รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 5 มกราคม 2561

Last updated: 5 ม.ค. 2561  |  4158 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 5 มกราคม 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 5 มกราคม 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
 

เนื่องในวารดิถี ขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2561 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพรปีใหม่ แก่พสกนิกรชาวไทยทุกคน โดยทรงพระราชทานพรและความปรารถนาดี ให้ปวงชนชาวไทยมีกำลังกาย กำลังใจ และสติปัญญาที่แจ่มใส แข็งแรง มีความสุขความเจริญอันเป็นมงคลยิ่งๆ ขึ้นไป ?อีกทั้ง ทรงขอพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง ให้ปกป้องคุ้มครองรักษาและให้พวกเราทุกคนมีขวัญกำลังใจในการที่จะเป็นพลังที่เข้มแข็งต่อประเทศและชาติบ้านเมืองสืบต่อไป

นอกจากนี้ ทรงมีพระราชดำรัสว่าในรอบปีที่ผ่านมาบ้านเมืองของเราได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายอย่าง ซึ่งเราทั้งหลายก็คงจะตระหนักดี โดยทรงพระราชทานสติ ไม่ว่าเหตุการณ์ใดๆ จะเกิดขึ้น ก็ขอให้เราคนไทยสามารถฝ่าฟันไปด้วยกันได้อย่างดี ด้วยมีขันติ ใจเย็นค่อยคิดค่อยทำไปอย่างต่อเนื่อง มุ่งมั่นด้วยสติและเหตุผลอันพอเหมาะพอควร เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา พี่น้องประชาชนได้เดินทางสัญจรกลับภูมิลำเนา และใช้ชีวิตกับครอบครัวอย่างมีความสุข รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่มาเยือนบ้านเมืองของเรามีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ด้วยการทำงานที่ทุ่มเทและความเสียสละของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร อาสาสมัคร มูลนิธิ และจิตอาสาต่างๆ ผมขอชื่นชมและขอขอบคุณทุกคน ที่ร่วมกันทำความดีเพื่อส่วนรวม ในการอำนวยความสะดวกให้พี่น้องของเราเดินทางไป-กลับถึงบ้าน โดยสวัสดิภาพมา ณ โอกาสนี้ด้วย

อีกเรื่องที่น่าชื่นชม คือกิจกรรม “สวดมนต์ข้ามปี” ที่เราจัดต่อเนื่องมาทุกปี ปีนี้มีพี่น้อง “สาธุชน” เข้าร่วมกิจกรรมมากถึง 20 ล้านคน จากทุกศาสนา หรือราว “1 ใน 3” ของประชากรทั้งประเทศ ผมถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี เมื่อคนไทยใฝ่ธรรมะ โดยไม่เพียงแต่การท่องบทสวดมนต์ แต่ต้องนำหลักธรรมไปปฏิบัติในการครองชีวิตประจำวันด้วย ย่อมช่วยยกระดับจิตใจทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างความเจริญให้กับบ้านเมืองในที่สุด “ทุกๆ ปีใหม่” ผมก็อยากให้เกิดสิ่งดีๆ เหล่านี้ กับพวกเราทุกคน และมอบความปรารถนาให้แก่กัน โดยสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าคำอวยพรก็คือการ “คิดดี พูดดี ทำดี” ที่มีให้กัน นอกจากนี้ผมขอให้ทุกคนได้มองย้อนไปในอดีต ได้แก้ไขข้อบกพร่องไม่ให้เกิดซ้ำ พัฒนาสิ่งเหล่านั้นให้ดีขึ้น พร้อมทั้งสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ทั้งนี้ทุกคนย่อมต้องการการพัฒนาทั้งทางร่างกายและจิตใจควบคู่กันไปอย่างสมดุล ชีวิตจึงจะมีความสุข ประเทศชาติ ก็ต้องมีการพัฒนาทั้งทางวัตถุและทางความรู้สึกนึกคิด ซึ่งจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดไป


พี่น้องประชาชนที่รัก ทุกท่านครับ

ปัญหาหนี้สิน ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่เป็นภาระของผู้มีรายได้น้อย ที่ฉุดรั้งการพัฒนาคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยหนี้ครัวเรือนของประเทศเรา อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ก็คือภาระหนี้ของประชาชน คิดเป็นเกือบร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายสาธารณะ ที่ไม่ได้มุ่ง หรือส่งเสริมการออมอย่างจริงจัง และมีลักษณะเป็นบริโภคนิยมในอดีตที่ผ่านมานะครับ ปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่บ้าง เป็นอยู่ แม้ 3 ปีที่ผ่านมานี้ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนจะลดลงบ้าง แต่ก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า เนื่องด้วยเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอเป็นเวลานาน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยก็อาจยังกระจายไม่ทั่วถึง ทำให้พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ยังต้องพึ่งพาการกู้ยืมสำหรับใช้จ่ายเป็นค่าครองชีพ ก็ทำให้ไม่สามารถจะหลุดพ้นจาก “วงจรหนี้” ได้เสียที รัฐบาลนี้มีมาตรการหลายอย่าง ทั้งการปรับโครงสร้าง การพักชำระหนี้ของพี่น้องเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ รวมทั้ง “คลินิกแก้หนี้” และให้ความรู้ด้านการเงิน เพื่อสร้างความเข้มแข็ง กับผู้ที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงิน และหนี้นอกระบบ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ แต่ทั้งหมดนี้ ก็คงเป็นเพียง “มาตรการเยียวยา” ระยะสั้น ที่ช่วยบรรเทาภาระให้บางส่วนเท่านั้น มีสาเหตุหลายอย่าง หลายประการ มีหนี้บัตรเครดิต หนี้อะไรอีกมากมาย ทั้งความจำเป็นบ้าง ไม่จำเป็นบ้าง บริโภคนิยมบ้าง อะไรเหล่านี้

เราจะต้องแก้ปัญหาหนี้เหล่านี้ให้ได้อย่างยั่งยืน ในระยะยาวนั้น ผมคิดว่านอกจากในเรื่องของการเพิ่มรายได้ ที่รัฐบาลได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือในหลายด้านแล้ว เราก็ต้องอาศัยการปรับตัว ของพี่น้องประชาชนในเรื่องการเพิ่มวินัยการเงินและการเก็บออมให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการออมก็มีหลายวัตถุประสงค์ ทั้งออมเพื่อมีเงินเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ออมแบบมีเป้าหมาย เช่น ออมเพื่อซื้อสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งที่เราต้องการ และออมระยะยาว ผมก็เห็นตัวอย่าง มีเด็กเล็กคนหนึ่งเก็บเงินไว้สำหรับซื้อโทรศัพท์ ผมเห็นในสื่อ แล้วก็เพื่อมีเงินใช้จ่ายหลังจากที่เราเกษียณไปแล้ว นี่ก็สำหรับข้าราชการ หรือกรณีมีบำเหน็จ บำนาญ

ทั้งนี้ “การออม” ก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่เราต้องใส่ใจ และปลูกฝังเยาวชนไทยในวันนี้ เราก็ไม่มีใครรู้ว่าพรุ่งนี้เราจะยังมีงานทำหรือไม่ มีรายได้ มีเรี่ยวแรงในการทำมาหาเลี้ยงชีพหรือไม่ หรือต่อไปเมื่อเราเกษียณอายุไปแล้วไม่มีรายได้ หากไม่มีเงินออมไว้ในอดีต ที่เพียงพอเลี้ยงตัวเองได้แล้วจะทำอย่างไร หลายคนก็บอกว่า เงินจะใช้ยังไม่พอ จะออมได้อย่างไร ถ้าคิดแบบนี้ไม่มีทางแก้อะไรได้ ยิ่งหากใครไม่มีลูกหลาน ไม่มีใครให้พึ่งพา ก็จะเป็น “ทางตัน” ในชีวิตบั้นปลาย ผมก็ต้องเตือนกันวันนี้ เราคงจะต้องคิดเสียตั้งแต่วันนี้

ปัจจุบันนั้น ประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 10 ล้านคน คิดเป็น “1 ใน 6” ของประชากรทั้งประเทศ และในวันนี้ ผู้มีอายุ 35 - 60 ปี ซึ่งเป็น “วัยแรงงาน” ก็กำลังเข้าสู่ “วัยชรา” ในอนาคตอันใกล้ โดยสัดส่วน “วัยแรงงาน กับ วัยชรา” จะเปลี่ยนไปอย่างน่ากังวล จากปัจจุบันประชากรวัยแรงงาน 4 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน แต่ในอีก 25 ปีข้างหน้า จะเหลือประชากรวัยแรงงานเพียง 2 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน พูดง่ายๆ ก็คือภาพรวมของประเทศ วัยแรงงานจะต้องแบกภาระ เพิ่มขึ้น 2 เท่า โดยจะต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อรักษาระดับการผลิต ไม่ลดลงจากเดิม รวมทั้งยังคงต้องพัฒนาประเทศ ขับเคลื่อนประเทศ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่ไม่ย่อหย่อน หรือทัดเทียมนานาอารยประเทศ ภายใต้บริบทของโลก ที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันสูง รัฐบาลต้องเตรียมการเพื่อสิ่งนี้ ก็อยากให้ทุกคน ต้องเตรียมตัวเองเช่นกัน นับเป็นความมั่นคงอีกรูปแบบหนึ่ง ที่รัฐบาลนี้ตระหนักดี และขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกคน หลายคนอาจจะยังไม่คิดในเรื่องนี้ ปัจจุบันเราต้องคิดให้ไกลขึ้น ให้ไกลจากตัวเอง ไกลไปวันข้างหน้าด้วย อย่าคิดวันนี้ พรุ่งนี้เท่านั้น ไม่เพียงพอกับโลกในอนาคต

เราสามารถออมเพื่อมีเงินใช้จ่ายหลังเกษียณได้ ไม่ว่าท่านจะประกอบอาชีพอะไร โดยจะมีเงินจากรัฐบาลหรือนายจ้างมาช่วยสมทบเงินออมของท่านด้วย อาทิหากท่านเป็นข้าราชการ ก็มีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หากเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ก็มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากท่านเป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชน ก็มีกองทุนประกันสังคม หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือต่อให้ท่านผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น เกษตรกร พ่อค้าแม่ค้า คนขับแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือผู้รับจ้างทั่วไป หรือประกอบอาชีพอื่นๆ รวมถึงนิสิตนักศึกษา นักเรียน ที่ไม่มีนายจ้างมาช่วยสมทบ รัฐบาลนี้ก็มีช่องทางในการออม เพื่อให้คนไทยทุกกลุ่มมีเงินใช้หลังเกษียณ โดยรัฐบาลจะช่วยสมทบออมให้กับท่านด้วยกองทุนการออมแห่งชาติ ที่เรียกว่า กอช. นั้นถูกจัดตั้งขึ้น ด้วยหลักการและเหตุผลที่ผมได้กล่าวไปแล้ว เพื่อเป็นทางเลือกในการออมให้กับพี่น้องประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระ ด้วยสมัครใจ การออมต้องอาศัยการวางแผนเพื่ออนาคต เมื่อท่านเกษียณ ท่านต้องการรับ “เงินบำนาญ” รายเดือน จากกองทุนการออมแห่งชาติ หรือเงินบำเหน็จจากกองทุนประกันสังคมเท่าใดให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของท่าน ก็ต้องมีพิจารณาเลือกช่องทางให้เหมาะสม กับความต้องการของแต่ละคนด้วย

ผมถือว่า “การออม” ในวันนี้ จะเป็นสิ่งสำคัญช่วยสร้าง “ความมั่งคั่งที่ยั่งยืน” ให้กับทุกคน ผมไม่ต้องการให้ทุกคนรวย ทุกคนอยากรวย ผมก็อยากให้ท่านรวย แต่ผมต้องการให้ทุกคนมีเงินใช้จ่ายที่ “พอเพียง” ก่อน ระยะแรก เพราะบางคนนี่หลักการพื้นฐาน ตัวเองนั้นก็ยังไม่มีความพร้อม เริ่มจากจุดที่ไม่เท่ากัน นั่นคือโลกปัจจุบัน เพราะฉะนั้นเราจะต้องมองว่าอนาคตเราจะอยู่ได้อย่างไร สิ่งแรกอยากให้ทุกคนคิดก็คือว่าทำยังไงจะมีเงินใช้จ่ายที่พอเพียงแก่ตนและครอบครัวในอนาคตด้วย การออม นั้นอาจจะไม่มี “สูตรสำเร็จ” แต่ต้องคิดกัน ผมก็ขอเสนอแนวคิดง่ายๆ แบ่งออกเป็น 2 ขั้น ขั้นแรก คือ “ใช้ 70 ออม 30 เปอร์เซ็นต์” ซึ่งบางเดือนอาจมีรายจ่ายเพิ่ม ช่วงเทศกาล เปิดเทอมลูก ซ่อมรถ หรือการลงทุนเพื่ออนาคต ก็สามารถ “ถั่วเฉลี่ย” กันไป จะได้ไม่หนักเกินไป 30-70 ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่ตายตัวมากนักหรอก เพราะขึ้นอยู่กับการดำรงชีวิตของท่านด้วย หรืออาจจะทำให้เกิดการชักหน้าไม่ถึงหลัง ถ้ามากเกินไป แต่ต้องมีการออม เราต้องมีวินัยการออมในเดือนที่ผ่านๆ มา ทุกๆ เดือนไป มากบ้างน้อยบ้าง ตั้งเกณฑ์ไว้แล้วกัน ตามความจำเป็น ขั้นที่สอง หากโชคดี “เหลือจ่ายก็เอาไปเก็บเพิ่ม” เพิ่มจากที่เราตั้งใจไว้ ไม่ใช่ใช้ก่อนแล้วหวังว่าเหลือจ่ายค่อยเอาไปเก็บ ถ้าคิดแบบนี้ก็ไม่มีเหลือแน่นอน เพราะเราก็เพลิดเพลินไปเรื่อย มีเงินก็ใช้ไปเรื่อย บางทีก็ลืมคิดไป แบบนี้เรียกว่าถ้าไม่มีวินัย ก็จะไม่เกิดการออม ไม่มีการออมเหมือนเนื้อเพลง “เหลือเก็บเหลือจ่าย” ของอัสนี - วสันต์ โชติกุล ซึ่งคนวัยแรงงานของประเทศ คงทราบ “กุศโลบาย” จากบทเพลงในยุคนั้นได้ดี ผมก็ขอพูดเลยไปถึงการปลูกฝังลูกหลานของเราในการ “ดูหนัง ดูละคร ฟังเพลง ท่องโซเชียล” ก็ควรมองหาสาระไว้บ้าง ให้เจอแล้วใช้วิจารณญาณในการนำมาใช้ อะไรดีก็เอามาใช้ เอามาขยายความ อันไหนไม่ดีก็เตือนกัน อย่าเอามาขยายต่อ ทั้งนี้จะได้เป็นบทเรียนแก่ชีวิตของตนเอง สอนตัวเอง สอนคนอื่น พัฒนาคนอื่นด้วยคือต้องพัฒนาไปร่วมกันทั้งหมด ทั้งจิตใจ ร่างกาย ความรู้ ต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญนะครับการพัฒนาตนเอง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำหรับผู้มีรายได้น้อย คือ จะออมอย่างไร ในเมื่อรายได้ทุกวันนี้ก็ไม่พอจะใช้จ่ายอยู่แล้ว ที่ผมพูดในตอนต้น ผมก็ขอเป็นกำลังใจ โดยขอให้ลองตรึกตรองถึง “การเติมน้ำใส่ตุ่มที่ก้นรั่ว” การเติมน้ำคือ “รายได้” ส่วนน้ำรั่วคือ “รายจ่าย” หากเราต้องการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็ต้องเติมน้ำให้ได้มากกว่าน้ำรั่วอยู่เสมอ เปรียบได้กับการหารายได้เสริม การสร้างมูลค่าเพิ่ม การปรับปรุง– แปรรูป –พัฒนาสินค้าและบริการอยู่เสมอ แล้วก็อุดรอยรั่วให้ได้ ค่าใช้จ่าย หรือรายจ่ายที่ไม่จำเป็น นั่นเขาเรียกว่าอุดรูรั่วไปด้วย ผมเคยเห็น “แม่ค้าไก่ย่าง” อร่อยและขายดี มีคนมารอซื้อ แต่ลูกค้าหลายราย ไม่ทนตากแดด ตากฝน เพราะไม่มีเวลา ที่จะไปซื้อของอย่างอื่นด้วย เกรงว่าจะไม่มีเวลา ก็เลยไปซื้ออย่างอื่นแทน แทนที่จะรอซื้อไก่ย่าง อย่างที่ตั้งใจ เพราะแม่ค้าบางครั้งขายดีก็จริงแต่ไม่ยอมพัฒนากระบวนการทำงาน คือไม่เตรียมข้าวเหนียวใส่ห่อ ไม่ใส่น้ำจิ้มไว้ล่วงหน้า ไม่แจกบัตรคิว หรือไม่ยอมลงทุนเพิ่มเตา หรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของตนให้สูงขึ้น ตามจำนวนของลูกค้าซึ่งสามารถทำสถิติช่วงเวลาของวัน และแต่ละวันในสัปดาห์ได้ ก็เลยขายได้เท่าเดิม เสียลูกค้าประจำบางราย เป็นการทำลายโอกาส หรือโอกาสของตัวเองไปอย่างน่าเสียดาย เพราะไม่ทบทวนและพัฒนาตนเอง ก็เป็นเพียงตัวอย่าง กลับมาที่เรื่องการออมของผู้มีรายได้น้อย อีกวิธีคือ “การอุดรูรั่ว” ที่กล่าวไป ก็คือจะทำได้ก็ต้องมีการทำ “บัญชีครัวเรือน” ซึ่งช่วยวิเคราะห์ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น จัดลำดับความสำคัญ– ความเร่งด่วน ไม่ใช้จ่ายที่เกินตัว เกินกำลังตัวเอง และก็วางแผนการเก็บเงินเพื่อค่าใช้จ่ายในอนาคตที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ เช่น ค่าเทอมลูก ค่าถ่ายน้ำมันเครื่องรถ ค่าน้ำมัน เหล่านี้เป็นต้น ปีใหม่นี้ ผมก็อยากให้ทุกคน ได้มีการทบทวนตนเอง พัฒนาตนเอง แล้วก็ฝากไว้ให้ได้คิดว่า เรายิ่งเริ่มออมได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะทำให้ “อยู่ได้อย่างมั่นใจ แก้ได้อย่างมั่นคง” เร็วขึ้นเท่านั้น ทุกคนต้องไปสู่วัยนั้นทุกคน อย่าประมาท
 

พี่น้องประชาชนที่รักครับ

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากเรียนให้ทราบ และสร้างความเข้าใจให้มากขึ้นก็คือ ประเด็นบทบาทของท้องถิ่นและการใช้จ่ายงบประมาณของท้องถิ่นซึ่งในแต่ละปี งบประมาณท้องถิ่นจะประกอบด้วย (1) รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บได้เอง เช่น ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ เป็นต้น ก็แล้วแต่ละพื้นที่ต้องรับผิดชอบด้วยการเก็บภาษีเหล่านี้ และ (2)เงินภาษีที่รัฐจัดสรรให้ แบ่งให้ รวมถึงเงินอุดหนุนเพิ่มเติม เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถนำไปใช้บริหารจัดการและดำเนินการโครงการต่าง ๆ ตามความต้องการของชุมชน ได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้อย่างตรงจุด

สรุปง่ายๆคือเก็บเอง และรัฐบาลอุดหนุนเพิ่มเติมไป เพราะเก็บเองไม่เพียงพอ การกำหนดพื้นที่ที่มีปัญหาในวันนี้ก็คือเรื่ององค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) เทศบาล ที่มีปัญหาอยู่ตอนนี้ ทำให้เกิดปัญหาการจัดเก็บรายได้ด้วย ถ้าคนน้อยเกินไป พื้นที่น้อยเกินไปก็เก็บเงินได้น้อย พอเก็บได้น้อย รัฐบาลให้เงินลงไปมันก็ไม่พอใช้อยู่ดี ต้องไปช่วยกันแก้ไปคิดเอาแล้วกัน ผมยังพูดอะไรไม่ได้ทั้งนั้นในตอนนี้ โดยในปีงบประมาณ 2561 นี้ รายได้ทั้งหมดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อยู่ที่ 720,000 ล้านบาท หรือเกือบร้อยละ 30 ของงบประมาณทั้งหมด

นอกเหนือไปจากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรลงสู่ท้องถิ่นโดยตรงแล้ว รัฐบาลก็ยังมีการจัดสรรงบประมาณไปสู่กระทรวงต่างๆ ในการใช้จ่ายสำหรับการบริหารจัดการโครงการในภาพรวมของประเทศอีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ย่อมจะได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานเหล่านี้ร่วมกันด้วย เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ การดูแลโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารของประเทศ หรือการก่อสร้าง พัฒนา ซ่อมแซมทางหลวงสายหลักที่เชื่อมจังหวัด หรือภูมิภาค เป็นต้นส่วนถนนสายรองๆ ลงไป ก็จะอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละท้องถิ่นในการบริหารจัดการจากงบประมาณ ตามที่ได้รับการจัดสรรไป

สำหรับในส่วนของการใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)นั้น สามารถดำเนินการได้ตามโครงการที่ได้รับอนุมัติและเงื่อนไขที่กำหนดไว้โดยจะต้องมีกระบวนการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยเฉพาะงบอุดหนุนเฉพาะกิจ ที่จะต้องระบุโครงการชัดเจน หากเหลือก็ต้องนำส่งคืนคลังส่วนเงินที่เหลือจ่ายจากงบประมาณที่ อปท. ได้รับไว้ภายในวันสิ้นปี งบประมาณของทุกปี จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ (1) ร้อยละ 25 เก็บไว้เป็น “เงินทุนสำรองเงินสะสม” และ (2) อีกร้อยละ 75 ให้ถือเป็น “เงินสะสม” เพื่อให้ อปท. มีฐานะการเงินการคลังที่มั่นคง พร้อมรับภาระและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในอนาคต ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ หรือนำไปจัดบริการสาธารณะให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง โดยจะนำไปใช้ได้เฉพาะกิจการซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อปท. ได้แก่ การบริการชุมชนและสังคม กิจการที่เป็นการเพิ่มพูนรายได้ของ อปท. กิจการที่จัดทำเพื่อบำบัดความเดือดร้อนของประชาชน หรือเป็นไปตามแผนพัฒนา อปท. หรือตามที่กฎหมายกำหนด เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม “เงินสะสม” ก้อนนี้ สามารถนำออกมาใช้ได้ หลายคนก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าทำไมไม่นำออกมาใช้ ใช้ได้แต่ไม่ทั้งหมด ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและตามสัดส่วนที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยส่วนหนึ่งถูกกันไว้เพื่อสำรองเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร เงินรายจ่ายประจำที่ต้องจ่ายให้กับประชาชน เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือเงินเบี้ยความพิการ หรือในกรณีเกิดสาธารณภัย เป็นต้น นอกจากนี้ เพื่อความโปร่งใส หากมีการนำเงินสะสมออกไปใช้ในโครงการต่างๆ อปท. จะต้องรายงานให้จังหวัดทราบ ซึ่งจังหวัดจะติดตามและรายงานผลการใช้เงินผ่านทางระบบ e-plan มาสู่ส่วนกลาง ให้สามารถตรวจสอบได้อีกด้วย ทั้งนี้แต่ละจังหวัดมีโครงสร้างและลักษณะของพื้นที่ต่างกัน การสร้างรายนั้นไม่เท่ากัน ทำให้โครงการและการดำเนินการของ อปท. ต่างกันไปด้วย ดังนั้นจะเห็นว่าเงินสะสมบางจังหวัดอยู่ในระดับสูง บางจังหวัดก็มีไม่มากนัก จึงอาจเป็นข้อจำกัดด้านโครงสร้าง ที่เราจะต้องพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติมในระยะต่อไปด้วย

ทุกคนคงเห็นได้ว่ารัฐบาลนี้ให้ความ สำคัญกับการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น เราถือเป็นการให้โอกาส เป็นช่องทางสำหรับพื้นที่และชุมชนในการพัฒนาตนเองให้ได้ตามความต้องการมากขึ้น สิ่งที่ผมอยากเห็น ก็คือท้องถิ่นต้องรู้ในศักยภาพของตนเอง อะไรคือสิ่งที่ท่านได้เปรียบ อะไรคือจุดขาย หากเราต้องพัฒนาจุดนั้นให้ดียิ่งขึ้น เราจะต้องเติมเต็มอย่างไร องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะมาเติมเต็มในส่วนที่ประชาชนได้รับผลประโยชน์โดยตรงใกล้ๆตัว เพราะนอกจากจะช่วยสร้างอัตลักษณ์ สร้างแบรนด์ให้กับพื้นที่ของตนรวมทั้งส่งเสริมการค้าและการลงทุน แล้วยังเป็นการพัฒนาที่มีโฟกัส หรือเป้าหมายที่ชัดเจน คือ เพิ่มในส่วนที่เก่ง ให้กลับไปช่วยพัฒนาหรือปรับกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งจะทำให้ทั้งท้องถิ่นเดินหน้าไปด้วยกันได้ดีขึ้น โดยใช้ทรัพยากรและงบประมาณที่คุ้มค่า ที่สำคัญต้องสอดคล้องกับภาพรวมของประเทศ หรือ “ยุทธศาสตร์ชาติ” ด้วย อาทิ ในเรื่องของการสร้างถนนในความรับผิดชอบของ อปท. โดยมีส่วนผสม “ยางพารา” เพื่อเป็นการเพิ่มความต้องการใช้ยางในประเทศหรือการสร้างเครือข่ายถนน ในลักษณะที่เป็น “ใยแมงมุม” เชื่อมต่อกัน ตามแนวคิดที่ผมได้กล่าวไว้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ให้ถนนสายรองเชื่อมโยงกับสายหลัก อ้อมผ่านบ้าง เพราะเราสร้างทั้งหมดไม่ไหว จะได้ขยายบางส่วน อ้อมบางส่วน แล้วอาจจะไปบรรจบได้ในเส้นทางเดิมตรงไหนที่รถไม่ติดขัดทำนองนี้ ต้องไปหาวิธีการใหม่ๆ คิดออกมา เพราะเราไม่สามารถจะจัดสรรงบประมาณจำนวนมากพร้อมๆกันได้ เพื่อเราจะได้มีการปรับปรุงถนนต่างๆ นั้นให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดี แก้ปัญหาการจราจร ปลอดภัย เป็นทางเลือกให้กับประชาชน นักท่องเที่ยว รวมทั้งในเรื่องการขนส่งผลผลิตจากแหล่งผลิตสู่ตลาดเป็นต้น รถบรรทุกที่มีปัญหาก็แก้ปัญหาน้ำหนักเกิน ไม่เกินอะไรเหล่านี้ เพราะฉะนั้นปัญหาทั้งหมดไม่ได้รับการแก้ไข ถึงจะแก้ทีเดียวก็แก้ไม่ได้ทั้งหมดอยู่ดี ต้องใช้เวลาในการแก้ รวมทั้งจะต้องสามารถรองรับการสัญจรในช่วงเทศกาล ซึ่งเป็นปัญหามาหลายสิบไป เราก็ไม่มีแนวทางอื่นที่จะแก้ไข “ปัญหาคอขวด” เช่น ไปภาคเหนือที่ไม่ต้องผ่านจังหวัดนครสวรรค์ได้หรือไม่ ไปภาคอีสาน “ทั้งภาค” ทำไมรถทุกคัน ต้องผ่าน จังหวัดนครราชสีมา ทำให้ต้องเสียเวลาเป็นวันๆ เสียสุขภาพจิต เผาผลาญน้ำมันไม่รู้เท่าไหร่ เป็นแบบนี้มากี่สิบปีแล้ว

หาก อปท. และส่วนภูมิภาค ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าใจในนโยบายเหล่านี้ ก็จะรู้ว่ารัฐบาลนี้ พยายามที่จะกระจายความเจริญไปสู่ทุกจังหวัด ลดปัญหา ลดภาระ ลดอันตรายต่างๆทั้งหมด ต้องคิดไปหลายกิจกรรมด้วยกัน เรียกว่าไม่ใช่คิดแต่งานฟังชั่นอย่างเดียว สร้างถนนก็สร้างไป ทำอะไรก็ทำไป ของแต่ละกระทรวง ก็ไม่บรรจบกันทุกเรื่อง ก็เกิดปัญหาตามไปสู่ปัญหาอื่นๆ อีกด้วย ทั้งเมืองหลัก เมืองรอง เมืองท่า เมืองชายแดน มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มีเครือข่ายการคมนาคม ทั้งทางบก – ทางราง – ทางน้ำ – ทางอากาศ บางทีก็มีรถไฟ ไปซับซ้อนทางกัน ก็อาจจะต้อง รถไฟไปเชื่อมในบางช่วง บางช่วงใช้ถนน บางช่วงไปต่อรถไฟ อย่างที่ผมบอกแล้ว ต้องเชื่อมโยงกันได้ทั้งหมด ก็จะแบ่งเบาไปได้มาก ข้อสำคัญคือว่าจะต้องมีรายรับที่เพียงพอในการใช้บริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเหล่านี้ จะทำให้สามารถเชื่อมโยงกันได้ แก้ปัญหาจราจรติดขัดต่างๆ เหล่านั้น เพราะว่าไม่ใช่แต่เพียงการแก้ปัญหาจราจรอย่างเดียวด้วยซ้ำไป เพราะช่วงเทศกาลปัญหาหนักอยู่แล้ว ปกติก็หนัก หนักด้วยวันนี้ ทุกเรื่องหนักไปหมด ต้องช่วยกัน ก็จะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของคนไทยทั้งประเทศ

วันนี้ปัญหาก็คือรถบรรทุก รถอะไรต่างๆใช้ถนนเส้นเดียวกันหมด ถนนก็พัง บางทีก็รับน้ำหนักเกินอะไรเหล่านี้ เราไปห้ามน้ำหนักเกินมากๆ เข้มงวดมากๆ ก็มีปัญหาเรื่องการขนส่งอีก ปัญหาพันกันไปทั้งหมด เราก็ต้องพิจารณาในการดูแล ในการที่จะบังคับใช้กฎหมายให้เป็นธรรม แล้วก็เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่สร้างความขัดแย้ง คือความยากง่ายในการทำงาน ถ้าเราทำเหล่านี้ได้ทั้งหมด เราแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของคนไทยทั้งประเทศได้ ก็จะเกิดภาคภูมิใจในถิ่นเกิดของตน ไม่ต้องมาแสวงโชคในเมืองจนเกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย ทั้งปัญหายาเสพติด – อาชญากรรม ที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ โดยแต่ละ อปท. – จังหวัด – กลุ่มจังหวัด – และภาค ต้องมีแผนการพัฒนา จะต้องชูศักยภาพ – จุดขาย – จุดแข็งของตน ไม่ใช่เสนอโครงการอะไรมา ขออนุมัติมาไม่ยั่งยืน ต่อไปนี้ก็ต้องเข้มงวดกัน จะได้สอดคล้องกับสิ่งที่เราต้องการคือ ยุทธศาสตร์ชาติ จะต้องส่งเสริมกันในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนเพื่ออนาคต เช่น จว.เชียงใหม่ – ขอนแก่น – ภูเก็ต ที่พยายามจะให้เป็น “Smart City” ที่เรียกว่าเมืองอัฉริยะ มีหลายจังหวัดที่สามารถส่งเสริมเป็น “MICE City” ได้ เหมือนกัน เกี่ยวกับเรื่องธุรกิจการประชุม หรือการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การประชุมนานาชาติ และการจัดแสดงสินค้าและนิทรรศการต่างๆ ซึ่งก็เป็น “เครือข่ายธุรกิจ” ที่กำลังเติบโต มีอนาคตไกล สามารถเชื่อมเรื่องการทำงาน การประกอบธุรกิจ เข้ากับการท่องเที่ยวได้ โดย “นักท่องเที่ยว” ในกลุ่มนี้ เราถือเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ เพราะเป็นนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ นักวิชาการ ที่มีการใช้จ่ายเป็นค่าที่พัก เดินทาง อาหารสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป บางครั้งก็มารักษาสุขภาพ หาหมอด้วย เที่ยวด้วย มาประชุมด้วย ก็เกิด “ห่วงโซ่ด้านบริการ” มากมาย ผลประโยชน์ก็จะตามมาสู่ประชาชนของเรา ตั้งแต่สายการบินไปจนถึงรถสองแถว โรงแรมไปถึงโฮมสเตย์ ศูนย์แสดงสินค้าไปถึงร้านค้า ร้านอาหารข้างทาง และโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ที่ทันสมัยไปถึงร้านนวดแผนไทย เป็นต้น สามารถกระจายรายได้ “แทรกซึม” ไปอย่างทั่วถึง ทุกสาขาอาชีพ ของสังคมในท้องถิ่น ท้องถิ่นหรือหน่วยงานในพื้นที่ต้องคิดแบบนี้ สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงให้ได้ สร้างมูลค่าให้ได้ เพื่อคนทุกคนในพื้นที่ของท่าน

สุดท้ายนี้ จะเห็นได้ว่าวิสัยทัศน์การพัฒนาท้องถิ่นแบบนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือกลไก “ประชารัฐ” ในแต่ละชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด ภูมิภาค ประเทศ “ในภาพรวม” เชื่อมโยงกัน อย่าขัดแย้งกันเลย ต้องรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน เอาเสียงส่วนใหญ่ว่าต้องการอะไร ก็ต้องยอมกันบ้างนะครับ แล้ววันหน้าสิ่งที่ส่วนน้อยเสนอมาอาจจะทำไม่ได้ในระยะแรก ก็ไปทำระยะสองระยะสามก็ว่าไป ต้องใช้กติกาตัวนี้ ไม่เช่นนั้นทำไม่ได้สักอย่าง ไปเกลี่ยเงินมากๆ บางทีไม่ได้อะไรขึ้นมา ได้แบบเล็กๆ ไม่เพิ่มมูลค่าขึ้น ก็ลำบาก

เพราะฉะนั้นผมเน้นคำว่าในภาพรวม เชื่อมโยงกัน โดยการใช้งบประมาณต้องมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้อาจจะเป็นงบประมาณของท้องถิ่นเอง ท้องถิ่นก็ไม่เท่ากันอีกแหละ บางท้องถิ่นเล็ก บางท้องถิ่นใหญ่ คนมาก คนน้อย สถานประกอบการมากบ้าง น้อยบ้าง เพราะฉะนั้นเก็บได้ไม่เท่ากัน บางพื้นที่ก็น้อยมากเลย รัฐบาลก็ต้องส่งเงินสมทบลงไปตามสัดส่วน ในทุกๆท้องถิ่น เก็บเงินเท่าที่จำได้ก็ประมาณ 7 แสนกว่าล้าน จริงๆแล้วรัฐบาลก็เติมอีกแสนกว่าล้าน เพราะฉะนั้นงบประมาณแผ่นดินที่ต้องเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ หรือการร่วมทุนกับเอกชน หรือ PPP ก็ตาม สิ่งสำคัญคือ จะต้องร่วมมือซึ่งกันและกันในด้านการพัฒนา เพราะต่างคนคนต่างมี “หน้าที่พลเมือง” ในการสอดส่อง ป้องกัน การทุจริตอีกด้วย จำไว้ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ลงมาถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน งบประมาณมีทุกส่วน จะทำอย่างไรให้สอดคล้องกัน ประสานกัน เชื่อมโยงกันอย่างที่ผมกล่าวไปเมื่อสักครู่

ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน ทุกครอบครัว” มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้