นายกฯ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สู้วิกฤติโควิด-19

Last updated: 24 มี.ค. 2563  |  3899 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นายกฯ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สู้วิกฤติโควิด-19

นายกฯ แถลงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขวิกฤตการระบาด "โควิด-19" ทั่วประเทศ โดยมีผลในวันที่ 26 มีนาคม 2563 แต่ยังไม่ใช่การ "เคอร์ฟิว"

  • พรก.ฉุกเฉินที่ประกาศออกมาเป็นเพียงระยะที่ 1 เพื่อลดการแพร่บาดเชื้อไวรัส โควิด-19 โดยเบื้องต้นเป็นการขอความร่วมมือ เน้นตั้งด่าน ยังไม่ประกาศเคอร์ฟิวหรือห้ามออกจากบ้าน ส่วนจะปิดหรือบังคับเป็นระยะต่อไป
  • หลังจากนี้จะมีการจัดตั้งคณะทำงานที่รับผิดชอบรวมทั้งประกาศข้อกำหนดต่างๆ โดยเบื้องต้นประกาศข้อกำหนดจะเกี่ยวข้องกับการสกัดกั้นการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นหลัก
  • มีการยกระดับศูนย์โควิด-19 เป็นศูนย์ฉุกเฉินในการแก้ไขปัญหา เป็น ศูนย์อำนวยการฉุกเฉิน หรือ “ศอฉ.โควิด” มีหน้าที่รวมกฎหมายทุกอย่างที่มีมาอยู่ที่นายกรัฐมนตรี เพื่อบูรณาการอย่างแท้จริง โดยจะมีการประชุมทุกเช้า เพื่อนำข้อเสนอจากทุกส่วน มารายงานและกำหนดข้อกำหนดเมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
  • มีการจัดตั้งผู้รับผิดชอบภายในศูนย์ว่าจะจัดตั้งและมีข้อกำหนด ที่ออกข้อกำหนดได้ตลอดเวลา ออกได้ทุกวัน
  • เตือนหากมีการใช้สื่อโซเซียลที่ปิดเบือนจะมีความผิด รวมถึงการขึ้นราคาสินค้าก็จะถูกดำเนินคดีด้วย
  • ขออย่าเพิ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา หากกลับจะต้องเจอมาตรการต่างๆในการตรวจสอบระหว่างทางอีกมากมาย
  • ขออย่าตื่นตระหนกให้เป็นปัญหา ฟังข่าวสารมี 2 ช่องทางแต่ละวัน ทั้งทางโซเชี่ยล และศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ มาแถลงทั้งวัน ให้สอบถามให้ตรงกับเวลาดังกล่าว แล้วโฆษกของ ศอฉ. จะสรุปประเด็นสำคัญของแต่ละวันให้ทราบ ขอให้รับฟังช่องทางของรัฐบาลเป็นหลัก

 

 

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเร้นซ์ ว่า จะประกาศใช้ "พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน" เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยจะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป กำหนดระยะเวลา 1 เดือน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวเพิ่มเติมว่าวันนี้มีมติที่ประชุมเห็นชอบในหลายมาตรการ โดยกระทรวงการคลังจะมีการชี้แจงมาตรการโดยจะเน้นหนัก ในภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีเงินใช้จ่ายในช่วงนี้ ขอให้ใช้เงินอย่างประหยัดและพอเพียงเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยรัฐบาลจะดูแลไปในระยะเวลาหนึ่งจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยจะแบ่งเป็นระยะๆอาจจะ 2 เดือน 3 เดือน และมาตรการจะทยอยออกมาตามลำดับ ไม่ใช่ว่าทำครั้งเดียวแล้วจบ เพราะเราไม่ทราบว่าสถานการณ์จะยาวนานแค่ไหนอย่างไร ซึ่งวันนี้จากสถานการณ์ที่กระทรวงสาธารณสุข รายงานมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ 70 ปี ที่ผ่านการรักษามานานพอสมควรแล้ว โดยจะมีการชี้แจงจากกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง ถึงสาเหตุในการเสียชีวิตต่างๆ โดยเราจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลด้วย ซึ่งบางคนโรคโควิดหายไปแล้วแต่มีโรคประจำตัวอยู่ด้วยขอให้ฟังแพทย์แถลง

นายกฯ กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่อยากจะชี้แจงให้ทราบมาตรการออกไปแล้วในระยะที่ 2 โดยมาตรการต่างๆ เหล่านี้ จำเป็นต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์และจำเป็นต้องหาเงินให้เพียงพอ วันนี้กำลังหามาตรการในเรื่องอาจต้องใช้เงินกู้บ้าง เพราะงบประมาณ ปี 63 ค่อนข้างจำกัดอยู่ในขณะนี้ ส่วนงบกลางฯ ก็ใช้จ่ายไปพอสมควรแล้วและเหลือจำนวนน้อยมาก จึงจำเป็นต้องหามาตรการเข้าระบบให้มากยิ่งขึ้นและจำเป็นต้องจัดทำพ.ร.ก.การกู้เงินต่างๆ ของกระทรวงการคลัง ในระยะนี้และเพื่อเตรียมในระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ต่อไป เพราะเราจำเป็นต้องดูแลประชาชนให้มากที่สุดทั้งในส่วนของสถานประกอบการเพื่อให้ลดการเลย์ออฟพนักงานต่างๆ และมาตรการรองรับผู้ประกอบการให้เกิดสภาพคล่อง ทั้งมาตรการทางการเงินการคลังและภาษีต่างๆ ซึ่งในส่วนของธนาคารรัฐก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้

"เรื่องสุดท้ายที่จะเรียนให้ทราบคือรัฐบาลได้พิจารณามาโดยตลอด เรื่องการประกาศ พ.ร.ก.การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 วันนี้เราจะเอา พ.ร.ก. ฉบับนี้มาประกาศ ซึ่งผมจะประกาศใช้ในวันมะรืนนี้ (26 มีนาคม 2563) วันนี้ได้หารือในมาตรการอื่นๆที่จำเป็นแล้ว โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือการจัดระเบียบในการทำงาน และการยกระดับศูนย์โควิด ของเราเป็นศูนย์ฉุกเฉินในเรื่องการแก้ปัญหาโควิดนี้ หรือ ศอฉ.โควิด และมีคณะทำงานข้างล่างสอดประสานกันโดยมีปลัดกระทรวงของแต่ละภารกิจเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นหัวหน้าส่วนงานรับผิดชอบ ซึ่งจะติดตามมาตรการที่ประกาศออกไปแล้วเดิม ที่อาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอะไรก็ว่ากันไปในส่วนที่ 2 ก่อนจะเสนอมาตรการมาเพิ่มเติม เพื่อให้ศอฉ.โดยผมเป็นคนอนุมัติ เพราะอำนาจต่างๆทั้งหมดกฎหมายทั้งหมด จะมาอยู่ที่นายกเพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริงในการทำงานตรงนี้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จะมีการประชุมทุกเช้าเวลา 09.30 น. โดยนำหัวหน้าส่วนราชการทั้งหมดมาเสนอและรายงานสถานการณ์ให้ทราบ ถ้ามีอะไรเพิ่มเติมก็จะประกาศออกไป ส่วนข้อกำหนดเมื่อมีการประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการจัดตั้งคณะทำงานผู้รับผิดชอบต่อไปถึงการจัดการภายในศูนย์ ว่าจะทำงานกันอย่างไรประเด็นสำคัญคือข้อกำหนดที่ทุกคนอยากทราบว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งข้อกำหนดสามารถออกได้ตลอดเวลาเป็นรายวัน โดยระยะที่ 1 ที่จะประกาศในวันที่ 26 มี.ค.นี้ เป็นเรื่องการทำอย่างไรให้ลดการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในการขอความร่วมมือหรือการบังคับบ้าง แต่ในส่วนจะปิดหรือเปิดอะไรต่างๆนั้น เป็นมาตรการในระยะต่อไปที่อาจเข้มข้นขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนตนไม่อยากให้ใครเดือดร้อน ในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพของประชาชนโดยรวม ยืนยันรัฐบาลมีความมุ่งมั่นเต็มที่ในการดูแลสุขภาพประชาชนให้ได้มากที่สุด จึงต้องขอความร่วมมือในประเด็นต่างๆ ที่ได้ขอความร่วมมือไปแล้วด้วย โดยเฉพาะขอความร่วมมืออย่าเพิ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา หากกลับก็ต้องเจอมาตรการต่างๆ ในการคัดกรองและการตรวจสอบระหว่างทางมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลทำมาโดยตลอด และต้องให้เวลาประชาชนในการปรับตัวไปด้วย

"ประเด็นสำคัญวันนี้คือการกลับตัวที่บ้านหรือในพื้นที่ ถ้าจำเป็น ก็มีสถานที่กักตัวของรัฐเพิ่มเติมขึ้น ในกรณีมีการแพร่ระบาดหรือตรวจสอบพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น เราจำเป็นต้องหามาตรการอื่นมารองรับ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสนาม พื้นที่กักตัวขนาดใหญ่เป็นร้อยเป็นพัน และการจัดหาวิชาการต่างๆให้เพียงพอ ทุกวันนี้ก็มีการช่วยเหลือจากต่างประเทศเข้ามา แต่ก็อาจจะไม่ค่อยเพียงพอ กับสิ่งที่เราต้องการในขณะนี้ จึงต้องมีการจัดหาจัดซื้อเพิ่มเติม ประเด็นคือจะซื้อจากที่ไหนในเมื่อทุกประเทศก็มีความต้องการในสิ่งต่างๆเหล่านี้จำนวนมากอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นการหารือกันในแต่ละวันในศอฉ. ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ถ้าตื่นตระหนกมันก็คือปัญหาเราต้องฟังรัฐบาล โดยการให้ข่าวและข้อมูลมี 2 ช่องทางคือการให้ข้อมูลในโซเชียลต่างๆรวมถึงทวิตเตอร์ โดยตั้งแต่เช้าถึงเย็นจะมีศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ ทั้งงของสาธารณสุขกระทรวงคมนาคมกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีการแถลงทั้งวันและจะมีช่องทางให้ทุกคนสอบถามหรือโทรศัพท์เข้ามา ในส่วนของวาระสรุปก็เป็นเรื่องของโฆษกฯ และศอฉ. จะสรุปประเด็นสำคัญในแต่ละวันให้ทราบ จึงขอให้รับฟังช่องทางของรัฐบาลเป็นหลัก" นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ภายหลังประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินไปแล้ว ขอให้ทุกคนได้ระมัดระวัง ในเรื่องการใช้สื่อโซเชียล การให้ข่าวสารข้อมูลบิดเบือนเดิมใช้กฎหมายปกติอยู่ แต่กฎหมายนี้จะแต่งตั้งเจ้าพนักงานทั้งหมด ทั้งพลเรือนตำรวจและทหารรวมทั้งจัดตั้งด่านตรวจจุดสกัดเตรียมกำลังและเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือส่วนราชการต่างๆในการทำงาน ดังนั้นก็ต้องเจอกับการตั้งด่านตรวจจุดสกัดต่างๆ และจะมีการปรับมาตรการต่างๆให้เข้มงวดขึ้น หากยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ก็จำเป็นต้องปิดล็อคต่างๆทั้งหมด โดยทุกอย่างขอให้เป็นไปตามขั้นตอน

"ฝากสื่อและผู้ที่ใช้โซเชียลในทางที่บิดเบือน ต้องได้รับการตรวจสอบทั้งสิ้นจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งทุกคนมีอำนาจในทางคดีอาญาด้วยในขณะนี้ สามารถจับกุมดำเนินคดีได้ไม่ว่าจะเป็นการกักตุนสินค้าหรืออะไรต่างๆ รวมทั้งการขึ้นราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค จะมีความเข้มงวดไปเรื่อยๆต้องขอเตือนทุกคนไว้ด้วย ผมเข้าใจทุกคนรักประเทศหมด แต่ต้องรักในวิธีการที่ถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมายความเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องขอร้องอย่างเดียวในขณะนี้ ขอบคุณ สวัสดี" นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า จะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นระยะเวลาเท่าไหร่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เบื้องต้น 1 เดือนก่อน

ทั้งนี้ ในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ระบุไว้ว่า ในกรณีที่มีความจําเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอํานาจออกข้อกําหนด ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กําหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น และในมาตรา 18 ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกําหนดประกาศหรือคําสั่งที่ออกตามมาตรา 9 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

อ่านฉบับเต็ม พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้