Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 2820 จำนวนผู้เข้าชม |
ป.ป.ช.ชงมาตรการเอาผิดนักการเมืองท้องถิ่นหลังถูกชี้มูล เสนอข้อมูลกระทรวงมหาดไทย ฟันพร้อมฟ้องอาญา-แพ่ง แนะ กกต.ยึดฐานข้อมูลทุจริตพิจารณาคุณสมบัติ ไม่ให้กลับมาสมัครใหม่ พร้อมเสนอ ครม. แก้กฎหมายกำหนดคุณสมบัติป.ป.ช.ชงมาตรการเอาผิดนักการเมืองท้องถิ่นหลังถูกชี้มูล เสนอข้อมูลกระทรวงมหาดไทย ฟันพร้อมฟ้องอาญา-แพ่ง แนะ กกต.ยึดฐานข้อมูลทุจริตพิจารณาคุณสมบัติ ไม่ให้กลับมาสมัครใหม่ พร้อมเสนอ ครม. แก้กฎหมายกำหนดคุณสมบัติ
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2560 นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้แถลงว่า สืบเนื่องจากหลายครั้งที่ประชาชนมักจะตั้งคำถามหรือมีข้อกังขาว่าเหตุใดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดแล้ว ผู้นั้นยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่หรือบางรายหมดวาระหรือพ้นตำแหน่งไปแล้วยังกลับมาสมัครรับเลือกตั้งได้หรือได้รับเลือกอีก
ในกรณีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านมาตรการป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ศึกษาถึงข้อจำกัดในการดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน และการขาดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด และได้แจ้งให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนสามารถสั่งให้พ้นจากตำแหน่งหรือสิ้นสุดสมาชิกภาพได้ เฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นที่ยังคง ดำรงตำแหน่งอยู่ หากผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ไม่สามารถสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้ เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่บุคคลนั้นสามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นอีก และเมื่อถูกตรวจสอบว่ากระทำการทุจริตก็จะขอลาออกจากตำแหน่ง เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้มีการสอบสวนและวินิจฉัยสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ จากสถิติข้อมูล (พ.ศ. 2542 – กันยายน 2558) พบว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาหรือมีมูลความผิดตามกฎหมายที่ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ๆ มีจำนวนทั้งสิ้น 409 ราย แบ่งตามประเภทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบล 262 ราย เทศบาล 114 ราย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 27 ราย และกรุงเทพมหานคร 6 ราย แต่ในจำนวนดังกล่าว ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน ไม่สามารถสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง ด้วยเหตุเพราะผู้นั้นพ้นตำแหน่งไปแล้วหรือลาออกไปก่อนถึง 171 ราย ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ
ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 252 วรรคสาม คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เห็นชอบให้เสนอมาตรการการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อดำเนินการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่น อันเนื่องจากมีพฤติกรรมในทางทุจริต ดังนี้
1. การดำเนินการในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ช.
(1) กำหนดให้สำนักไต่สวนการทุจริต ถือเป็นแนวทางปฏิบัติ กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่น ให้ส่งรายงาน เอกสาร พร้อมทั้งความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่เกี่ยวข้อง และรายงานผลการสอบสวนหรือสำเนาคำสั่งลงโทษให้สำนักงาน ป.ป.ช. ทราบ
ทั้งนี้ ให้ใช้เฉพาะกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นใหม่อีกครั้งหนึ่ง
(2) รวบรวมข้อมูลรายงาน เอกสาร พร้อมทั้งความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีมติชี้มูลความผิดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นทั้งหมด ส่งไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณามอบหมายนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตลอดจนส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อประกอบการพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิลงรับสมัครเลือกตั้ง พร้อมกับให้มีการติดตามผลการดำเนินการดังกล่าว
(3) พิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยมีบทบัญญัติในการดำเนินการต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งเดิมเป็นตำแหน่งที่ไม่มีโทษทางวินัย ให้เพิ่มเติมบทบัญญัติว่าเมื่อคณะกรรมการป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิด สามารถดำเนินการทางวินัยหรืออยู่ในบังคับมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 234 (1) และมาตรา 235 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และมีผลทำให้บุคคลดังกล่าวไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อีก
2. ข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
(1) ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาข้อมูลรายงาน เอกสาร พร้อมทั้งความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีมติชี้มูลความผิดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่น โดยมอบหมายนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ในการสอบสวนและวินิจฉัยสั่งให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งหรือสิ้นสุดสมาชิกภาพ หรือนำผลการสอบสวนดังกล่าวไปสู่การดำเนินคดีในทางอาญาหรือทางแพ่งต่อไป ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่เกี่ยวข้อง และให้รายงานผลการสอบสวนหรือสำเนาคำสั่งลงโทษให้สำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบด้วย
(2) พิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 โดยเพิ่มบทบัญญัติ “การไม่เป็นผู้มีพฤติกรรมในทางทุจริต” กำหนดเป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ในการเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในทุกตำแหน่งเช่นเดียวกับการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537
3. ข้อเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พิจารณาข้อมูลตามรายงาน เอกสาร พร้อมทั้งความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีมติชี้มูลความผิดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่น นำมาประกอบการพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
18 ส.ค. 2567