เลขาธิการ ป.ป.ช. ย้ำคดีสำคัญจะแล้วเสร็จในปี 2563 อย่างน้อย 15 คดี

Last updated: 18 พ.ย. 2562  |  3451 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เลขาธิการ ป.ป.ช. ย้ำคดีสำคัญจะแล้วเสร็จในปี 2563 อย่างน้อย 15 คดี

เลขาธิการ ป.ป.ช. ย้ำชัด 2 ทศวรรษ ป.ป.ช. พร้อมเดินหน้า มุ่งมั่น สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ภายใต้ค่านิยม “ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ” และให้คำมั่นคดีสำคัญจะแล้วเสร็จในปี 2563 อย่างน้อย 15 คดี

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เป็นหน่วยงานที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 เป็นต้นมา ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. มีความมุ่งมั่นในการปราบปรามการทุจริตควบคู่ไปกับการปลูกจิตสำนึกในด้านคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่คนในประเทศชาติ เพื่อสร้างกระแสสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562  ณ ห้องนนทบุรี 2 สำนักงาน ป.ป.ช. (สนามบินน้ำ) อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงข่าวในวาระครบรอบ 20 ปี สำนักงาน ป.ป.ช. “2 ทศวรรษ ป.ป.ช. ก้าวสู่องค์กรดิจิทัล” กับความมุ่งมั่นสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต”

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่าสาเหตุสำคัญในการทุจริตของสังคมไทย ประกอบด้วย

  1. โครงสร้างของสังคมระบบอุปถัมภ์เอื้อประโยชน์ในทางมิชอบให้แก่ญาติ มิตร พวกพ้อง และมีค่านิยมที่ไม่เหมาะสม เช่น อำนาจนิยม พวกพ้องนิยม สุขนิยม บุญคุณนิยม
  2. ความเพิกเฉยของประชาชนต่อการทุจริตขาดความตื่นตัวในการตรวจสอบ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ ไม่รู้ถึงอันตรายของการทุจริต เบื่อหน่าย ชาชิน
  3. กระบวนการยุติธรรมไม่เข้มแข็ง การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด ล่าช้า เลือกปฏิบัติ
  4. การแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลและนักการเมือง
  5. กระแสบริโภคนิยมวัตถุนิยมและปัจเจกบุคคล (ความโลภ)
  6. ปัญหาการแยกแยะผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม

ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยมีพัฒนาการอย่างไรบ้างในเรื่องของการทุจริตนับแต่ก่อตั้งสำนักงาน ป.ป.ช. สามารถแบ่งได้เป็น 3 ยุค ดังนี้

ยุคที่ 1 ยุครัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540  สำนักงาน ป.ป.ช. ก่อตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 กฎหมายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2540 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ในแง่กฎหมายถือเป็นการปฏิรูปครั้งสำคัญของการป้องกันการปราบปรามการทุจริต เพราะกำหนดให้มีองค์กรอิสระหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้มีหน้าที่ตรวจสอบไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับ รวมทั้งกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และให้มีการตรวจสอบอย่างจริงจังด้วย โดยมีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขึ้นมาพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงมีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่งเมื่อมีพฤติการณ์ส่อว่าจะกระทำการทุจริตฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงด้วย ในด้านการตรวจสอบทรัพย์สิน มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบโดยมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรวินิจฉัย คดีสำคัญเกี่ยวกับบัญชีทรัพย์สินจำนวนมาก

การทุจริตในยุคนี้เป็นการทุจริตทั้งระดับชาติและท้องถิ่นที่เกิดจากการใช้อำนาจโดยมิชอบ การดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในยุคที่ 1 นี้ถือว่าประสบความสำเร็จเพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาลงโทษจำคุกนักการเมืองระดับรัฐมนตรีได้หลายราย เมื่อเทียบกับการดำเนินการสอบสวนในระบบเดิมโดยใช้พนักงานสอบสวน เช่น นายรักเกียรติ นายวัฒนา อัศวเหม (หนี) แต่ก็เกิดปัญหาเรื่องปริมาณงานคดีทุจริตที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องดำเนินการมีจำนวนมาก ตลอดจนการทำให้คดีใหญ่ๆ ต้องใช้ระยะเวลา

ยุคที่ 2 ยุครัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้มีการแก้ไขปัญหาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับผิดชอบเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับอำนวยการต้นขึ้นไป โดยระดับต่ำกว่าให้สำนักงาน ป.ป.ท.ดำเนินการแทน ในด้านการตรวจสอบทรัพย์สินให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมากขึ้น คือมีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. และให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย หากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจไม่ยื่นบัญชีหรือยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเท็จแทนศาลรัฐธรรมนูญ

ลักษณะของการทุจริตในช่วงนี้เป็นการทุจริตในเชิงนโยบายและผลประโยชน์ทับซ้อน การทุจริตในยุคนี้จึงจับได้ยากนอกจากนั้นยังมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากคดีทุจริตมีจำนวนมากระบบการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ระบบไต่สวนโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะหรืออนุกรรมการไต่สวน ซึ่งมีกรรมการ ป.ป.ช. หนึ่งคนไปทำหน้าที่ประธานอนุกรรมการการขับเคลื่อนงานปราบปรามการทุจริต จึงทำให้ยังไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร สำหรับการดำเนินงานด้านปราบปรามการทุจริตในช่วงนี้มีคดีสำคัญที่ดำเนินการสำเร็จ คือ คดีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เป็นต้น

ยุคที่ 3 ยุครัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 234 กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีมาตรการในการทำงานให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม โดยอาจมอบหมายคดีที่เป็นความผิดที่มิใช่ความผิดร้ายแรงหรือเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางระดับให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตรดำเนินการแทนได้ นอกจากนั้น ยังกำหนดระยะเวลาการทำงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ขยายระยะเวลาได้ 1 ปี รวมแล้วไม่เกิน 3 ปี ยกเว้นความผิดที่ต้องเดินทางไปไต่สวนในต่างประเทศหรือขอให้หน่วยงานของต่างประเทศดำเนินการไต่สวนให้หรือขอรับเอกสารหลักฐานจากต่างประเทศจะขยายระยะเวลาออกไปเท่าที่จำเป็นก็ได้ ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 บังคับใช้ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นมา สำหรับรูปแบบของการทุจริตเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ เช่น การแต่งตั้งโยกย้าย การจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น

จากสถิติผลการดำเนินงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – พ.ศ. 2562 ด้านปราบปรามการทุจริต พบว่าจำนวนเรื่องกล่าวหาคงเหลือสะสม ณ วันสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 (ณ วันที่ 30 กันยายน 2562) เพิ่มขึ้น แต่เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มของจำนวนเรื่องกล่าวหาคงค้างตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2562 แล้วพบว่า สำนักงาน ป.ป.ช. กลับมีแนวโน้มของจำนวนเรื่องกล่าวหาคงค้างลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยคิดเป็นร้อยละ 85.24, 81.62, 81.22 และ 75.55 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงประสิทธิภาพในการบริหารงานคดีของสำนักงาน ป.ป.ช. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เป็นอย่างดี สำหรับการดำเนินงานด้านปราบปรามการทุจริตในช่วงนี้มีคดีีสำคัญ เช่น เงินทอนวัด โครงการก่อสร้างโรงพัก ก่อสร้างสนามฟุตซอล จัดซื้อรถดับเพลิงและอุปกรณ์ บ้านเอื้ออาทร Motif of Light เงินบริจาคจากผู้ปกครองโรงเรียนสามเสน ก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม เป็นต้น

เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้คำมั่นว่าในปี พ.ศ. 2563 จะดำเนินการไต่สวนคดีเหล่านี้ให้แล้วเสร็จ ได้แก่

  1. คดีทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและของประเทศ ปี 2556
  2. คดีการปราศรัยของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ปี 2557
  3. คดีทุจริตในการดำเนินการก่อสร้างฝายและเพาะชำปลูกหญ้าแฝกตามโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ (ฝายแม้ว)
  4. คดีการอนุญาตเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการเมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ
  5. คดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ภาค 2
  6. คดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังแบบรัฐต่อรัฐ
  7. คดีทุจริตเงินทอนวัด (36/47)
  8. คดีทุจริตในการจัดซื้อเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด GT200 และอัลฟ่า 6 (17/20)
  9. คดีทุจริตสร้างสนามกีฬาฟุตซอล
  10. คดีทุจริตเรียกรับเงินจากผู้นำเข้ารถยนต์อิสระทำให้ผู้นำเข้าเสียภาษีน้อยลง (รถหรู)
  11. คดีทุจริตในโครงการจัดหาที่ดินเพื่อปลูกปาล์มและผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย
  12. คดีทุจริตในการซื้อขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน Boeing B777 – 200 ER ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (โรลส์-รอยซ์)
  13. คดีทุจริตในการออกโฉนดที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขารวก-ป่าเขาเมือง และในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ
  14. คดีทุจริตในการออกโฉนดที่ดินตำบลเขากะรน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด
  15. คดีทุจริตในการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนเขาเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเตียนและป่าเขื่อนลั่น อำเภอสีคิ้วจังหวัดนครราชสีมา

เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวต่อไปว่า งานสำคัญที่เป็นเรื่องท้าทายการทำงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในลำดับต่อไป ได้แก่

  1. เร่งรัดการดำเนินคดีค้างเก่าและใหม่ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
  2. พัฒนาบุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช. ให้มีประสิทธิภาพเป็นมืออาชีพทั้งงานปราบปราม งานตรวจสอบทรัพย์สิน และงานป้องกัน
  3. พัฒนาสถาบันการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สัญญา ธรรมศักดิ์ ให้เป็นสถาบันป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระดับสากล
  4. การป้องกันการทุจริตเชิงรุกอย่างเป็นรูปธรรม
  5. เป็นศูนย์กลางข้อมูลงานปราบปรามการทุจริต
  6. หน่วยงานของรัฐเป็นองค์กรที่มีคุณธรรมความโปร่งใสมากกว่าร้อยละ 80 ในปี 2565
  7. เป็นองค์กรดิจิทัลด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่ได้รับการยอมรับในระดับชาติและระดับสากล

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวทิ้งท้ายว่า ในโอกาสครบรอบ 20 ปี ของสำนักงาน ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกระดับพร้อมเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ภายใต้ค่านิยม “ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ” ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. ว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย การพิจารณาวินิจฉัยคดีทุกอย่างต้องมีพยานหลักฐานและจะดำเนินการอย่างรวดเร็ว เป็นมืออาชีพ มีประสิทธิภาพ ตามความมุ่งหวังของประชาชน เพื่อขจัดทุจริตให้หมดจากสังคมไทย

ทั้งนี้ ประชาชนทุกคนต้องตระหนักว่าท่านคือคนสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต และสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เนื่องจากการแก้ไขปัญหาการทุจริตจะสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ทั้งด้านการป้องกันและปราบปรามอย่างสมดุล ตลอดจนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยการประสานความร่วมมืออย่างบูรณาการ ดังนั้น หากประชานพบเห็นการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โปรดแจ้งสายด่วน ป.ป.ช. 1205 หรือร้องเรียนผ่านเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. หรือแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ณ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้