8 ข้อ บทเรียนและข้อเสนอจริยธรรมสื่อ

Last updated: 28 พ.ค. 2565  |  2673 จำนวนผู้เข้าชม  | 

8 ข้อ บทเรียนและข้อเสนอจริยธรรมสื่อ

8 ข้อ บทเรียนและข้อเสนอจริยธรรมขององค์กรกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

          เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 สำนักงาน กสทช. ได้จัดการประชุมหารือ เรื่อง “การนำเสนอข่าวภายใต้มาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพและประโยชน์สาธารณะ” สืบเนื่องมาจากการนําเสนอข่าวเหตุการณ์ที่นายจีรพันธ์ เพชรขาว (หมอปลา) และสื่อมวลชนเข้าพบหลวงปู่แสง ญาณวโร ในประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่ามีการละเมิดธรรมวินัย การรายงานข่าวดังกล่าวเกี่ยวข้องกับจริยธรรมสื่อจนก่อให้เกิดกระแสวิพากวิจารณ์อย่างกว้างขวาง การประชุมครั้งนี้ได้เชิญกองบรรณาธิการข่าวจากช่องรายการทีวีดิจิทัลทุกช่อง และผู้แทนจากองค์กรวิชาชีพสื่อ ได้แก่ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย โดยมีศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นประธานในการประชุม

          วัตถุประสงค์การประชุมหารือในครั้งนี้เป็นไปเพื่อให้รับทราบข้อเท็จจริง ความคืบหน้าในการดำเนินการของกองบรรณาธิการข่าวช่องรายการทีวีดิจิทัล และกระบวนการกลั่นกรองข่าวก่อนเผยแพร่ต่อสาธารณะ รวมถึงความรับผิดชอบของสื่อในการทำหน้าที่ ตลอดจนแลกเปลี่ยนแนวทางการสร้างกลไกความร่วมมือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำและส่งเสริมให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดีต่อไปในอนาคต ที่ประชุมมีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนบทเรียนในการกำกับดูแลกันเองต่อกรณีที่เกิดขึ้นและข้อเสนอแนะต่อ กสทช. โดยมีประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

          การดำเนินการของกองบรรณาธิการข่าวและสถานีต้นสังกัด ผู้เข้าร่วมการประชุมที่เป็นตัวแทนจากช่องรายการได้ให้ข้อมูลว่า ภายหลังจากที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการให้ได้มาซึ่งเนื้อหาข่าวและเผยแพร่ออกอากาศ กองบรรณาธิการข่าวและสถานีต้นสังกัดที่เกี่ยวข้องกับการรายงานข่าวชิ้นนี้เป็นหลัก ได้เริ่มกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น และพักงานผู้สื่อข่าวภาคสนามตั้งแต่ 7-15 วัน รวมถึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนทั้งผู้สื่อข่าวภาคสนาม หัวหน้าข่าว รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดบทลงโทษต่อไป ทั้งนี้มีบางสถานีได้ลงโทษขั้นเด็ดขาดโดยให้ผู้สื่อข่าวพ้นสภาพจากการเป็นนักข่าวของช่อง การดำเนินการในข้างต้นใช้ระยะเวลา 1-3 วัน หลังการรายงานข่าวเกิดขึ้น สำหรับกระบวนการตรวจสอบภายใน แต่ละองค์กรสื่อหรือช่องรายการทีวีดิจิทัลดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเห็นว่าเป็นเรื่องภายในองค์กรจึงกระทำโดยไม่เปิดเผยรายละเอียด แต่บางช่องรายการแจ้งข้อมูลในส่วนที่เปิดเผยได้ เช่น ขั้นตอนการสอบสวนภายในเพื่อกำหนดโทษ มีการส่งคำตัดสินให้นักสิทธิมนุษยชนได้ตรวจสอบความเหมาะสม มีการแจ้งบทลงโทษที่กำหนดให้นักข่าวทราบและพิจารณาก่อน รวมทั้งแจ้งสิทธิแก่ผู้สื่อข่าวว่าสามารถอุทธรณ์ได้หากเห็นว่าบทลงโทษไม่เป็นธรรม

          การเรียนรู้ด้านวิชาชีพและจริยธรรมสื่อภายในองค์กรสื่อ ผู้แทนองค์กรสื่อบางแห่งยอมรับว่าปัจจุบันผู้ประกาศข่าวหรือผู้ดำเนินรายการทั้งที่ได้รับความนิยมสูงหรืออยู่ในระดับทั่วไป มีบางส่วนได้ผ่านการอบรมหรือเรียนรู้เกี่ยวกับด้านวิชาชีพและจริยธรรมสื่อ ขณะที่บางส่วนไม่เคยเข้าอบรมหรือเพิ่มเติมมุมมองด้านวิชาชีพแต่อย่างใด โดยเฉพาะผู้ดำเนินรายการบางรายที่ได้รับความนิยมสูง

          บทบาทองค์กรวิชาชีพสื่อกับการกำกับดูแลกันเอง ปัจจุบันมีองค์กรวิชาชีพสื่อหลายแห่งที่วางแนวทางกำกับดูแลกันเอง สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น องค์กรวิชาชีพแห่งหนึ่งให้ข้อมูลว่า เมื่อได้รับทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ประสานไปยังสมาชิกช่องที่รายงานข่าวและเป็นสมาชิกขององค์กรเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง ทั้งนี้ในเบื้องต้นได้ออกแถลงการณ์ท้วงติงการรายงานข่าวในกรณีดังกล่าวในภาพรวมเพื่อสื่อสารกับสาธารณะ ส่วนองค์กรวิชาชีพอีกแห่งหนึ่งได้ส่งหนังสือไปยังช่องรายการที่เป็นสมาชิกขอให้ใช้กลไกตรวจสอบกรณีดังกล่าวภายใน 30 วัน ตามกติกาที่กำหนดไว้ระหว่างกัน โดยช่องรายการที่เป็นสมาชิกจะมีข้อบังคับให้ตั้งคณะกรรมการด้านจริยธรรม ประกอบด้วยผู้บริหาร กองบรรณาธิการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ด้านกฎหมาย ด้านคุ้มครองผู้บริโภค นักวิชาการสื่อ คณะกรรมการชุดนี้จะทำการสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน และจะรายงานผลให้องค์กรวิชาชีพรับทราบอีกครั้ง

          ประเด็นการส่งเสริมและพัฒนานักวิชาชีพสื่อ ผู้เข้าร่วมประชุมเสนอว่า กสทช. ควรพิจารณาแนวทางการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมนักวิชาชีพสื่อ เช่น การใช้กลไกกองทุน กทปส. ในการจัดทำแผนส่งเสริมและพัฒนานักวิชาชีพสื่อ โดยกำหนดแผนในเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Planning) เพื่อให้เห็นทิศทางในการพัฒนาสื่อมวลชนในแต่ละส่วน ตลอดจนส่งเสริมให้มีคุณภาพและปริมาณของข่าวสืบสวนสอบสวนที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเพิ่มมากขึ้น คลายล็อคเรตติ้งปริมาณไปสู่คุณภาพ ที่ผ่านมาสื่อทีวีดิจิทัลหลายช่องรายการได้รับรายได้จำนวนไม่น้อยจากการเผยแพร่ข่าวสารของหน่วยงานรัฐตามสัญญาจัดซื้อจัดจ้างลักษณะต่างๆ แต่มีข้อจำกัดสำหรับช่องรายการที่พยายามสร้างเนื้อหาในเชิงคุณภาพอาจไม่ได้รับโอกาสในทางธุรกิจนี้จากหน่วยงานรัฐ เนื่องจากเรตติ้งช่องรายการไม่สูงพอ การคลายล็อคเงื่อนไขให้หน่วยงานรัฐคำนึงถึงการเผยแพร่สื่อที่ต้องการสื่อสารไปยังประชาชนโดยเปิดให้สามารถออกอากาศในช่องรายการที่มีเรตติ้งเชิงคุณภาพด้วย จะเป็นแนวทางที่ส่งเสริมด้านเนื้อหารายการได้ในอีกทางหนึ่ง สร้างกลไกกำกับและเสริมแรงสื่อ ผู้เข้าร่วมประชุมเสนอว่า กสทช.ควรพิจารณาการใช้ระบบตรวจสอบโดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นวิทยาศาสตร์ มาประกอบการกำกับดูแลคุณภาพและเนื้อหารายการ การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยทำให้การกำกับดูแลมีสถิติและข้อมูลอ้างอิง และหากมีการแพร่ภาพข่าวสารที่ละเมิดจริยธรรมหรือขัดจรรยาบรรณก็จะตรวจสอบได้ อีกทั้งยังสามารถรายงานไปยังช่องรายการต่างๆ ได้ทันที ตลอดจนใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นเครื่องมือให้รางวัลเป็น social credit เพื่อส่งเสริมองค์กรสื่อให้มีการทำรายการข่าวที่มีคุณภาพ

          เสนอจัดตั้งคณะทำงานส่งเสริมรายการข่าวให้มีคุณภาพ ผู้เข้าร่วมประชุมเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อส่งเสริมรายการข่าวให้มีคุณภาพโดยให้มีองค์ประกอบที่มาจากองค์กรวิชาชีพ องค์กรสื่อ และกสทช.เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับ Technology disruption ในปัจจุบันมีส่วนทำให้บางช่องรายการต้องลดจำนวนบุคลากรซึ่งมีผลต่อคุณภาพข่าวที่เผยแพร่ออกไป จึงควรแสวงหาแนวทางต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาและป้องกันการลดคุณภาพข่าว สะท้อนแนวทางกำกับดูแลของ กสทช. ในอดีต ตัวแทนกองบรรณาธิการข่าวบางแห่ง ให้ความเห็นว่า แนวทางกำกับดูแลของ กสทช. แต่เดิมมีการตีความและใช้อำนาจทางกฎหมายตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 แบบครอบจักรวาล ส่งผลทำให้การรายงานข่าวถูกจำกัดเสรีภาพด้วยการลงโทษปรับโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เป็นการนำเสนอข่าวการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะและการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน การใช้อำนาจของกสทช.ดังกล่าวมีส่วนที่ทำให้หลายช่องรายการเปลี่ยนทิศทางไปทำข่าวอื่นๆ ที่ง่ายกว่า มีเรตติ้งสูงกว่า ดังนั้นประเด็นการกำกับเนื้อหารายการ จึงเป็นโจทย์สำคัญสำหรับ กสทช. ชุดใหม่ว่าจะทำอย่างไรเพื่อส่งเสริมให้สื่อมีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร

          ในช่วงท้ายของการประชุม ศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า การหารือในครั้งนี้ทำให้ได้วิเคราะห์ร่วมกันถึงภาพรวมของปัญหา ทั้งในเรื่องของกระบวนการทำข่าว การดูแลของกองบรรณาธิการ การแข่งขันกันระหว่างช่องรายการโทรทัศน์ เรื่องเรตติ้งซึ่งเป็นปัญหาของอุตสาหกรรมโทรทัศน์อยู่แล้ว ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนนำไปสู่การสร้างดราม่า การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ตกเป็นข่าว 

          “กองบรรณาธิการทุกช่องรายการที่เป็นผู้ถือใบอนุญาตจาก กสทช. ได้ให้ความร่วมมือมาหารือกัน ประเด็นหารือจึงมีทั้งเรื่องในระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าถูกครอบงำด้วยระบบในเชิงพาณิชย์ ระบบเรตติ้งจึงเป็นปัญหาสำคัญ แม้ที่ผ่านมา กสทช. จะมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาในเรื่องค่าใช้จ่ายโครงข่ายส่งสัญญาณและค่าธรรมเนียม แต่ต้นทุนในการประกอบกิจการโทรทัศน์ยังคงสูงมาก ทำให้เกิดการแข่งขันสูงตามมา โดยมีระบบเรตติ้งเป็นตัวขับเคลื่อน นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องการทำงานของสื่อซึ่งสะท้อนกระบวนการทำข่าวว่าวางอยู่บนมาตรฐานจริยธรรมมากน้อยเพียงใด มีข้อจำกัดอย่างไร รวมถึงความไม่รู้ของนักข่าวบางส่วน หรือการตรวจสอบที่ดีของกองบรรณาธิการ เหล่านี้เป็นโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับการทำงานข่าว”

          อย่างไรก็ตามข้ออภิปรายทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแล ทั้งส่วนของการกำกับดูแลขององค์กรวิชาชีพที่เรียกว่า Self-regulation และขององค์กรสื่อเองว่าจะมีมาตรฐานจริยธรรมที่จะจัดการเรื่องที่เป็นการละเมิดในลักษณะนี้มากน้อยเท่าใด ทั้งนี้ในระยะต่อไป กสทช. พยายามจะลดเรื่องการกำกับดูทางกฎหมายโดยการลงโทษให้น้อยลง และมีกระบวนการส่งเสริมแก่ทั้งนักวิชาชีพ องค์กรสื่อ และองค์กรวิชาชีพสื่อเพื่อให้ดำรงอยู่บนมาตรฐานทางจริยธรรม

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้