"นยปส.รุ่นที่ 13" ศึกษาดูงานสำนักงานศาลปกครองและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ

Last updated: 3 เม.ย 2565  |  6674 จำนวนผู้เข้าชม  | 

"นยปส.รุ่นที่ 13" ศึกษาดูงานสำนักงานศาลปกครองและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ

นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง หรือ นยปส.รุ่นที่ 13 ศึกษาดูงานสำนักงานศาลปกครองและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)

วันศุกร์ที่ 1 เมษายน 2565 เวลา 09.00 - 16.30 น. คณะผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. และผู้เข้าอบรมนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง หรือ นยปส.รุ่นที่ 13 เข้าศึกษาดูงาน ณ สำนักงานศาลปกครองและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. ซึ่งเป็นอีก 2 หน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ

ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร”นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง”หรือ นยปส.รุ่นที่ 13 ศึกษาดูงานส่วนกลางครั้งที่ 1 ณ สำนักงานศาลปกครอง โดยมีนายเจตน์ สถาวรศีลพร ที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครอง ให้การต้อนรับและ บอกเล่าความเป็นมาของศาลปกครอง ภารกิจหน้าที่หลัก เพื่อระงับข้อพิพาททางปกครอง และกรณีเจ้าหน้าที่รัฐละเลยต่อหน้าที่ โดยใช้ระบบการไต่สวนเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

สำนักงาน "ศาลปกครอง" เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการเช่นเดียวกับศาลยุติธรรม แต่จะทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดี ที่เรียกว่า คดีปกครอง ศาลปกครองนั้นจะมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีพิพาทที่เกิดระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง ปัจจุบันมีศาลปกครองกลาง ศาลปกครองภูมิภาค ศาลปกครองชั้นต้น รับคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับหน่วยงานทางปกครอง ที่เกี่ยวข้องกับกฎ ระเบียบ คำสั่งที่ส่งผลให้เอกชนได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบ E-Court เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องเอง โดยไม่ผ่านสำนักงานกฎหมายและห้องพิจารณาคดี

จากนั้น นยปส.รุ่นที่ 13 ศึกษาดูงานที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. โดยมีนายภูมิวิศาล เกษมศุข รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. บอกเล่าถึงภารกิจและความสำคัญของการทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ต้องร่วมมือทุกฝ่าย เพราะหากคิดเป็นค่าใช้จ่ายสูงมากในการลงพื้นที่ทำคดีทุจริตเพียงคดีเดียว ที่ต้องสูญเสียงบประมาณ เวลา และทรัพยากร วิธีที่ดีที่สุดและได้ผล คือการป้องกัน ยับยั้ง ไม่ให้เกิดสถานการณ์ขึ้น โดยเฉพาะการทุจริตที่ฝังรากลึกในระบบราชการมาอย่างยาวนาน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาการทุจริตจะใช้เพียง ป.ป.ช.และ ป.ป.ท. มาปราบปรามการทุจริตจึงเป็นเรื่องยาก ต้องการความร่วมมือจากเครือข่ายภาคประชาชน

สำหรับผลการดำเนินงานสำคัญของ ป.ป.ท. ปีงบประมาณ 2564 ได้แก่ ด้านการปราบปราม มีการรับเรื่องร้องเรียน 658 เรื่อง ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น 1,797 เรื่อง ไต่สวนข้อเท็จจริง 867 เรื่อง ชี้มูลคดี 465 เรื่อง

พันตำรวจโท สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 กล่าวถึงเทคนิคการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดย ป.ป.ท. ไม่มีอำนาจในสภาพบังคับในการแสวงหาข้อเท็จจริง เริ่มมีในชั้นไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่มีอำนาจในการจับกุมและคุมขัง ไม่มีอำนาจในการไต่สวนคดีอาญาอื่นที่ไม่ใช่ฐานทุจริตต่อหน้าที่ ที่มีการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท รูปแบบการทำงานต้องไต่สวนในรูปคณะกรรมการ และภาคเอกชนอาจโดนไต่สวนด้วยหากให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐ โดยใช้หลักกฎหมาย หลักพฤติกรรมและพยานหลักฐานในการชี้มูลเจ้าหน้าที่รัฐ

โดยคดีเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต จำนวน 2,838 คดี มูลค่าความเสียหาย 11,383 ล้านบาท แยกประเภทออกเป็น การปฏิบัติผิดระเบียบ 656 คดี การจัดซื้อจัดจ้าง 605 คดี และยักยอกทรัพย์ 1,507 คดี 

 

 รับฟังบรรยาย ณ สำนักงานศาลปกครอง https://youtu.be/I7zS9YnE1jA

 รับฟังบรรยาย ณ สำนักงาน ป.ป.ท. EP1 https://youtu.be/AFanZpvilig 

 

รับฟังบรรยาย ณ สำนักงาน ป.ป.ท. EP2 https://youtu.be/3YWanogBzRU 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้