Last updated: 17 ธ.ค. 2563 | 5739 จำนวนผู้เข้าชม |
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ย้ำชัดความเร็วที่ 80 โอกาสตายสูงถึงร้อยละ 42 ความเร็วที่ 100 กม./ชม. โอกาสตายสูงถึงร้อยละ 80 ขณะที่ตำรวจทางหลวงเผยอุบัติเหตุปีใหม่ตายจากขับเร็วถึง 124 คน บาดเจ็บพันกว่าคน เตือนขับให้ช้าลง เดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย
วันที่ 16 ธันวาคม 2563 ณ โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี - สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดแถลงข่าว “ลดเร็ว ลดเสี่ยง กลับบ้านปลอดภัย ปีใหม่ 2564” เพื่อสร้างความร่วมมือรณรงค์ปลุกจิตสำนึกขับขี่ปลอดภัย เตรียมพร้อมก่อนเดินทาง ลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า สสส. และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน เห็นความสำคัญของปัญหาการเจ็บตายจากอุบัติเหตุทางถนน จึงร่วมกันสร้างความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยมากว่า 18 ปี โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนกลไกการทำงานให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดการบูรณาการกันในระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น สนับสนุนงานวิชาการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและสังคม สื่อสารรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นเตือนและสร้างความตระหนัก และปัจจุบันก็ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดจาก “รถจักรยานยนต์” ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุร้อยละ 80 และ 2 ใน 3 ของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมีสาเหตุมาจาก “การขับรถเร็ว” การขับด้วยความเร็วสูงคนขับจะควบคุมรถหรือหลบหลีกอุบัติเหตุได้ยากขึ้น และเพิ่มความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ จึงควรเว้นระยะห่างจากคันหน้าไม่ต่ำกว่า 60 เมตร เพื่อระยะการหยุดรถที่ปลอดภัย
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ กล่าวต่อว่า เทศกาลปีใหม่ 2564 ที่กำลังจะมาถึงนี้ สสส. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย สื่อสารรณรงค์เพื่อกระตุ้นเตือนการขับขี่อย่างปลอดภัย ภายใต้ แคมเปญรณรงค์ ‘ลดเร็ว ลดเสี่ยง’ และ ‘กลับบ้านปลอดภัย’ โดยเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงของการขับเร็วที่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าไม่เร็ว แต่ความจริงคือ การขับที่ความเร็ว 80 กม./ชม. ต้องเผื่อระยะเบรกกว่า 38 เมตร จึงจะปลอดภัย และยังรวมกับระยะสายตาจะมองเห็นและสมองจะสั่งการให้มือกำเบรก อีก 2.3 วินาที หรือคิดเป็นระยะเบรกที่เพิ่มมาอีก 15 เมตร ซึ่งไม่มีทางเบรกทันแน่นอน ดังนั้น ความเร็วที่ 80 ก็สามารถทำให้ผู้ขับขี่มีโอกาสเสียชีวิตได้ และส่วนสปอตกลับบ้านปลอดภัย เรื่อง “กล้อง CCTV” มุ่งหวังกระตุ้นเตือน กระตุก ให้ผู้ขับขี่ทุกคน ได้ตระหนักว่า “อุบัติเหตุ ทุกคนมีส่วนที่จะเลือกให้เกิด หรือลดความเสี่ยงเองได้ ขอให้ปฏิบัติตามกฎจราจร” ปีใหม่นี้ สสส. ขอให้ทุกท่าน “ลดเร็ว ลดเสี่ยง...กลับบ้านปลอดภัย”
พ.ต.อ.ชาคริต มงคลศรี รองผู้บังคับการตำรวจทางหลวง กองบังคับการตำรวจทางหลวง กล่าวว่า สถิติอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 ที่ผ่านมา อุบัติเหตุจากการขับรถเร็วเกิดขึ้น 1,043 ครั้ง เสียชีวิต 124 คน บาดเจ็บ1,196 คน ส่วนการบังคับใช้กฎหมายดำเนินคดีมาตรการ 10 ข้อหาหลัก รวม 43,492 ราย ได้แก่ การขับเร็วเกินกำหนด 35,711 ราย ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร 1,752 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 1,073 ราย ขับรถย้อนศร 913 ราย ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ 1,177 ราย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 961 ราย แซงในที่คับขัน 499 ราย เมาสุรา 469 ราย มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย 586 ราย และใช้โทรศัพท์ในขณะขับรถ 351 ราย
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า จากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน รายงานสถิติอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 3,421 ครั้ง บาดเจ็บ 3,499 คน และเสียชีวิต 373 ราย สาเหตุเสียชีวิตสูงสุดคือ ขับเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 30.23 จึงอยากเตือนให้ผู้ขับขี่ให้ใช้ความเร็วที่ช้าลงแต่มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ต้องเตรียมความพร้อมก่อนเดินทาง ตรวจเช็คสภาพรถ พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับรถ หรือยาที่มีผลข้างเคียงทำให้ง่วง ศึกษาเส้นทางพักเป็นระยะลดความเมื่อยล้า อุบัติเหตุคือเหตุที่ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า แต่ทุกคนสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงลงได้
รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย โดยใช้เทคนิคการสืบสวนสาเหตุในเชิงลึกของอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ทั้งหมด 1,000 เคส ระหว่างปี พ.ศ. 2559 ถึง 2563 พบสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ คือ ผู้ใช้รถขาดทักษะในการคาดการณ์ การควบคุมรถและไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้ความเร็วของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เป็นสาเหตุทำให้เกิดความรุนแรงของอุบัติเหตุ โดยพบว่าเมื่อรถจักรยานยนต์ใช้ความเร็วขณะขับขี่สูงกว่า 80 กม.ต่อชม. โอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 42 และเมื่อขับเร็วสูงกว่า 100 กม.ต่อชม. มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 80 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายิ่งขับรถด้วยความเร็วสูงมากขึ้นเท่าไร เมื่อเกิดอุบัติเหตุโอกาสเสียชีวิตจะสูงมากขึ้นเท่านั้น
นายพงษ์ชนะ คงเพิ่มพูล อายุ 27 ปี ผู้ประสบอุบัติเหตุเฉียดตายจากการขับเร็ว เล่าย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้วว่าตัวเองดื่มสังสรรค์อย่างหนักกับที่ทำงานจนถึงตี 3 และขับรถจักรยานยนต์กลับบ้านเกิดวูบหลับทำให้รถเสียหลักชนท้ายรถขนขยะที่จอดข้างทาง ตอนนั้นขับประมาณ 80-90 กม./ชม. แต่บวกกับดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปด้วยจึงทำให้ไม่สามารถควบคุมรถได้ ส่งผลให้ขาหักต้องใส่เหล็กดามตั้งแต่หัวเข่าจนถึงเอว นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเกือบเดือนและต้องลาออกจากงานที่ทำ รู้สึกเสียใจและเสียดายงานมาก ต่อมาเกิดเหตุการณ์ครั้งที่ 2 ซ้ำขึ้นอีกคือ ตัวเองไปงานเลี้ยงวันเกิดเพื่อนและมีการดื่มฉลอง ฝืนขับเพราะคิดว่ายังไหว ขับด้วยความเร็วเสียหลักล้มข้างทาง ศีรษะกระแทกฟุตบาทและสลบไป ครั้งนี้สาหัสกว่าเดิมคือ มีอาการเลือดคลั่งในสมอง ต้องกินยาและพักฟื้นอยู่นานกว่าจะหายเป็นปกติ จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาตนเองรู้สึกว่าการขับเร็วและดื่ม เสี่ยงตายมาก ตัวเองเกือบเอาชีวิตไม่รอดมาสองครั้ง จึงตั้งปณิธานว่าจะไม่ดื่มและไม่ขับเร็วอีกต่อไป เพราะไม่รู้ว่าหากเกิดเหตุขึ้นอีกตนเองจะโชคดีรอดชีวิตเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่