ป.ป.ช. เสนอรัฐบาลออกมาตรการคุมเข้มทุจริตอนุญาตแรงงานต่างด้าวอยู่ในไทย

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  2395 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ป.ป.ช. เสนอรัฐบาลออกมาตรการคุมเข้มทุจริตอนุญาตแรงงานต่างด้าวอยู่ในไทย

ป.ป.ช. ส่งข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ในการวางมาตรการป้องกันการทุจริต    ในกระบวนการอนุญาตให้ชนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงว่า ป.ป.ช. เห็นชอบให้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระบวนการอนุญาตให้คนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว ดังนี้ ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล 1.กำหนดนโยบายเพื่อให้มีการดำเนินการบูรณาการจัดทำฐานข้อมูลคนต่างด้าว 2.สั่งการให้มีการปรับปรุงการเชื่อมโยงฐานข้อมูลบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้าราชอาณาจักร (Blacklist) 3.ทบทวนนโยบายการพิจารณาให้สิทธิแก่คนต่างด้าวในกลุ่มประเทศซึ่งได้รับสิทธิในการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว 4.สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำบัตรประจำตัวคนต่างด้าวอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถระบุประเภท การเข้ามาพำนักในราชอาณาจักรได้

นายสรรเสริญ กล่าวว่า ข้อเสนอแนะต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 1.กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในกรณีการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ต่อ กรณีมีเหตุจําเป็นครั้งละไม่เกิน 1 ปี โดยให้มีเอกสารรับรองจากบุคคลสัญชาติไทยที่เชื่อถือได้ เป็นบุคคลอ้างอิงหรือเป็นผู้ให้การรับรองวัตถุประสงค์ ในการพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวในแต่ละครั้ง 2.ให้มีการกำหนดบทลงโทษสำหรับคนต่างด้าวที่กระทำความผิดในฐานความผิดลักลอบหลบหนีเข้าเมือง โดยคนต่างด้าวที่มีพฤติการณ์ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองนอกจากต้องได้รับโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ต้องถูกขึ้นบัญชีเป็นบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร (Blacklist) เพื่อให้เป็นไปในลักษณะเดียวกับกลุ่มคนต่างด้าวที่มีพฤติการณ์อยู่เกินกำหนด (Over Stay) ในราชอาณาจักร

นายสรรเสริญ กล่าวว่า 3.ให้ทบทวนการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาและระยะเวลาการขออนุญาตพำนักอยู่ต่อไปในราชอาณาจักรไทยของคนต่างด้าว ตามเหตุแห่งความจำเป็นในแต่ละกรณี เพื่อให้มีความรัดกุมและป้องกันมิให้เกิดช่องว่างให้คนต่างด้าวกระทำการใด ๆ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เช่น กรณีการอ้างเหตุแห่งความจำเป็นเพื่อเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย ให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาเพิ่มเติมโดยกำหนดระยะเวลาสูงสุดที่คนต่างด้าวสามารถพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยสำหรับกรณีการเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา มิให้คนต่างด้าวมีการอ้างสิทธิเพื่อการเข้ามาศึกษาต่อได้เรื่อย ๆ และกำหนดให้คนต่างด้าวต้องมีเอกสารธนาคารค้ำประกัน (Bank guarantee) เพื่อวัตถุประสงค์ในการเดินทางเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย

นายสรรเสริญ กล่าวว่า กรณีการอ้างเหตุแห่งความจำเป็นเพื่อเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาหรือปฏิบัติศาสนกิจ ให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาเพิ่มเติมโดยให้กำหนดระยะเวลาสูงสุด ที่คนต่างด้าวสามารถพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยสำหรับกรณีการเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาหรือปฏิบัติศาสนกิจ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหามิให้คนต่างด้าวอ้างสิทธิเพื่อการเข้ามาศึกษาต่อได้เรื่อย ๆ กรณีการอ้างเหตุแห่งความจำเป็นเพื่อการใช้ชีวิตในบั้นปลาย ให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาเพิ่มเติมโดยให้มีการคงบัญชีเงินฝาก จำนวน 800,000 บาท ตามที่แสดงไว้ในธนาคารตามกฎหมายของไทยเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน นับจากวันที่ได้รับการตรวจลงตรา ภายหลังจากนั้นจึงจะสามารถถอนเงินได้ไม่เกินร้อยละ 50 โดยในการยื่นขอรับการตรวจลงตราในแต่ละครั้ง ให้แสดงหลักฐานการถอนเงินเพื่อใช้จ่ายในประเทศไทยเท่านั้น ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ข้างต้น ให้มีการบังคับใช้ภายหลังจากคนต่างด้าวได้รับสิทธิในการพำนักอยู่ต่อในราชอาณาจักรไทยเป็นระยะเวลาครั้งละ 1 ปี

นายสรรเสริญ กล่าวว่า กรณีผู้ได้รับการพิจารณาอนุญาตตรวจลงตราให้พำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพื่อการใดๆ เช่น เข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาหรือปฏิบัติศาสนกิจในประเทศไทย เข้ามาทำงานในประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งปรากฏภายหลังว่าขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาต เช่น ถูกตัดสิทธิการเข้าศึกษาต่อเนื่องจากผลการศึกษาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษา และถูกตัดชื่อออกจากการเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือถูกเพิกถอนสิทธิในการอนุญาตให้ทำงานก่อนครบกำหนดระยะเวลาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว เป็นต้น เห็นควรให้มีการกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ รวมทั้งช่องทางในการดำเนินการพิจารณาเพื่อยกเลิกสิทธิ

นายสรรเสริญ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะไปยัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทั้งนี้ ปัญหาการทุจริตในกระบวนการอนุญาตให้คนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทย เกิดจาก 1. คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาโดยถือวีซ่าประเภทนักท่องเที่ยวแต่มาประกอบอาชีพ 2.อยู่ในประเทศไทยเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด (Over Stay) 3. คนต่างด้าวอ้างเหตุความจำเป็นกรณีต่างๆ เช่น เพื่อดูแลคู่สมรสชาวไทย โดยมีการว่าจ้างคนไทยมาจดทะเบียนสมรส ฯลฯ 4. บทลงโทษกรณีคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการอนุญาตสิ้นสุดหรือถูกเพิกถอนไม่รุนแรงและเด็ดขาด ทำให้คนต่างด้าวกล้าเสี่ยงทำผิดกฎหมาย 5.คนต่างด้าวที่มีพฤติการณ์อยู่เกินกำหนด เมื่อถูกเจ้าหน้าที่จับกุม จะใช้วิธีทิ้งหนังสือเดินทาง (Passport) 6. มีการโฆษณาชวนเชื่อในรูปของธุรกิจดำเนินการจัดทำวีซ่า 7. ความล่าช้าในขั้นตอนประสานข้อมูลเพื่อการตรวจสอบรายชื่อบุคคลต้องห้ามเข้าราชอาณาจักร (Black List) เป็นต้น

นายสรรเสริญ กล่าวด้วยว่า โดยมีข้อเสนอแนะไปยัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้มีการควบคุมและตรวจสอบสถานศึกษาหรือสถาบัน การศึกษาที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการเปิดขึ้นมาเพื่อดำเนินการรองรับนักศึกษาต่างชาติโดยที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาอย่างแท้จริง โดยหากพบว่าเป็นกรณีที่มีความผิดปกติหรือเป็นสถาบันการศึกษาที่มิได้จัดตั้งขึ้นเพื่อการศึกษาอย่างแท้จริง ให้มีการดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตของสถานศึกษาทันที ส่วนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เสนอให้จัดระเบียบเพื่อควบคุมและตรวจสอบพระภิกษุสงฆ์ต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเพื่อศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยสงฆ์ในประเทศไทย และให้มีการจัดทำฐานข้อมูลด้านการศึกษาของพระภิกษุสงฆ์ต่างชาติ เช่น จำนวนพระภิกษุสงฆ์ต่างชาติในมหาวิทยาลัยสงฆ์แต่ละแห่ง ระยะเวลาการเดินทางเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ระยะเวลาการสิ้นสุดการศึกษา สถิติหรือจำนวนครั้งในการขอเดินทาง เข้ามาเพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทยของพระภิกษุสงฆ์ต่างชาติ การสิ้นสภาพการเป็นนักศึกษาก่อนกำหนด เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและสามารถตรวจสอบได้


ต้นฉบับ : ป.ป.ช. เสนอรัฐบาลออกมาตรการคุมเข้มทุจริตอนุญาตแรงงานต่างด้าวอยู่ในไทย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้