การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง การถอดกับดักคอร์รัปชันในอนาคต : คิดใหม่ ทำใหม่ ให้เกิดผล

Last updated: 21 ส.ค. 2564  |  3543 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง การถอดกับดักคอร์รัปชันในอนาคต : คิดใหม่ ทำใหม่ ให้เกิดผล

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง “ถอดกับดักคอร์รัปชันในอนาคต : คิดใหม่ ทำใหม่ ให้เกิดผล” โดย นายณัฐปกรณ์ ประเสริฐสุข เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ สำนักงาน ป.ป.ช.

วันที่ 20 สิงหาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับชาติ เรื่อง “ถอดกับดัก คอร์รัปชัน : The Big Push in Corruption Trap” ในช่วงบ่ายเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง “ถอดกับดักคอร์รัปชันในอนาคต : คิดใหม่ ทำใหม่ ให้เกิดผล” โดย นายณัฐปกรณ์ ประเสริฐสุข เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ สำนักงาน ป.ป.ช.

นายทศพร รัตนมาศทิพย์ กล่าวว่าผลของการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ผ่านมาในภาพรวม เห็นว่าประเทศไทยซึ่งได้ลงนามและให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (UNCAC) มากว่า 10 ปีแล้วตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2546 และวันที่ 1 มีนาคม 2554 โดยไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาให้ครบถ้วน แต่ปรากฎว่ายังมีความล่าช้าในการปฏิบัติตามอนุสัญญา ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ที่ได้เข้าเป็นสมาชิกได้มีการออกกฎหมายลูกมารองรับตามที่พันธกรณีกำหนดและดำเนินการเกินหน้าเราไปมาก ไทยสอบตกไม่ผ่านเกณฑ์ CPI (ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาได้คะแนนเพียงระหว่าง 35-38%) และยังคงอยู่ในลำดับท้ายๆ ของโลกทั้งในเรื่องคะแนนและลำดับมาโดยตลอด จุดอ่อนอาทิเช่น สถิติคำกล่าวหาร้องเรียนทุจริตที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับ ตัวเลขอยู่ในระดับมากว่าหนึ่งหมื่นเรื่องต่อปี ขณะเดียวกันก็มีเรื่องร้องเรียนตกค้างอยู่ระหว่างไต่สวน หรือรวบรวมข้อมูลมากกว่า 12,000 คดี นอกจากนี้การบังคับใช้กฎหมายถือว่ายังไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีคดีทุจริตค้างพิจารณาอยู่ในศาลจำนวนมาก และศาลยังต้องใช้เวลานานกว่าจะมีคำพิพากษา นี่คือส่วนหนึ่งของกับดักที่ไทยติดอยู่

แม้ว่าไทยจะมีการรวบอำนาจการบริหารแบบเบ็ดเสร็จและทำการปฎิรูปด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมาระยะหนึ่ง โดยดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) โดยมีการกำหนด 6 ยุทธศาสตร์ที่ใช้เป็นเครื่องมือที่สาคัญ ในการช่วยสนับสนุนและผลักดันแผนยุทธศาสตร์ในระดับต่างๆ แต่ผลลัพธ์กลับไม่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายได้ ดัชนีชี้วัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันไม่กระเตื้องหรือดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เจตจำนงค์ทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริตของผู้บริหารยังคงเป็นพิธีการและแนวนโยบายกว้างๆ มากกว่าการนำไปปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรม การขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านการทุจริตขาดประสิทธิภาพ รัฐบาลไม่มีการจัดสรรงบประมาณอย่างพอเพียง ทำให้ไม่สามารถก่อให้เกิดภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งในจำนวนที่มากพอ และไม่มีความต่อเนื่องในการดำเนินการ ผู้บริหารประเทศยังไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองให้เป็นที่ประจักษ์ในสายตาประชาชน โดยปรากฎกรณีที่ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล และนักการเมือง รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายตรวจสอบการทุจริต ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดจริยธรรมขั้นร้ายแรงหรือทุจริตในหลายกรณี ความล่าช้าในการอำนวยความยุติธรรม รวมทั้งหลายกรณีที่ไม่สามารถพิสูจน์ความผิดในชั้นศาล ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งในส่วนของข้าราชการและประชาชนในการดำเนินการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ

นายทศพร กล่าวว่านอกจากนี้ไทยยังถูกแรงกดทับ (Pressure) เพิ่มจากการได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนไม่มีงานทำเพิ่มมากขึ้น ความปั่นป่วนทางด้านเทคโนโลยีทวีความรุนแรง ความแตกแยกทางสังคมเห็นอย่างเด่นชัดผ่านการแสดงออกทางการเมืองและการแสดงพลังของภาคประชาสังคม (Rational) บวกกับความไม่สมบูรณ์ของกระบวนการอำนวยความยุติธรรมและข้อจำกัดในการทำงาน ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Opportunity) สิ่งเหล่านี้ ทำให้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยจึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1. ทำให้ผลสุดท้ายที่ต้องการ (ENDS) : ซึ่งอาจเรียกว่า เป้าหมาย (Objective) เปลี่ยนจากเดิม มาเป็น “ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน” เป็นหลัก ปัญหาเรื่องความสุข ความสมบูรณ์ ความปลอดภัย ความมั่นคง ความอยู่เย็นเป็นสุข จะต้องคำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของประชาชนภายในชาติเป็นสำคัญ รวมทั้งต้องคำนึงถึงความมีศักดิ์ศรีและการได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกด้วย โดยมุ่งเน้นการสร้างความแข็งแกร่งของพลังอำนาจของชาติ ในทุกๆด้าน ได้แก่ ด้านการเมือง  ด้านเศรษฐกิจ  ด้านสังคมจิตวิทยา ด้านการป้องกันประเทศ  ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ด้านการพลังงาน ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม และ ด้านการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ เป็นต้น โดยมีตัวชี้วัดที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว เช่น จำนวนหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะที่ลดลง จำนวนบริษัทที่เปิดใหม่เพิ่มขึ้น นวัตกรรมใหม่ที่เพิ่มขึ้น การจัดเก็บภาษีลดลง ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้น จำนวนเงินบริจาคผ่านระบบ e-donation เพิ่มขี้น อัตราการเข้าสู่ภาคแรงงานของผู้สำเร็จการศึกษาสูงขึ้น มีการขยายตัวของภาคบริการ

2. ดำเนินการด้วยวิธีการหรือแนวทางในการปฏิบัติแบบใหม่ (Ways) ที่อาจเรียกว่า แนวทางปฎิบัติ (Course of Actions) ที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยให้ผู้พิจารณาว่าจะยอมรับ/หรือไม่ยอมรับแนวทางแบบเดิม หรือผู้ที่ตัดสินใจเลือกทำตามแนวทางการปฎิบัติแบบใหม่ (ปฎิรูป) จะต้อง มีองค์ประกอบเป็น คณะกรรมการตามหลักการบริหารแบบที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “ประธานคณะกรรมการปฎิรูป” จะต้องมาจากตัวแทนของภาคประชาชน ที่ไม่เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือเคยเป็นผู้บริหารราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบในงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยตรง  เพราะจะประเมินผลงานที่ผ่านมาในฐานะคนนอกได้ดีกว่า   แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เคยบริหารราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบในงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยตรง  สามารถเข้าเป็นคณะกรรมการปฎิรูปได้โดยมีสัดส่วนที่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการ 

การกำหนดงบประมาณตามเกณฑ์ ที่ผูกกับสถานการณ์จริงไม่ขึ้นกับดุลยพินิจ (Scorecard)

การอบรมสัมมนาที่ไม่ใช่การดำเนินการด้านเดียว ในรูปแบบห้องเรียน แต่เป็นการดำเนินการในหลายมิติ ทั้งในลักษณะการพบหน้าโดยตรง (Face-to-Face Class Room) ระบบการสอนแบบออนไลน์ (Virtual Classroom)  และการเข้าให้ผู้เรียนเข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มกิจกรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ต่อต้านทุจริต (Virtual Anti-corruption Community) โดยมีการสื่อสารระหว่างกันตลอดการเป็นภาคีเครือข่าย

วิธีใหม่ที่ใช้ในการป้องกัน

ด้านการเรียนการสอน การออกแบบระบบการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาแบบใหม่ (Redesign) ที่ไม่ใช้การสอนในแบบการบรรยายทางเดียว (Lecture) หรือการเกณฑ์คนเข้ารับการอบรมสัมนา แต่เป็นการจัดให้มีผู้อำนวยการสอน (Course Facilitator) ที่ผ่านการอบรมทั้งในด้านทฤษฎีและแนวทางการปฎิบัติมาอย่างดีแล้ว และให้การเรียนการสอนเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างแท้จริง

การแบ่งเขตแนวป้องกันที่ชัดเจนระหว่างฝ่ายตรวจสอบและฝ่ายบริหาร (Lines of Defense) สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ สำนักงาน ป.ป.ท. อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี อันเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง จึงเห็นควรให้มีการปรับเปลี่ยนองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งในส่วนของ สำนักงาน ป.ป.ท. ให้ขึ้นตรงกับ สำนักงาน ป.ป.ช. ที่เป็นหน่วยงานหลักตามรัฐธรรมนูญ ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้

เน้นการเปิดเผย (Declare) มากกว่าการตรวจสอบ เป็นหลักใหญ่ การดำเนินการตรวจสอบในปัจจุบันเกิดขึ้นหลังจากได้รับข้อร้องเรียนหรือถูกกล่าวหาแล้ว ในขณะที่การดำเนินการให้มีการเข้าถึงข้อมูล หรือเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินทั้งที่มีอยู่ในประเทศและต่างประเทศ ในส่วนของข้าราชการและนักการเมืองหรือผู้บริหารท้องถิ่นมีน้อย จึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาให้มีการเปิดเผยในทุกๆปี

วิธีใหม่ที่ใช้ในการตรวจสอบ

เป็นการใช้เทคโนโลยี และพัฒนาทรัพยากรที่รัฐลงทุนไปแล้ว เช่น โครงการเน็ตประชารัฐ ระบบคลาว์กลาง อีเล็คโทรนิคแพลทฟอร์มต่างๆ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

เปลี่ยนการใช้การตั้งข้อสันนิษฐานไม่เด็ดขาด(Rebuttable Presumption) เป็นเครื่องมือเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาว่าทุจริต นำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ แทนการผลักภาระให้เจ้าหน้าที่ไปหาหลักฐานมาชี้มูลความผิดเช่นคดีอาญาทั่วไป

วิธีใหม่ที่ใช้ในการปราบปราม

การเปิดรับการแจ้งเบาะแสผ่านจดหมายลงทะเบียน โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อผู้ส่ง เพื่อให้เกิดการสื่อสารสองทาง ระหว่างผู้แจ้งเบาะแส และ เจ้าหน้าที่รับผิดชอบ เสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้แจ้งเบาะแส (Whistleblower) โดยประกาศยกเลิกหรือปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่เป็นปัญหาอุปสรรค (ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2558) เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมการกำหนด ประเภท  สถานประกอบการที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรการป้องกัน และปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการ และ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2558) เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการ)

ปัจจุบันปรากฎกรณีมีผู้ร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสการทุจริตที่ประสงค์จะส่งหนังสือร้องเรียนถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนและประสงค์จะปกปิด ชื่อ-นามสกุล และที่อยู่ของผู้ร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแส แต่ในทางปฎิบัติเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์มีกฎระเบียบภายในที่ต้องยึดถือปฎิบัติในการที่จะต้องจัดทำรายละเอียดชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวประชาชนหรือเลขหนังสือเดินทางของผู้ส่งหรือผู้ฝาก โดยนำแนวทางปฎิบัติตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบกิจการขนส่งสินค้าหรือพัสดุภัณฑ์ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีมาใช้ เป็นเหตุให้ผู้ร้องเรียนไม่กล้าส่งเรื่องร้องเรียน หรือแจ้งเบาะแสการทุจริต

การกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินการ ทั้งในส่วนของผู้ปฎิบัติเมื่อได้รับเรื่อง คณะกรรมการที่พิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติดำเนินการ รวมทั้ง ชี้มูลความผิด ที่ต้องมีความชัดเจนโดยใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยหากมีการดำเนินการที่ใช้เวลามากกว่าที่กำหนดให้ขออนุมัติยกเว้นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในทุกกรณีและให้ถือเป็น KPI ในการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

วิธีใหม่ที่ใช้ในการและติดตามทรัพย์สินคืน การให้มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินทั้งในและต่างประเทศ ในแบบแสดงภาษีเงินได้ของประชาชน (ภงด.) และแบบแสดงบัญชีของข้าราชการและนักการเมือง

3. เครื่องมือหรือสิ่งที่นำมาใช้ให้บรรลุวัตถุประสงค์ (Means)  ซึ่งอาจเรียกว่า ทรัพยากรที่จำเป็น (Resource) ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ควรให้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทุจริตและรู้ปัญหาดี คือผู้แทนจากเอกชนและภาคประชาสังคมเข้าร่วมบริหารจัดการด้วย  ซึ่งจะเป็นการเสริมอำนาจและสร้างศักยภาพ (empowerment) ในการบริหารจัดการ (Participatory Governance/Collaborative Governance)

ปัจจุบัน พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 9 กำหนด ให้คณะกรรมการป.ป.ช. ประกอบด้วยกรรมการ 9 คน โดยผ่านกระบวนการสรรหาที่มีคณะกรรมการ 5 คนประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

นายทศพร กล่าวว่าแม้ว่าในการสรรหาจะมีการเปิดโอกาสให้ อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจและเอกชน รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย เข้าเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ได้ แต่ในอดีตที่ผ่านมา กรรมการ ป.ป.ช. ส่วนใหญ่ล้วนเป็นอดีตผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งในสายตำรวจ อัยการ ศาล และข้าราชการประจำ แต่การแก้ไขปัญหาด้วยการกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยระบุบังคับให้ต้องมีผู้แทนจากภาคประชาชน ธุรกิจเอกชน หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่มีคุณสมบัติ จะช่วยให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือได้ดียิ่งขึ้น และเป็นการเปิดรับแนวคิดและวิธีการใหม่ๆ ได้ดีกว่า การนำเอาบุคคลที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการปัญหาการทุจริตที่อาจถือว่าล้มเหลว หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะที่เป็นผู้นำองค์กรที่ไม่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอดีต  หรือไม่อาจมีความคิดนอกกรอบ เข้ามาเป็นผู้นำในการปฎิรูปหรือบริหารจัดการปัญหาที่ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่พบว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่มีในอดีต

ใช้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนโดยมีกฎหมายและงบประมาณรองรับในการบริหารจัดการ (Empowerment) เช่น โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ที่เป็นภาคบังคับไม่ใช่ระบบการคัดเลือกโครงการ

โดยการใช้เทคโนโลยีและวิธีการสมัยใหม่ (National Anti-corruption Platform)

การทำข้อตกลงความร่วมมือทางอาญา (Bilateral Agreement) กับกลุ่มประเทศเป้าหมาย ระหว่างรอการออกกฎหมายลูกตามพันธสัญญา UNCAC เพื่อให้มีการยึดอายัดทรัพย์สินที่ได้มาโดยทุจริตในต่างประเทศ รวมทั้งการยอมรับ/รับรองข้อมูลการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมในต่างประเทศ เข้าเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีของศาลไทย นายทศพร กล่าวเพิ่มเติม

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้