x-files (2) : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต บทลงโทษ พลเอก 'ก.' เลี่ยงระเบียบซื้อที่ดิน32ล้าน

Last updated: 13 ส.ค. 2561  |  2102 จำนวนผู้เข้าชม  | 

x-files (2) : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต บทลงโทษ พลเอก 'ก.' เลี่ยงระเบียบซื้อที่ดิน32ล้าน

"...บริษัทผู้ขายได้จ่ายค่านายหน้าอันเนื่องมาจากการขายพื้นที่อาคารดังกล่าวให้แก่บริษัท บ. แต่ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าพลเอก ก. ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการจัดซื้ออาคาร พ. ซึ่งการจัดซื้อพื้นที่ของอาคาร พ. จะต้องดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 28 วรรคท้าย ซึ่งกำหนดไว้ว่าการซื้อที่ดินและสิ่งก่อสร้างให้ติดต่อกับเจ้าของที่ดินโดยตรง ทำให้สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัท บ. ได้รับความเสียหายเป็นเงินประมาณ 2,257,571.50 บาท..."

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลตัวอย่างคดีทุจริตสำคัญในหมวดการจัดซื้อจัดจ้าง ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ลงมติชี้ความผิด นับตั้งแต่ปี 2543 -2557 และมีการจัดทำรายงานผลการศึกษาเป็นทางการ มาเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนำไปใช้เป็นแนวทาง ในการตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ว่า รูปแบบพฤติการณ์การทุจริต รวมไปถึงข้อกฎหมายสำคัญที่ใช้ในการตัดสินคดีของป.ป.ช. มีรายละเอียดเป็นอย่างไร (การเผยแพร่ข้อมูลระบุชื่อผู้เกี่ยวข้อง เป็นตัวอักษรย่อ เพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา เพราะบางคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล) (อ่านประกอบ : x-files (1) : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต รมต.-ผอ.รพ.รัฐ เอื้อประโยชน์จัดซื้อจ้างบริษัทพวกพ้อง)

ในสัปดาห์นี้ ตัวอย่างคดีทุจริตที่จะนำมาเสนอ ยังคงอยู่ในหมวดจัดซื้อจัดจ้าง เหมือนเดิม โดยมีรายละเอียดตัวอย่างคดีที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้ 

@ การจัดซื้อจัดจ้างอาคารโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบราชการที่เกี่ยวข้อง

ข้อเท็จจริง การจัดซื้ออาคารเพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานและที่พักอาศัยของพนักงานบริษัท บ. มีการจัดซื้ออาคาร ร. เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยของพนักงาน และจัดซื้อพื้นที่ของอาคาร พ. เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงาน นั้น

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า พลเอก ก. ได้เป็นผู้ดำเนินการติดต่อกับนายหน้าเพื่อซื้ออาคารในวงเงิน 32 ล้านบาท โดยทำสัญญากำหนดเงื่อนไขให้คู่สัญญาทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งก่อสร้างภายในวันที่ 30 เมษายน 2540 และในวันเดียวกัน บริษัท บ. ได้เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอีกฉบับหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขในสัญญาเช่นเดียวกับที่ทำไว้กับบริษัท บ. โดย ได้จดทะเบียนซื้อขายที่ดินพร้อมอาคาร เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2540 ซึ่งล่วงเลยวันที่กำหนดในเงื่อนไขของสัญญาเป็นเวลาเดือนเศษโดยได้กู้ยืมเงินจากสถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. จำนวน 32.5 ล้านบาท ไปชำระราคาค่าอาคาร ซึ่งเจ้าของอาคารดังกล่าวได้จ่ายเงินค่านายหน้าให้แก่ผู้ดำเนินการติดต่อซื้อขายอาคารดังกล่าวเป็นเงิน 400,000 บาท แต่ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้บริหารของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกในฐานะกรรมการของบริษัท บ. ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการซื้อขายอาคารดังกล่าว

สำหรับการจัดซื้อพื้นที่เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงาน ได้ดำเนินการรวม 2 ครั้ง คือ โดยบริษัทผู้ขายได้จ่ายค่านายหน้าอันเนื่องมาจากการขายพื้นที่อาคารดังกล่าวให้แก่บริษัท บ. แต่ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าพลเอก ก. ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการจัดซื้ออาคาร พ. ซึ่งการจัดซื้อพื้นที่ของอาคาร พ. จะต้องดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 28 วรรคท้าย ซึ่งกำหนดไว้ว่าการซื้อที่ดินและสิ่งก่อสร้างให้ติดต่อกับเจ้าของที่ดินโดยตรง ทำให้สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัท บ. ได้รับความเสียหายเป็นเงินประมาณ 2,257,571.50 บาท

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของพลเอก ก. กรณีดำเนินการจัดซื้ออาคาร ร. ไม่ปฏิบัติตามบันทึกอนุมัติลงวันที่ 24 มีนาคม 2540 ของกองทัพบก อีกทั้งยังเป็นการจัดซื้อโดยผ่านบริษัทนายหน้า และกรณีที่จัดซื้อพื้นที่ของอาคาร พ. รวม 2 ครั้ง โดยผ่านบริษัทนายหน้าที่มีอาชีพในการติดต่อเพื่อทำการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จากเจ้าของที่แท้จริงอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 28 วรรคท้าย ประกอบระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการพัสดุการเงิน การงบประมาณ และการบัญชีของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก พ.ศ. 2537 ข้อ 4 การกระทำของพลเอก ก. จึงเป็นการขัดขืนหลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ฝ่าฝืนจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล และไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการ ทำให้ทางราชการเสียหายอย่างร้ายแรง เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 มาตรา 15 ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหา

@  การทุจริตโดยการเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญา

ข้อเท็จจริง นาย ก. นายกเทศมนตรีตำบล มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติให้เทศบาลทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด A จำนวน 11 โครงการโดยห้างหุ้นส่วนจำกัด A มีนาย ก. เป็นเจ้าของกิจการที่แท้จริง โดยใช้ชื่อนาย ข. ญาติของภรรยา เป็นผู้ขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนดังกล่าว ซึ่งเป็นการฝ่าฝืน

พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 (แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 10 พ.ศ. 2542) มาตรา 48 จตุทศ (3) ที่กำหนดมิให้นายกเทศมนตรีเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่เทศบาลนั้นเป็นคู่สัญญาหรือในกิจการที่กระทำให้แก่เทศบาลหรือการพาณิชย์ของเทศบาล

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นการปฏิบัติราชการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย หรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่หรือมีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่งหรือแก่เทศบาล หรือแก่ราชการ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาจสั่งให้ออกจากตำแหน่งได้ ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 73 และเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และมาตรา 157 และการกระทำของนาย ข. เป็นความผิดอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 152 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86

@  การทุจริตในการจัดซื้อไม้หมอนรองรางรถไฟ

ข้อเท็จจริง การรถไฟแห่งประเทศไทยได้จัดซื้อไม้หมอนรองรางรถไฟเป็นไม้เนื้อแข็งจากบริษัท A และบริษัท B แต่ปรากฏว่าในการส่งมอบบริษัท A มีไม้หมอนไม่เพียงพอ จึงตกลงให้บริษัท B เป็นผู้ส่งมอบแทนซึ่งไม้หมอนของทั้งสองบริษัทเป็นไม้เนื้ออ่อนไม่สามารถนำไปใช้การได้ นาย ก. หัวหน้าพัสดุ ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดหาไม้ ควบคุมดูแลการจัดซื้อจัดจ้าง ได้ร่วมกับ นาง ข. กรรมการผู้จัดการบริษัท A และนาย ค. กรรมการผู้จัดการบริษัท B ทุจริตโดยมีการจัดซื้อด้วยวิธีแบ่งซื้อแบ่งจ้างและรายงานการตรวจรับไม้หมอนต่อผู้บังคับบัญชาว่าเป็นไม้เนื้อแข็งถูกต้องตามสัญญา ทั้ง ๆ ที่เป็นไม้เนื้ออ่อนเป็นเหตุให้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับความเสียหาย

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 และมาตรา 162 (4) ประกอบมาตรา 83 และการกระทำของนาง ข.

และ นาย ค. เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86

@  กระทำการจัดซื้อจัดจ้างเอื้อประโยชน์ให้เอกชน

ข้อเท็จจริง คณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ได้มีมติเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของการดำเนินการโครงการก่อสร้างระบบขนส่งทางรถไฟ ภายใต้กรอบการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามมติ กทภ.

นาย ก. ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เสนอคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าการเงินและการคลังของรัฐในขณะนั้นมีความมั่นคงอยู่มากและรัฐควรเป็นผู้ลงทุนระบบขนส่งทางรถไฟดังกล่าวทั้งหมด เพื่อให้การดำเนินการเสร็จทันตามเป้าหมายที่กำหนด คณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการก่อสร้างโครงการก่อสร้างระบบขนส่งทางรถไฟ โดยให้รัฐบาลรับภาระและรายงานเสนอขออนุมัติการก่อสร้างต่อกระทรวงคมนาคมพร้อมทั้งมีความเห็นให้เอกชนดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด โดยเอกชนจะได้รับค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายทางการเงินคืนทั้งหมดภายหลังก่อสร้างเสร็จ และให้เอกชนเป็นผู้หาแหล่งเงินทุนก่อนแล้วรัฐจะใช้คืนภายหลัง ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่นาย ก. เสนอผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคม

ต่อมาการรถไฟแห่งประเทศไทยได้เปิดซองข้อเสนอทางด้านราคาของผู้เสนอราคาทั้ง 3 ราย จากการพิจารณาปรากฏว่ากลุ่มกิจการร่วมการค้า บ. เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด ทั้งนี้ในการส่งมอบพื้นที่ นาย ก. ได้มีหนังสือแจ้งไปยังกลุ่มกิจการร่วมค้า บ. ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยสามารถส่งมอบพื้นที่ได้ทันทีร้อยละ 83 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 17 จะส่งมอบภายใน 90 วัน นับแต่วันเข้าเริ่มงาน ทั้งที่ข้อเท็จจริงการรถไฟแห่งประเทศไทยมีสิทธิที่จะยืนราคาการก่อสร้างได้ที่จำนวน 270 วัน นับแต่การยื่นซองประกวดราคา การกระทำของนาย ก. จึงมีเจตนาทุจริตเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า บ. ผู้ชนะการประกวดราคาใช้เป็นช่องทางในการขอขยายระยะเวลา

ในภายหลัง นอกจากนี้ นาย ก. กับ นาย ข. ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานอาณาบาล ได้ร่วมประชุมกับกลุ่มกิจการร่วมค้า บ. และมีกลุ่มธนาคารผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อเจรจาเรื่องข้อเสนอทางการเงินที่กลุ่มธนาคารมีความประสงค์ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการเพื่อเป็นไปตามที่กลุ่มธนาคารต้องการ ขัดกับเอกสารประกวดราคาในส่วนสำคัญ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เจตนาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องเสียเปรียบเอกชน และเกิดความเสียหายแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย และยังทำให้เอกชนผู้เสนอราคารายอื่นเสียเปรียบ

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. และ นาย ข. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

@  การหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมและไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่ราชการกำหนด

ข้อเท็จจริง นาย ค. กรรมการผู้จัดการบริษัท A ได้เสนอโครงการร่วมผลิตรายการข่าวประจำวันให้กรมประชาสัมพันธ์พิจารณา โดยเสนอขอเป็นผู้ร่วมผลิตรายการข่าวทุกภาคข่าวแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของนาย ก. อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ที่ต้องการให้มีบริษัทเดียวเข้ามาเป็นผู้ร่วมผลิตรายการข่าว จากนั้นบริษัท A ได้รับการติดต่อจากนาย ข. ขณะเป็นผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ต่อมากรมประชาสัมพันธ์โดยนาย ข. ได้ทำสัญญากับบริษัท A ในการร่วมผลิตรายการข่าวประจำวัน และในสัญญาได้มีเงื่อนไขการตอบแทนให้แก่ผู้เข้าร่วมผลิตรายการนำไปจัดหาผู้สนับสนุนรายการตามอัตราที่ผู้เข้าร่วมผลิตรายการกำหนด โดยผู้เข้าร่วมผลิตรายการเป็นผู้รับผิดชอบภาระและค่าใช้จ่ายในการจัดหาผู้สนับสนุนรายการ รวมทั้งค่าจัดเก็บรายได้เอง ส่วนกรมประชาสัมพันธ์ได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้นจากเดิม ทั้งนี้กรมประชาสัมพันธ์ได้กำหนดระเบียบว่าด้วยเงินรายได้จากการร่วมผลิตของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

ยกเว้นไม่นำส่งเงินเป็นรายได้แผ่นดิน แต่จะเก็บเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาการผลิตรายการข่าว

ในการดำเนินงานร่วมผลิตรายการข่าวได้มีการใช้เงินงบประมาณตามคำนิยามคำว่า “เงินงบประมาณ” ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ที่ให้รวมถึงเงินที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ไม่ต้องส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณ ดังนั้นการดำเนินการจึงต้องดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ แต่นาย ก. และ นาย ข. มิได้ดำเนินการตามวิธีการดังกล่าวแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในการดำเนินการจัดหาผู้ร่วมผลิตรายการได้มีบริษัท A และ บริษัท B เข้ายื่นข้อเสนอมาที่กรมประชาสัมพันธ์ โดยปรากฏว่าทั้งสองบริษัทมีความเกี่ยวพันกัน การเสนอราคาจึงเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์จะให้บริษัท A เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับกรมประชาสัมพันธ์ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. และ นาย ข. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2251 มาตรา 85 (1)(4) และเป็นความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 มาตรา 12 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และ 157

@ การทำสัญญาร่วมดำเนินธุรกิจโดยมิชอบ และปลอมเอกสารในการทำธุรกรรมสัญญาซื้อขาย (เป็นคดีเก่าที่เกิดขึ้นในปี 2546 ไม่ใช่คดีปัจจุบัน)

ข้อเท็จจริง คณะกรรมการบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ได้มีมติอนุมัติโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ยคงที่ โดยในวันเปิดโครงการ อนุญาตให้สถาบันการเงินหรือพันธมิตรการตลาด จำนวน 8 แห่ง เป็นสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ แต่หลังจากวันเปิดโครงการแล้ว สถาบันการเงินที่จะประสงค์เข้าร่วมต้อง

ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ ก่อน ต่อมานาย ก. ในฐานะกรรมการและผู้จัดการบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ได้ทำธุรกรรมกับบริษัท A ซึ่งมิได้เป็นพันธมิตรและสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ 8 แห่งแรก นาย ก. ได้ลงนามเป็นผู้แทนของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งสัญญาดังกล่าวเป็นกิจการของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่นาย ก. มิได้นำเรื่องเสนอขออนุมัติให้ บริษัท A เข้าร่วมเป็นสถาบันการเงินตลาดแรกต่อคณะกรรมการฯ ทำให้สัญญาร่วมดำเนินธุรกิจและสัญญาซื้อขายสินเชื่อดังกล่าว ทำให้บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยซื้อโครงการที่ลูกค้าไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ เป็นเหตุทำให้บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11

---------------

ทั้งนี้ คดีทุจริตตัวอย่างในหมวดการจัดซื้อจัดจ้าง ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ คดีที่เหลือขอนำมาเสนอต่อไปครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้