รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561

Last updated: 9 ก.พ. 2561  |  2392 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนในกรุงเทพมหานคร จังหวัดใกล้เคียง และคนไทยทุกคน มาร่วมชมงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว ณ พระลานพระราชวังดุสิต และสนามเสือป่า ระหว่างวันที่ 8 ก.พ.-11 มี.ค.2561 ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยราชการในพระองค์จัดงานนี้ขึ้น เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้มีความสุข โดยการสืบสานวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียบประเพณีอันดีงามของชาติ รวมทั้งได้ชมการจัดสวนดอกไม้ และงานศิลปะอันงดงามของไทย โดยพร้อมใจกันแต่งกายให้เข้ากับบรรยากาศย้อนยุคของไทย หรือชุดสุภาพตามสมัครใจ 

ผมอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนพาลูกหลาน ชวนเพื่อนชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยวมาร่วมงานกันเยอะๆ เราจะได้ร่วมกันภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย ที่มีวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์มายาวนาน

พี่น้องประชาชนที่เคารพรักครับ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปประชุม ครม.นอกสถานที่ และได้มีโอกาสพบปะพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จ.ตราด และ จ.จันทบุรี ขอขอบคุณพี่น้องประชาชน ข้าราชการ และทุกภาคส่วนในทั้ง 2 จังหวัด ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นอย่างเป็นกันเอง และร่วมมือเสนอข้อคิดเห็นที่สะท้อนถึงความต้องการพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการที่จะช่วยในการกำหนดนโยบายภาครัฐ สามารถทำได้อย่างตรงจุด ตรงความต้องการ ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีความเติบโตในระดับสูง มีศักยภาพในหลายๆ ด้าน ทั้งการเป็นพื้นที่ศูนย์รวมอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ รวมถึงเป็นที่ตั้งของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต อีกทั้งเป็นแหล่งเกษตรกรรมอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะผลไม้ และมีแหล่่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เช่น พัทยา บางแสน เกาะเสม็ด เกาะช้าง อีกทั้งเป็นศูนย์การค้าชายแดน และมีโครงสร้างการคมนาคมที่เป็นประตูเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจโลกได้สะดวก แต่การเติบโตอย่างรวดเร็วของพื้นที่ในภาคตะวันออกนี้ อาจจะทำให้เกิดปัญหา และความท้าทายต่างๆ ตามมาด้วย ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม ปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ การขาดแคลนแรงงาน ไปจนถึงด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ขยายตัวไม่ทัน ซึ่งผมและตัวแทนคณะรัฐมนตรี ได้ประชุมหารือร่วมกันกับผู้ว่าราชการจังหวัด ตัวแทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกรในภาคตะวันออก รวมทั้งสิ้น 8 จังหวัด โดยได้รับทราบปัญหา และความต้องการของพื้นที่หลักๆ มี 6 ด้านด้วยกันดังนี้

1.ด้านโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องของถนน ได้รับไปศึกษาออกแบบก่อสร้างเส้นทางที่จะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยว เช่น เส้นทางเฉลิมบูรพาชลทิศ อู่ตะเภา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี เส้นทางเลียบชายทะเล จ.ชลบุรี รวมถึงเส้นทางใน จ.ชลบุรี เพื่อจะบรรเทาปัญหาการจราจร และเส้นทางตัดใหม่ใน จ.สระแก้ว เพื่อสนับสนุนการค้าชายแดน

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาโครงข่ายถนน โดยการเพิ่มช่องทางจราจร เพื่อจะสนับสนุนการขนส่งที่เชื่อมโยงกับพื้นที่อีอีซี พื้นที่ท่องเที่ยว และชายแดนให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งคงจะต้องพิจารณาในรายละเอียดและจัดลำดับความสำคัญ โดยคำนึงถึงการเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่อีอีซี และพื้นที่ระหว่างจังหวัดในภาค และระหว่างภาคด้วย รวมทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เราต้องให้ความสำคัญ และประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับต่อไปทั้งปัจจุบัน และอนาคตด้วย 

สำหรับในส่วนของระบบขนส่งสาธารณะ จะต้องมีการศึกษาออกแบบรถไฟทางคู่สายระยอง จันทบุรี ตราด เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง การเปิดเดินรถไฟโดยสารด่วนพิเศษ สปรินเตอร์ สายกรุงเทพฯ–อรัญประเทศ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน ในขณะที่ในเรื่องของระบบไฟฟ้าจะพิจารณาแผนปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าแรงสูงที่มั่นคง มีเสถียรภาพในพื้นที่ จ.นครนายก ต่อไป

2.ทางด้านอุตสาหกรรม การลงทุน การค้า และการค้าชายแดน ได้มีการหารือการยกระดับด่านชายแดนให้เป็นจุดผ่านแดนถาวร ซึ่งรัฐบาลจะนำไปพิจารณาเพิ่มเติม และเร่งรัดเตรียมการ เพื่อเจรจากับต่างประเทศด้วย เพื่อนบ้าน โดยจะต้องคำนึงถึงทั้งเรื่องการพัฒนา ความมั่นคง และผลต่อสิ่งแวดล้อม และมีความคุ้มค่ากับการลงทุนในอนาคตด้วย 

นอกจากนี้ จะมีการให้สนับสนุน จ.จันทบุรี ให้เป็นนครอัญมณี ให้เป็นศูนย์กลางทางการค้าอัญมณี และเครื่องประดับของโลก ทั้งต้นทางในการนำนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพอัญมณี กลางทางคือ การพัฒนานักออกแบบ ช่างเจียระไน และช่างผู้ผลิตให้มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และปลายทางคือ การพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ชุมชนผู้ผลิตเครื่องประดับอัญมณี ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับไปพิจารณาและนำมารายงานความคืบหน้าให้ทราบต่อไป

3.ด้านการเกษตร ก็ได้มีการหารือในเรื่องการสนับสนุนภาคตะวันออกให้เป็นมหานครผลไม้โลก ที่มีคุณภาพปลอดภัยอย่างครบวงจร ในเรื่องนี้ ครม.ได้มีมติอนุมัติในหลักการ โครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะตะวันออกนี่นะครับ จะต้องเชื่อมโยงไปพื้นที่อื่นๆ มาที่ตะวันออกนี้ด้วย เพราะเหมือนกับประตูส่งออกผลไม้ของเรา

ทั้งนี้ ก็เพื่อจะให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตและตลาดจำหน่ายผลไม้เมืองร้อนที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ หอการค้าไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยบูรพา ก็ยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจะผลักดันประเทศไทยให้เป็นมหานครผลไม้ของโลก โดยจะร่วมกันกำหนดมาตรฐานผลไม้ไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งใน และต่างประเทศ และได้มีการอนุมัติแผนยุทธศาสตร์การค้าผลไม้ครบวงจร เพื่อจะสนับสนุนความร่วมมือดังกล่าว

4.ด้านการท่องเที่ยว ก็ได้มีการหารือเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ทั้งในด้านเชิงสุขภาพ ผ่านการใช้แบรนด์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพื่อจัดสร้างศูนย์บริการสปาในจังหวัดภาคตะวันออก และศึกษา ออกแบบ ปรับปรุงและพัฒนาเส้นทางจักรยานในพื้นที่ท่องเที่ยวของจังหวัดชลบุรี

โดยคำนึงถึงรูปแบบการบริหารจัดการให้เกิดความคุ้มค่าและยั่งยืน นอกจากนั้น มีการเสนอให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรเพื่อจะรองรับการท่องเที่ยว และโรงแรมภาคตะวันออก เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน

5.ด้านคุณภาพชีวิต ได้มีการหารือกันในการสนับสนุนด้านสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อจะรองรับความต้องการบริการสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร ทั้งในเรื่องการยกระดับโรงพยาบาลให้รองรับคนไข้ได้เพียงพอ การจัดสรรอัตรากำลังบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข การจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์

รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านอุบัติเหตุฉุกเฉิน และศูนย์การแพทย์ครบวงจร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาจัดลำดับความสำคัญและดำเนินการในพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป

6.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ได้มีการตั้งประเด็นหารือในเรื่องระบบรวบรวม และบำบัดน้ำเสียใน จ.ระยอง การศึกษาการขุดลอกแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อจะแก้ไขปัญหาแม่น้ำตื้นเขิน และศักยภาพการขนส่งพืชผลทางการเกษตรทางน้ำ การป้องกัน และแก้ไขปัญหาช้างป่า นอกพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ของป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การระบายน้ำ ระบบรวบรวม และบำบัดน้ำเสียในเมืองพัทยาอย่างครบวงจร

ประเด็นเหล่านี้ถือเป็นข้อเสนอจากส่วนราชการ และเอกชนในพื้นที่ ประชาชนด้วยที่รัฐบาลจะขอนำไปพิจารณาจัดลำดับความสำคัญเพื่อจะดำเนินการต่อไป เพราะว่าต้องใช้งบประมาณสูง บางอย่างสูงมาก เพราะฉะนั้นเราอาจจะต้องทยอยดำเนินการไป จัดความเร่งด่วนให้ดี ใช้งบประมาณให้เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุด

บางประเด็นนั้นก็ได้มีการหยิบยกขึ้นมาหารือต่อเนื่องในการประชุม ครม. เช่น เรื่องการสนับสนุนเรื่องผลไม้ เพื่อจะให้ไทยเป็นประเทศมหานครผลไม้ครบวงจร

นอกจากประเด็นที่ผมกล่าวถึงข้างต้นแล้วนั้น ครม.ก็ได้มีการพิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ที่สำคัญ เช่น ร่างทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออกในภาพรวม ที่คำนึงถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจและประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญด้วย

สำหรับในเรื่องของพื้นที่ EEC เอง ก็มีความคืบหน้าที่น่าพอใจในปี 2560 เราได้เห็นแผนการลงทุนมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เราวางไว้ในหลายๆ โครงการ ซึ่งก็มีแผนงานชัดเจน เช่น ด้านการซ่อมอากาศยาน การเป็นเมืองการบิน โครงการรถไฟความเร็วสูง และการพัฒนาท่าเรือในพื้นที่เพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำที่จะทำให้มีการหาแหล่งน้ำใหม่ เพื่อจะเพิ่มความจุแหล่งน้ำเดิม และระบบเชื่อมโยงโครงข่ายน้ำ เพื่อจะรองรับกิจกรรมใน EEC ได้อย่างเพียงพอกับความต้องการในระยะยาวด้วยครับ 10-20 ปีด้วย

พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ นอกจากผม และคณะจะได้เข้าไปทำความเข้าใจกับปัญหาและความต้องการของพื้นที่เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาปากท้องและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนแล้ว ผมยังได้มีโอกาสพบกับผู้ประกอบการ และผู้นำชุมชนแบบกลุ่มย่อย

ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้เปิดรับฟังมุมมองต่างๆ อย่างใกล้ชิด ได้พูดจาทำความเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายต่างๆ และก็ชี้แจงในเรื่องของการปฏิบัติด้วย บางอย่างได้กำหนดนโยบายไปแล้ว มันก็ต้องมีวิธีการขับเคลื่อน ทั้งในระดับรัฐบาล ระดับพื้นที่ จะต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน

ผมถือว่าเป็นการดำเนินการด้านปรองดองที่สำคัญ ผมก็ได้เน้นย้ำในเรื่องของการต้องช่วยกันเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ไม่หวาดระแวงกัน ผู้นำท้องถิ่น และนักการเมือง จะต้องเป็นที่พึ่งของประชาชน ต้องช่วยกันทำงาน อยากให้มองประเทศของเราเป็นของพวกเราทุกคน เรามีหลายจังหวัดด้วยกัน ทุกจังหวัดจะต้องพัฒนานำไปสู่วิสัยทัศน์ของเราให้ทั่วถึง และต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำในหน้าที่ อย่ามัวขัดแย้งกัน ขอให้ทุกคนร่วมมือกับเราเพื่อเดินหน้าประเทศต่อไป มองไปข้างหน้า

พ่อแม่พี่น้องประชาชนครับ เราทุกคนคงเคยได้ยินมากมายเกี่ยวกับปัญหาเล็กน้อย ที่ไม่สามารถเข้าถึงการดำเนินการยุติธรรมด้วยตนเอง เราอาจไม่มีความรู้เพียงพอ ห่างไกล ไม่รู้สิทธิ์ ไม่รู้กระบวนการ โดยเฉพาะไม่มีค่าใช้จ่ายในการขึ้นโรงขึ้นศาล การต่อสู้คดี บางรายต้องกู้หนี้ยืมสิน ไม่ว่าจะในระบบ หรือนอกระบบ หลายครอบครัวต้องล้มละลายเพียงแค่ต้องการความเป็นธรรม จากข้อมูลสถิติ ปัจจุบันมีผู้ต้องขังถูกควบคุมตัว ประวัติการพิจารณาคดีมากกว่า 6 หมื่นคน ทั้งที่ตามกฎหมายถือว่า ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา 

ทั้งนี้ แม้ผู้ต้องหาทุกคนจะมีสิทธิ์ได้รับการประกันตัวดังกล่าว เป็นการชั่วคราว เพื่อออกมารวบรวมพยานหลักฐานและพบทนายความ แต่เมื่อไม่มีทุนทรัพย์ จึงไม่ได้ใช้โอกาสนั้น ซึ่งเป็นโจทย์ของกองทุนยุติธรรม ไม่อาจหยิบยื่นความยุติธรรมให้ถึงมือผู้ต้องคดีที่ยากจน จึงเป็นที่มาของนโยบายรัฐบาลนี้ ที่เห็นถึงความสำคัญของการดำเนินการยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำด้านกฎหมาย จัดตั้งกองทุนยุติธรรมให้เป็นนิติบุคคล สำหรับช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ให้ได้รับโอกาสเข้าถึงความเป็นธรรมได้ในกระบวนการในรูปแบบการช่วยเหลือด้านการเงิน เช่น ค่าใช้จ่ายในการปล่อยตัวชั่วคราว ค่าจ้างทนายความ ค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าธรรมเนียมในทุกประเภทคดี และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องโดยไม่จำกัดวงเงิน ยิ่งกว่านั้น สามารถอนุมัติคำร้องนั้นๆ ได้ในจังหวัดตนเอง โดยการรับคำร้องผ่านศูนย์ยุติธรรมชุมชน ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ จังหวัดและยุติธรรมจังหวัด หรือที่สำนักงานกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม โดยรวมคือเป็นเครือข่ายยุติธรรมชุมชน ด้วยการยกระดับกลไกช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของกองทุนยุติธรรมดังกล่าว ของรัฐบาลนี้ เริ่มตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายน 2559 เราสามารถลดความเหลื่อมล้ำให้พี่น้องประชาชน ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาได้ประกันตัว เพื่อออกไปปกป้องตนตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ต้องนอนคุกเหมือนที่ใครเขากล่าวว่า คนจนนอนคุก คนรวยนอนบ้าน

ระยะเวลา 1 ปี 8 เดือน ที่ผ่านมา กองทุนยุติธรรมใช้เงินราว 271 ล้านบ้าน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการช่วยให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว คิดเป็นร้อยละ 90 เทียบกับก่อนที่เราจะมีกฎหมายนี้ 22 ปี ที่ผ่านมารวมกัน ใช้จ่ายเงินได้เพียง 742 ล้านบาท ยังไม่ทั่วถึง 

นอกจากนี้ ในอนาคต ประชาชนผู้มีรายได้น้อย จะต้องสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมได้ง่ายและสะดวกขึ้นผ่านที่บ้านตนเองในช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ผมไม่อยากเห็นคนจนต้องนอนร้องไห้ในคุก ถ้าเขาไม่ได้ทำความผิด ผิดก็อีกเรื่องหนึ่ง หลายคนอาจพูดออกมาว่า คนจนยังไม่ได้อยู่เหมือนเดิม ผมว่าต้องดูที่กระบวนการในการที่จะเข้าถึงในการอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องที่ยากจนจริงๆ ไม่ใช่ให้เฉพาะพรรคพวก เพื่อนฝูง ทำนองนี้ อย่างที่กล่าวอ้างในโซเชียลมีเดียเวลานี้ ทำให้ชัดเจน โปร่งใส ทั่วถึง และเป็นธรรมแล้วกัน ทุกคนทราบดี 

สุดท้ายนี้ ผมมีอีกเรื่องที่น่ายินดี สำหรับพี่น้องประชาชนที่เกี่ยวข้องกับปากท้อง การทำมาหากิน การเข้าถึงแหล่งเงินและโอกาสการประกอบอาชีพของทุกคน โดยเฉพาะระดับฐานรากของเศรษฐกิจ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ในหลักการ ร่างพระราชบัญญัติสถาบันการเงินประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งการปฏิรูปประเทศที่สำคัญ ที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถจัดตั้งสถาบันการเงินเล็กๆ ในชุมชนของตนเองได้ในทุกตำบลทั่วประเทศ โดยกฎหมายฉบับนี้จะส่งผลดีกับพี่้น้องประชาชนมากกว่า 20-30 ล้านคน ทั้งในชนบน และในเมือง โดยเฉพาะผู้ที่เข้าไม่ถึงธนาคารพาณิชย์อาจเพราะไม่มีสาขาแบงก์อยู่ใกล้บ้านในที่ชุมชน จะฝากถอนเงินแต่ละครั้งก็ต้องเดินทาง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายมาก และเสียเวลาไปครึ่งค่อนวัน หรืออาจเป็นเพราะไม่มีเอกสาร ไม่มีประวัติเครดิต ที่สำคัญก็คือไม่มีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน ผลที่ตามมาก็คือ พี่น้องเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในการทำมาหากิน ไม่สามารถเป็นเจ้าของกิจการ และไม่สามารถจะพึ่งพาตัวเองได้สักที ก็เลยต้องหันไปพึ่งแหล่งเงินนอกระบบ โดยขูดรีด เรียกดอกเบี้ยในอัตราที่สูง 20-30 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน สุดท้ายทำให้หลายรายต้องสูญเสียที่ดินอันเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษไปให้แก่นายทุนเงินกู้นอกระบบ รวมทั้งโดนทวงหนี้อย่างไม่เป็นธรรม รัฐบาลนี้ก็ได้ผลักดัน พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ส่วนหนึ่ง โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้จะอำนวยความสะดวกให้ท่านสามารถตั้งสถาบันการเงินเล็กๆ ในชุมชนของท่านได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีพี่เลี้ยง คือธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ คอยสนับสนุนในทุกๆ ด้าน อาทิ การถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้แก่กรรมการและผู้บริหาร การสร้างความโปร่งใส การพัฒนาระบบ เช่น สอนวิธีการลงบัญชีที่ถูกต้อง เป็นต้น และให้คำแนะนำในเรื่องกฎหมายด้วย จะต้องระมัดระวัง อย่าไปทำผิดกฎหมายให้เกิดปัญหาเกิดขึ้นอีก ซึ่งจะทำให้พี่น้องประชาชนสามารถจะออม ถอน โอน กู้เงินได้สะดวก และเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายในพื้นที่ชุมชนของตน และไม่เสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา ทำให้อาจจะสามารถลืมตาอ้าปากและเข้มแข็งได้ในที่สุด นี่คือการแก้ปัญหาทั้งระบบ

สถาบันการเงินเล็กๆ เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนหลายพื้นที่ได้ทำอยู่แล้ว ปัจจุบันทั้งประเทศมีรวมกันเกือบ 30,000 แห่ง ในรูปแบบของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต หรือสถาบันการเงินชุมชน เป็นต้น บางแห่งตั้งมาสิบปี เก็บออมกันได้หนึ่งล้านบ้าง สิบล้านบ้าง ห้าสิบล้านบ้าง บางแห่งประสบความสำเร็จ ขยายไปถึงร้อยล้านก็มี ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนนั้นๆ

ยกตัวอย่างที่ จ.ตราด ผมก็ได้พบกับพระอาจารย์สุบิน ผู้ที่ได้นำพี่น้องประชาชนเก็บออมวันละเล็กวันละน้อยที่ทุกคนช่วยกันเก็บออม เครือข่ายการออมของท่านใน จ.ตราด มีเงินออมถึง 2,700 ล้านบาท วันละ 5 บาท 10 บาท ก็ได้ ยี่สิบบาทก็ได้ แล้วเงินออมก้อนนี้สามารถช่วยปลดหนี้นอกระบบ นี่ผมหมายความถึงทุกคนก็อาจจะเก็บของตัวเองก็ได้ ทุกวันไป ไม่ว่าจะพ่อ แม่ หรือลูกหลาน เด็กก็เก็บได้ เหมือนกับธนาคารในบ้านก็ได้ แล้วไปเก็บในกองทุนชุมชน เช่นนี้ ก็จะสามารถช่วยปลดหนี้นอกระบบ หรือวางอนาคตของตัวเองได้ เป็นทุนในการทำการเกษตร ทำธุรกิจ แล้วนำกำไรมาแบ่งปันจัดสรรเป็นสวัสดิการชุมชนให้กับสมาชิก 

แต่สิ่งที่ทุกคนรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ อยากได้จากรัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ก็ยังทำให้ไม่ได้ ก็คือกฎหมายที่จะมารองรับ สิ่งที่พี่น้องประชาชนทำอยู่ ให้ความเป็นนิติบุคคลเกิดขึ้น เพื่อสถาบันการเงินเหล่านี้จะได้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กฎหมายฉบับนี้ที่รัฐบาลนี้ทำจะผ่านการพิจารณาของ สนช. ภายในปีนี้ และเมื่อผ่านแล้ว เราก็จะเปิดให้กลุ่มการออมของพี่น้องประชาชนสามารถยกระดับเป็นสถาบันการเงินของประชาชนต่อไปด้วยความสมัครใจ ผมขอย้ำว่าโดยสมัครใจนะครับ ไม่มีการบังคับ

นอกจากนี้ เมื่อเข้าสู่วงจร หรือเครือข่ายการเงินการธนาคาร สถาบันการเงินของประเทศแล้ว ก็จะเป็นการเติมเต็ม โดยท่านก็จะได้มีอิสระในการบริหารจัดการ รับเงินฝาก ปล่อยกู้ด้วยกฎเกณฑ์ชุมชนของท่านเช่นเดิม ต้องช่วยกันดูแล ตรงนี้ผมขอย้ำเช่นกันว่า ทุกชุมชน จะยังสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ด้วยตนเอง เพราะทุกพื้นที่มีทักษะที่แตกต่างกัน ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ต่างกัน เราต้องให้ทุกคนสามารถเลือกแนวทางที่เหมาะสมกับตนเอง ทั้งนี้ เมื่อกฎหมายได้ประกาศใช้แล้ว รัฐบาลจะทยอยอนุญาตให้กับชุมชนที่พร้อมและสนใจประมาณตำบลละแห่งไปก่อน หากเป็นตำบลใหญ่ อาจจะมีมากกว่านั้นก็ได้ ซึ่งในระยะยาวจะทำให้เรามีโครงข่ายสถาบันการเงินประชาชนตามกฎหมายนี้อย่างน้อย 7,000 แห่งทั่วไทย ที่เป็นของพี่น้องประชาชน ดำเนินการโดยพี่น้องประชาชน และเพื่อพี่น้องประชาชน ซึ่งจะนำมาซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการระเบิดจากข้างใน นำไปสู่ความพอเพียง พึ่งตนเอง ตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ให้สืบสานต่อยอด และประยุกต์ขยายออกไป

ขอบคุณครับ ขอให้พี่น้องทุกครอบครัวมีความสุขในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ อย่าลืมชวนกันแต่งกายชุดไทย ชุดสุภาพ ไปร่วมงาน "อุ่นไอรัก คลายความหนาว" กันมากๆ นะครับ สวัสดีครับ ขอบคุณครับ


ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้