ดีเจวิทยุชุมชนขออย่าด้อยค่า ‘วิทยุทรานซิสเตอร์’ แห่ให้กำลังใจ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ หลังโดนแซะย้อนยุค

Last updated: 5 ต.ค. 2565  |  6198 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ดีเจวิทยุชุมชนขออย่าด้อยค่า ‘วิทยุทรานซิสเตอร์’ แห่ให้กำลังใจ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ หลังโดนแซะย้อนยุค

ดีเจวิทยุชุมชนแห่ให้กำลังใจ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ หลังโดนแซะย้อนยุค เรื่องใช้วิทยุทรานซิสเตอร์แจ้งเตือนประชาชนกรณีเกิดภัยพิบัติสื่อสารล่ม น้ำท่วม ไฟฟ้าถูกตัดขาด

          จากกรณีที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวบางช่วงระหว่าง เป็นประธานการประชุมการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัย และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ว่าการให้บริการไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์ ต้องให้ใช้ได้นานที่สุด ถ้าระบบล่มไปทั้งหมด การสื่อสารแจ้งข้อมูลจะทำได้ลำบาก อาจจะต้องไปใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ในการออกอากาศแจ้งเตือนประชาชนได้อีกทาง ซึ่งเคยใช้กันเมื่อปี 2554 เพราะตอนนั้นไฟฟ้าดับหมด ดังนั้นเราต้องเตรียมแผนตรงนี้ไว้ด้วยในกรณีที่อาจจะเกิดปัญหา จนมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาจำนวนมาก ล่าสุด

          เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ถนนพิษณุโลก กรุงเทพมหานคร นายภุชงค์ รักชาติสกุลไทย หรือดีเจตั้ม พร้อมคณะผู้รับอนุญาตทดลองออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในระบบเอฟเอ็ม จากสำนักงาน กสทช.  จากทั่วประเทศ ได้เดินทางมายื่นหนังสือขอบคุณพร้อมให้กำลังใจ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยมีนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือ ยืนยันวิทยุทรานซิสเตอร์เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มวัย มีกฎ กติกา ชัดเจน พร้อมให้ความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจฝ่าวิกฤตไปกับพี่น้องประชาชาชน แนะภาครัฐจัดหาเครื่องรับวิทยุทรานซิสเตอร์มอบให้ทุกครัวเรือน

          นายภุชงค์ รักชาติสกุลไทย กล่าวว่า วิทยุชุมชนยังมีพลังยังมีคนฟัง และช่วยเป็นพลังสังคม สื่อสารงานประชาสัมพันธ์ภัยพิบัติอุทกภัย หรืองานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้อีกมากมาย วันนี้พวกเราตัวแทนวิทยุชุมชนจากทั่วประเทศมาเป็นตัวแทนให้สังคมได้รับรู้ว่าเรายังมีพลัง เรายังช่วยประเทศชาติได้อีกมากมาย วันนี้มาอยากจะเป็นพลังช่วยสื่อสารงานภาครัฐช่วยสังคมช่วยภัยพิบัติ

          "วันนี้พวกเรามาเป็นตัวแทนวิทยุชุมชนจากทั่วประเทศ เพื่อให้กำลังใจนายกฯ และแสดงตัวให้สังคมได้รับรู้ว่าประชาชนยังติดตามรับฟังวิทยุชุมชนจำนวนมาก ดีเจวิทยุชุมชนยังมีพลังช่วยประเทศชาติได้อีกมาก ยินดีช่วยสื่อสารงานภาครัฐ สาธารณประโยชน์ ช่วยเหลือสังคมเมื่อมีภัยพิบัติ ถึงจะไม่ใช่สื่อหลัก สื่อใหญ่ แต่ก็เป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนชัดเจนแน่นอน วิทยุทรานซิสเตอร์ ถ้าระบบอินเทอร์เน็ตสัญญาณไฟฟ้าต่างๆ ขัดข้องใช้ถ่านตรากบ 2 ก้อนก็ฟังได้ทุกที่ทุกเวลา" นายภุชงค์ รักชาติสกุลไทย กล่าว

          ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า ข้อมูลเนื้อหาเตือนภัยเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะมีการแจ้งเตือน หรือสื่อสารด้วยวิธีใด จะต้องมีการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะบางครั้งให้ข้อมูลไม่ตรงกัน จนเป็นปัญหาทำให้ประชาชนสับสน และศูนย์อำนวยการส่วนหน้าควรทำหน้าที่จัดการทั้งก่อนและหลังเกิดภัยพิบัติในการทำงานแบบบูรณาการ โดยให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แจ้งข้อมูลเตือนภัยไปยังชาวบ้านในพื้นที่

          "ตอนนี้กลายเป็นว่าศูนย์อำนวยการส่วนหน้าไม่บูรณาการข้อมูล จนประชาชนได้ข้อมูลสะเปะสะปะ และคนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต้องการข้อมูลตรงนี้ แต่กลับไม่ได้ เป็นช่องว่างในการทำงาน โดยฝ่ายกรมอุตุนิยมวิทยา ก็ออกมาบอกเรื่องน้ำจากฟ้า และกรมชลประทาน ก็ออกมาบอกเรื่องสถานการณ์น้ำ แต่ชาวบ้านอาจอยู่ในพื้นที่ที่ไปไม่ถึง อีกทั้งสภาพลุ่มน้ำอาจเปลี่ยนไปแล้ว จนกรมชลประทาน ไม่สามารถบอกได้ อย่างคนในพื้นที่บางครั้งไม่รู้เรื่องน้ำที่เกิดขึ้น คิดว่าอยู่ที่เนื้อหาเตือนภัย และข้อมูลดีที่สุดต้องมาจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้รับข้อมูลจากอำเภอ ไปบอกแบบปากต่อปาก หรือประกาศเสียงตามสายให้ชาวบ้านรับรู้” รองศาสตราจารย์ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ กล่าว

          นอกจากนี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก "Annie Handicraft" ได้ออกมาโพสต์ข้อความย้ำว่า "วิทยุทรานซิสเตอร์" คืออุปกรณ์ที่จำเป็นในยามที่เกิดเหตุภัยพิบัติฉุกเฉิน หลายประเทศก็แนะนำให้ทุกบ้านมีวิทยุทรานซิสเตอร์ติดไว้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ ประเทศนอร์เวย์ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศ​ออสเตรเลีย อีกทั้งเมื่อปี 2554 ยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ใช้วิทยุทรานซิสเตอร์สื่อสารประสานงานในพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วมต่างๆ โดยได้จัดรายการวิทยุ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน" ผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงทั่วประเทศ

          "การที่ลุงตู่ออกมาแนะนำถ้าน้ำท่วมทำไฟฟ้า-โทรศัพท์ล่ม ให้ใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ ออกอากาศแจ้งเตือนประชาชนอีกทางนั้น แสดงถึงความเป็น #ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่สุด คิดถึงทุกคน ทุกอาชีพ คนแก่ชรา ชาวไร่ ชาวนา คนต่างจังหวัด ใช้วิทยุกันทั้งนั้น.... เรื่องบางเรื่อง ไม่รู้ไม่ผิด แต่ไม่รู้แล้วออกมาด่าแสดงความโง่เขลา เขาเรียกว่า โคตรโง่"

          นอกจากนี้ ยังมีเพจ "The Structure" ได้ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับวิทยุทรานซิสเตอร์ ว่ามีความสำคัญอย่างไรต่อการรับมือภัยพิบัติ และทำไมจึงยังเป็นอุปกรณ์ที่ทั่วโลกยังใช้อยู่ทุกวันนี้ โดยมีใจความว่า

          "การสื่อสารเพื่อการเตือนภัยแก่ประชาชนในช่วงภัยพิบัติเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เลวร้ายถึงขีดสุดที่ระบบไฟฟ้าในพื้นที่ประสบภัยล้มเหลวทั้งระบบ การสื่อสารผ่านระบบคลื่นวิทยุ (Radio Wave) จึงเป็นทางเลือกที่ทุกประเทศเลือกใช้ เนื่องจากเป็นวิธีการสื่อสารที่สามารถกระจายสัญญาณออกไปได้ไกลที่สุด โดยไม่ต้องพึ่งพาตัวกลางอย่างสายเคเบิล (Cable) หรือสายใยแก้วนำแสง (ไฟเบอร์ออฟติก; Fiber Optic) และมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นตั้งแต่เครื่องรับวิทยุแบบพกพา หรือเครื่องรับวิทยุในรถยนต์ ที่ทำให้ประชาชนสามารถรับฟังรายการโปรดของตนเองได้ทั้งในระบบคลื่นวิทยุแบบ FM. (Frequency Modulation) และ AM. (Amplitude Modulation) แม้ในเหตุการณ์ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ พ.ศ. 2554 รัฐบาลญี่ปุ่นก็เลือกใช้ระบบคลื่นวิทยุในการสื่อสารกับประชาชนของเขาเช่นกัน สำหรับ “เครื่องรับวิทยุ” (Radio Receiver) นั้น หลายคนยังติดปากคำ “วิทยุทรานซิสเตอร์” เนื่องจากเครื่องรับวิทยุในยุคเริ่มแรกนั้น ใช้ “ทรานซิสเตอร์” เป็นองค์ประกอบสำคัญในวงจรแปลงสัญญาณวิทยุให้เป็นเสียง แต่ด้วยการพัฒนาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้ในปัจจุบัน ผู้ผลิตหันไปผลิตวิทยุที่ใช้ “วงจรรวม (Integrated Circuit; IC)” ที่มีราคาถูกกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่ากันหมดแล้ว แต่คนไทยหลายคนยังคงติดปากเรียกว่า วิทยุทรานซิสเตอร์ อยู่นั่นเอง

          การสื่อสารผ่านระบบคลื่นวิทยุ ถึงแม้ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารที่ดูเก่า แต่ก็ยังเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายพื้นที่ สำหรับในประเทศไทย ผู้ขับขี่ยานพาหนะก็ยังคงใช้กันเป็นปกติ หรือในเขตชนบทชาวบ้านก็ยังใช้ทั้งเวลาอยู่บ้าน หรือออกไปทำงานตามพื้นที่ห่างไกลและสำหรับในงานบรรเทาสาธารณภัย การสื่อสารผ่านระบบคลื่นวิทยุยังคงเป็นกระดูกสันหลังในการสื่อสารระหว่างทีมปฏิบัติงานอยู่เสมอ"

          เรื่องวิทยุทรานซิสเตอร์ มันอาจจะฟังดูโบราณนะครับ แต่คุณทราบหรือไม่ว่าวิทยุกระจายเสียง (AM/FM Broadcast) และวิทยุสมัครเล่น มีความสำคัญมากเวลาเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉิน กรมอุตุนิยมวิทยา ออกอากาศข่าวพยากรณ์อากาศ ในความถี่ 6765.10 KHz Mode Upper Sideband (USB)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้