์หุ้นส่วนดิจิทัล (DEPA) เชื่อมต่อซึ่งกันและกัน สร้างเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกที่เปิดกว้าง”  

ประการที่สี่ ส่งเสริมให้มีความเชื่อมโยงที่มีระดับสูงขึ้น พวกเราต้องใช้แผนสีเขียวความเชื่อมโยงขององค์การเอเปกเป็นการชี้นำ ผลักดันให้มีการเชื่อมต่อทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ และการไปมาหาสู่กันระหว่างประชาชนอย่างมีระเบียบ ประเทศจีนจะผลักดันข้อริเริ่ม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของทุกฝ่ายอย่างแข็งขัน ร่วมกันสร้างเครือข่ายความเชื่อมโยงของเอเชียแปซิฟิกที่มีคุณภาพสูง”  

ประการที่ห้า สร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมและอุปทานที่มั่นคงและราบรื่น พวกเราต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของเศรษฐกิจ ยืนหยัด หลักการตลาด ส่งเสริมให้ปัจจัยการผลิตเคลื่อนไหวอย่างอิสระเสรี พิทักษ์รักษาระบอบของการบริการ การผลิต และอุปทานของสินค้าต่างๆ สร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมและอุปทานของเอเชียแปซิฟิกที่สะดวก มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย ต้องร่วมกันคัดค้านลัทธิเอกภาคีนิยม ลัทธิอนุรักษ์นิยม คัดค้านการกระทําที่ทําให้ความสัมพันธ์เศรษฐกิจการค้ากลายเป็นประเด็นการเมืองและประเด็นที่เกี่ยวกับอาวุธ”  
เรื่องแนะนำ

ประการที่หก ต้องผลักดันเศรษฐกิจให้อัปเกรดและยกระดับคุณภาพสูงขึ้น พวกเราต้องคล้อยตามการปฏิวัติทางเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมรอบใหม่ เร่งดําเนินนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและกฎกติกา บ่มเพาะเศรษฐกิจใหม่ ธุรกิจใหม่และโมเดลพาณิชย์ใหม่ เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจพัฒนาแบบดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ต้องยืนหยัดการพัฒนาแบบสีเขียวและคาร์บอนต่ำ สร้างอุตสาหกรรมสีเขียว และการเงินสีเขียว เร่งก่อสร้างโครงสร้างความร่วมมือแบบสีเขียวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จนทําให้การพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเดินอยู่ในแถวหน้าของโลก” 

เศรษฐกิจจีนและเอเชียแปซิฟิกต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันต่อไป 

“การพัฒนาของประเทศจีนได้รับผลดีจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ขณะเดียวกัน จีนก็ได้ใช้การพัฒนาของตนเองตอบรับและนําความผาสุกมาให้แก่ภูมิภาคนี้ เศรษฐกิจของจีนและของเอเชียแปซิฟิกได้พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และผสมผสานกันอย่างลึกซึ้ง ประเทศจีนได้กลายเป็นคู่ค้าหลักของเขตเศรษฐกิจจํานวนมากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นจุดสําคัญของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคนี้ จีนจะยืนหยัดในการสร้างประชาคมเอเชียแปซิฟิกที่มีอนาคตร่วมกันอย่างแน่นอน สร้างผลประโยชน์มากขึ้นให้กับความมั่นคงและความเจริญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”  

“เมื่อไม่นานมานี้ การประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ได้จัดขึ้นอย่างประสบความสําเร็จ ซึ่งได้จัดทําแผนการ โดยภาพรวมสําหรับการพัฒนาของประเทศในปัจจุบันและช่วงระยะเวลาหนึ่งในอนาคต โดยเน้นการสร้างความทันสมัยแบบจีนอย่างรอบด้าน” 

จีนจะทำให้ประชาชน 80% ของประเทศเป็นผู้มีรายได้ปานกลางใน 15 ปีข้างหน้า 

“จนถึงปัจจุบันนี้ จํานวนของประเทศอุตสาหกรรมของโลกนี้มีไม่เกิน 30 ประเทศ โดยมีประชากรไม่เกินหนึ่งพันล้านคน ประเทศจีนซึ่งมีประชากรมากกว่าหนึ่งพันสี่ร้อยล้านคน บรรลุความทันสมัยนั้น จะเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การพัฒนาของมนุษยชาติ การพัฒนาที่ดีของสังคมและเศรษฐกิจจีน ย่อมรณรงค์รวมพลังของประชากรจํานวนมากกว่าหนึ่งพันสี่ร้อยล้านคน เราจะยึดมั่นแนวคิดที่ถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทําให้ผู้ที่มีรายได้ปานกลางมีจํานวนเกินแปดร้อยล้านคนใน 15 ปีข้างหน้า ผลักดันให้ตลาดที่มีปริมาณอันยิ่งใหญ่ไพศาล สามารถพัฒนาเติบโตอย่างต่อเนื่อง” 

นักปราชญ์จีนโบราณเคยกล่าวว่า ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ เริ่มจากการทําให้ประชาชนมีชีวิตที่ร่ำรวย ประเทศจีนได้ประสบความสําเร็จในการขจัดความยากจน และสร้างสังคมกินดีอยู่ดีอย่างรอบด้าน ตอนนี้ต้องผลักดันให้ประชาชนทั้งหมดมีชีวิตที่ร่ำรวยพร้อมเพรียงกัน ความร่ำรวยร่วมกันของประเทศจีน คือการตอบสนองความต้องการของประชาชนที่มีความปรารถนาที่จะมี ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีงาม ทําให้เกิดความร่ำรวยโดยรวมอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเข้าถึงประชาชนทั่วไป ยืนหยัดในการบูรณาการระหว่างตลาดและรัฐบาล ระหว่างประสิทธิภาพและความยุติธรรม แบ่งเค้กการพัฒนาอย่างเหมาะสมสมดุล ขณะที่ทําเค้กให้ใหญ่ขึ้น สร้างโครงสร้างแบ่งบันผลิตผลในรูปคล้ายมะกอก ข้าพเจ้าได้เสนอข้อริเริ่มการพัฒนาโลก ก็เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาการพัฒนาที่ไม่สมดุล ประเทศจีนกําลังปฏิบัติข้อริเริ่มดังกล่าวกับประเทศและองค์กรระหว่างประเทศจํานวนมากกว่า 100 แห่งอย่างเป็นรูปธรรม ผลักดันให้การประชุมระดับสูงในการพัฒนาของโลกที่จัดขึ้นในปีนี้เกิดผลที่เป็นจริง ประเทศจีนพร้อมที่จะเพิ่มการลงทุนด้านทรัพยากรให้กับความร่วมมือการพัฒนาของทั่วโลก และจะจับมือกับฝ่ายต่างๆ ในการสร้างประชาคมการพัฒนาของโลก” 

จีนจะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งทรัพย์สินและจิตวิญญาณ

“ข้าพเจ้าเคยกล่าวไว้ว่า เมื่อตึกอาคารสูงได้ยืนผงาดขึ้นบนแผ่นดินของจีน จิตวิญญาณของประชาชาติจีนก็ต้องยืนผงาดขึ้นเหมือนกัน พวกเราจะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งทรัพย์สินและจิตวิญญาณให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทําให้ทุกบ้าน ทุกครัวเรือนมีของกินของใช้ที่อุดมสมบูรณ์ ประชาชนทุกคนมีความรู้ มารยาท และอารยธรรม พวกเรายินดีส่งเสริมวิสัยทัศน์ อารยธรรมที่เสมอภาค เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เจรจาและพูดคุยกัน และปรองดอง ขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกส่งเสริมค่านิยมของมวลมนุษย์ ที่สันติภาพ การพัฒนา เที่ยงธรรม ยุติธรรม ประชาธิปไตย และอิสระเสรี โดยใช้การแลกเปลี่ยนทางอารยธรรมข้ามผ่าน ความปิดกั้นทางอารยธรรม ใช้การเรียนรู้ซึ่งกันและกันทางอารยธรรมข้ามผ่านการขัดกันทางอารยธรรม ใช้การอยู่ร่วมกันทางอารยธรรมข้ามผ่านการเอาเปรียบทางอารยธรรม เพื่อสร้างพลังให้อารยธรรมโลกพัฒนาอย่างสมดุล แข็งขัน และเป็นมิตรกับทุกฝ่าย” 

ความทันสมัยแบบจีน ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“ความทันสมัยแบบจีนจําเป็นต้องยึดมั่นเส้นทางที่มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืน ซึ่งทั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นความรับผิดชอบต่อพวกเราคนเอง ยังเป็นความรับผิดชอบต่อทั่วโลกอีกด้วย เมื่อหลายปีที่ผ่านมานี้ พวกเรามุ่งมั่นปฏิบัติตามแนวคิดน้ําใสภูเขาเขียว ก็คือ ภูเขาทอง ภูเขาเงิน ส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมพัฒนาแบบสีเขียว พยายามสร้างประเทศจีนอันสวยงามที่มีฟ้าใส ดินเขียว และน้ําสะอาด”

“ประเทศจีนได้ตั้งเป้าหมายที่ว่าจะพยายามปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ถึงระดับสูงสุดก่อนปี ค.ศ. 2030 และบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอนก่อนปี ค.ศ. 2060 ซึ่งเป็นคํามั่นสัญญาที่รัฐบาลจีนให้ไว้กับประชาคมโลก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่ลดความเข้มข้นของพลังงานรวดเร็วที่สุดในโลก ได้บรรลุเป้าหมายที่ว่าลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซคาร์บอน 40% ถึง 45% ในปี ค.ศ. 2020 โดยเกินโควตา ได้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสะสมไว้เป็นจํานวนห้าพันแปดร้อยล้านตัน ประเทศจีนได้สร้างตลาดคาร์บอนและระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก หวังว่าทุกฝ่ายจะกระชับความร่วมมือ เดินบนเส้นทางพัฒนาแบบสีเขียวและคาร์บอนต่ำอย่างแน่วแน่ ร่วมกันสร้างประชาคมมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติที่มีอนาคตร่วมกัน” 

จีนอยากเห็นการพัฒนาอย่างสันติ

“สิ่งที่ประชาชนชาวจีนปรารถนาที่จะเห็นที่สุดคือสันติภาพและเสถียรภาพ เดินอยู่บนเส้นทางการพัฒนาอย่างสันติ เป็นการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวจีน พวกเรามุ่งมั่นยืนอยู่ข้างประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง เชิดชูธงแห่งสันติภาพ การพัฒนา ความร่วมมือ และอํานวยผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน แสวงหาการพัฒนาของตนเองในขณะที่พิทักษ์รักษาสันติภาพและการพัฒนาของโลก ในขณะเดียวกัน ใช้การพัฒนาของตนเองเพื่อพิทักษ์รักษาสันติภาพและการพัฒนาของโลกให้ดีขึ้นอีกด้วย”

ชวนภาคธุรกิจส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีน

“สุภาพสตรี สุภาพบุรุษ และเพื่อนมิตรทั้งหลาย” 

“ตลอดกาลที่ผ่านมานี้ วงการธุรกิจเอเชียแปซิฟิกเป็นพลังสําคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค มีคนกล่าวว่า นักธุรกิจเป็นผู้มองโลกในแง่ร้ายในระยะสั้น ก็เป็นผู้มองโลกในแง่ดีในระยะยาว หากชอบอยู่สบายโดยไม่ระมัดระวังภัยที่จะเกิดขึ้น ธุรกิจก็ไม่สามารถทําได้ดี หากไม่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและความคิดหลักแหลม ธุรกิจก็ไม่สามารถเจริญก้าวหน้าได้ด้วยเหมือนกัน หวังว่าเพื่อนมิตรต่างๆ ในวงการธุรกิจจะประยุกต์ใช้จิตวิญญาณของนักธุรกิจให้ดี ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน มีส่วนร่วมอยู่ในการปฏิรูปเปิดประเทศของจีน และการสร้างความทันสมัยแบบจีนอย่างแข็งขัน สร้างคุณูปการสําคัญต่อการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองของเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก”

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้