รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 12 มกราคม 2561

Last updated: 12 ม.ค. 2561  |  3975 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 12 มกราคม 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 12 มกราคม 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

            เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ พ.ศ.2561 นี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้ประทานคติธรรมลงในหนังสือวันเด็ก ของกระทรวงศึกษาธิการ มีใจความสำคัญ กล่าวถึงวิธีการครองตนเป็นคนดี เป็นที่รักของทุกคนวิธีหนึ่ง เรียกว่า "อัตถจริยา" ได้แก่ การบำเพ็ญประโยชน์ การประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น อาทิ การช่วยเหลือ ทำงาน สร้างสรรค์เพื่อสังคม ด้วยความตั้งใจ ด้วยความดีงาม และมีสติปัญญา สำหรับหนังสือวันเด็กแห่งชาติปีนี้ ชื่อ "ฮีโร่ตัวจิ๋ว" มีเนื้อหาภายในเล่ม เป็นการนำเสนอเรื่องราวดี ๆ ของเยาวชนไทย ที่คัดเลือกมาจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ที่ให้ทั้งความสนุกสนาน และจินตนาการ อีกทั้งเป็นตัวอย่างที่ดี สำหรับเด็กไทยให้รู้รักสามัคคี ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการทำความดี และสืบสาน รักษา ต่อยอด สิ่งดีงาม ตามพระราโชวาท ของสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ซึ่งสอดคล้องกับปัจจุบันนิยม ได้แก่ โครงการจิตอาสา " เราทำความดี ด้วยหัวใจ" และในโอกาสเดียวกันนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราโชวาท สำหรับเด็กและเยาวชนความว่า "บ้านเมืองเรามีสิ่งดีงามมากมาย ที่บรรพบุรุษได้สร้างสมไว้ให้เรา เด็กทุกคน ผู้เป็นอนาคตของชาติ จึงมีหน้าที่สืบสาน และรักษาสิ่งดีงามเหล่านั้นไว้ พร้อมทั้ง สร้างเสริม พัฒนา ให้เจริญงอกงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป" ผมขอให้ลูกหลานไทยทุกคนได้น้อมนำคติธรรม และพระราโชวาท ดังที่ได้กล่าวมานั้น ไปปรับใช้ในการดำรงชีวิต และในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข

          ทั้งนี้ เด็กและเยาวชนเป็นกำลังสำคัญ ที่จะพาบ้านเมืองไทยให้รุ่งเรืองสืบไปได้อย่างบริบูรณ์ในภายภาคหน้าก็ด้วยผู้ใหญ่ในวันนี้ ได้ช่วยกันปลูกฝัง และสร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชน เป็นผู้หนักแน่นในคุณธรรม อย่างน้อยที่สุด ขอให้เด็ก ๆ รู้สึกอิ่มเอม และเบิกบานใจทุกครั้ง ที่ได้ทำความดี ได้สร้างคุณประโยชน์แก่ส่วนรวม โดยไม่ย่อท้อต่อความเหน็ดเหนื่อย หรืออุปสรรคใด ๆ และ ขอให้ระลึกอยู่เสมอว่า "พลังแห่งความศรัทธา" จากจุดเล็กๆ จากคนตัวเล็ก ๆ แล้วเมื่อรวมตัวกัน ด้วยพลังความสามัคคีแล้ว ย่อมมีอานุภาพสูง ผมจึงอยากให้ลูกหลานของเราได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ใช้พลังเหล่านั้น เพื่อสังคมและประเทศชาติในทางที่ถูก สำหรับคำขวัญของนายกรัฐมนตรี เนื่องในวันเด็กแห่งชาติปีนี้ คือ "รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี" ซึ่งผมเห็นว่าศักยภาพของเด็กไทย ไม่ได้ย่อหย่อนไปกว่าเด็กชาติไหน ๆ ในโลก ยกตัวอย่าง ตัวแทนนักเรียนอาชีวะของเรา สามารถสร้างชื่อ คว้าแชมป์การแข่งขันแกะสลักหิมะน้ำแข็งนานาชาติ ประจำปี 2561 ที่ประเทศจีน สร้างสถิติรักษาแชมป์สมัยที่ 2 ให้กับทีมตนเอง และสมัยที่ 9 ให้กับประเทศไทยอย่างน่าชื่นชม ทั้ง ๆ ที่บ้านเราก็ไม่มีหิมะตก และอากาศก็ไม่หนาวมาก จนน้ำกลายเป็นน้ำแข็ง แต่เราก็มีพลังความคิดสร้างสรรค์ สามารถจะสะท้อนศิลปะไทย อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ผ่านก้อนน้ำแข็ง โดยให้ชื่อผลงานว่า "อาชา ปักษา มัจฉา วารี" หรือ ม้า นก ปลาและน้ำ อันสะท้อนถึงความเป็นชาติไทย และคนไทยคือความเจริญ ก้าวหน้า ความมีอิสรเสรี ความมั่นคั่งอุดมสมบูรณ์และความสุข

          จากคำขวัญวันเด็กที่มอบให้ผมก็อยากให้เด็กไทยในยุค "ไทยแลนด์ 4.0" ได้รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัลและ สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ของเราเองได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย ถ้าเด็กของเราขาดซึ่งครูที่มากด้วยคุณภาพและศักยภาพ เพราะครู นักเรียนมีความผูกพัน เชื่อมโยงกัน เหมือน "เหตุและผล"  เมื่อเหตุดี ผลก็งดงามตามมาด้วย

          ดังนั้น ผมจึงขอมอบคำขวัญวันครูครั้งที่ 62 ประจำปี 2561 ซึ่งตรงกับวันที่ 16 มกราคม 2561 ว่า "ศิษย์ดี ก็ด้วยครูดี มีศรัทธา" ก็คือ ต่างฝ่ายต่างมีศรัทธาให้แก่กันและกัน ที่สำคัญทั้ง 2 ฝ่ายต้องมีศรัทธาในสิ่งที่ทำ คือความดี และการสร้างคุณประโยชน์ให้กับส่วนรวมและประเทศชาติ  

          ในโอกาสนี้ ผมขอขอบคุณพี่น้องประชาชน และขอขอบใจเยาวชนลูกหลาน จากทั่วประเทศ ที่มีน้ำใจส่ง ส.ค.ส. อวยพรปีใหม่ ถึงนายกรัฐมนตรี ถึง "ลุงตู่"  ซึ่งความปรารถนาเหล่านั้น จะช่วยสร้างกำลังใจให้กับผมในการทำงานเพื่อพวกเราทุกคน เพื่อประเทศชาติ ทำให้ผมรู้สึกว่า "เรามีความใกล้ชิดกัน" สัมผัสกันได้ และ "เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ก็ขอให้พรอันประเสริฐเหล่านั้น ส่งผลเกื้อหนุนให้ทุกคนและครอบครัวมีความสุข ความเจริญ ด้วยเช่นกัน
 
          สำหรับ "งานวันเด็กแห่งชาติ" วันพรุ่งนี้ ณ ทำเนียบรัฐบาล ภายใต้ชื่องาน "เด็กไทย ก้าวไกลด้วยเทคโนโลยี" ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมของกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ที่นำมาแสดงภายในบริเวณงาน และ เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เป็นประจำทุกปีสำหรับการจัดงานของหน่วยงานราชการบริเวณใกล้เคียงก็มีกระทรวงศึกษาธิการ ฝั่งตรงข้ามถนนราชดำเนิน สวนสัตว์ดุสิตที่เปิดให้เที่ยวชมฟรี หรือศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดให้มี "Fin for Fun Camping" ก็น่าจะเป็นอีกประสบการณ์ที่น่าสนใจ ทำให้เข้าใจเรื่องการวางแผนการเงิน และวินัยการออม เป็นเรื่องเข้าใจง่าย ปฏิบัติได้จริง ผ่านเกมสนุก ๆ สำหรับเด็ก ๆ ที่เหมาะสมกับวัย ที่มีคำว่า Fin นั้น ง่าย ๆ ก็คือเกี่ยวกับเรื่องการเงิน เพราะฉะนั้นก็อยากให้ทุกคนได้เรียนรู้
 
พี่น้องประชาชนที่รัก ทุกท่านครับ
 
          วันเด็กปีนี้ รัฐบาลไม่เพียงแต่มีคำขวัญ หรือการจัดงานตามปกติเท่านั้น แต่ได้เตรียมของขวัญสำหรับเด็กและสังคมไทย เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้จัดการให้มี "สถานีวิทยุเด็กและครอบครัว" เป็นช่องทางเฉพาะ ที่มีรายการหลากหลาย เพื่อเยาวชน ทุกช่วงวัยและครอบครัว ปัจจุบันประเทศของเราเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" (หรือ Aging society) เต็มรูปแบบ ในอนาคตอันใกล้ ในขณะที่อัตราการเกิดในบ้านเราน้อยลง คือ เด็กเกิดน้อยลง ในจำนวนที่ลดลงนี้ กลับมีอัตราการเกิด และการท้องที่ไม่พร้อมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก อีกทั้งคนรุ่นใหม่ แม้มีความพร้อมทางเศรษฐกิจ แต่อาจจะไม่ประสงค์จะมีลูก หรือไม่อยากจะแต่งงาน เพราะฉะนั้น บ้านเราจึงจะมีปัญหาซ้ำเติม 2 ชั้น คือนอกจากเด็กจะเกิดน้อยแล้ว ยังมีความเสี่ยง ที่เด็กเกิดมาน้อยนั้น ด้อยคุณภาพ อาจจะส่งผลต่อ "แรงงาน" ของชาติในอนาคตด้วย

          รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ด้วยเด็ก ๆ คือ อนาคตของชาติ จะทำอย่างไร ให้เด็กที่เกิดมาแม้จะน้อยลง แต่มากด้วยคุณภาพ เพราะพวกเขาต้องเติบโต กลายมาเป็นกำลังหลักในยุคต่อไป ยิ่งยุคนี้เป็นยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัล เต็มบ้านเต็มเมือง เรายิ่งต้องตระหนัก และช่วยกันดูแลลูกหลานของเราให้รู้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตามที่ผมได้กล่าวไว้ ในคำขวัญวันเด็กแล้ว เพราะต้องการจะเน้นให้เด็ก ๆ โดยเฉพาะ ตั้งแต่เด็กเล็ก ให้รู้เท่าทัน และใช้เทคโนโลยี อย่างสร้างสรรค์  เด็กบางคนที่ติดเกม ต้องเป็นการเล่นเกมที่เกิดประโยชน์ หรือฝึกทักษะ แบบนี้สามารถส่งเสริมให้ถูกทางได้ แต่หากเป็นการถูกเกมมอมเมาแล้ว พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ต้องช่วยกัน ป้องกันแก้ไขสังคม และสื่อมวลชน ก็ต้องช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกัน ให้กับลูกหลานไทยด้วย

          เรื่องนี้สำคัญมากโดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติถึงความสำคัญกับเด็กเล็กไว้เป็นครั้งแรก โดยในมาตรา 54 วรรคสอง ว่า "...
รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็ก ได้รับการดูแล และพัฒนา ก่อนเข้ารับการศึกษาเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และ สติปัญญาให้สมกับวัย..." อีกทั้งยังเขียนสำทับไว้ ใน "หมวดปฏิรูป" อีกต่างหาก รัฐบาลจึงจะให้ของขวัญวันเด็ก แก่เด็กและครอบครัว ด้วยการมอบ "ความรู้" ที่ถูกต้อง เหมาะสม กับพัฒนาการเด็ก "ทุกช่วงวัย" ด้วยการนำร่องทำสถานีวิทยุเด็กและครอบครัว โดยเฉพาะ ไม่มีรายการอื่นปะปน ผมได้มอบนโยบายให้กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งศึกษา หาแนวทางการดำเนินการมาเสนอ โดยให้เริ่มออกอากาศในทันที่ที่พร้อม ถึงจะออกอากาศไม่ทันในวันเด็กนี้ แต่คาดว่าจะทันใน "วันครอบครัว" เดือนเมษายนปีนี้ แน่นอน

สิ่งที่ผมต้องให้นโยบายเป็นพิเศษ เพราะรู้ดีว่ารายการทางสื่อนั้น ที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะรายการเด็ก ไม่อาจเปรียบเทียบได้กับ "ความสำเร็จทางธุรกิจ" ที่วัดกันด้วยผลประโยชน์และกำไร "ที่เป็นเงินตรา" จึงมุ่งเน้นนำเสนอรายการบันเทิงเริงรมณ์  ซึ่งก็ไม่ได้เสียหาย เพียงแต่ว่าเราต้องมีทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไปด้วย

          เพราะฉะนั้นวันนี้ ในทางธุรกิจนั้นอาจจะแข่งขันกันไม่ได้ หรือไม่มีรายได้ที่มีผลต่อการประกอบการ เพราะฉะนั้นการที่จะผลิตสื่อสำหรับเด็กและครอบครัวนั้น เป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งวัดความสำเร็จ ด้วย "คุณภาพชีวิต และศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ของชาติ" ที่ไม่อาจสะท้อนได้จากเพียง GDP เท่านั้น เราต้องคำนึงถึง "ความสุข" ของคนในชาติเป็นสำคัญ  ดังนั้น รัฐบาลนี้จึงต้องเข้ามาสนับสนุน และให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเอง ในส่วนที่เอกชนไม่ลงทุน เช่นเดียวกับ โครงการ "เน็ตประชารัฐ" ถึงทุกหมู่บ้าน ทั่วประเทศ สิ่งที่กล่าวมานี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา และการปฏิรูปสื่อมวลชน และระบบดิจิตอล เทคโนโลยีด้วย
 
พี่น้องประชาชนที่รักครับ
 
          ในด้านการบังคับใช้กฎหมาย และการดำเนินการด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ทำให้สังคมน่าอยู่ เป็นที่ยอมรับของสากล และนานาประเทศ เป็นอีกงานหนึ่ง ที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด มีผลการดำเนินงาน ตามภารกิจด้านกระบวนการยุติธรรมนี้ ประกอบด้วย นโยบายหลัก 6 ประการ

          1. การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่ผ่านมานั้น นับว่ามีสถานการณ์น่าเป็นห่วง เห็นได้จากสถิติ "ผู้ต้องขังคดียาเสพติด"
ทั่วประเทศ มากถึงร้อยละ 72 ของผู้ต้องขังทั้งหมด รัฐบาลนี้ จึงต้องเร่งดำเนินการและใช้มาตรการที่เข้มงวด โดยใน 9 เดือนแรกของปี 2560 สามารถจับกุม และดำเนินคดีผู้ต้องหา ในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ได้ถึง 2 แสนกว่าราย ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขที่เราภาคภูมิใจ แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความหนักหน่วงของปัญหา ที่จะส่งผลต่อคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ ในการขับเคลื่อนประเทศของเราในอนาคต รวมความวันนี้ด้วย

          รัฐบาลนี้ และ คสช. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ทั้งการป้องกันที่ "ต้นเหตุ" และ การปราบปรามเพื่อ "ระงับเหตุ" กล่าวคือ ในการป้องกันปัญหา สร้างภูมิคุ้มกันแต่เนิ่น ในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยมีการใช้สื่อการสอน ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ให้เห็นโทษของยาเสพติด เสริมสร้างทักษะชีวิต และจัดให้มีนักเรียนแกนนำสำหรับดำเนินกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้ลูกหลานของเราห่างไกลยาเสพติด สำหรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจผ่านโครงการโรงงานสีขาว และการป้องกันยาเสพติดในหมู่บ้านและชุมชน ผ่านกลไกประชารัฐ กองทุนแม่ของแผ่นดิน

          ในส่วนของ "การปราบปราม" ยาเสพติดนั้น เราได้กระชับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อปฏิบัติการเชิงรุก ณ แหล่งผลิตสกัดกั้นเส้นทางขนย้ายเข้าสู่ชายแดนไทย ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร  ข่าวกรอง เพื่อร่วมกันปราบปราม ทำลายขบวนการค้ายาทั้งภายนอกและภายในประเทศ ที่สำคัญอีกด้าน คือ "โครงการช่วยฟื้นฟูผู้ติดยา เพื่อคืนคนดีสู่สังคม" ให้สามารถกลับมาเป็นคนที่มีคุณภาพประกอบสัมมาอาชีพ เพื่อเลี้ยงปากท้องของตนเองและครอบครัวได้ต่อไป สิ่งที่รัฐบาลทำได้ คือการสร้างบรรยากาศปลอดภัยจากยาเสพติดนอกรั้วบ้านส่วนในทุกหลังคาเรือนนั้น ความอบอุ่นในครอบครัวจะเป็นเกราะป้องกันลูกหลานของเรา ให้รอดพ้นสิ่งเสพติด และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ทั้งผู้ที่เคยผิดพลาดในอดีต และผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ในวัยคึกคะนอง

          2. การสร้างความปลอดภัยและสงบสุขในสังคม พบว่าในปี 2560 ที่ผ่านมา มีการรับแจ้งคดีอาญา “ลดลง” จากปี 2559 ร้อยละ 10  โดยฝ่ายความมั่นคงได้เน้นการป้องกันที่ต้นเหตุ อาทิ การสร้างภูมิคุ้มกันในกลุ่มเด็กและเยาวชนไม่ให้กระทำผิดทางอาญา ไม่มั่วสุมแข่งรถ
ไม่รวมกลุ่มตีกัน รวมถึงสนับสนุนสถานศึกษา ทำงานร่วมกับเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยร่วมกันป้องกันการทำผิดของเยาวชน การแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูผู้กระทำผิดร่วมกันอย่างยั่งยืน ด้วยการให้ฝึกอาชีพ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน  เช่น “โครงการประชารัฐพัฒนาผู้ต้องขังสู่ภาคอุตสาหกรรม” รวมทั้งการติดตาม ช่วยเหลือให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง เหล่านี้นอกจากจะสามารถช่วยลดการกระทำผิดซ้ำแล้ว ยังเป็นการเพิ่ม “พลเมืองดี” ให้บ้านเมืองด้วยช่วยให้โอกาสกัน ช่วยกันดูแล ช่วยกันให้โอกาสคนเหล่านี้ไว้ด้วย

          3. การยกระดับการอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำโดยในปี 2559 ไทยมีดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law index) อยู่ในลำดับที่ 46 จาก 113 ประเทศ โดยแม้ว่าเราจะมีคะแนนสูงสุดในด้านความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัย แต่ยังคงต้องปรับปรุงในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมด้านประสิทธิภาพของระบบและกลไกการดำเนินการ โดยเฉพาะด้านคดีอาญา ที่ผลการประเมินอยู่ที่ลำดับที่ 11 จาก 15 ประเทศในภูมิภาค ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เดินหน้าลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำให้ได้ในทุกขั้นตอน อีกทั้งยังสนับสนุนและผลักดันให้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558

          มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นโจทก์ หรือจำเลย ก็จะมีทุนรอนในการดำเนินคดีต่าง ๆ เช่น มีเงินประกันตัว เพื่อกลับมาดูแลครอบครัว มีเงินจ้างทนายไว้ปรึกษาเรื่องคดีความ รวมถึงหาหลักฐานอื่น ๆ เพื่อพิสูจน์ความจริงของตัวเองในชั้นศาล โดยในปี 2560 มีผู้ได้รับการอนุมัติให้ใช้เงินทุนจากกองทุนยุติธรรม จำนวน 2,500 กว่าราย  นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ การช่วยประชาชนในการจ่ายค่าทดแทนและ ค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา เกือบ 12,000  ราย รวมทั้งมีการจัดตั้งคลินิกยุติธรรม ปัจจุบันมีอยู่ที่ 86 แห่งทั่วประเทศ และให้ความช่วยเหลือประชาชนไปแล้ว ราว 44,000 ราย ด้วยนะครับ ที่เกิดเมื่อปีพ.ศ. 2558 เป็นต้นมา

          4. การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ให้ทันสมัย สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคมและความต้องการของประชาชน รวมถึง การพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และ การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ การวิจัยนวัตกรรม เพื่อให้บริการแก่ประชาชน และยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน อาทิ การพัฒนาศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูล การทำ Big Data และ การเพิ่มระบบการเยี่ยมผู้ต้องขังด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์

          5. การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมด้านความมั่นคง โดยเฉพาะปัญหาการค้ามนุษย์ ที่ไทยถูกจัดให้อยู่ในระดับกลุ่มที่ 2 ในบัญชีรายชื่อประเทศที่ "ต้องจับตามอง" ของสหรัฐฯ หมายถึง เราถูกประเมินว่าไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของการจัดการค้ามนุษย์ให้ครบถ้วน ซึ่งผมให้ความสำคัญเร่งด่วนมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดให้เป็น "วาระแห่งชาติ" และมีแผนแม่บทในการดำเนินงานอย่างชัดเจน โดยจะต้องมีการพัฒนาข้อมูลให้ดีขึ้น มีการเอาจริงเอาจังกับการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในขบวนการค้ามนุษย์ มีการสร้างกลไกการแจ้งเหตุ รวมทั้ง มีการคุ้มครองและช่วยเหลือผู้เสียหายอย่างเป็นระบบ ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการจ้างงานแรงงานต่างด้าว รวมถึงความร่วมมือกับภาคเครือข่าย ในการป้องกันปัญหาในระยะต่อไปด้วย อีกปัญหาก็คือเรื่องหนี้นอกระบบที่ผมได้เอ่ยถึงอยู่บ่อย ๆ เพราะถือเป็นภาระของพี่น้องประชาชนที่ยังแก้ไขได้ยาก พี่น้องผู้มีรายได้น้อยต้องประสบปัญหารายได้ ที่ต่ำอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ ก็ต้องถูกนำมาใช้หนี้ จนอาจทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงทางสังคมซึ่งภาครัฐ ก็ได้มีมาตรการระยะสั้น ในการไกล่เกลี่ย ประนอมหนี้ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ และในระยะยาว ก็ต้องเร่งสร้างรายได้กับพยายามออมอย่างมีวินัยด้วยต้องช่วยกัน

          6. การเสริมสร้างความปรองดองสมาน ฉันท์เพื่อจัดการกับความขัดแย้งด้วยการจัดตั้ง ศูนย์ประสานงานข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง และมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในการสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เสริมสร้างให้สังคมไทยเป็น "สังคมที่เคารพกติกา" และปลูกฝัง "สันติวัฒนธรรม" หรือ วัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันตินะครับ ตั้งแต่ระดับชุมชน จนถึงระดับชาติ แล้วก็ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความสมานฉันท์และสันติวิธีแห่งชาติขึ้น โดยสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจประเด็นต่าง ๆ ด้วยเหตุผล การรับฟัง สังคมเข้มแข็ง มีกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสบนพื้นฐานของความไว้วางใจ และปลูกฝังให้ประชาชนมีคุณธรรมจริยธรรมภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกิดความสงบสุข การอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่น ไว้เนื้อเชื่อใจกัน  ผมมองว่าสิ่งเหล่านี้ จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ของการพัฒนาประเทศ หรือปฏิรูปประเทศต่อไปในทุก ๆ ด้าน

          ทั้งนี้ ใน "ก้าวต่อไปของประเทศไทย" นั้น นอกจากการปรับปรุง และพัฒนา งานด้านยุติธรรมของประเทศอย่างต่อเนื่องให้ได้ผลเป็นรูปธรรมแล้ว  รัฐบาลได้น้อมนำพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เคยทรงให้สติ ย้ำเตือนความรับผิดชอบของรัฐบาลและ ข้าราชการทุกคน ดังนี้  "...หลักที่ว่าทุกคนต้องทราบถึงกฎหมาย และต้องทำตามกฎหมายนั้นรู้สึกว่าบางครั้ง ก็ใช้ไม่ได้ .... เพราะว่ากฎหมายไม่ถึงประชาชน ต้องนึกบ้างว่า เป็นความผิดทางราชการ ที่ไม่สามารถจะนำกฎหมาย ไปให้ถึงประชาชน..."

          ดังนั้น ผมขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน ที่มีกฎหมายในความรับผิดชอบของตน ในการบังคับใช้ เราจะต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องกฎหมายนั้น ๆ แบบเชิงรุก ล่วงหน้า เพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้องไร้ข้อสงสัย  อีกทั้งให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้สิทธิพื้นฐาน คำปรึกษา และการให้บริการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม ซึ่งกฎหมายสำคัญ อันเป็น "วาระของชาติ" สำหรับปีใหม่นี้ นอกจากเรื่องการเลือกตั้งแล้ว ยังมีเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ และปฏิรูปประเทศ ผมอยากให้ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน ได้ให้ความสนใจนะครับ ภาครัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องพร้อมประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ อย่างทั่วถึง ภาคประชาชนเอง ก็ต้องตระหนักนะครับ และขวนขวายด้วยเช่นกัน เพราะนี่จะเป็น "จุดเปลี่ยนประเทศไทย" ที่พวกเราทุกคนรอคอยมาตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ สำคัญต่ออนาคตของบ้านเมือง โดยเฉพาะลูกหลาน ในวันข้างหน้า  เยาวชน นักศึกษา ก็ไม่เร็วเกินไปนะครับ ที่จะให้ความสนใจ และเข้ามามีส่วนร่วม เพราะอนาคตของชาติ คือ "ชีวิตของท่าน ในวันข้างหน้า"

          สุดท้ายนี้ ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ในวันพรุ่งนี้ ผมคิดว่าเราจะต้องมีการเตรียมตัวก็คือ เตรียมคนไทย เตรียมประเทศไทย เพื่อจะรองรับการเปลี่ยน แปลงสู่โลกาภิวัฒน์ ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล และบริบททางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมของโลก ซึ่งนับเป็นความท้าทายของเราทุกคน และ "ทุกรัฐบาล" นับตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป สิ่งสำคัญ หากเราไม่สามารถแก้ไข ปรับปรุง พัฒนาตนเอง โดย "คิดใหม่ มีวิสัยทัศน์ก้าวหน้า ก้าวไกล" อย่างมีทิศทาง เป้าหมายชัดเจน เพื่ออนาคตแล้ว อาจเกิดปัญหาที่แก้ไขไม่ทันการณ์ก็ได้

          ดังนั้น ผมในนามของนายกรัฐมนตรี คสช. อยากเชิญชวนเด็ก เยาวชน นิสิต นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ได้ออกมาช่วยกันกำหนดอนาคตของประเทศชาติ ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมกับ การปฏิรูปประเทศในทุกด้าน อย่างต่อเนื่อง  ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด สำหรับบ้านเมืองของเราในวันนี้ และในวันข้างหน้า เพราะฉะนั้นเราที่เป็น  "คนไทยทุกคน" ต้องร่วมมือ ร่วมใจกันในการที่จะขับเคลื่อนประเทศของเราต่อไป

          สำหรับสัปดาห์หน้า วันที่ 17 มกราคม นี้ผมมีกำหนดการลงพื้นที่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจังหวัดที่รัฐบาลให้ความสนใจเป็นพิเศษอีกจังหวัดหนึ่ง เนื่องจากลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ และสภาพปัญหามีความแตกต่าง จากจังหวัดอื่น ๆ ของไทย รายละเอียดและผลการพบปะพี่น้องประชาชน รวมถึงการแก้ปัญหาต่าง ๆ นั้น ผมจะนำมาเล่าให้ฟัง ในวันศุกร์หน้า

          ขอบคุณ สำหรับในวันเด็กนี้ ก็มีการแสดง มีการสาธิตต่าง ๆ มากมาย ขอให้ทุกคนปลอดภัยทั้ง ผู้ที่มาเที่ยวงาน ทั้งผู้ที่สาธิต การฝึก หรือการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางเรือ ทางอากาศ ขอให้ทุกคนปลอดภัย อย่าให้มีอันตราย อย่าให้มีอุบัติเหตุอะไรเกิดขึ้น ระมัดระวังด้วย ทุกอย่างย่อมมีความเสี่ยง ขอให้ทุกคนปลอดภัย และขอให้ "เด็กไทยทุกคน และทุกครอบครัว" มีความสุข

          อีกประการหนึ่งคือ การที่ผมออกมาพูดวันศุกร์ ผมพูดมา 3 ปีกว่าแล้ว หลายคนอาจจะไม่ได้ติดตาม หรือติดตามน้อย หรือติดตามแล้วอาจไม่เข้าใจ ผมคิดว่าบางครั้งผมอาจใช้คำพูดที่ยากเกินไปหรือมีเรื่องมากเกินไป บางคนก็รู้สึกเบื่อ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมพูดวันนี้ใครที่สนใจและอาจจะไม่ได้ฟังผมในการพูดในวันศุกร์ในเวลาเหล่านี้ ถ้าสนใจก็สามารถเปิดดูได้ในเวปไซต์ของรัฐบาล ซึ่งออกหลังจากรายการออกอากาศไปแล้วทุกครั้ง อีกประการหนึ่งก็ในสื่อ ผมเห็นมีสื่อหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ซึ่งจะสรุปคำพูดของผมทั้งหมด ทุกคำพูดของผม ในหนังสือพิมพ์ฉบับเช้าวันเสาร์ ใครที่สนใจขอให้ติดตามได้ จะมีทุกคำพูด ไม่ใช่ตัดตอนมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเดียว

          ผมอยากให้ทุกคนได้ฟังรายละเอียดทั้งหมดว่า ที่ผมพูดมามีความมุ่งหมายอะไร มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร ทำเพื่อใคร ผมไม่อาจจะอ้างว่ามาทำประโยชน์ แล้วทุกคนต้องรักผม ไม่ใช่ ผมอยากให้ทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน เข้าใจถึงความมุ่งมั่น ความปรารถนาดีที่เรามีต่อกัน ถ้าหากว่ามีอะไรที่ยังมีปัญหาอะไรก็ขอให้ติดต่อสอบถามมาทางทำเนียบรัฐบาลได้ มีคำแนะนำอะไรต่าง ๆ ก็ตาม มีคำแนะนำที่เป็นประโยชน์มากมาย ในการมาตอบคำถามผมด้วย 4 ข้อ 6 ข้อ ก็ยังมีการตอบอยู่ ในขณะนี้ หลายอย่างผมก็นำมาปรับใช้ 

          ขอขอบคุณทุกคน ที่แนะนำมาและติดตาม ขอบคุณอีกครั้งสำหรับผู้ที่ส่งบัตรอวยให้กับผมในช่วงปีใหม่และในช่วงวันเด็ก ขอบคุณ
ทุกคน
          ขอให้ทุกคนมีความสุขในช่วงวันเด็กแห่งชาติและวันหยุดสุดสัปดาห์ ปลอดภัยทุกคน สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้