จำคุก ผอ.ร.ร.อนุบาล 192 ปี 6 เดือน ทุจริตเงินอาหารกลางวัน ให้เด็กกินเส้นขนมจีนราดน้ำปลา

Last updated: 22 ต.ค. 2565  |  3478 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จำคุก ผอ.ร.ร.อนุบาล 192 ปี 6 เดือน ทุจริตเงินอาหารกลางวัน ให้เด็กกินเส้นขนมจีนราดน้ำปลา

ศาลอาญาคดีทุจริตภาค 8 สั่งจำคุก “สมเชาว์ สิทธิเชนทร์” อดีต ผอ.โรงเรียนอนุบาลฯ 192 ปี 6 เดือน ทุจริตเงินอาหารกลางวัน 77 กระทง ให้เด็กกินเส้นขนมจีนราดน้ำปลา ชี้ใช้อำนาจหาผลประโยชน์ กระทบพัฒนาการเด็ก พฤติการณ์ร้ายแรง ไม่รอการลงโทษ

          ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 จังหวัดนครศรีธรรมราช กรณีการทุจริตเงินอาหารกลางวันของนักเรียน โดยมีภาพข่าวปรากฏให้นักเรียนกินขนมจีนราดน้ำปลา คดีนี้ล่าสุดวันนี้ (วันที่ 21 ตุลาคม 2565) มีรายงานว่าคดีนี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 ได้อ่านคำพิพากษาคดีนี้มาตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 แล้ว ในคดีหมายเลขคดีดำ อท.29/2564 เลขคดีแดง อท.42/2565 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมเชาว์ สิทธิเชนทร์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าใหม่ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และอื่นๆ กรณีที่เคยปรากฏเป็นข่าวการจัดอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล ด้วยการให้กินเส้นขนมจีนกับน้ำปลา

          ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม), 162(1)(4) (เดิม) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 121/1 การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) มาตรา 162(1)(4) (เดิม) กับความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และการกระทำของจำเลยในแต่ละครั้งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 77 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 385 ปี

จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 192 ปี 6 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3)

          โดยศาลได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริงตามฟ้อง และพยานหลักฐานโจทก์ตามทางไต่สวนแล้ว เห็นว่าการกระทำของจำเลยในแต่ละกระทงความผิดแม้คิดคำนวณได้เป็นตัวเงินไม่มากนัก แต่จำเลยได้กระทำผิดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งจำเลยเป็นผู้บริหารโรงเรียน แต่กลับอาศัยอำนาจหน้าที่เบียดบังเอาผลประโยชน์ที่ไม่ควร ได้ทำให้เด็กนักเรียนในปกครองไม่ได้รับอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ และจำนวนที่เพียงพอต่อการพัฒนาการทางร่างกาย และย่อมส่งผลเสียในระยะยาว พฤติการณ์แห่งคดีจึงร้ายแรง ไม่สมควรรอการลงโทษ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

          โดยคดีนี้หลังจากที่มีการพิพากษาในวันนั้นแล้ว ปรากฏว่าศาลยังปราณีให้จำเลยได้ยื่นคำร้องประกันตัวเพื่อสู้คดีต่อในชั้นอุทธรณ์ จำเลยได้วางหลักทรัพย์ไว้จำนวนหนึ่ง ศาลได้พิจารณาให้ประกันตัวปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีกำหนดการยื่นอุทธรณ์นับแต่วันฟังคำพิพากษาเป็นเวลา 30 วัน แต่จนถึงขณะนี้ปรากฏว่าจำเลยยังไม่ได้มีการยื่นอุทธรณ์ แต่ได้มีการยื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 3 แล้ว

          รายละเอียดคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 คดีนี้ ที่นายสมเชาว์ สิทธิเชนทร์ให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องจริงทุกข้อกล่าวหา พฤติการณ์การเบิกจ่ายเงิน การสั่งการให้มีการทำหลักฐานเบิกจ่ายเงินย้อนหลังอันเป็นเท็จ และคำวินิจฉัยตัดสินลงโทษของศาลฯ ที่เห็นว่า แม้ตัวเลขวงเงินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จะมีตัวเลขไม่มากนัก แต่จำเลยได้กระทําผิดมาอย่าง ต่อเนื่องยาวนาน ทั้งจําเลยเป็นผู้บริหารโรงเรียนแต่กลับอาศัยอํานาจหน้าที่เบียดบังเอาผลประโยชน์ ที่ไม่ควรได้ทําให้เด็กนักเรียนในปกครองไม่ได้รับอาหารกลางวันที่มีคุณภาพและจํานวนที่เพียงพอต่อการพัฒนาการทางร่างกายและย่อมส่งผลเสียในระยะยาว พฤติการณ์แห่งคดีจึงร้ายแรงไม่สมควรรอการลงโทษ

@ ให้การปฏิเสธ ก่อนรับสารภาพ

คำพิพากษาคดีนี้ ระบุว่า โจทก์ฟ้อง จําเลยให้การปฏิเสธ

เมื่อสืบพยานโจทก์จําเลยเสร็จ จําเลยขอถอนคําให้การ เป็นให้การรับสารภาพ

ได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ที่นําสืบและอ้างส่งพยานเอกสารประกอบรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติฟังประกอบคํารับสารภาพของจําเลยแล้ว

ฟังได้ว่า จําเลยได้กระทําความผิดตามฟ้องจริงทุกข้อกล่าวหา

@ อำนาจหน้าที่ของจำเลย 

          ขณะเกิดเหตุจําเลยรับราชการในตําแหน่งผู้อํานวยการโรงเรียนบ้านท่าใหม่ ตําบลประสงค์ อําเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา มีหน้าที่บริหารกิจการของสถานศึกษา วางแผนการปฏิบัติ การควบคุม กํากับ ดูแลเกี่ยวกับการบริหารงานวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล การบริหารงานทั่วไป และงานอื่น ที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมายตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 รวมทั้งมีอํานาจบริหารจัดการและอนุมัติให้จัดซื้อวัสดุเครื่องบริโภคเพื่อนํามาประกอบ อาหารกลางวันให้แก่นักเรียนตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 

          จึงเป็นเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4

@ พฤติการณ์กระทำความผิด

          องค์การบริหารส่วนตําบลประสงค์ได้สนับสนุนงบประมาณโครงการอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านท่าใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 จนถึงปัจจุบัน โดยจะจ่ายเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนในอัตรารายละ 20 บาท ต่อคนต่อวัน ภาคการศึกษาละ 100 วัน โดยจ่ายปีการศึกษาละ 2 ครั้ง (ตามภาคการศึกษา) จ่ายเงินเป็นเช็คของธนาคารเพื่อการเกษตร สาขาท่าชนะ ชื่อบัญชีกองทุนโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนบ้านท่าใหม่

          เมื่อระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 เวลากลางวันต่อเนื่องกันทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืน จําเลยได้กระทําผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน

          กล่าวคือ เมื่อระหว่างวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 องค์การบริหารส่วนตําบลประสงค์ได้สนับสนุนงบประมาณโครงการอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านท่าใหม่ ได้จ่ายเงินเป็นเช็คธนาคารเพื่อการเกษตร สาขาท่าชนะ ชื่อบัญชี กองทุนโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนบ้านท่าใหม่ เป็นเงินจํานวน 486,000 บาท

          ในระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 16 มกราคม 2558 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จําเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอํานาจหน้าที่ ซื้อ ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด และมีอํานาจหน้าที่ ได้ใช้อํานาจปฏิบัติหน้าที่ในตําแหน่งดังกล่าวโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โรงเรียนบ้านท่าใหม่และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ได้สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของจําเลย และเป็นผู้มีอํานาจเบิกถอนเงิน จากบัญชีกองทุนโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนบ้านท่าใหม่ จํานวน 12 ครั้ง เป็นเงินจํานวนครั้งละ 48,600 บาท จํานวน 10 ครั้ง ครั้งละ 63,180 บาท จํานวน 1 ครั้ง, ครั้งละ 50,200 บาท จํานวน 1 ครั้ง เพื่อใช้จัดซื้อวัสดุเครื่องบริโภคสําหรับประกอบอาหารกลางวัน

          และให้นําเงินดังกล่าว มามอบให้จําเลยแล้วจําเลยรับเงินไปจํานวนครั้งละ 40,000 บาท ในแต่ละครั้ง เพื่อซื้อวัสดุเครื่องบริโภคแต่เพียงผู้เดียว

          ส่วนเงินที่เหลือจําเลยนําไปจ่ายเป็นค่าจ้างแม่ครัว และเงินที่เหลือ จากค่าจ้างแม่ครัวแล้วได้เก็บรักษาไว้เป็นรายได้นอกงบประมาณเพื่อนําไปบริหารกิจการต่าง ๆ ภายในโรงเรียนบ้านท่าใหม่ซึ่งไม่สามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้

จึงทําให้ได้อาหารกลางวันในปริมาณน้อย ไม่เพียงพอแก่เด็กนักเรียนทุกคน

          ต่อมาภายหลังจําเลยได้สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของจําเลยและเป็นผู้รับผิดชอบโครงการอาหารกลางวัน จัดทําใบสั่งซื้อวัสดุเครื่องบริโภคตามแบบที่สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 2 กําหนดโดยมีรายละเอียด กับรายการที่ขอซื้อ การอนุมัติจัดซื้อ ใบรับรองแทนใบเสร็จและผลการตรวจรับและอนุมัติจ่ายเงิน และจําเลยได้สั่งให้ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจําเลยและเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ ลงลายมือชื่อในฐานะเจ้าหน้าที่พัสดุ และสั่งให้ ผู้ใต้บังคับบัญชา ของจําเลยและเป็นกรรมการตรวจรับพัสดุ ลงลายมือชื่อในฐานะกรรมการตรวจรับพัสดุ โดยสั่งให้ ผู้ใต้บังคับบัญชาของจําเลยลงชื่อรับรองว่าพัสดุเครื่องบริโภคได้ทําการตรวจรับ ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อันเป็นการรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทําการอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใด ได้กระทําต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จและเป็นการรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้น มุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จทั้งที่ผู้ใต้บังคับบัญชาของจําเลยไม่ทราบว่าในแต่ละวันจําเลยได้จัดซื้อวัสดุเครื่องบริโภค อะไรบ้างเพื่อนํามาปรุงอาหารกลางวันและจัดซื้อมาเป็นจํานวนและราคาเท่าใด

          โดยการจัดทําเอกสารหลักฐานดังกล่าวเป็นการจัดทําขึ้นมาย้อนหลังอันเป็นเท็จเดือนละหนึ่งครั้ง เพื่อให้เป็นหลักฐานการเบิกจ่ายเงินโดยให้มีรายละเอียดเกี่ยวกับเมนูอาหารกลางวันปริมาณวัสดุเครื่องบริโภค และจํานวนเงินเป็นเงินจํานวนวันละ 5,000 บาทเท่านั้น เพราะได้มีการกันเงินบางส่วนเป็นเงินรายได้นอกงบประมาณ

เป็นเหตุให้รัฐและโรงเรียนบ้านท่าใหม่ได้รับความเสียหาย 

@ ทำแบบเดียวกันอีก 9 ครั้ง 

          ในคำพิพากษายังระบุพฤติการณ์เดียวกัน ของจำเลยในการรับเงินสนับสนุนงบประมาณโครงการอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียน โรงเรียนบ้านท่าใหม่ อีก 9 ครั้ง แยกเป็น

          เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558 องค์การบริหารส่วนตําบลประสงค์ได้สนับสนุนงบประมาณโครงการอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียน โรงเรียนบ้านท่าใหม่ เป็นเงินจํานวน 344,400 บาท

          เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 องค์การบริหารส่วนตําบล ประสงค์ได้สนับสนุนงบประมาณโครงการอาหารกลางวันให้แกนักเรียนโรงเรียนบ้านท่าใหม่ เป็นเงินจํานวน 639,600 บาท

          เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 องค์การบริหารส่วนตําบลประสงค์ ได้สนับสนุนงบประมาณโครงการอาหารกลางวันให้แกนักเรียนโรงเรียนบ้านท่าใหม่ เป็นเงินจํานวน 515,000 บาท

          เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 องค์การบริหารส่วนตําบลประสงค์ได้สนับสนุนงบประมาณโครงการอาหารกลางวันให้แกนักเรียนโรงเรียนบ้านท่าใหม่ เป็นเงินจํานวน 256,000 บาท

          เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 องค์การบริหารส่วนตําบลประสงค์ได้สนับสนุนงบประมาณโครงการอาหารกลางวันให้แกนักเรียนโรงเรียนบ้านท่าใหม่ เป็นเงินจำนวน 265,000 บาท

          เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 องค์การบริหารส่วนตําบลประสงค์ได้สนับสนุนงบประมาณโครงการอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนโรงเรียนบ้านท่าใหม่ เป็นเงินจํานวน 530,000 บาท

          เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 องค์การบริหารส่วนตําบล ประสงค์ได้สนับสนุนงบประมาณโครงการอาหารกลางวันให้แกนักเรียนโรงเรียนบ้านท่าใหม่ เป็นเงินจํานวน 538,000 บาท

          เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 องค์การบริหารส่วนตําบลประสงค์ได้สนับสนุนงบประมาณโครงการอาหารกลางวันให้แกนักเรียนโรงเรียนบ้านท่าใหม่ เป็นเงินจํานวน 269,000 บาท

          เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 องค์การบริหารส่วนตําบลประสงค์ได้สนับสนุนงบประมาณโครงการอาหารกลางวัน ให้แก่นักเรียนโรงเรียนบ้านท่าใหม่ เป็นเงินจํานวน 285,000 บาท

@ คำพิพากษาของศาล

          ศาลพิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 , 162 (1) (4) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2552 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 121/1 การกระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 162 (1) (4) กับความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 เป็นการกระทํากรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 90 และการกระทําของจําเลยตามฟ้อง ในแต่ละครั้ง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

          จึงให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 77 กระทง ให้จําคุกกระทงละ 5 ปี

          จําเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจําคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวมจําคุก 192 ปี 6 เดือน

เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจําคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3)

@ เบียดบังเอาผลประโยชน์อาหารกลางวันเด็ก-ศาลไม่ปราณี 

          พิเคราะห์ข้อเท็จจริงตามฟ้องและพยานหลักฐานของโจทก์ตามทางไต่สวนแล้วเห็นว่า การกระทําของจําเลยในแต่ละกระทงความผิดแม้คิดคํานวณได้เป็นตัวเงินไม่มากนักแต่จําเลยได้กระทําผิดมาอย่าง ต่อเนื่องยาวนาน ทั้งจําเลยเป็นผู้บริหารโรงเรียนแต่กลับอาศัยอํานาจหน้าที่เบียดบังเอาผลประโยชน์ ที่ไม่ควรได้ทําให้เด็กนักเรียนในปกครองไม่ได้รับอาหารกลางวันที่มีคุณภาพและจํานวนที่เพียงพอต่อการพัฒนาการทางร่างกายและย่อมส่งผลเสียในระยะยาว

พฤติการณ์แห่งคดีจึงร้ายแรงไม่สมควรรอการลงโทษ คําขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

          ทั้งหมดนี้ เป็นรายละเอียดในคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 ที่ตัดสินลงโทษ นายสมเชาว์ สิทธิเชนทร์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าใหม่ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี กรณีทุจริตอาหารกลางวันเด็กอนุบาล

อย่างไรก็ดี คดียังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้

          แต่ไม่ว่าในท้ายที่สุดผลจะออกมาเป็นอย่างไร คดีนี้ นับเป็นกรณีศึกษาสำคัญ เพื่อไม่ให้บุคคลอื่น กระทำผิดซ้ำรอย ไม่เอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ชัดเจนอีกกรณีหนึ่ง 

โดยเฉพาะการเบียดบังเอาผลประโยชน์จากงบอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน ที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้