Last updated: 13 ส.ค. 2561 | 3887 จำนวนผู้เข้าชม |
"..นาย ก. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง กับพวกได้ร่วมกันดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างงานตกแต่งภายในและจัดซื้อพัสดุเพื่อตกแต่งและใช้ในพิธีเปิดอาคาร โดยมีการแบ่งจ้างรวม 4 สัญญาจ้าง และแบ่งซื้อเก้าอี้และโต๊ะพับอีก 3 สัญญา นอกจากนั้นบริเวณเดียวกันและในระยะเวลาเดียวกันยังแบ่งจ้างเพื่อปรับปรุงสำนักงานภายในโรงพยาบาลอีก 4 สัญญา โดยผู้รับจ้างหรือผู้ขายเป็นบริษัทเดียวกันควรจะจ้างหรือซื้อพร้อมกันในคราวเดียว แต่ นาย ก. กับพวก กลับแบ่งซอยสัญญาให้วงเงินในการจัดซื้อหรือจัดจ้างแต่ละครั้งไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อใช้วิธีตกลงราคาให้อยู่ในอำนาจอนุมัติของตน โดยมีบริษัทซึ่งเป็นกิจการของน้องสาว นาย ก. เป็นผู้รับจ้าง จึงเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทของน้องสาว..."
นับตั้งแต่ปี 2543 -2557 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ลงมติชี้ความผิดคดีทุจริตสำคัญๆ หลายเรื่อง และผลการลงมติดังกล่าว มีการนำไปจัดทำเป็นรายงานศึกษาจำแนกคดีที่ชึ้มูลลักษณะความผิดที่เกิดขึ้นตามประเภทงานอย่างละเอียด เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนำไปใช้เป็นแนวทาง ในการตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ว่า รูปแบบพฤติการณ์การทุจริต รวมไปถึงข้อกฎหมายสำคัญที่ใช้ในการตัดสินคดีของป.ป.ช. มีรายละเอียดเป็นอย่างไร
ศูนย์ข่าวสืบสวน สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เห็นว่ารายงานผลการศึกษาเรื่องนี้ของ ป.ป.ช. มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อสาธารณชน ในแง่มุมการศึกษาบทเรียนเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางการป้องกัน และร่วมกันตรวจสอบปัญหาการทุจริตแต่ละด้านทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ของประชาชนทั่วไป จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ เวลา 20.00 น. นำรายงานผลการศึกษาการชี้มูลความผิดคดีต่างๆ ของป.ป.ช. มานำเสนออย่างละเอียด
โดยในช่วงเริ่มต้น ขอประเดิมนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างเป็นอันดับแรก ซึ่งผลการชี้มูลความผิดในคดีต่างๆ ตามรายงานการศึกษาของ ป.ป.ช. ระบุชื่อผู้เกี่ยวข้อง เป็นตัวอักษรย่อ เพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา เพราะบางคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล
รายละเอียดปรากฎตามข้อมูลดังต่อไปนี้
@ ไม่ปิดประกาศสอบราคา สมยอมเสนอราคา และช่วยเหลือสนับสนุนให้มีการสมยอมราคาโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก
ข้อเท็จจริง
เทศบาลตำบล ห. ดำเนินการจัดจ้างเหมาก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่ในการประกาศสอบราคาโครงการก่อสร้างดังกล่าว นาย ก. เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี 3 เจ้าหน้าที่พัสดุและรับซองสอบราคา ไม่ได้ปิดประกาศสอบราคาให้เป็นไปตามระเบียบ แต่ได้มีการจัดทำเอกสารว่าได้มีการปิดประกาศสอบราคาตามระเบียบของทางราชการเป็นเท็จ พร้อมถ่ายภาพแสดงการปิดประกาศไว้เป็นหลักฐานเพื่อแสดงว่ามีการปิดประกาศสอบราคาแล้ว และในระหว่างวันที่ 6 - 14 มกราคม 2543 ผู้ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างบางรายได้โทรศัพท์สอบถามเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว แต่นาย ก. ได้แจ้งว่ายังไม่มีการปิดประกาศขายแบบเอกสารสอบราคา และทางจังหวัดยังไม่ส่งงบประมาณมาให้ แต่จากการตรวจสอบเอกสารบัญชีรายชื่อผู้รับเอกสารสอบราคาปรากฏว่า หจก ป. บริษัท พ. และ หจก ข. ได้มาซื้อแบบเอกสารสอบราคา
ในวันที่ 17 มกราคม 2543 นาย ก. และนาง ป. หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ ได้ร่วมกันทำเอกสารบัญชีรับซองสอบราคาฯ ระบุว่ามีผู้มายื่นซองจำนวน 3 ราย คือ หจก. ข. บริษัท พ. และ หจก. ป. ตามลำดับ และในวันที่ 18 มกราคม 2543 คณะกรรมการรับและเปิดซองสอบราคาได้ดำเนินการเปิดซองสอบราคาจากผู้ยื่นซองจำนวน 3 ราย ปรากฏว่า บริษัท พ. จำกัด เสนอราคา 999,000 บาท หจก. ป. เสนอราคา 1,002,000 บาท และ หจก. ข. เสนอราคา 1,003,000 บาท จึงทำความเห็นถึงนาย ศ. ในฐานะนายกเทศมนตรีว่าสมควรอนุมัติให้บริษัท พ. จำกัด เป็นผู้สอบราคาได้ เนื่องจากเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดและอยู่ในวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร ต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2543 ได้มีการร้องเรียนไปยังจังหวัด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค ว่ามีการทุจริตในการดำเนินการโครงการดังกล่าว จังหวัดจึงมีหนังสือแจ้งให้อำเภอดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว และผลการสอบสวนไม่ปรากฏว่ามีการกระทำที่ส่อเจตนาทุจริต และไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการแต่อย่างใด
การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
(1) จากการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ปรากฏว่า ในการดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงของอำเภอไม่ได้สอบสวนให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการเนื่องจากคณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนเพียงคนเดียว และให้กรรมการอีก 2 คนที่เหลือลงชื่อในบันทึกถ้อยคำภายหลัง
(2) หลังจากนั้น ปลัดเทศบาลตำบลได้ทำบันทึกเสนอความเห็นต่อนาย ศ. ว่า การสอบราคาโครงการดังกล่าวน่าจะมีการสมยอมกันในการเสนอราคาและมีการดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการอันเป็นเหตุให้ทางราชการเสียหาย เห็นควรให้ยกเลิกการสอบราคาจ้างเหมาในครั้งนี้ แต่นาย ก. กลับไม่ดำเนินการยกเลิกตามความเห็นของปลัดเทศบาลตำบลกลับสั่งให้เจ้าหน้าที่พัสดุเรียก บริษัท พ. จำกัด ที่เสนอราคาต่ำสุดเข้าทำสัญญาจ้างกับเทศบาลตำบล ห. เป็นเหตุให้ทางราชการและผู้อื่นได้รับความเสียหาย
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย ก. และนาง ป. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 มาตรา 85 มาตรา 95 และมาตรา 98 ประกอบพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 43 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. 2519 มาตรา 5 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 161 และมาตรา 162 ประกอบมาตรา 83 และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 และมาตรา 12 ประกอบพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 44
การกระทำของนาย ศ. เป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 มาตรา 10 มาตรา 12 และมาตรา 13 ประกอบพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 44
@ การดำเนินการมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างหอถังประปาหมู่บ้าน
ข้อเท็จจริง
องค์การบริหารส่วนตำบล ว. ได้ประกาศจัดจ้างโดยวิธีสอบราคาตามโครงการก่อสร้างหอถังประปาหมู่บ้าน งบประมาณ 340,000 บาท และโครงการก่อสร้างทำนบกักเก็บน้ำกั้นลำห้วยงบประมาณ 80,000 บาท นาง พ. ในฐานะหัวหน้าส่วนการคลังและหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ ผู้มีหน้าที่จัดทำเอกสารสอบราคาเพื่อประกาศสอบราคา ปิดประกาศ ส่งประกาศสอบราคา ขายแบบเอกสารสอบราคาและรับซองสอบราคาตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2538 ไม่ได้ปิดประกาศสอบราคาทั้งสองโครงการไว้ที่บอร์ดปิดประกาศของ อบต. ว. และไม่ส่งประกาศสอบราคาไปยังที่ว่าการอำเภอเพื่อปิดประกาศเผยแพร่การสอบราคา ประกอบกับมีการจัดทำบันทึกรับแบบและเอกสารสอบราคา พร้อมกับออกใบเสร็จรับเงิน บันทึกทะเบียนรับซองสอบราคา และบันทึกการรับซองสอบราคาลง ในการสอบราคาทั้งสองโครงการเป็นหลักฐานยืนยันว่าทำการขายแบบเอกสารสอบราคาให้กับร้าน บ.โยธา และห้างหุ้นส่วนจำกัด ฉ. และรับซองสอบราคาจากผู้ประกอบการกิจการดังกล่าวทั้งสองรายอันเป็นเท็จ เพื่อแสดงให้เห็นว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้โดยมีเจตนาเพื่อเอื้ออำนวยให้แก่ผู้อื่นเป็นผู้ชนะการสอบราคาในการสอบราคาโครงการจ้างเหมาก่อสร้างทั้ง 2 โครงการ เพื่อให้ได้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับ อบต. ว. และเพื่อให้บุคคลอื่นไม่มีโอกาสทราบข่าวการเผยแพร่การสอบราคาครั้งนี้ การกระทำจึงเป็นเหตุให้ผู้อื่นและทางราชการได้รับความเสียหาย
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาง พ. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 มาตรา 85 มาตรา 95 และมาตรา 98 ประกอบพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานส่วนตำบล พ.ศ. 2539 ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2539 ข้อ 8 และเป็นความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 และมาตรา 12 และตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 มาตรา 161 และมาตรา 162
@ การสั่งการให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องทำการเปิดซองสอบราคาและไม่ให้ส่งเอกสารแจ้งการประกาศสอบราคา
ข้อเท็จจริง
องค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่งได้ประกาศสอบราคาจ้างเหมาถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก และจ้างเหมาก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ในวันเดียวกันได้ปิดประกาศสอบราคาดังกล่าว และได้มีการจัดส่งเอกสารประกาศสอบราคาไปยังที่ว่าการอำเภอ ต่อมา นาย ก. ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลดังกล่าวได้เป็นผู้นำประกาศสอบราคาไปส่งที่ไปรษณีย์ เพื่อส่งไปยังผู้ประกอบการจำนวน 5 ราย ภายหลังได้มีผู้สนใจซื้อแบบเอกสารสอบราคาทั้งสองโครงการจำนวน 6 ราย เมื่อถึงวันยื่นซองสอบราคา ได้มีผู้ยื่นซองเพียงห้างหุ้นส่วน ช. เพียงรายเดียว
นาย ก. ได้สั่งให้นาง พ. จัดทำประกาศยกเลิกการสอบราคาโดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากมีผู้เสนอราคารายเดียว ทำให้ อบต. ไม่สามารถเปรียบเทียบราคาได้ ซึ่งนาง พ. ได้โต้แย้งว่า ตามปกติจะมีการยกเลิกการสอบราคาได้เนื่องจากมีหลักฐานแน่ชัดว่ามีการสมยอมราคา เมื่อห้างหุ้นส่วน ช. ทราบ จึงได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ต่อมา ได้มีประกาศสอบราคาขึ้นใหม่ทั้งสองโครงการ โดยได้จัดส่งเอกสารการสอบราคาไปให้ผู้ประกอบการทราบจำนวน 11 ราย และได้จัดส่งปิดประกาศไว้ที่อำเภอด้วย แต่ไม่ได้ส่งเอกสารสอบราคาไปให้กับห้างหุ้นส่วน ช. เนื่องจากนาย ก. เป็นผู้สั่งเจ้าหน้าที่พัสดุไม่ให้ส่งเอกสารห้างหุ้นส่วน ช. ทราบว่ามีการสอบราคาครั้งที่ 2 ภายหลังมีผู้สนใจเข้าเสนอราคาทั้ง 2 โครงการ จำนวน 3 ราย
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การที่นาย ก. สั่งการให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องทำการเปิดซองสอบราคาในการสอบราคาครั้งแรกแม้มีผู้ยื่นซองสอบราคาเพียงรายเดียว และสั่งการเจ้าหน้าที่ไม่ให้ส่งเอกสารแจ้งการประกาศสอบราคาครั้งที่สองให้กับห้างหุ้นส่วน ช. การกระทำของนาย ก. จึงเป็นความผิดตามตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2538 ข้อ 8 และเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 สำหรับคณะกรรมการเปิดซองสอบราคามีความผิดทางวินัย
@ ช่วยเหลือบริษัทที่ไม่ได้เข้าประกวดราคาให้ได้ทำสัญญากับหน่วยงานรัฐ
ข้อเท็จจริง
หน่วยงานรัฐได้มีประกาศประกวดราคาสั่งโฆษณาสถานีวิทยุกระจายเสียง โดยมีผู้ยื่นซอง 2 รายและบริษัท A ได้รับคัดเลือกเป็นผู้สั่งโฆษณา แต่ในระหว่างนำเสนอผลต่อผู้บังคับบัญชาทราบ ปรากฏว่า นาย ก. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ได้นำเอกสารไปเปลี่ยนโดยมีรายละเอียดระบุเพิ่มขึ้นว่ามีผู้ยื่นซองประกวดราคา 3 ราย โดยเพิ่มบริษัท B เข้ามาอีกหนึ่งราย และนาง ค. กรรมการผู้จัดการบริษัทเป็นผู้ลงนามในหนังสือของบริษัท B เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้มีการเสนอราคารองรับการกระทำของนาย ก. ทั้งที่บริษัท B ไม่ได้เข้าร่วมแต่อย่างใด หลังจากนั้นจึงได้มีการทำสัญญากับบริษัท B
ต่อมาบริษัท A ที่ได้รับคัดเลือกครั้งแรก ได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรม จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ผลปรากฏว่ามีคำสั่งให้ยกเลิกสัญญากับบริษัท B และให้ทำสัญญากับบริษัท A แต่บริษัท B ไม่ยอมส่งมอบพื้นที่ออกอากาศให้ บริษัท A จึงร้องขอความเป็นธรรมและฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
เมื่อนาย ข. ได้เข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานรัฐที่ให้มีการประกวดราคาสั่งโฆษณาวิทยุกระจายเสียง จึงได้เรียกผู้เกี่ยวข้องไปพบและมีคำสั่งด้วยวาจาว่าให้บริษัท B ดำเนินการออกอากาศต่อไป
บริษัท A จึงร้องเรียนขอความเป็นธรรมอีกครั้ง โดยผลคือให้บริษัท A เป็นผู้จัดรายการร่วมเป็นกรณีพิเศษ โดยบริษัท B ยังคงออกอากาศ (สั่งโฆษณา) ต่อไปทั้งที่ไม่ได้เข้าประกวดราคา และได้มีคำสั่งให้ยกเลิกใบสั่งโฆษณาไปแล้ว
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย ก. และนาย ข. เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 มาตรา 15 ประกอบระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ. 2507 และการกระทำของนาย ก. เป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และการกระทำของนาง ค. เป็นความผิดอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86
@ การทุจริตปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ข้อเท็จจริง จากการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่า การดำเนินการประกวดราคาโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ มีการดำเนินการโดยฝ่าฝืนเกือบทุกขั้นตอนต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ดังนี้
1) ขั้นตอนของการคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้นเพื่อเข้าประกวดราคา (PQ) ได้คัดเลือกให้กลุ่มบริษัท A ที่มีบริษัท B เป็นผู้นำกลุ่มผ่านคุณสมบัติ ทั้งที่บริษัท B ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอตามที่กำหนดไว้ในการประกวดราคา โดยกลุ่มบริษัท A ได้นำคุณสมบัติของ บริษัท C ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท B มาเสนอเพื่อผ่านคุณสมบัติ
2) ขั้นตอนการคัดเลือกที่ดินได้มีการประกาศให้บริเวณที่ตั้งของบริษัท D นาย ก. ถือหุ้นอยู่ และที่ดินดังกล่าวถือกรรมสิทธิ์อยู่ในนามบริษัท E ให้มีคุณสมบัติเสนอเข้าในโครงการ แล้วแก้ไขเอกสารการประกวดราคา ให้เหลือที่ดินที่จะใช้ในโครงการเพียงรายเดียวคือที่ดินบริษัท E และเหลือผู้ประกวดราคารายเดียวคือ กลุ่มบริษัท A
3) เมื่อเหลือผู้ประกวดราคารายเดียวแล้ว ได้มีการผลักดันนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี เป็นวาระทราบจร ให้เพิ่มวงเงินงบประมาณอีกจำนวนหนึ่งโดยไม่มีที่มาชัดเจนของวงเงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้น
4) ในขั้นตอนของการต่อรองราคาไม่ได้ดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา แต่ดำเนินการโดยนาย ข. กับพวก ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการกรม X และไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการต่อรองราคา และในการต่อรองราคาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดใน TOR ทำให้ทางราชการเสียเปรียบหลายประการ
5) ในขั้นตอนของการเสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสมของงบประมาณ ไม่ได้มีการจัดส่งเอกสารตามรายการที่มีการต่อรองราคาได้ แต่กลับสร้างรายการเปรียบราคาที่เพิ่มขึ้นอันเป็นเท็จส่งให้สำนักงบประมาณพิจารณาและเห็นชอบด้วยกับงบประมาณโครงการที่เพิ่มขึ้น
6) ขั้นตอนของการเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับวงเงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการดำเนินโครงการ มีการบิดเบือนไม่นำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบแต่กลับนำเรื่องการขยายระยะเวลาผูกพันงบประมาณ เป็นเหตุให้มีมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบในวาระทราบจร เรื่องการขยายระยะเวลาผูกพันงบประมาณเพียงเรื่องเดียว
7) ในขั้นตอนของการลงนามในสัญญา มีการลงนามไม่เป็นไปตามร่างสัญญาที่ผ่านการตรวจจากสำนักงานอัยการสูงสุด โดยเพิ่มข้อความที่ไม่ให้บริษัท B ต้องร่วมรับผิดชอบต่อกรม X ผู้ว่าจ้างและบุคคลที่สาม นอกจากนี้ ตัวแทนของกลุ่มบริษัท A ได้ลงนามโดยปราศจากอำนาจ เนื่องจากนำใบมอบอำนาจที่บริษัท B ได้ยกเลิกไปแล้วมาใช้ในการลงนาม ส่งผลให้สัญญามีคู่สัญญาไม่ครบตามที่ได้ประกวดราคาโครงการ
8) ในขั้นตอนของการบริหารโครงการ นาย ง. อธิบดีกรม X ที่ดำรงตำแหน่งต่อจากนาย Y ทราบว่า การลงนามในสัญญาไม่มีผลผูกพันบริษัท B สัญญาจึงเป็นโมฆะ แต่ไม่บอกเลิกสัญญากลับยินยอมให้กลุ่มบริษัท A ดำเนินโครงการต่อไปและแจ้งให้จัดหาผู้มาทำหน้าที่เดินระบบและบำรุงรักษาแทนที่บริษัท B
9) ในขั้นตอนของการจัดหาผู้มาทำหน้าที่เดินระบบแทนที่บริษัท B โดยกลุ่มบริษัทAได้เสนอบริษัท F มาทำหน้าที่และมีการจดทะเบียบตั้งบริษัท G มาทำหน้าที่ โดยให้บริษัท F ถือหุ้นจำนวนหนึ่งในบริษัท G ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาได้มีหนังสือยอมรับบริษัท G ให้เข้ามาเดินระบบแทนที่บริษัท B ทั้งที่บริษัท G ไม่ได้ผ่านกระบวนการประกวดราคาตามระเบียบและอำนาจในการอนุมัติดังกล่าวเป็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง Y
10) ในขั้นตอนของการจัดซื้อที่ดินและตรวจรับที่ดิน ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาและคณะกรรมการตรวจการจ้าง ไม่เคยออกไปตรวจสอบสภาพแปลงที่ดินที่จัดซื้อและไม่ได้นำราคาซื้อขายที่ดินและหรือสิ่งก่อสร้างใกล้เคียงบริเวณที่จะซื้อมาเปรียบเทียบเพื่อให้ได้ที่ดินและราคาที่เหมาะสม ซึ่งการจัดซื้อที่ดินจากบริษัท E เป็นการจัดซื้อที่ดินในราคาที่สูงกว่าราคาประเมินมาก และภายหลังยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า โฉนดที่ดินดังกล่าว ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากออกทับคลองสาธารณประโยชน์ ทางสาธารณประโยชน์ และเป็นที่หวงห้ามของทางราชการ ซึ่งกรมที่ดินได้ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวไปบางแปลงแล้ว
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
1) นาย ก. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง Z มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และมาตรา 157
2) กรณีการกระทำของ นาย ค. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง Y เป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีฝ่าฝืนต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 10 ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 23 วรรคสาม และมาตรา 26 และระเบียบการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2534 ข้อ 7 เป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 แต่เนื่องจากนาย ค. ได้ถึงแก่ความตายแล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 (1) จึงมีมติให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบเรื่องกล่าวหา
3) กรณีการกระทำของนาย ข. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรม X และ นาย ง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีและต่อมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรม X นาง จ. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของกรม X และนาง ฉ. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนักวิชาการและต่อมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของกรม X มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงและมีมูลเป็นความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157
@ ทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างและเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลในครอบครัว
ข้อเท็จจริง นาย ก. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง กับพวกได้ร่วมกันดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างงานตกแต่งภายในและจัดซื้อพัสดุเพื่อตกแต่งและใช้ในพิธีเปิดอาคาร โดยมีการแบ่งจ้างรวม 4 สัญญาจ้าง และแบ่งซื้อเก้าอี้และโต๊ะพับอีก 3 สัญญา นอกจากนั้นบริเวณเดียวกันและในระยะเวลาเดียวกันยังแบ่งจ้างเพื่อปรับปรุงสำนักงานภายในโรงพยาบาลอีก 4 สัญญา โดยผู้รับจ้างหรือผู้ขายเป็นบริษัทเดียวกันควรจะจ้างหรือซื้อพร้อมกันในคราวเดียว แต่ นาย ก. กับพวก กลับแบ่งซอยสัญญาให้วงเงินในการจัดซื้อหรือจัดจ้างแต่ละครั้งไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อใช้วิธีตกลงราคาให้อยู่ในอำนาจอนุมัติของตน โดยมีบริษัทซึ่งเป็นกิจการของน้องสาว นาย ก. เป็นผู้รับจ้าง จึงเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทของน้องสาว
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย ก. และพวก มีมูลเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 85 วรรคสอง และมีมูลเป็นความผิดทางอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
@ พิจารณาผลการประกวดราคาเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน
ข้อเท็จจริง
นาย ก. ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ประธานกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาโครงการให้เอกชนประกอบการขนถ่ายตู้สินค้าขึ้น-ลงรถไฟ ได้ร่วมกับนาย ข. และนาย ค. กรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาโครงการดังกล่าว โดยดำเนินการพิจารณาผลการประกวดราคาไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของข้อเสนอด้านเทคนิค (TOR) เพื่อให้บริษัทเอกชนผู้เข้าร่วมเสนอราคารายหนึ่งผ่านคุณสมบัติ อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบ และมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรมและกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกระทำของนาย ก. นาย ข. และนาย ค. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 และมาตรา 12
ทั้งหมดนี่ เป็นตัวอย่างเบื้องต้นคดีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างสำคัญที่ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดไปแล้ว ส่วนรายละเอียดคดีอื่นๆ ขอนำเสนอต่อตอนที่ 2