4 กสทช. คัดค้านประธาน กสทช. ประชุมแบบเปิดเผย

Last updated: 4 ต.ค. 2566  |  2556 จำนวนผู้เข้าชม  | 

4 กสทช. คัดค้านประธาน กสทช. ประชุมแบบเปิดเผย

4 กรรมการ กสทช. ส่งหนังสือถึง ‘ประธานฯ’ คัดค้านการประชุม ‘บอร์ด กสทช.’ แบบเปิดเผย ชี้เป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต-เสี่ยงละเมิดเจ้าของข้อมูล-หวั่นกระทบความเป็นอิสระ ‘กรรมการ’ ในการแสดงความเห็น

        เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 4 ราย ได้แก่ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ,รศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ,รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ได้ทำหนังสือบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ถึง ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เรื่อง คัดค้านการกำหนดให้การประชุม กสทช. ครั้งที่ 20/2566 เป็นการประชุมแบบเปิดเผย

        โดยมีเนื้อหาว่า ตามที่สำนักงาน กสทช. มีบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ที่ สทช 2001.1/2423 ลงวันที่ 2 ต.ค.2566 เรื่อง ขอเชิญเข้ารับฟังการประชุม กสทช. ถึงส่วนงานเลขานุการของ กสทช. ทุกท่าน เพื่อเรียนเชิญที่ปรึกษา กสทช. เลขานุการ กสทช. และผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. เพื่อให้เข้าร่วมรับฟังการประชุม กสทช. ครั้งที่ 20/2566 ในวันพุธที่ 4 ต.ค.2566 เวลา 09.30-16.30 น. เนื่องจากประธาน กสทช. กำหนดให้เป็นการประชุมแบบเปิดเผย ความละเอียดทราบแล้ว นั้น

        กสทช. ทั้ง 4 ท่าน ประกอบด้วย กสทช. รศ.ดร.ศุภัชฯ ,กสทช. รศ.สมภพฯ ,กสทช. ศ.ดร.พิรงรองฯ และ กสทช. พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ฯ ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว ขอเรียน ดังนี้

        1.คณะกรรมการเป็นองค์กรกลุ่มที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายด้วยวิธีการประชุม โดยต้องมีการปรึกษาหารือและถกเถียงให้ความคิดเห็นเพื่อให้ได้มาซึ่งมติที่ประชุม กรรมการจึงต้องมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ และไม่ต้องรับผิดชอบในการละเมิดที่อาจเกิดจากการแสดงความคิดเห็นที่บางครั้งกระทบกระเทือนถึงสิทธิบุคคลอื่น ดังนั้น โดยปกติทั่วไป ประชุมในรูปของคณะกรรมการจึงเป็นการประชุมแบบจำกัดจำนวนผู้เข้าฟัง ซึ่งการประชุม กสทช. ที่ผ่านมาก็เป็นการประชุมแบบจำกัด

        2.สำหรับการประชุมแบบเปิดเผยเป็นการประชุมในลักษณะของการรับฟังความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะที่ต้องการเปิดกว้าง หัวข้อที่ประชุมมีลักษณะเป็นประเด็นที่ต้องการระดมความคิดเห็นจากกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปจัดทำนโยบายและตัดสินใจในภายหลัง จึงมีการเชิญบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องมาแสดงความคิดเห็น เช่น ประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในภาพรวม หรือสิทธิคนพิการ เป็นต้น

        การประชุมแบบเปิดเผยจึงมิใช้บังคับกับวาระที่ต้องมีการพิจารณาวินิจฉัยหรือใช้อำนาจทางปกครองแต่ประการใด ดังจะเห็นได้จาก รูปแบบ/วิธีการของการประชุมมีลักษณะเป็นการรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น

        ดังนั้น แม้ข้อบังคับการประชุมฯ ข้อ 7 จะให้อำนาจประธาน กสทช. ในการกำหนดรูปแบบการประชุม แต่ประธาน กสทช. ก็ต้องใช้อำนาจและดุลพินิจให้สอดคล้องกับกฎหมาย มิใช่ตีความแค่ตามตัวอักษรเท่านั้น แต่ต้องตีความตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย โดยต้องพิจารณาว่ารูปแบบและวิธีการของการประชุมควรสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประชุมและลักษณะของแต่ละวาระด้วย

        3.การที่ประธาน กสทช. กำหนดให้การประชุมครั้งที่ 20/2566 ในวันพุธที่ 4 ต.ค.2566 เป็นการประชุมแบบเปิดเผยเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่ กสทช. มีอยู่ เนื่องจาก กสทช. มีสิทธินำข้อมูลของผู้ประกอบการ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในวาระการประชุม มาใช้ในการพิจารณาของ กสทช. เท่านั้น อีกทั้งการใช้และเปิดเผยข้อมูลข้างต้น มีข้อจำกัดและเงื่อนไขตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ

        เช่น พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มาตรา 24 พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 มาตรา 19 มาตรา 21 และมาตรา 27 และพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 6 การใช้อำนาจ และการดำเนินการใดๆ ตามระเบียบ กสทช. ข้างต้น จึงพึงระมัดระวังมิให้เกิดการละเมิดกฎหมาย

        และต้องดำเนินการป้องกันมิให้เกิดความเสี่ยงในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม หรือเกิดการละเมิดสิทธิของผู้เป็นเจ้าของข้อมูล ซึ่งสำนักงาน กสทช. โดยคำสั่งประธาน กสทช. มีหนังสือเชิญผู้เข้าร่วมประชุมที่ไม่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาตามกฎหมาย และผู้ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน กสทช. เข้าร่วมประชุมด้วย

        ดังนั้น หากในระเบียบวาระใดมีรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคล ความลับทางการค้า หรือข้อมูลที่มีความสำคัญ ซึ่งผู้เป็นเจ้าของข้อมูลไม่ยินยอมหรือไม่ประสงค์ให้มีการเปิดเผย เช่น ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เชิงพาณิชย์ และข้อมูลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ฯลฯ การจัดประชุม กสทช. ที่จะมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว จึงไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากขัดต่อกฎหมาย และอาจทำให้ผู้เป็นเจ้าของข้อมูลได้รับผลกระทบ หรือได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งประธาน กสทช. และสำนักงาน กสทช. อาจต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครองต่อไป

        4.ตามข้อ 12 ของข้อบังคับการประชุมฯ กำหนดให้การนัดประชุมต้องทำเป็นหนังสือ ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้มีบันทึกข้อความ ด่วนมาก ที่ สทช 2001.1/2415 ลงวันที่ 27 ก.ย.2566 เรียน กสทช. ทุกท่านเพื่อเชิญประชุมแล้ว โดยมิได้ระบุว่าเป็นการประชุมแบบเปิดเผยหรือจำกัดจำนวนผู้เข้าฟัง ที่ผ่านมาก็ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอดว่า กรณีนี้ คือ การประชุมแบบจำกัดจำนวนผู้เข้าฟัง

        ดังนั้น การที่ปรากฎข้อเท็จจริงในภายหลังว่าประธาน กสทช. กำหนดให้เป็นการประชุมแบบเปิดเผย เป็นการไม่ให้เกียรติกรรมการท่านอื่น ที่เพิ่งรับทราบภายหลังว่าการประชุมครั้งที่ 20/2566 ประธาน กสทช. ได้กำหนดเป็นการประชุมแบบเปิดเผย

        นอกจากนี้ ยังไม่เป็นไปตามข้อ 25 วรรคสามของข้อบังคับการประชุมฯ ที่กำหนดให้บุคคลที่เข้าร่วมประชุมได้ ให้เป็นไปตามที่ประธาน กสทช. สั่งการ หรือประธานในที่ประชุมอนุญาต หรือตามมติของคณะกรรมการ

        5.ดังนั้น กรรมการทั้ง 4 ท่าน จึงขอคัดค้านการประชุม กสทช. ครั้งที่ 20/2566 เป็นการประชุมแบบเปิดเผย ตามเหตุผลที่กล่าวไว้ข้างต้น ทั้งนี้ หากกำหนดให้เป็นการประชุมแบบจำกัดจำนวนผู้เข้าฟัง ก็สามารถที่จะประชุมในห้องประชุมสายลม 1121 ชั้น 12 อาคารอำนวยการ ตามที่เคยปฏิบัติกันมาโดยตลอด

        จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้