10 ประเด็นที่น่ากลัวและน่าสนใจของการนำเสนอข่าวเหตุการณ์กราดยิง

Last updated: 10 ก.พ. 2563  |  5518 จำนวนผู้เข้าชม  | 

10 ประเด็นที่น่ากลัวและน่าสนใจของการนำเสนอข่าวเหตุการณ์กราดยิง

ผลการศึกษาสำคัญ (ที่น่าตกใจ) พบว่า **ยิ่งสื่อนำเสนอรายละเอียดของเหตุการณ์, ภาพใบหน้า + ชื่อของฆาตกร รวมทั้งวิธีที่ฆาตกรใช้ ยิ่งละเอียดมากเพียงใด ก็ยิ่งทำให้เกิดเหตุการณ์กราดยิงตามมาได้มากขึ้นเท่านั้น** ผ่านกลไกของพฤติกรรมการเลียนแบบ ( “copycat” หรือ “contagion effect” )

[งานวิจัยทางจิตวิทยาและบทเ รียนที่มีค่าจากUSA]

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีสถิติ (ที่น่าตกใจ) เกี่ยวกับเหตุกราดยิง โดยข้อมูลพบว่ามีเหตุกราดยิง 1 ครั้งเกิดขึ้นทุกๆ 2 สัปดาห์ ในขณะที่เหตุกราดยิง/ยิงกันในโรงเรียนเกิดขึ้นโดยเฉลี่ย 1 ครั้งในทุกๆ 1 เดือน ทำให้มีงานวิจัยจากผู้เชียวชาญทางจิตวิทยาและอาชญากรรมที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย กับประเด็นที่เป็นที่พูดถึงอย่างมากในวันนี้ต่อบทบาท (และจรรยาบรรณ) ของสื่อ ในการรายงานข่าวที่อาจสร้างฆาตกรกราดยิงคนต่อไป โดยหมอได้สรุปและรวบรวมเป็นข้อๆไว้ 10 ข้อ ดังต่อไปนี้...

1.ผลการศึกษาสำคัญ (ที่น่าตกใจ) พบว่า **ยิ่งสื่อนำเสนอรายละเอียดของเหตุการณ์, ภาพใบหน้า + ชื่อของฆาตกร รวมทั้งวิธีที่ฆาตกรใช้ ยิ่งละเอียดมากเพียงใด ก็ยิ่งทำให้เกิดเหตุการณ์กราดยิงตามมาได้มากขึ้นเท่านั้น** ผ่านกลไกของพฤติกรรมการเลียนแบบ ( “copycat” หรือ “contagion effect” )

2. หากเกิดข่าวใหญ่เรื่องการกราดยิง จะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุกราดยิงตามมา และมันก็มักจะเกาะกลุ่มกันหรือเกิดใกล้ๆกันเสมอ งานวิจัยปี 2015 พบว่า หากมีเหตุกราดยิง แล้วมีทวิตเตอร์คำว่า “กราดยิง” มากกว่า 10 ทวิตต่อล้านทวิต ความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุการณ์ที่สองภายใน 7 วันจะเพิ่มขึ้นได้มากกว่า 50%

3. พฤติกรรมเลียนแบบ (imitation) เกิดขึ้นได้ เพราะคนร้าย (ที่อาจจะมีสภาพจิตใจที่ไม่มั่นคง หรืออาจมีความแปรปรวนทางด้านจิตใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว) รู้สึกว่าคนร้ายคนก่อนหน้าในข่าวดัง มีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกับตน โดยเฉพาะปัจจัยทางเพศและอายุ

4. งานวิจัยพบว่า ลักษณะการลงข่าวที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ ได้แก่...

    - การลงรายละเอียดเหตุการณ์หรือพฤติการของความรุนแรงอย่างละเอียด

    - การลงรูปใบหน้า (+/-ชื่อ) ของฆาตกร

    - การเจาะลึกประวัติชีวิตฆาตกร

5. ผู้เชี่ยวชาญทางอาชญากรรม พบว่า ก่อนที่คนร้ายเหตุกราดยิงคนหนึ่งจะก่อเหตุ เขามักจะได้เห็นสื่อต่างๆที่เกี่ยวกับการกราดยิงมาก่อน ข่าวเหล่านั้นสามารถทำให้เขารู้สึกถึง "ความเชื่อมโยง" บางอย่างทีคล้ายกับตน เกิดความรู้สึกว่ามีคนที่คิดเช่นเดียวกันกับเขา และทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะลงมือทำมันให้สำเร็จ (เพราะเห็นคนต้นแบบและวิธีการอย่างละเอียดแล้วจากสื่อ)

6. จากผลการศึกษาพบว่า ฆาตกรกราดยิงมักมีความอ่อนไหวและเปราะบางทางอารมณ์จิตใจ มีความรู้สึกว้าเหว่ และมองหาความสัมพันธ์แบบ Parasocial (คือ ความเชื่อมโยงกับคนอื่นๆที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายจากการเข้าไปอ่านหรือเสพสื่อที่ให้รายละเอียดของฆาตกรคนก่อนๆ เมื่อไม่นานมานี้ มีฆาตกรที่มหาวิทยาลัยอิลลินอย ได้ลักพาตัวและฆ่านักศึกษาสาวชาวจีน ตำรวจพบหลักฐานว่าก่อนเกิดเหตุ ฆาตกรได้แช๊ตคุยกับกลุ่มของฆาตกรที่เคยก่อเหตุในเน็ททั้งก่อนและหลังกระทำ

7. เมื่อสื่อนำเสนอเรื่องราวของฆาตกร ทั้งชื่อ ใบหน้า ปมปัญหา รายละเอียดการฆ่า ฯลฯ กระบวนการนี้จะทำให้คนร้ายรายนั้นเริ่มเป็นที่รู้จัก อิทธิพลของการนำเสนอนี้สามารถส่งผลให้คนอีกหลายคนที่มีต้นทุนของจิตใจที่แปรปรวน อำมหิต หรือมีจิตใจที่โหดร้ายอยู่เป็นทุนเดิมรู้สึกถึงความเชื่อมโยงกับตน ทำให้รู้สึกได้ถึงสิ่งที่เหมือนตนเอง

8. ยิ่งฆาตกรได้พื้นที่สื่อ ได้ออกข่าวดัง ได้ออกแถลงข่าว ได้มีภาพการทำแผน ฯลฯ ยิ่งมากเท่าไหร่ ในทางจิตวิทยาแล้วคนร้ายเหล่านี้ก็จะยิ่งรู้สึกว่า "ฉันได้รางวัล" จากความรุนแรงที่ได้ลงแรงทำไป

9. แล้วสื่อควรจะนำเสนอข่าวอย่างไร เพื่อจะลดโอกาสในการเกิดเหตุกราดยิงในอนาคต?

งานวิจัยหลายฉบับได้สรุปถึงแนวทางที่สื่อจะสามารถช่วยลดพฤติกรรมการเลียนแบบของคนร้ายกราดยิงได้ โดยการปฏิบัติตามแนวทางการนำเสนอข่าวขององค์การอนามัยโลก ดังนี้...

     1) ไม่ควรลงข่าวถี่หรือนานจนเกินไป ไม่ลงหัวข่าวตัวโตเตะตา หรือไม่ใส่สีสันให้ตื่นเต้น หรือดึงดราม่าจนเกินเหตุ **ควรเขียนข่าวสั้นๆ กระชับ ให้เฉพาะรายละเอียดที่จำเป็นเพื่ออธิบายเหตุการณ์ ลดระยะเวลาการรายงานข่าวโดยรวมของเหตุการณ์นี้ลง โปรดอย่าลืมว่า ยิ่งสื่อให้พื้นที่ข่าวกับฆาตกรมากเท่าใด ก็ยิ่งเป็นการให้รางวัลกับการกระทำของมันมากเท่านั้น**

     2) ไม่ควรอธิบาย พรรณนา รายละเอียดของพฤติกรรมการฆ่าจนถึงขั้นละเอียดยิบ (จนสามารถนำไปปฏิบัติหรือต่อยอดพฤติกรรมได้) พึงระมัดระวังดาบสองคมที่อาจเกิดจากการทำอนิเมชั่นจำลองเหตุการณ์ให้ดูซ้ำแล้วซ้ำอีก **พึงระลึกไว้ว่า ยิ่งอธิบายมากก็ยิ่งเลียนแบบได้มาก ยิ่งอธิบายไว้น้อย ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะเลียนแบบได้น้อยเช่นกัน

     3) ไม่ลงรูปถ่าย ภาพประกอบ หรือคลิปมากเกินควร **ในอเมริกา กำลังมีไอเดียมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงการไม่ลงชื่อของคนร้ายในสื่อ หรือถ้าจำเป็นก็ควรลงให้น้อยที่สุด

     4) ไม่ขุดคุ้ยเรื่องราวชีวิตของฆาตกรมาประโคมเผยแพร่ ไม่เผยแพร่ประโยคคำพูด การแถลง คลิปสารภาพผิด ทั้งจากไฟล์เสียง วิดีโอ หรือแม้แต่แคปเจอคำพูดจากเฟชส่วนตัวของฆาตกร ฯลฯ **กลยุทธ์ที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำต่อสื่อก็คือ เมื่อต้องนำเสนอเกี่ยวกับพฤติกรรมหรือรายละเอียดใดๆของฆาตกร (เช่น การเตรียมการ การวางแผนการยิง) ให้สื่อพยายามเชื่อมโยงถึงความน่าอับอาย ความน่ารังเกียจ หรือความขี้ขลาดตาขาวของฆาตกรเสมอ **การศึกษาในสหรัฐพบว่า อัตราการกราดยิงมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อสื่อหันมานำเสนอข่าวด้วยกลยุทธ์นี้

     5) ไม่ขุดคุ้ยหรือพรรณนาแรงจูงใจ ต้นสายปลายเหตุ หรือที่มาของการฆ่าแบบละเอียดจนเกินไป เพราะในทางจิตวิทยาแล้ว มนุษย์ทุกคนจะมีแนวโน้มที่จะเลียนแบบคนที่เรารุ้สึกว่าเขามี"อะไร"ที่คล้ายกันกับเราเสมอ เมื่อนำเสนอถี่เข้าถี่เข้า จากที่ไม่ทันสังเกตเห็นก็กลับเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การนำเสนอซ้ำๆว่าฆาตกรทำลงไปเพื่อแก้แค้น จากการที่เขาเคยถูกรังแกมาหลายปี ข้อมูลเช่นนี้เมื่อนำเสนอซ้ำๆ จะส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงได้ว่า "การกราดยิงก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ฉันทำได้ เมื่อไหร่ที่ใครสักคนเจอกับปัญหาในชีวิต"

     6) ควรลดการ Live สดหลังเกิดเหตุการณ์ลง จริงอยู่ที่มีคนมากมายที่ต้องการจะเสพหรือติดตามข่าวนี้ เพราะเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่มีผู้สูญเสียเป็นจำนวนมาก (และแน่นอนว่ามันขายได้) แต่อย่าลืมว่า การ Live สดสามารถเพิ่มระดับโดยรวมของ "ความตื่นเต้น" ต่อเหตุการณ์ ที่จะทำให้ความสนใจโดยรวมของสังคมเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ฆาตกรและคนที่จะเป็นฆาตกรคนต่อไปรับรู้ได้ถึง "ความหอมหวาน" และ "รางวัล" ที่พวกเขาจะได้รับเมื่อลงมือฆ่า **คำแนะนำคือ ควรเลี่ยงไปใช้การนำเสนอในรูปแบบการอัพเดตที่เป็นลายลักษณ์อักษรแทน สิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะลดความหมอหวานของของรางวัลเท่านั้น แต่มันอาจช่วยลดความสนใจโดยรวมของสังคมในเหตุการณ์ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเลียนแบบของฆาตกรคนต่อไปได้

10. มีประโยคหนึ่งของจาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) นายกรัฐมนตรีหญิงวัย 38 ปีของนิวซีแลนด์ ที่ออกมาพูดถึงเหตุกราดยิงเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ในเมืองไครสต์เชิร์ช ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 50 ราย นับเป็นเหตุกราดยิงครั้งที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสร์ของนิวซีแลนด์ คำแถลงของเธอนั้นทำให้หมอรู้สึกประทับใจและรู้สึกชื่นชมในวิสัยทัศน์ของผู้นำคนนี้อย่างมาก เธอได้ประกาศในสภาว่า "เธอจะไม่มีวันเอ่ยถึงชื่อของฆาตกรเด็ดขาด และประชาชนจะไม่ได้ยินชื่อของฆาตกรจากปากของเธออย่างแน่นอน เขาจะต้องได้รับโทษสูงสุดตามกฎหมายนิวซีแลนด์ และจะไม่ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ นั่นคือการโด่งดังเป็นที่รู้จัก" นอกจากนี้ เธอยังบอกด้วยว่า "บุคคลที่สมควรได้รับการพูดถึง และควรให้เกียรติจริงๆ คือเหล่าคนที่สูญเสียจากเหตุการณ์อันน่าสะเทือนใจครั้งนี้มากกว่า"

สุดท้าย หมอขอแสดงความเสียใจอย่างมากต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ขอประนามพฤติกรรมอันขี้ขลาด โสมม และอ่อนแอของคนร้ายทุกคนไม่ว่าครั้งใด และขอให้สื่อไทยจงเติบโต ปรับปรุง และเรียนรู้จากความผิดพลาด **อย่าให้ความชั่วร้ายนี้ได้มีพื้นที่ในสื่อ พึงระลึกไว้เสมอว่า รายละเอียดของฆาตกรที่ยิ่งลึก ตื่นเต้น และชัดเจนเพียงใด ก็ยิ่งเป็นเหมือนเชื้อร้ายที่สามารถติดต่อไปยังฆาตกรคนถัดไปที่กำลังเสพมันอยู่ทางหน้าจอได้มากเท่านั้น ถ้าเป็นไปได้ คือ ไม่ต้องให้ราคากับเรื่องราวชีวิตของฆาตกร แต่ให้โฟกัสไปที่เรื่องราวของผู้เสียสละ การทำงานที่เหน็ดเหนื่อยและความกล้าหาญของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงวิธีที่จะป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะนี้ในอนาคต จะเป็นแนวทางที่เหมาะสมอย่างยิ่ง

หมอเองหวังและภาวนาว่าเหตุกราดยิงที่น่าเศร้าในครั้งนี้ จะเป็น "ครั้งสุดท้าย" ของประเทศไทย 

ขอขอบพระคุณ

  1. ต้นฉบับบทความเรื่อง ***เราควรเรียนรู้อะไรจากสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับเหตุการณ์กราดยิงต่างๆ: ขอความร่วมมือสื่อทีวี นสพ. ไม่ลงรูปหรือคลิปคนร้ายเหตุการณ์วันนี้ที่โคราช *** โดย "ไพลิน" จากเพจ"วิทยาศาสตร์ทันโลก และภัยพิบัติในไทย"
  2. Mass Shootings: The Role of the Media in Promoting Generalized Imitation. James N. Meindl, PhDcorresponding author and Jonathan W. Ivy, PhD
  3. Contagion in Mass Killings and School Shootings. Sherry Towers et.al.
  4. Mass shooters seek notoriety, and we, the media, provide it. Is there another way? By FRANK SHYONGCOLUMNIST
  5. DOES NAMING THE SHOOTER IN THE MEDIA LEAD TO MORE MASS VIOLENCE? by Ben Rowen

ที่มา : คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้