พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต การสอบคัดเลือกข้าราชการเข้าอบรม กรรมการ-ผู้สอบ รวม 122 คน Ep19

Last updated: 16 มี.ค. 2564  |  990 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต การสอบคัดเลือกข้าราชการเข้าอบรม กรรมการ-ผู้สอบ รวม 122 คน Ep19

เจ้าพนักงาน ป.ป.ช. ได้เดินทางไปยังกรม X เพื่อไปขอรับกระดาษคำตอบและนำมาเก็บไว้ ซึ่งพบร่องรอยจากรูกระดาษจึงตรวจสอบกับโรงพิมพ์ B พบความแตกต่างของกระดาษคำตอบที่ใช้แยกกระดาษคำตอบที่มีการปลอมได้ จากนั้นได้ส่งตรวจพิสูจน์กับกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อหาร่องรอยการปลอมเอกสาร โดยกองพิสูจน์หลักฐานได้ตอบหนังสือยืนยันว่า พบร่องรอยการปลอมเอกสาร จากนั้นได้ตรวจสอบสมุดกระดาษคำตอบที่เหลือใช้จากการสอบ ซึ่งผลการตรวจพบว่า จำนวนสมุดกระดาษคำตอบเหลือน้อยกว่าจำนวนจริงที่ควรจะได้ จึงเชื่อว่าสมุดกระดาษคำตอบที่สูญหายไปได้ถูกนำมาใช้กระทำความผิดดังกล่าว

พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริตคดีดังในอดีต ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมาเสนอต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 19 เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนำไปใช้เป็นแนวทาง ในการตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ว่า รูปแบบพฤติการณ์การทุจริต รวมไปถึงข้อกฎหมายสำคัญที่ใช้ในการตัดสินคดีของ ป.ป.ช. มีรายละเอียดเป็นอย่างไร ในสัปดาห์นี้ เป็นตัวอย่างคดีทุจริตในหมวด การทุจริตเกี่ยวกับการสรรหา คัดเลือกแต่งตั้ง และโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะมีคดีสำคัญอะไรบ้างไปติดตามกันได้เลย (การเผยแพร่ข้อมูลระบุชื่อผู้เกี่ยวข้อง เป็นตัวอักษรย่อ เพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา เพราะบางคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล)

@ การทุจริตเกี่ยวกับการสอบคัดเลือกข้าราชการเข้าอบรม

ข้อเท็จจริง กรม X ได้ออกประกาศเรื่องการสอบคัดเลือกข้าราชการเข้าอบรมดำเนินการโดยสอบข้อเขียนและแบ่งข้อสอบออกเป็น 2 ภาค ได้แก่ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป ภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง ซึ่งทั้ง 2 ภาค กำหนดให้มีข้อสอบแบบปรนัยและอัตนัย โดยข้อสอบปรนัย มหาวิทยาลัย A เป็นผู้ออกข้อสอบและตรวจกระดาษคำตอบ ส่วนข้อสอบอัตนัย กรม X เป็นผู้ออกข้อสอบและตรวจกระดาษคำตอบ โดยว่าจ้างโรงพิมพ์ B จัดพิมพ์สมุดกระดาษคำตอบสำหรับข้อสอบอัตนัย ต่อมามีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกข้อสอบอัตนัยโดยมี นาย ก. ผู้บริหารสูงสุดเป็นประธาน และนาย ข. เป็นกรรมการและเลขานุการ และมีคำสั่งให้นาย ค. เป็นผู้ออกข้อสอบและเป็นผู้ตรวจคำตอบในภาคความรู้ความสามารถทั่วไป และนาย ง. เป็นผู้ออกข้อสอบและเป็นผู้ตรวจคำตอบในภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง

นาย ก. ได้แจ้งหัวหน้าสำนักกองการเจ้าหน้าที่ว่า ผู้มีอำนาจทางการเมืองได้สั่งการมายัง นาย ค. ว่า ผู้มีอำนาจทางการเมืองได้มอบรายชื่อผู้เข้าสอบมาและแจ้งว่าผู้เข้าสอบเหล่านั้นจะต้องสอบได้ในครั้งนี้ เมื่อสอบเสร็จกระดาษคำตอบปรนัยให้มหาวิทยาลัย A เป็นผู้ตรวจแล้วส่งผลการตรวจกลับมา สำหรับกระดาษคำตอบอัตนัยให้นำไปเก็บไว้ในห้องทำงานของนาย ข. และปิดล็อกไว้ ต่อมา นาย ข. ได้นำกระดาษคำตอบทั้งสองภาคมาตรวจ โดยไม่นำไปให้นาย ง. ตรวจและนาย ข. ได้ลงนามรับรองคะแนนในแบบฟอร์มวิชาความรู้ความสามารถทั่วไป ส่วนนาย ง. ลงนามรับรองคะแนนในแบบฟอร์มวิชาความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง และนำแบบฟอร์มคะแนนทั้ง 2 วิชาไปรวมกับผลคะแนนจากมหาวิทยาลัย A แล้วจึงประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสอบข้อเขียน กำหนดวันเข้าสอบสัมภาษณ์ ประกาศผลการคัดเลือกเข้าอบรม และนัดหมายให้มารายงานตัว ตามลำดับ

ก่อนมีการประกาศผลสอบข้อเขียนมีข่าวลงในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการเรียกรับเงินเพื่อช่วยเหลือผู้เข้าสอบคัดเลือกให้สอบได้ ซึ่งหลังจากที่การสอบคัดเลือกเสร็จสิ้นลงแล้ว คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวง Y เพื่อเชิญนาย ก. ไปชี้แจง โดยมีนาย ข.ได้เข้าร่วมชี้แจงตามกำหนดนัด และที่ประชุมมีมติให้ทางกรม X ส่งเอกสารข้อมูลรายละเอียดคะแนนสอบที่ประกาศไปแล้วทั้งหมด ต่อมาเจ้าพนักงาน ป.ป.ช. ได้เดินทางไปยังกรม X เพื่อไปขอรับกระดาษคำตอบและนำมาเก็บไว้ ซึ่งพบร่องรอยจากรูกระดาษจึงตรวจสอบกับโรงพิมพ์ B พบความแตกต่างของกระดาษคำตอบที่ใช้แยกกระดาษคำตอบที่มีการปลอมได้ จากนั้นได้ส่งตรวจพิสูจน์กับกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อหาร่องรอยการปลอมเอกสาร โดยกองพิสูจน์หลักฐานได้ตอบหนังสือยืนยันว่า พบร่องรอยการปลอมเอกสาร จากนั้นได้ตรวจสอบสมุดกระดาษคำตอบที่เหลือใช้จากการสอบ ซึ่งผลการตรวจพบว่า จำนวนสมุดกระดาษคำตอบเหลือน้อยกว่าจำนวนจริงที่ควรจะได้ จึงเชื่อว่าสมุดกระดาษคำตอบที่สูญหายไปได้ถูกนำมาใช้กระทำความผิดดังกล่าว

สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือถึงหัวหน้าหน่วยงานที่มีหน้าที่อบรมข้าราชการกรม X โดยนัดหมายให้พบกับผู้ถูกกล่าวหา และให้เขียนเลียนข้อความในกระดาษคำตอบที่ตรวจยึดได้ ผลปรากฏว่าลายมือเขียนเหมือนกันและผู้ถูกกล่าวหาได้ยืนยันว่าตนเป็นผู้เขียนข้อความในกระดาษคำตอบด้วยตนเอง

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติกันผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 21 คน ไว้เป็นพยานตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และพิจารณาความผิดของผู้ถูกกล่าวหาดังนี้

1) นาย ก. มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 85 (1), (4) และมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 มาตรา 161 และมาตรา 162 (1), (4)

2) นาย ข. มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 85 (4) และมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 162 (1), (4)

3) นาย ค. มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 85 (4) และมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 68

4) ผู้เข้าสอบจำนวน 119 คนมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 85 (4) และมีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 161 และมาตรา 162 (1), (4) ประกอบมาตรา 86

@ การแต่งตั้งบุคคลที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน

ข้อเท็จจริง นาย ก. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง A มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการในหน่วยงาน B นาย ก. ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกคณะหนึ่ง โดยกรรมการคัดเลือกจะต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียที่ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายนั้น ทั้งในขณะที่ได้รับการแต่งตั้งและในระหว่างปฏิบัติหน้าที่

ในการดำเนินการเพื่อเตรียมการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงาน A ได้มีการยกร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งเป็นบุคคลตรงตามคุณสมบัติ และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและมีให้ข้อสังเกตว่าบุคคลใดอาจเข้าข่ายผลประโยช์ทับซ้อน แต่นาย ก. ไม่ได้ลงนามในคำสั่งดังกล่าว อ้างว่ายังมีเวลาที่จะคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสม ต่อมา นาย ก. ได้กำหนดรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการคัดเลือกฯ ขึ้นใหม่ และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ดังกล่าว โดยกรรมการคัดเลือกฯ จำนวน 3 ราย อยู่ในข่ายเป็นบุคคลที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการดำรงตำแหน่งกรรมการคัดเลือกฯ ตามที่สำนักงาน A ได้ให้ข้อสังเกตไว้ ซึ่งนาย ก. ได้ทราบถึงข้อสังเกตดังกล่าวนี้แล้ว แต่ยังคงแต่งตั้งบุคคลทั้งสามเป็นกรรมการคัดเลือกฯ โดยอ้างว่าเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์รอบด้าน

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. มีมูลเป็นความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

@ แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งนักบริหารระดับสูงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ข้อเท็จจริง นาย ก. ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ได้เสนอเรื่องระบบการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งนักบริหารระดับสูงต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบและอนุมัติให้นำระบบดังกล่าวมาใช้ โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้จัดทำบัญชีผู้มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับสูง โดยต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเตรียมนักบริหารระดับสูงและผ่านการประเมินสมรรถนะของนักบริหาร ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ ต่อมานาย ก. ได้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมจากมติคณะรัฐมนตรี คือ ให้ผู้ผ่านการอบรมนักบริหารระดับสูงที่ ก.พ. รับรอง และให้ส่วนราชการที่มีตำแหน่งว่างสามารถเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งนักบริหารระดับสูงได้

นาย ข. ในฐานะปลัดกระทรวง นาย ค. ในฐานะรองปลัดกระทรวง นาย ง. ในฐานะอธิบดีกรม นาย จ. ในฐานะที่ปรึกษาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ. และ นาย ช ผู้แทน ก.พ. ใน อ.ก.พ. กระทรวง ซึ่งนาย ข. เป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักบริหารระดับสูง และเห็นสมควรให้แต่งตั้งผู้สมัครที่กรมเสนอ ดำรงตำแหน่งรองอธิบดี โดยมิได้คัดเลือกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด การกระทำของนาย ก. นาย ข. นาย ค. นาย ง. นาย จ. และนาย ช. เป็นเหตุให้มีผู้เสียหายและได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่าการที่สำนักงาน ก.พ. กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเป็นการไม่ชอบด้วยมติคณะรัฐมนตรี และไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีผู้ผ่านการประเมินสมรรถนะหลักทางการบริหาร ดังนั้นหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และได้มีคำพิพากษาว่าคณะกรรมการได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ฯ และตามมติคณะรัฐมนตรี การกระทำมีลักษณะเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้สมัคร และมีการกำหนดตัวบุคคลไว้เป็นการล่วงหน้า จึงทำให้คำสั่งแต่งตั้งรองอธิบดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. 1) การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 85 วรรคสอง

2) การกระทำของนาย ข. นาย ค. นาย ง. นาย จ. และนาย ช. เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86

ขอขอบคุณข้อมูลจากสำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักข่าวอิศรา

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้