Last updated: 16 ก.พ. 2563 | 4552 จำนวนผู้เข้าชม |
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน มอบกล้าไม้ เร่งช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละอองจิ๋ว PM 2.5 ด้านกรมป่าไม้ จับมือ คนเมืองนนทบุรี ปลูกต้นไม้ โดยนำร่อง รณรงค์แจกกล้าไม้ 1 พันต้น ให้ช่วยกันปลูกเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดฝุ่นพิษ
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประธานในพิธีมอบพันธุ์กล้าไม้ ในโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดมลพิษจากฝุ่นละออง 101,010 ต้น นนทบุรี ณ หน้าศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ร่วมด้วย ดร.สุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้า ปลูกต้นไม้ 101,010 ต้น ภายในปี 2563 เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ทั่วจังหวัดนนทบุรี แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยวันนี้กรมป่าไม้ ได้จัดเตรียมกล้าไม้พันธุ์กว่า 1,000 ต้น เพื่อนำมาแจกจ่ายให้กับประชาชนจังหวัดนนทบุรี
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในภาพรวมของประเทศและพื้นที่วิกฤติโดยบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันทุกภาคส่วนด้วย 3 มาตรการ คือ
มาตรการที่ 1 เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (การแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนและในช่วงวิกฤติ ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน) ใช้ระบบบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ หรือ Single Command ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดมีอำนาจในการสั่งการแก้ปัญหาให้ทันท่วงที
มาตรการที่ 2 ป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง ทั้งจากยานพาหนะ การเผาในที่โล่ง การก่อสร้างและผังเมือง โรงงานอุตสาหกรรม และครัวเรือน และ
มาตรการที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ การพัฒนาระบบคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น เพิ่มประสิทธิภาพและเทคโนโลยีการตรวจวัด พัฒนาระบบฐานข้อมูลและผลกระทบต่อสุขภาพ ตลอดจนเพิ่มเครือข่ายติดตามตรวจสอบให้ครอบคลุม 77 จังหวัด ภายในปี 2567 สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาว ยังคงเป็นภารกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทย เพื่อใช้เป็นปอดของเมือง ให้ต้นไม้ดักจับฝุ่นและเป็นตัวกรองคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญ ที่กระทรวงฯ เร่งดำเนินการ โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 55% ของพื้นที่ประเทศ
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับจังหวัดนนทบุรีได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยออกมาตรการตรวจควันดำจากยานพาหนะที่ทำให้เกิดมลพิษ ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรม ห้ามการเผาในที่โล่งแจ้ง ควบคุมการก่อสร้าง ตลอดจนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดมลพิษจากฝุ่นละออง ภายใต้โครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดมลพิษจากฝุ่นละออง (101,010 ต้น นนทบุรี) ซึ่งเปิดตัวโครงการครั้งแรกในวันนี้ โดยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคเอกชน ร่วมใจกันปลูกต้นไม้ในพื้นที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ สถานศึกษา โรงพยาบาล ที่สาธารณะ ศาสนสถานและอาคารบ้านเรือน เพื่อช่วยลดผลกระทบฝุ่น PM 2.5 สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับจังหวัดนนทบุรี สอดคล้องกับโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศและคืนสุขภาพที่ดีให้ประชาชน
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนของกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ได้ร่วมสนับสนุนการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองจิ๋ว PM2.5 มาตั้งแต่ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 เป็นต้นมา ในโครงการ “ร่วมใจไทย ปลูกต้นไม้ เพื่อแผ่นดิน” พร้อมทั้งร่วมลงทะเบียน ในโครงการผ่านเว็บไซต์ของกรมป่าไม้ https://plant.forest.go.th ซึ่งในขณะนี้ มีประชาชนปลูกต้นไม้ทั่วประเทศไปแล้วมากกว่า 12,732,401 ต้น
สำหรับในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี มีผู้ร่วมลงทะเบียนปลูกต้นไม้ในโครงการนี้ จำนวน 84,222 ต้น ซึ่งทางกรมป่าไม้ คาดว่ากิจกรรมในวันนี้ จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้ชาวจังหวัดนนทบุรี ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและหันมาร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา โดยการปลูกต้นไม้ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว และเป็นการช่วยลดปัญหาการเกิดฝุ่นละอองจิ๋ว PM 2.5
นอกจากนี้ ประชาชนที่มีความต้องการที่จะปลูกต้นไม้ก็สามารถขอรับกล้าไม้ได้ที่หน่วยงานเพาะชำกล้าไม้ของกรมป่าไม้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ส่วนเพาะชำกล้าไม้ โทรศัพท์ 02 5614292 ต่อ 5551 และสำหรับกิจกรรมในวันนี้ กรมป่าไม้ ได้จัดเตรียมกล้าไม้จำนวน 1,000 ต้น อาทิ ต้นหูกวาง ทองอุไร นนทรี แคนา เป็นต้น มาสำหรับแจกจ่ายให้กับผู้ที่เข้าร่วมงานได้นำกลับไปปลูก และกรมป่าไม้ ได้จัดเจ้าหน้าที่รุกขกร (หมอต้นไม้) เพื่อตรวจรักษาต้นไม้ พร้อมทั้งสาธิตวิธีการตัดแต่งกิ่งต้นไม้ ตามหลักวิชาการภายในบริเวณพื้นที่จัดงาน
18 ส.ค. 2567