รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน 2561

Last updated: 2 มิ.ย. 2561  |  2540 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------

 สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

ช่วงนี้ มีวันสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับ "สุขภาพ" ก็ได้แก่ วันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม และวันดื่มนมโลก 1 มิถุนายน ของทุกปีนะครับ เนื่องจากชาวโลกต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า "ทรัพยากรมนุษย์" เป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด จึงมีความพยายามร่วมกันรณรงค์ให้ "ทำในสิ่งที่ดีต่อร่างกาย ก็คือ การดื่มนม" และ "ละเว้นในสิ่งที่ไม่ดีต่อร่างกาย คือการงดสูบบุหรี่"

ซึ่งก็ตรงกับ "หัวใจ" ของ พระพุทธ ศาสนาที่ว่า "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์" ที่เราสามารถนำไปประยุกต์ ปฏิบัติได้ไม่ยากนักในชีวิต ประจำวัน ก็จะทำให้ตนเองและสังคม มีแต่ความสุข ความเจริญ ทั้งนี้ทุกๆ ศาสนาต่างก็มีคำสอนของพระศาสดาที่ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยมุ่งสอนให้ทุกคนเป็นคนดีนะครับ

สำหรับ "การสูบบุหรี่" นั้น อาจจะเป็นสัญลักษณ์ของการนำสิ่งที่ไม่ดีเข้าสู่ร่างกาย ไม่เพียงแต่จะทำลายสุขภาพของตนเองแล้ว ก็อาจจะทำร้ายผู้ที่อยู่รอบข้างอีกด้วย อาจเป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำ "นักสูบหน้าใหม่" ไปสู่ยาเสพติดรูปแบบอื่นๆ ได้อีก ซึ่งเราคงต้องหยุดเสียตั้งแต่ "ก้าวแรก" ของการหลงทางไปกับสารเสพติดทั้งหลาย ดังนั้น รัฐบาลนี้จึงได้ผลักดัน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ พ.ศ.2560

โดยมีเจตนาที่ต้องการจะปกป้องเยาวชนไม่ให้เป็นนักสูบหน้าใหม่ คุ้มครองผู้คนรอบข้างให้ปลอดภัย ไม่ให้เป็น "ผู้รับควันบุหรี่มือสอง" และลดจำนวนผู้สูบลง อาทิ การห้ามขายบุหรี่ให้เด็ก การจำกัดพื้นที่สูบ การจำกัดช่องทางการเข้าถึง และการปรับขึ้นราคาบุหรี่ เป็นต้น

ทั้งนี้ หากบังคับใช้กฎหมายได้ดี มีประสิทธิภาพในภาพรวมแล้ว ก็ย่อมช่วยลดภาระทางงบประมาณในการรักษาพยาบาลจากโรคมะเร็ง 12 ชนิด โรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคเบาหวาน ได้อีกด้วย สำหรับใครที่สนใจอยากจะเลิกบุหรี่ ขอแนะนำให้โทรไปปรึกษา รับคำแนะนำ ได้ที่ "สายด่วน 1600" นะครับ ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ

ส่วนเรื่อง "การดื่มนม" นั้น ก็คงตรงกันข้ามนะครับ เพราะนมยิ่งดื่ม ยิ่งดี เป็นการนำสิ่งที่ดีสู่ร่างกาย สู่ชีวิต ผมก็แนะนำให้ทุกคนดื่มนม เหมือนที่เชิญชวนให้ทำความดีอยู่เสมอๆ สถิติที่น่าตกใจ คือ คนไทยดื่มน้ำอัดลม เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน มากกว่า 41 ลิตร ต่อคนต่อปี ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นอันดับ 5 ของโลก มากกว่า 52 ลิตรต่อคนต่อปี แต่กลับดื่มนม อยู่ในอันดับที่ 68 ของโลก เพียง 18 ลิตรต่อคนต่อปี หรือสัปดาห์ละ 2 แก้วเท่านั้น น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลก 113 ลิตรต่อคนต่อปี นะครับ

ดังนั้น รัฐบาลจึงตั้งเป้า ที่จะเพิ่มการดื่มนมของคนไทย จาก 18 เป็น 25 ลิตรต่อคนต่อปี ให้ได้ภายในปี 2569 นอกจากนี้ ก็ยังให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง "เกษตรฯ สาธารณสุข พาณิชย์" ได้ร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรโคนม เสริมสร้างสุขภาพคนไทยให้แข็งแรง และผลักดันการส่งออกนมไทย สู่ตลาดเอเชีย อย่างกว้างขวางในวันข้างหน้า

สำหรับเด็กทารกก็ควรดื่ม "นมแม่" ดีที่สุดนะครับ เด็กเล็ก เด็กโต หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ ในปัจจุบันต่างก็มีนมที่หลากหลายให้เลือก ตามความต้องการของร่างกาย หรือเหมาะสมกับแต่ละคนด้วยนะครับ แต่ละวัย เช่น ผู้สูงวัยก็อาจจะหานมเสริมแคลเซียม ดูแลโครงสร้างกระดูกและฟัน ให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ ส่วนใครที่แพ้นมวัว ก็อาจจะหานมแพะ นมถั่วเหลือง หรือ "น้ำนมข้าว" ซึ่งอร่อย ทานง่าย และมีคุณค่าทางโภชนาการไม่แพ้นมอื่นๆ

การสนับสนุนสินค้าจากข้าวนี้ ก็จะมีส่วนช่วยรัฐบาลในการส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และขยายผลในเชิงพาณิชย์ ไปจนถึงการส่งออกไปขายต่างประเทศ อย่างครบวงจร ซึ่งก็จะช่วยให้พี่น้องเกษตรกร มีรายได้เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลได้สนับสนุนให้ เกษตรกรเพาะปลูกข้าวพันธุ์ กข 43 ที่เมล็ดพันธุ์ราคาไม่แพง และเป็นข้าวที่มีคุณสมบัติพิเศษ เพราะมีการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลต่ำ เหมาะสำหรับประชาชนที่ใส่ใจดูแลสุขภาพ ซึ่งข้าวพันธุ์ กข 43 นี้ ได้ผ่านการวิจัยรับรองคุณสมบัติ จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะแพทย ศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาแล้ว

สัปดาห์หน้าวันที่ 5 มิถุนายน เป็น "วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ" ก็มีเรื่องที่น่ายินดี สำหรับ "กระดูกสันหลังของชาติ" คือ ปัจจุบันราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ 17,800 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ราคา 8,200 บาทต่อตัน ซึ่งก็นับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีนะครับ

นอกจากนี้ผมอยากเชิญชวนพี่น้องเกษตรกร และผู้ที่สนใจ ได้สัมผัสวิถี "ชาวนาไทย ยุค 4.0" ตามนโยบายรัฐบาล อาทิ นโยบายตลาดนำการผลิต โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ไปจนถึง ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเพื่อสุขภาพและความงามรวมทั้งนวัตกรรมจาก "งานวิจัย" ผสานกับ "ภูมิปัญญา"ได้ที่หน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั่วประเทศ

ชาวนาอาจมีปัญหาเพราะมีหนี้สิน ทั้งในระบบ นอกระบบค้างเก่าอยู่จำนวนมากนะครับ ทำให้ได้ประโยชน์ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะถูกหักไปใช้หนี้ รวมทั้งต้องซื้อสินค้าต่างๆ ที่มีราคาสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตก็เป็นส่วนสำคัญนะครับวันนี้ก็กำลังให้ไปแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอยู่นะครับ

พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ, เบื้องหลังความสำเร็จ ที่ส่งเสริมให้ราคาข้าวดีขึ้น มีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน การปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ของรัฐบาลนี้ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ผมก็อยากจะนำมาเล่าให้ฟังนะครับ ให้ครบทุกมุมมอง เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่า "การปฏิรูปประเทศได้เกิดขึ้นแล้ว...ในทุกๆ ด้าน" ปัญหาบางอย่างของประเทศได้รับการแก้ไขในทันที อันนี้ก็ถือว่าปฏิรูปด้วยนะครับ อะไรที่ทำไม่ได้ หรือที่ทำได้ไม่ดี ต้องทำให้ดีกว่าเดิม การปฏิรูปเหมือนกันนะครับ

สำหรับเรื่อง "น้ำ" นี้ ก็ขอให้รับฟังเป็นลำดับ นะครับ ก็จะรู้ว่าน้ำท่วม-น้ำแล้ง ได้อย่างคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น อาจจะสรุปถึงผลสัมฤทธิ์ในภาพรวม ก่อนที่จะลงในรายละเอียดต่อไป อาทิ ปี 2561 นี้ ก็นับเป็น "ปีแรก" ที่ไม่มีพื้นที่ใดของประเทศ ต้องประกาศเขตให้การช่วยเหลือ "ภัยแล้ง" นะครับ โดยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่บูรณาการ เชื่อมโยงกันเป็นระบบนำไปสู่ประสิทธิภาพสูงสุด

โดยวัดได้จากการดำเนินงานในภาพรวม ที่เร็วขึ้นกว่าในอดีต "4 เท่า" และ ประหยัดงบประมาณลงได้กว่าช่วงที่ผ่านมาประมาณ "ร้อยละ 30" ทั้งนี้ หากจะถามว่า อะไรที่เรียกว่า "บูรณาการ" ก็คงต้องเริ่มจากการบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐต่างๆนะครับ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและบริการ

รวมทั้ง น้ำสำหรับผลักดันน้ำเค็ม เพื่อรักษาสมดุลทางธรรมชาติ และยังมีการทำงานร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ซึ่งมีองค์ความรู้ตาม "ศาสตร์พระราชา" เพื่อให้ให้การดำเนินการเกี่ยวกับน้ำเป็นไปอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ เรายังมีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ GISDA นะครับ เข้ามาร่วมในการให้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ที่ช่วยให้การติดตามสถานการณ์น้ำ มีความชัดเจน เที่ยงตรงขึ้น โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่ Big data นะครับ ของทุกหน่วยงาน ให้เป็นภาพเดียวกัน จะช่วยให้การติดสินใจต่างๆ ทำได้ครบทุกมิติ ทันเวลา และมีประสิทธิภาพ

ที่กล่าวมานั้น ได้ทำงานภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่ย่อว่า (กนช.) โดยปัจจุบันได้ตั้ง สำนักงานนี้นะครับที่เรียกว่า สทนช. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ให้มีการดำเนินการอย่างมีเอกภาพ ด้วยการรวมหน่วยงานที่เกี่ยวกับน้ำไว้ด้วยกัน หลายสิบหน่วยงานด้วยกัน เพื่อทำให้เกิดการบูรณาการทั้งหน่วยงาน แผนงาน โครงการ ทรัพยากร บุคลากร และงบประมาณ นะครับ

สิ่งสำคัญก็คือ การดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ มีการจัดทำแผนแม่บท การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พ.ศ. 2560 ถึง 2579 ที่ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วย นอกจากจะมีการน้อมนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้แล้ว เรายังได้คำนึงถึงปฏิญญาสากล จากการประชุมน้ำโลก ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้

อาทิ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การร่วมมือกันของรัฐบาลทั่วโลก การร่วมมือข้ามพรมแดน โดยยึดตามกฎหมายระหว่างประเทศ การส่งเสริมศักยภาพคนรุ่นใหม่ ในการแก้ปัญหาน้ำ และสุขาภิบาล อีกทั้ง การเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) เป็นต้น

ทั้งนี้ผลการดำเนินงาน 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จะจัดให้มีการสร้างการรับรู้ และเสวนาเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ในวันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน นี้ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก็ขอให้ติดตามในรายละเอียดต่อไปนะครับ

ผมจะขอนำมากล่าวโดยสรุป ดังนี้ 1. การจัดการน้ำอุปโภค บริโภค เราสามารถสร้างระบบประปาหมู่บ้านได้ 97% จาก 7,490 หมู่บ้าน ทั่วประเทศ ที่ยังมีไม่ครบนะครับ ประปาโรงเรียนดำเนินการแล้วเสร็จ เกือบ 2,000 แห่ง และ เจาะบ่อบาดาลได้ เกือบ 2,000 แห่ง เช่นกัน นะครับ ก็คงต้องทำต่อไปนะครับ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

2.การสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำให้ภาคการผลิต เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม อาทิ การพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งในและนอกเขตชลประทาน การขุดสระน้ำในไร่นา การเจาะน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร และ น้ำบาดาลช่วยภัยแล้ง เป็นต้น ก็มีประชาชนได้รับผลประโยชน์ กว่า 3 ล้านครัวเรือนนะครับ ครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 2 ล้านไร่

3. การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ได้แก่ การขุดลอกลำคลอง ลำน้ำสาขา แม่น้ำสายหลัก เกือบ 300 กิโลเมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วม 63 ชุมชน นะครับ ก็ยังคงมีอีกในที่อื่นๆ ก็ทำต่อไปนะครับ

4. การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ที่เสื่อมโทรม และป้องกันการพังทลายหน้าดิน โดยดำเนินการแล้ว 3 แสนกว่าไร่

นอกจากนี้ยังมีการจัดการคุณภาพน้ำและที่จะสร้างความยั่งยืน ก็คือ การเร่งรัดออก "กฎหมายทรัพยากรน้ำ" ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ เราต้องศึกษาผลกระทบในคราวเดียวกันด้วย นะครับ

สำหรับแผนงานบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ ปี 2561 นี้ มีแผนงานที่ผ่านการพิจารณาให้ดำเนินการเพิ่มเติมอีก 216 โครงการ งบประมาณ 4 พันกว่าล้านบาทนะครับ เพื่อให้ได้น้ำ 27 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ ราว 9 แสนไร่

และ ในปี 2562 มีอีกกว่า 3 พันโครงการ ที่กำลังพิจารณาจัดลำดับความเร่งด่วนและ ให้เกิดการใช้งบประมาณที่ประหยัด คุ้มค่า ได้ประโยชน์สูงสุด ตรงความต้องการของพี่น้องประชาชน

ทั้งนี้จะต้องมีการลงทุนสร้างระบบต่างๆ เพื่อสนับสนุนการตกลงใจเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ อาทิ ระบบงานแผนที่ ระบบงานแบบจำลอง ระบบงานคลังข้อมูลน้ำ ระบบงานสถานีตรวจวัดเป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถพยากรณ์และ ติดตามสภาพลมฟ้าอากาศ ที่จะช่วยให้สั่งการในเรื่องการเก็บกักน้ำ การพร่องน้ำ การใช้พื้นที่แก้มลิง เรียกรวมๆ ว่าเป็นการบริหารจัดการที่บูรณาการกัน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพนะครับ

ยกตัวอย่างการนำข้อมูลที่บูรณาการกัน ของทุกหน่วยงาน มาจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ ในฤดูฝนช่วยให้เราสามารถวางแผนเพาะปลูกข้าว ในช่วงฤดูฝนปีนี้ จำนวน 60 ล้านไร่ โดยมีการจัดสรรน้ำ เพื่อใช้ในทุกภาคส่วนได้อย่างเพียงพอ กว่า 88,000 ล้านลูกบาศก์เมตรและ เมื่อสิ้นฤดูฝน ก็จะต้องมีน้ำต้นทุน สำหรับทำการเกษตรฤดูแล้ง ปี 2561/2562 ได้อีก ราว 60,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

อีกหลายอย่าง ที่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไป อาทิ การจัดทำปฏิทินอุทกภัยจากมรสุมต่างๆ การกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ด้วยข้อมูลสถิติย้อนหลัง 55 ปี จำแนกตามความรุนแรง โดยมีแผนเผชิญเหตุรองรับ แผนบริหารจัดการน้ำหลาก ในลุ่มน้ำต่างๆ โดยใช้ทุ่งที่เชื่อมโยงกันในการหน่วงน้ำ ชะลอน้ำ

รวมทั้ง การเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำ ไม่ให้ล้น หรือพร่องน้ำจนไม่เหลือน้ำต้นทุนไว้ใช้ในอนาคต คงต้องสำรวจอ่างเก็บน้ำเก่าๆที่มีอายุยาวนานด้วย อาจต้องมีการซ่อมแซม เหล่านี้เป็นต้น ทุกอย่างเราจำเป็นต้องให้ประชาชน เกษตรกรร่วมมือกันนะครับ จึงจะสำเร็จ ไม่ใช่ให้รัฐบาลทำต่อไปก็ไม่สำเร็จสักอย่างนะครับ

พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ การบริหารจัดการน้ำ สำหรับภาคการผลิตที่สำคัญของประเทศ ที่เราต้องเตรียมการในระยะยาว ตั้งแต่วันนี้ ได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่เราจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ เนื่องจากจะเป็นกลจักรสำคัญในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ ในยุคดิจิทัล หรือ อีกอย่างน้อย 20 ปีข้างหน้า

ซึ่งต้องมีการศึกษาแนวเส้นทางการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำ ให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนภายใน ประเทศ รวมทั้ง ป้องกันน้ำท่วมพื้นที่สำคัญของ EEC อีกด้วย ทั้งนี้ ในระยะ 10 ปีแรกนี้ จำเป็นต้องมีน้ำใช้ในระบบโครงข่ายเพิ่มอีก 320 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

โดยจะต้องดำเนินการในหลายส่วน อาทิ การปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม การพัฒนาอ่างเก็บน้ำ การเชื่อมโยงแหล่งน้ำและระบบผันน้ำ การสูบกลับน้ำท้ายอ่างเก็บน้ำ แผนป้องกันน้ำท่วม และการจัดหาแหล่งน้ำสำรอง ส่วนแผนสำหรับรองรับอนาคต ระยะ 20 ปี ก็จะมีการเพิ่มเติมแผนการพัฒนาอ่างเก็บน้ำ ภาคตะวันออก 104 แห่ง ปริมาณน้ำ 1,900 ล้านลูกบาศก์เมตร

อีกทั้ง แนวทางการบริหารจัดการความต้องการการลดการใช้น้ำ การใช้น้ำซ้ำ การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ซึ่งหลายประเทศมีเทคโนโลยีนี้แล้ว เนื่องจากเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ เช่น สิงคโปร์ และอิสราเอล และ การหาแหล่งน้ำสำรองของอุตสาหกรรม เป็นต้น

ทั้งนี้ รูปแบบการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จใน EEC ก็จะเป็นโมเดล สำหรับการดำเนินงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 10 แห่ง ต่อไปด้วย นะครับ ทั้งนี้ก็ไม่ใช่เศรษฐกิจอย่างเดียว นะครับ หรือการลงทุนอย่างเดียว ก็เพื่อประชาชนในพื้นที่เดิมที่มีอยู่แล้วด้วยนะครับ ใน 3 จังหวัด

ตัวอย่างของการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำเพื่อชุมชน ที่ผมอยากจะกล่าวถึง ได้แก่ "หนองบัวลำภู โมเดล" หรือ โครงการระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จากการที่ผมลงไปพบปะพี่น้องประชาชน จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อมีนาคมที่ผ่านมา

ทางจังหวัดได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาความยากจน และ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ด้วยการปรับปรุงพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การพัฒนาแหล่งน้ำใต้ดิน เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีน้ำทำการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี มีรายได้ต่อเนื่อง และมั่นคง ร่วมกับการนำเทคโนโลยีระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar cell)มาปรับใช้ เพื่อลดต้นทุนการผลิต

นำร่องในพื้นที่กลุ่มเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ 58 กลุ่มรวมทั้งพื้นที่ทำเกษตรแปลงใหญ่ตามนโยบายรัฐบาล และ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน ในการปลูกพืชทางเลือก ลดความเสี่ยงในการใช้สารเคมี ได้ผลผลิตปลอดภัย และ เป็นการสร้างรายได้สูงขึ้นอีกด้วย อีกทั้ง ยังจะสามารถส่งเสริมอาชีพทางเลือกนอกฤดูการเพาะปลูก หรือยามว่าง เช่น การมีอาชีพเสริม งานฝีมือ และ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ด้วย

ใช้งบประมาณราว 210 ล้านบาท มีเกษตรกรกลุ่มต่างๆ ที่เข้าโครงการโดยสมัครใจ กว่า 2,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 23,000 ไร่ หากวิเคราะห์รายได้จากการขายพืชผักอินทรีย์ เมื่อหักต้นทุนการผลิตแล้ว พี่น้องเกษตรกรจะมีรายได้เฉลี่ยมากกว่า 12,500 บาทต่อไร่ต่อเดือน หรือ 150,000 บาทต่อไร่ต่อปี

ผมก็ลองคำนวณคร่าวๆ ก็เห็นว่า เราลงทุนประมาณ "100,000 บาทต่อคน" นั่นหมายความว่า เราจะได้คืนทุนทันที ในปีเดียว แต่ยังสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ อีกด้วย อันนี้คือความแตกต่างในการแก้ปัญหาด้านการเกษตรนะครับ

เราก็จะสามารถลดภาระงบประมาณแผ่นดิน โดยมีการดึงกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เข้ามาอุดหนุนได้เกินครึ่ง ราว 124 ล้านบาท ก็เป็นการใช้ประโยชน์จากกองทุนที่คุ้มค่า ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนด้วย

ซึ่งก็นับว่าเป็นตัวอย่างการพัฒนา อย่างมีส่วนร่วม ที่เกิดจากความเข้มแข็งของชุมชน ที่สามารถบรรลุทางออกของตน โดยรัฐบาลสามารถเข้าไปส่งเสริมได้ นะครับ ก็ขอให้พื้นที่อื่นๆ เอาเป็นตัวอย่างด้วย

ในส่วนของพี่น้องเกษตรกรที่ต้องประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติ และ ราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ระดับต่ำ ต่อเนื่องมาหลายปี ต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ มีภาระดอกเบี้ยสูงมาก จนทำให้ไม่สามารถจับจ่ายใช้สอยดำรงชีวิตได้ดีเท่าที่ควร

รัฐบาลได้เร่งดำเนินมาตรการช่วยเหลือ อย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้นให้ได้ อย่างเป็นรูปธรรม ภายใน 1 เดือน จากเดิมที่กำหนดไว้ 6 เดือน

โดยได้ให้รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ คสช. ร่วมกับ กอ.รมน. จังหวัด จัดเตรียมข้อมูลผู้เป็นหนี้นอกระบบ เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือ

ซึ่งมีทั้งประชาชนทั่วไป และกลุ่มเกษตรกรที่ไปยืมเงินนอกระบบจากกลุ่มโรงสี โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ผมกล่าวถึงข้างต้น จะเข้าไปช่วยเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยหนี้กับโรงสี แก้ไขสัญญาให้ถูกต้อง ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งในกลุ่มลูกหนี้ไม่มีขีดความสามารถในการชำระหนี้ รัฐบาลก็จะช่วยผลักดันเข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง ต่อไปนะครับ ก็มีหลายมาตรการด้วยกันนะครับ

ทั้งนี้ก็เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และ มีเงินเหลือพอ ไปต่อยอดเพื่อลงทุนทำการเกษตร ในคราวต่อไป แล้วก็มีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวไปด้วยในคราวเดียวกัน ก็ขอให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาลด้วยนะครับ

สุดท้ายนี้ ผมมีเรื่องที่เป็นความห่วงใยถึงพี่น้องประชาชนอีก 2 เรื่องนะครับ เรื่องแรก จากการประเมินการรับรู้ประชาชน (DDC poll) เรื่องโรคไข้เลือดออก ล่าสุดพบว่าประชาชนมีความเข้าใจผิดๆ หลายประการนะครับ เช่น หลายคนคิดว่าผู้ใหญ่ไม่สามารถป่วยเป็นโรคไข้เลือด ออกได้

และ บางคนคิดเองว่า ถ้าป่วยเป็นไข้เลือดออก ก็สามารถซื้อยาแผนปัจจุบันกินเองได้ ซึ่งไม่ถูกต้องนะครับ อันตราย ยิ่งกว่านั้น เกือบร้อยละ 70 คิดว่าการกำจัด "ยุงลาย" ในบ้าน ในชุมชน ต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการแต่เพียงอย่างเดียว

ในปีนี้ แนวโน้มการระบาดมีพื้นที่เสี่ยงอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลางตอนบน โดยรูปแบบของการระบาดจะเปลี่ยนไป มีการเสียชีวิตในผู้ใหญ่มากขึ้น เนื่องจากมีโรคประจำตัวด้วย เช่น ภาวะอ้วน เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเลือด เป็นต้น

สำหรับใครที่มีอาการเหล่านี้นะครับ คือ มีอาการไข้สูง 2 วัน ไม่ดีขึ้น ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ เป็นต้น

ให้สังเกตตัวเอง ลูกหลาน และคนใกล้ชิดนะครับ หากพบก็ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 นะครับ ย่าลืมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่มีน้ำขัง ระวังยุงกัดนะครับส่วนภาชนะที่เก็บน้ำไว้ใช้ ก็ขอให้มีฝาปิดด้วยนะครับ

อีกเรื่อง ที่ผมได้เห็นรายการ Because We Care เรื่องจริงสะท้อนสังคม ที่เป็นการแจ้งเตือนภัย ทางช่อง New18 ก็อยากนำมาเล่า เพื่อให้ได้เห็นประโยชน์ของความร่วมมือและเครือข่ายภาคประชาชน ที่สามารถสนับสนุน และทำงานร่วมกับภาครัฐ ให้พี่น้องประชาชน รับมือกับสิ่งเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด

แล้วก็มีเครือข่ายในโซเชียล เช่น เพจ Because We Care เพจแหม่มโพธิ์ดำ และ เพจ Drama-Addict ที่เปิดรับเรื่องร้องเรียน ขอความช่วยเหลือของเด็กเยาวชน สตรี และผู้ถูกกระทำรุนแรง โดยจะมีการสอบถามข้อมูลเบื้องต้น แล้วให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ ครบวงจร และ สามารถส่งต่อไปเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือ ที่ดีที่สุด พร้อมที่สุดได้อย่างทันท่วงที

สามารถลงพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือ อย่างเร่งด่วน ผมก็เห็นว่าเป็นตัวอย่างที่ดีนะครับ เนื่องจากเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ที่รับผิดชอบด้านสังคมโดยตรง อาทิกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับ ภาคประชาชน ในโซเชียล "สร้างสรรค์"

ส่วนที่ไม่สร้างสรรค์ ผิด พรบ. ก็ต้องถูกดำเนินคดีครับ กฎหมายต้องเป็นฎหมาย ระมัดระวังด้วย รวมถึงหน่วยงานจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน และ ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ที่จะเป็นอีกที่พึ่งหนึ่ง ของพี่น้องประชาชน ด้วย ก็ขอสนับสนุน และให้กำลังใจนะครับ ขอให้ทุกฝ่าย ทุกสื่อโซเชียลได้ร่วมมือในการทำงาน เพื่อส่วนรวมด้วยนะครับ

ขอบคุณนะครับ ขอให้ "ทุกคน" มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ วันอังคารที่ 5 มิถุนายนนี้ เป็น "วันสิ่งแวดล้อมโลก"ผมขอเชิญพี่น้องประชาชนประหยัดไฟฟ้า ทิ้งขยะให้เป็นที่ เป็นทาง และแยกประเภทนะครับ รวมทั้งหันมาใช้ถุงผ้า แทนถุงพลาสติก โฟม กล่องโฟมนะครับ โดยกระทำอย่างต่อเนื่อง จนเป็นนิสัย นะครับ

ขอบคุณครับ สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้