Last updated: 25 พ.ค. 2565 | 4487 จำนวนผู้เข้าชม |
สสส. – ภาคีเครือข่าย ร่วมกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน – คมนาคม จับมือสร้างระบบความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15 ผลักดันติดตามประเมินผล – ควบคู่บังคับใช้ด้านกฎหมายเพื่อความปลอดภัย ตั้งเป้าลดการเสียชีวิตและบาดเจ็บบนท้องถนนให้เหลือ 12 คนต่อประชากรแสนคนภายในปี 2570
วันที่ 25 พฤษภาคม 65 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการเปิดงาน การสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15 “ทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัยต้องมาก่อน” พร้อมด้วย ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายป้องกันอุบัติเหตุทางถนน เข้าร่วมการจัดงานในครั้งนี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ของความปลอดภัยทางถนน ยังคงเป้าหมายลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่ง ในขณะที่รัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ ได้กำหนดเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลง 50% ภายในปี พ.ศ. 2573 และไม่เกิน 12 คนต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2570 ซึ่งเป็นไปตามทิศทางยุทธศาสตร์ชาติแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 5 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 13 จากเป้าหมายท้าทายที่กล่าวมาข้างต้น ศปถ. จึงได้กำหนดเป้าหมายรายปีและรายจังหวัด เพื่อให้แต่ละพื้นที่ได้มีความเข้มแข็ง มีแนวทางการทำงานและมีเป้าหมายที่ชัดเจน
“รัฐบาลมุ่งเน้นนำแนวคิดวิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย มาประยุกต์ใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนฐานคิดของคนทำงาน ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกลไก ศปถ.ทุกระดับ โดยทุกฝ่ายต้องมุ่งเน้น การสร้างระบบแห่งความปลอดภัย เพื่อปรับเปลี่ยนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ทั้งด้านกายภาพ ด้านสังคม ด้านกฎหมาย และการบังคับใช้ และรัฐบาลจะผลักดันให้มีการกำกับติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง โดยนำเสนอสถานการณ์ ความก้าวหน้าการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุกไตรมาส พร้อมสรุปผลการดำเนินงานเสนอสภา และสาธารณะทราบทุกปี เพื่อให้การดำเนินงานขับเคลื่อนสร้างความปลอดภัยทางถนนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ได้กำหนดให้การจัดการความปลอดภัยทางถนนเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์หลักในการขับเคลื่อนงาน เพื่อสนับสนุนและเสริมพลังการดำเนินงานของหน่วยงานหลักและภาคีเครือข่าย มีการกำหนดเป้าหมาย ในทศวรรษที่ 3 ของ สสส.คือ
1) มุ่งสนับสนุนการลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เน้นกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ เยาวชนและวัยทำงาน
2) มุ่งลดพฤติกรรมเสี่ยงและเพิ่มพฤติกรรมปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน
3) ร่วมสร้างสังคมสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และสนับสนุนให้เกิดวิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย (Safe System Approach) ผ่านการสนับสนุนส่งเสริม การจัดการข้อมูล เทคโนโลยี
พร้อมเปิดโอกาสทุกภาคส่วนสังคมร่วมขับเคลื่อนบูรณาการร่วมกัน เน้นการแก้ไขปัญหาจากฐานราก สร้างชุมชนท้องถิ่นที่ปลอดภัยสำหรับการเดินทางของประชาชนในทุกระดับ สิ่งที่เป็นมายาคติ และอยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนานคือ อุบัติเหตุเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล เป็นเรื่องที่ป้องกันไม่ได้ ทั้งที่จริงแล้ว...อุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับทุกคนและสามารถป้องกันได้ ดร.สุปรีดา กล่าว
นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่าการจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางถนน ในครั้งนี้ จัดขึ้น 2 วัน ระหว่างวันที่ 25-26 พฤษภาคม 2565 โดยรูปแบบการจัดงาน จะเป็นการนำเสนอสถานการณ์เสี่ยงด้านอุบัติเหตุทางถนนในรูปแบบใหม่ ภายใต้การระบาดของสถานการณ์โควิด-19 เกิดการปรับตัวของผู้เดินทางเป็นวิถีชีวิตใหม่ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังในการปรับมาตรการ นโยบายการจัดการของทุกภาคส่วน ให้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งภายในงานจะมีการนำเสนอ Key Message สำคัญ อาทิเช่น 50 by 30 ต้องทำอะไร จึงจะลดตายได้ครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2573 ความรับผิดชอบและบทบาทหน้าที่ในการสร้างระบบความปลอดภัยทางถนนภายใต้วิถีชีวิตใหม่ กิจกรรมหลักเป็นการเสวนากลุ่มย่อยแบ่งเป็น 3 ห้องย่อย ประกอบด้วย ห้องย่อยที่ 1 ปรับทั้งระบบ เพื่อจักรยานยนต์ปลอดภัย ห้องย่อยที่ 2 วิถีใหม่ มุ่งสู่ระบบแห่งความปลอดภัยทุกระบบ และ ห้องย่อย 3 ความเสี่ยงท่ามกลางวิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัยต้องมาก่อน นอกจากนั้นยังมีเวทีกลาง บูธนิทรรศการ ตลอดจนการนำเสนอและประกวดผลงานวิชาการ ห้องเรียนรู้ ประกอบด้วย TOYOTA จัดนิทรรศการ “โครงการโตโยต้า ถนนสีขาว” นำเสนอแนวคิดการสร้างสังคมคนขับรถดี เพื่อปลูกจิตสำนึกความปลอดภัยทางถนน, SCG นำเสนอการพัฒนาความสามารถในการขับรถเชิงป้องกันอุบัติเหตุให้กับประชาชน และ บริษัท Bosch ประเทศไทย นำเสนอประสบการณ์งานวิจัยด้านอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะในกลุ่มรถจักรยานยนต์
สำหรับการจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15 นับเป็นเวทีสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้ผู้บริหาร นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนน และมีส่วนร่วมเสนอนโยบายสาธารณะ รวมทั้งแนวทางการบูรณาการในการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถนำความรู้ แนวทาง และรูปแบบการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ไปเผยแพร่และปฏิบัติให้เหมาะสมกับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง