ปิดยอด 7 วัน คุมเข้มช่วงสงกรานต์ เมาขับสูงถึง 6,061 คดี อุบลราชธานี แชมป์อันดับหนึ่ง

Last updated: 17 เม.ย 2564  |  2699 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปิดยอด 7 วัน คุมเข้มช่วงสงกรานต์ เมาขับสูงถึง 6,061 คดี อุบลราชธานี แชมป์อันดับหนึ่ง

ศปถ.สรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2564 ประสานจังหวัดถอดบทเรียน เพิ่มประสิทธิภาพสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างรอบด้าน

วันที่ 17 เมษายน 2564 เวลา 10.30 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2564 สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (10 - 16 เมษายน 2564) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,365 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 277 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 2,357 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 5 จังหวัด ประสานจังหวัดตรวจสอบข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนและข้อมูลบูรณาการผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐานให้มีความถูกต้องบนฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อนำมาวิเคราะห์และถอดบทเรียนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก รวมถึงค้นหาปัญหาอุปสรรคและปัจจัยความสำเร็จ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในมิติเชิงพื้นที่ให้สอดคล้องกับทุกปัจจัยเสี่ยงและนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายระดับประเทศในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 12 คนต่อประชากรแสนคนภายในปี พ.ศ. 2570

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2564 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่เจ็ดของการรณรงค์ “สงกรานต์สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด” เกิดอุบัติเหตุ 253 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 26 ราย ผู้บาดเจ็บ 255 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ  35.18 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 22.13 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.27 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 58.10 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 39.13 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.15 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 33.20  ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 17.79 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,908 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 59,389 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 316,725 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 65,549 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 15,631 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 15,201 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (15 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ อุบลราชธานี (3 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (14 คน)  สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (10 – 16 เม.ย. 64) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,365 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 277 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 2,357 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 5 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสู งสุดได้แก่ นครศรีธรรมราช (106 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสู งสุด ปทุมธานี (10 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุ ด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (109 คน) ท้ายนี้ ศปถ. ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วน เครือข่ายอาสาสมัคร กลุ่มจิตอาสา และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนในการเดินทางด้วยความทุ่มเทเสียสละ อดทน และเข้มแข็ง

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธาร ณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ปภ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2564 พบว่า สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากดื่มแล้วขับและขับรถเร็ว รวมถึงจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่ มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด ซึ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานจังหวัดบูรณาการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยกำชับจังหวัดตรวจสอบข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนและข้อมูลบูรณาการผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ทางถนน 3 ฐาน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2564 ให้มีความถูกต้องบนฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อนำมาวิเคราะห์และถอดบทเรียนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก รวมถึงค้นหาปัญหาอุปสรรคและปัจจัยความสำเร็จ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในมิติเชิงพื้นที่ให้สอดคล้องกับทุกปัจจัยเสี่ยง ทั้งคน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม สำหรับการดำเนินงานลดอุบัติทางถนนในภาพรวม ศปถ.จะได้รวบรวมข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วนไปจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลกำหนดเป็นกรอบแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างความปลอดภัยทางถนนของประเทศอย่างรอบด้าน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายระดับประเทศในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 12 คน ต่อประชากรแสนคนภายในปี พ.ศ. 2570

นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ เผยปิดยอดสถิติคดีเข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติวันสุดท้ายของการควบคุมเข้มงวดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (16 เมษายน 2564) มีคดีพุ่งสูงถึง 2,365 คดี เป็นคดีขับรถในขณะเมาสุรา 2,251 คดี ขับเสพ 112 คดี ขับรถประมาท 2 คดี สรุปยอดสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมประพฤติระหว่างวันที่ 10 – 16 เมษายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,188 คดี จำแนกเป็นคดีขับรถในขณะเมาสุรา จำนวน 6,061 คดี คิดเป็นร้อยละ 97.95 คดีขับเสพ จำนวน 123 คดี คิดเป็นร้อยละ 1.99คดีขับรถประมาท จำนวน 4 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.06 จังหวัดที่มีสถิติคดีขับรถในขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 492 คดี จังหวัดเชียงราย จำนวน 356 คดี และจังหวัดชัยภูมิ จำนวน 322 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีเข้าสู่งานคุมประพฤติคดีขับรถในขณะเมาสุราช่วงสงกรานต์ พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2564 พบว่า สงกรานต์ปี 2562 มีจำนวน 12,325 คดี สงกรานต์ปี 2564 จำนวน 6,061 คดี ลดลง 6,264 คดี คิดเป็นร้อยละ 50.82 ในส่วนของการติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวหรือกำไล EM ตามคำสั่งศาล ในวันสุดท้ายของการควบคุมเข้มงวดจำนวน 6 ราย ทำให้ยอดสะสม 7 วัน จำนวนทั้งสิ้น 25 ราย ส่วนใหญ่มีเงื่อนไขตั้งแต่ 22.00 น. – 04.00 น. เป็นระยะเวลา 15 วัน พักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศเฝ้าติดตามและควบคุมดูแลผู้กระทำผิดตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring Control Center-EMCC) พร้อมประสานเครือข่ายภาคประชาชน อาสาสมัครคุมประพฤติ เตรียมพร้อมลงพื้นที่หากมีการผิดเงื่อนไขคุมความประพฤติ ซึ่งจังหวัดที่ศาลสั่งติดอุปกรณ์ EM สูงสุด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มีจำนวนถึง 22 ราย

อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวต่อว่า ผู้กระทำผิดที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ โดยเฉพาะผู้กระทำผิดในฐานความผิดขับรถในขณะเมาสุราทุกราย จะต้องผ่านการคัดกรองแบบประเมินการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบว่า มีความเสี่ยงสูงในการติดสุรา กรมคุมประพฤติจะส่งเข้ารับการบำบัดรักษา ณ สถานพยาบาล สำหรับผู้กระทำผิดที่มีความเสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำ หรือมีประวัติการกระทำผิดซ้ำ ต้องเข้ารับการแก้ไขฟื้นฟูแบบเข้มข้นในรูปแบบค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นระยะเวลา 3 วันต่อเนื่อง และยังคงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขคุมความประพฤติ อาทิ รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และทำงานบริการสังคม เป็นต้น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้