ป.ป.ช.จัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต

Last updated: 30 ก.ค. 2562  |  1723 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ป.ป.ช.จัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต

ป.ป.ช. จัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สมาชิกชมรม STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริต (ภาคกลาง) สู้สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ร่วมหาสุดยอดความสำเร็จผลงานชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต

สำนักงาน ป.ป.ช. จัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สมาชิกชมรม STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริต (ภาคกลาง) สู่สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ระหว่างวันที่  25 - 26  กรกฎาคม  2562 ณ โรงแรมเมธาวลัยชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 260 คน ประกอบด้วย โค้ช STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต กรรมการชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต สมาชิกชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต ตลอดจนแกนนำเยาวชน STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริต ในพื้นที่ภาคกลาง จำนวน 25 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวมถึงผู้บริหารและเจ้าพนักงานป้องกันการทุจริต (Super coach) จากสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดในพื้นที่ ภาค 1, ภาค 2, ภาค 7 และกรุงเทพมหานคร

กิจกรรมวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ประกอบด้วย การกล่าวต้อนรับกรรมการ ป.ป.ช. ผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช.และผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ โดย นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี, พิธีเปิดกิจกรรมฯ โดย นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช. พร้อมมอบนโยบาย หัวข้อ “นโยบายการป้องกัน การป้องปราม ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.” กล่าวรายงานโดย นางแก้วตา ชัยมะโน ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต, การบรรยายในหัวข้อ “ชมรม STRONG ร่วมสร้างประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติ ต้านทุจริต” โดย รศ.ดร.มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ป.ป.ช., การอภิปรายกลุ่ม หัวข้อ “รอบ 2 ปี ของโครงการ STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต โดย ตัวแทนสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงราย และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดำเนินการอภิปรายโดย นายติณณภพ พัฒนะ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตปฏิบัติการ สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต, การอภิปรายกลุ่ม หัวข้อ “รอบ 1 ปี ของโครงการ STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต โดย ตัวแทนสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดลพบุรี จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดสกลนคร จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดพัทลุง ดำเนินการอภิปรายโดย นายณัฐปกรณ์ ประเสริฐสุข เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตปฏิบัติการ สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต

กิจกรรมวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ประกอบด้วย การบรรยายในหัวข้อ “โครงการ STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริต ในปีต่อไป ร่วมสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต” โดย นายอุทิศ บัวศรี  รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และการนำเสนอผลการอภิปรายกลุ่ม หัวข้อ “ความก้าวหน้าและความสำเร็จของงาน STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริต” ซึ่งมีตัวแทนชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต จังหวัดอ่างทอง จังหวัดตราด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพมหานคร ขึ้นเวทีนำเสนอความก้าวหน้าและความสำเร็จในการดำเนินงานของชมรมฯดำเนินการอภิปราย โดย ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต

การจัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สมาชิกชมรม STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริต (ภาคกลาง) สู่สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมหนึ่ง ภายใต้โครงการ STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันการป้องกันการทุจริตเชิงรุก ด้วยการสร้างเสริมให้บุคคลและชุมชนมีจิตพอเพียงต้านทุจริตด้วยกรอบ STRONG จนกระทั่งพัฒนาเป็นวัฒนธรรมต้านทุจริต ทั้งนี้ เพื่อปลูกฝังจิตพอเพียงต้านทุจริต ด้วยโมเดล STRONG แก่ประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด เพื่อปลูกฝังวิธีคิดแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม รวมทั้งความอายและไม่ทนต่อการทุจริตแก่ประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด เพื่อขยายผลการป้องกันการทุจริตเชิงรุก ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด เพื่อขยายผลการรับรู้การทุจริตต่อประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด และร่วมมือกับองค์กรต่างๆ หรือชมรมอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในการต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ โดยไม่ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง

โครงการ STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริต ถือเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจด้านป้องกันการทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3  (พ.ศ. 2560 - 2564) ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสอดคล้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดหน้าที่และอำนาจแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับภารกิจการป้องกันการทุจริต ด้วยกลไกที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่

  1. การกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริต
  2. การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
  3. การป้องกันเหตุที่อาจนำไปสู่การทุจริตหรือส่อว่าอาจมีการทุจริต

เกี่ยวกับการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจตามมาตรา 33 มุ่งเน้นการส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตด้วยการกำหนดมาตรการและกลไกที่จำเป็นต่อการดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกัน เพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครอง รวมทั้งจัดให้มีช่องทางการแจ้งข้อมูล เบาะแส หรือพยานหลักฐานสำหรับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยช่องทางดังกล่าวต้องมีวิธีการที่ง่าย สะดวก ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก และไม่ก่อผลร้ายกับผู้แจ้งดังกล่าว รวมทั้งดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริต ตลอดจนเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต ส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายของการทุจริต รวมถึงค่านิยมที่เน้นการพึ่งพาระบบอุปถัมภ์ในสังคม เพื่อให้เกิดการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังต้องรับฟังข้อเสนอแนะจากประชาชนเพื่อนำไปปรับปรุงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้