รายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม 2561

Last updated: 13 ธ.ค. 2561  |  2166 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

คนไทยเป็นคนใจบุญ นอกจากงานวัด งานบุญ งานกุศลต่าง ๆ ที่ประชาชนมักเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก รวมทั้ง "งานกาชาด" และ "งานฤดูหนาว" ด้วย หลายคนอาจไม่รู้ที่มานะครับ ว่า "งานฤดูหนาว" ในอดีตกับงาน "อุ่นไอรัก" มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร วันนี้ผมจึงอยากจะเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ย้อนไปเมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัด "งานฤดูหนาว" ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อหารายได้สมทบทุนก่อสร้างวัดเบญจมบพิตร มีการออกร้านของพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านายฝ่ายหน้าและฝ่ายในรวมทั้งข้าราชการ บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ตลอดจนมหรสพแบบราชสำนัก เช่น โขน ละครใน ต่อมาด้วยพระบรมราชวิเทโศบายในการให้ประชาชนได้มีโอกาสใกล้ชิดกับพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์จึงทรงตั้งร้านถ่ายรูปหลวง และทรงถ่ายรูปพระราชทานแก่เจ้านาย ข้าราชการ และชาวต่างชาติสะท้อนให้เห็นถึงความผูกพัน ระหว่างพสกนิกร และสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ที่มีมาอย่างเนิ่นนาน ก็ทำให้งานฤดูหนาวเป็นงานบุญที่สร้างความสุขอิ่มเอมใจแก่ประชาชนโดยทั่วกัน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงสืบสานพระราชปณิธานของพระบรมชนกนาถ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดงานฤดูหนาวเพื่อหารายได้สมทบทุนการกุศลต่าง ๆ ณ สนามสโมสรเสือป่า พระราชวังดุสิต แม้ว่าบางปีจะย้ายไปจัดบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐานบ้าง หรือพระราชอุทยานสราญรมย์บ้าง แต่วัตถุประสงค์ในการจัดงานก็ยังคงเดิม จวบจนถึงปัจจุบันนะครับ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังที่ผมได้กล่าวมา อีกทั้งมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานความสุขแก่ประชาชน จึงได้พระราชทานพระราชานุญาตให้จัดงานในรูปแบบของงานฤดูหนาว เพื่อหวนรำลึกถึงบรรยากาศของงานฤดูหนาว เมื่อครั้งแรกเริ่มสะท้อนความงดงามของประเพณีวัฒนธรรม และศิลปะแบบไทย ๆ ภายใต้ชื่องาน "อุ่นไอรักคลายความหนาว" ขึ้น เมื่อต้นปีนี้ในเดือนกุมภาพันธ์เป็นครั้งแรก สำหรับปีนี้ภาพความประทับใจและบรรยากาศที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสุข ช่วงเวลาที่มีค่าเหล่านี้กำลังจะกลับมา ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชานุญาต ให้จัดงานฤดูหนาวขึ้นอีกครั้งภายใต้ชื่องาน "อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์" ระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม ศกนี้ ถึงวันที่ 19 มกราคม ศกหน้า ณ พระลานพระราชวังดุสิต และสนามเสือป่า โดยพื้นที่พระลานพระราชวังดุสิต จะถูกเนรมิตให้เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการให้ทุกท่านได้ร่วมกิจกรรรมการบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ที่สำคัญและคุณค่าของสายน้ำแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อีกทั้งได้ชื่นชมความงดงามของแมกไม้นานาพันธุ์ และแบบจำลองต่าง ๆ อาทิ พระที่นั่งกลางน้ำ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เรือพระที่นั่ง และรูปแบบอาคารบ้านเรือน ไล่เรียงจากต้นกรุงรัตนโกสินทร์จวบจนถึงปัจจุบัน เป็นต้น นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมชมงานจะได้ร่วมทำบุญกับร้านค้าในพระบรมวงศานุวงศ์ และร้านจิตอาสา 904 ซึ่งมีของที่ระลึกสำหรับปีนี้ ได้แก่ บัตรอวยพรปีใหม่ ภาพวาดการ์ตูนลายพระหัตถ์พร้อมพระปรมาภิไธย เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว ความเอาใจใส่ต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ และหวังให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี ด้วยการออกกำลังกาย อันเป็นกิจกรรมที่ดี ๆ ที่สมาชิกในครอบครัวสามารถทำร่วมกันได้ ทั้งที่บ้านหรือสถานที่อื่น ๆ นอกจากนี้ ก็มีสายรัดข้อมือ เสื้อ กระบอกน้ำจักรยาน "อุ่นไอรักฯ" จำหน่ายด้วย ในงานก็จะมีทั้งตลาดบก ตลาดน้ำ และมหรสพให้ชม ตลอดจนกิจกรรมให้ร่วมทำบุญ เช่น สลากชิงโชค มัจฉาพาโชค และสลากการกุศล อีกด้วย

ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินเปิดงาน "อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์" ในวันที่ 9 ธันวาคม และจะทรงจักรยานในพิธีเปิดฯ ตามเส้นทางประวัติศาสตร์ ผ่านสายน้ำ คูคลองสำคัญต่าง ๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์ ไปยังคลองลัดโพธิ์ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกท่าน ร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ร่วมชมงาน "อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์" และร่วมขบวนจักรยานตามเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน และขอเชิญชวนให้ทุกท่านแต่งกาย ในชุดไทยย้อนยุค สมัยรัชกาลที่ 5 หรือ ชุดไทยแบบต่าง ๆ ด้วยผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น เพื่อสะท้อนวิถีไทย ผ่านเครื่องแต่งกาย ร่วมกันเที่ยวชมงานในครั้งนี้ด้วยความสุข สดใส สนุกสนานเพลิดเพลิน อีกทั้ง ได้รับความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญเกี่ยวกับสายน้ำและร่วมทำบุญโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นความสุข อิ่มบุญ อิ่มใจ ร่วมกัน

พี่น้องประชาชนที่รักครับ

รากฐานการพัฒนาชาติบ้านเมือง ก็คือชุมชน ซึ่งรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ในการสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นระดับนี้ โดยอาศัยหลักการสำคัญ ก็คือการมีส่วนร่วม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ที่เน้นการบูรณาการในการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในพื้นที่ ทุกระดับ เพื่อแก้ไขอย่างครบวงจรทุกมิติในคราเดียวกัน ทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง โดยการสร้างความตระหนักรู้ถึงหน้าที่พลเมือง บทบาทหน้าที่ของประชาชนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตาม 10 กรอบหลักในการดำเนินงาน ได้แก่ การสร้างความปรองดองด้วยสัญญาประชาคม คนไทยไม่ทิ้งกัน ชุมชนอยู่ดีมีสุข วิถีไทยวิถีพอเพียง รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย รู้กลไกการบริหารราชการ รู้รักประชาธิปไตยไทยนิยม รู้เท่าทันเทคโนโลยี ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด และที่สำคัญ การขับเคลื่อนในระดับล่าง จะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เลย หากไม่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ ในระดับต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยต้องเชื่อมโยงแผนงาน โครงการของตนเข้าไปในแผนของตำบล อำเภอ จังหวัด กลุ่มจังหวัด ภูมิภาค และประเทศ ให้ได้นะครับ

ดังนั้น กลไกในการขับเคลื่อนโครงการไทยนิยม ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องมีในทุกระดับ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ทั้งในระดับพื้นที่ ก็จะมีทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบล ทีมผู้ดูแลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทีมหมอประชารัฐสุขใจ ทีมปฏิบัติการกระทรวงเกษตรฯ ทีมคณะกรรมการหมู่บ้าน รวมทั้ง คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่ทั้งหมดจำนวน 4 ครั้ง ครอบคลุม 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร หรือกว่า 82,000 หมู่บ้าน ชุมชน ทั่วทั้งประเทศ มีประชาชนเข้าร่วมเวทีประชาคม จำนวนทั้งสิ้น 8.7 ล้านคน สำหรับสร้างการรับรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน และขอความร่วมมือตามกรอบหลักที่ผมกล่าวไปแล้ว อีกส่วนที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องการจะบอกพี่น้องประชาชน ก็คือ เสียงสะท้อนจากประชาชน โดยการรับฟังปัญหา และความต้องการของประชาชน ซึ่งก็มีความเชื่อมโยงกับการลงพื้นที่ของผม และคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งด้วยนะครับ โดยเราพยายามจะลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องและมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้ ผมได้รับรายงานประเด็นปัญหาความต้องการของประชาชนมากกว่า 7 แสนรายการ สามารถแบ่งเป็น 6 ด้านหลัก ๆ ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุด กว่าร้อยละ 52 ด้านการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านการเกษตร ด้านความมั่นคง รวมทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการสาธารณสุขด้วย

จากความต้องการของพี่น้องประชาชน ในแต่ละชุมชนทั่วประเทศกว่า 7 แสนรายการดังกล่าว รัฐบาลได้นำกลับมาเป็นการบ้าน ให้ทุกกระทรวงร่วมกันถอดรหัส จัดทำเป็นรายละเอียดแผนงานสำคัญ 3 แผนงาน คือ

1. แผนงานเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งก็มีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐราว 13 ล้านคน จากการลงทะเบียนที่ผ่านมาที่ครอบคลุมถึงผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง อีกด้วย โดยดำเนินการใน 4 เรื่อง ได้แก่ การมีงานทำ การฝึกอาชีพ เสริมความรู้ การเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ และการเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ทั้งนี้ ก็เป็นที่มาของมาตรการต่าง ๆ ที่ผมได้กล่าวไป เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา อาทิ การช่วยเหลือค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า สำหรับครัวเรือนของผู้มีรายได้น้อย การช่วยเหลือค่าเดินทางไปรักษา พยาบาล หรือค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับสุขภาพและค่าเช่าบ้าน สำหรับผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ต้องอาศัยเวลาในการคิด หารือ และปรับปรุงตามขั้นตอนอย่างเป็นกระบวนการ เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถตอบโจทย์ ช่วยแก้ปัญหาพื้นฐานของพี่น้องผู้มีรายได้น้อยได้จริง บางคนอาจจะไม่รู้ว่าเงินเพียง 300 - 500 บาทสำหรับเขาเหล่านี้ คือ ค่าอาหารทั้งเดือน รัฐบาลจึงไม่อาจทอดทิ้งใครไว้ข้างหลังได้ เพราะรัฐบาลนี้ เป็นรัฐบาลทำเพื่อคนไทยทั้งประเทศนะครับ

สำหรับการแก้ไขปัญหา "หนี้นอกระบบ" นั้น รัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ในหลายกรณีที่ได้เข้าไปช่วยแก้ไข ก็อาจจะเป็นเรื่องการแก้ที่ปลายเหตุ ได้แก่ การเข้าไปประนีประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ แต่อีกแนวทางหนึ่งที่เราพยายามแก้ไข และเน้นให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส ในการกู้ยืมเงินทุนของพี่น้องประชาชน ก็คือการนำธุรกรรมหนี้นอกระบบเข้ามาสู่ระบบ เพื่อให้เป็นการให้กู้ยืมที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบให้แก่ประชาชนรายย่อย ซึ่งจะเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแก่ประชาชนไปด้วย ในเวลาเดียวกันทำให้กระทรวงการคลังได้อนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยประเภทใหม่ ได้แก่ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ หรือที่เรียกว่า สินเชื่อ พิโก ไฟแนนซ์ นะครับ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ ได้ ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี จำตัวเลขนี้ไว้ด้วย ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี และจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ ในการให้บริการสินเชื่อ พิโก ไฟแนนซ์ ผู้ที่จะให้สินเชื่อ หรือเจ้าหนี้ จะต้องเป็นนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท และได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง ซึ่งจะทำให้การปล่อยกู้นั้นถูกกฎหมาย สามารถให้กู้กับลูกหนี้ที่เป็นคนในพื้นที่ ที่เราก็คงจะเป็นคนคุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่แล้ว ช่วยให้สามารถประเมินความเสี่ยง รู้ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ได้ นอกจากนี้ ผู้ให้กู้ คือ เจ้าหนี้ ก็สามารถคิดดอกเบี้ยได้สูงกว่าสถาบันการเงินทั่วไป ในขณะที่ลูกหนี้ จะสามารถกู้ยืมในระบบได้ง่ายขึ้น มีความโปร่งใส เป็นธรรม โดยสามารถกู้ยืมไปใช้อุปโภค บริโภค หรือฉุกเฉินจำเป็น ในแต่ละรายจะสามารถกู้ยืมได้ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท และอาจมีหรือไม่มีหลักประกันก็ได้ แล้วแต่เจ้าหนี้จะกำหนด หรือใช้บุคคลเป็นผู้ค้ำประกันก็ได้

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่คิด แม้จะสูงกว่าสถาบันการเงินทั่วไป แต่ก็จะไม่สูงไปกว่าการออกไปกู้นอกระบบ รวมถึง การกู้ยืมก็ทำได้ง่ายกว่า และยังเป็นแบบลดต้น ลดดอก ซึ่งจะช่วยลดปัญหาในเรื่องที่ผ่อนใช้ไปนาน ๆ แล้วต้นไม่เคยลดลง จนทำให้ต้องเป็นภาระที่พอกพูน ไม่มีวันจบสิ้นได้ด้วย ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลได้ ตามเว็บไซต์กระทรวงการคลัง หรือ โทรสายด่วน 1359 ได้นะครับ

2. แผนงานปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพเป็นรายบุคคล และรายกลุ่มซึ่งจัดทำเป็นเมนูทางเลือกให้เกษตรกรตามความเหมาะสม และความสมัครใจ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ รวม 4.3 ล้านคน แบ่งออกเป็น 4 โครงการสำคัญ ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำ การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน การปศุสัตว์ และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ทั้งนี้ มีโครงการตัวอย่าง ได้แก่ โครงการเลี้ยงผึ้งโพรงเป็นอาชีพเสริมของชุมชนตําบลฉลุง จังหวัดสตูล ช่วยสร้างรายได้ 665,000 บาทต่อปี โดยสามารถขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่ 6 อําเภอได้ในอนาคต โครงการผลิตสารชีวภัณฑ์ของชุมชน 4 บ้านแก่ง จังหวัดอุตรดิตถ์ ช่วยสร้างลดต้นทุนการจัดการศัตรูพืชจาก 4,000 บาทต่อไร่ เหลือ 3,000 บาทต่อไร่ โครงการจ้างงานชลประทานสำหรับซ่อมแซม บำรุง รักษาระบบชลประทาน 140 รายการ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 16,000 บาทต่อราย และ โครงสร้างสร้างฝายชะลอนํ้า 1,300 กว่าแห่งทั้งในพื้นที่นอกเขตชลประทาน และพื้นที่ ส.ป.ก. ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทําเกษตรกรรมในพื้นที่ดังกล่าวมากกว่า 10,000 ล้านบาท เป็นต้น

และ 3. แผนงานส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชน ซึ่งประกอบด้วย 3 โครงการหลัก ได้แก่
(1) โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน หรือ หมู่บ้านชุมชนละสองแสนบาท โดยคณะกรรมการหมู่บ้านจะนำปัญหาความต้องการจากเวทีประชาคมมาดำเนินการพัฒนาพื้นที่ และต่อยอดในโครงการด้านต่าง ๆ รวมทั้งสิ้นมากกว่า 92,000 โครงการ ส่วนใหญ่ก็คงเป็นเรื่องระบบสาธารณูปโภค ร้อยละ 72 รองลงมาเป็นเรื่องการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ร้อยละ 16 นะครับ
(2) โครงการด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ซึ่งนอกจากให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP มากกว่า 32,000 ผลิตภัณฑ์ทั้งอาหาร ของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายสมุนไพร และเครื่องดื่มแล้ว ยังมีการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว การปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยว เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริการนักท่องเที่ยว การเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวแต่ละท้องถิ่น และการส่งเสริมการตลาดชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวอีกด้วย ผมได้รับรายงานว่า ช่วยให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในชุมชน เกือบ 1 ล้านคน ดึงเม็ดเงินเข้าชุมชน 900 ล้านบาท
และ (3) โครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืนโดยศาสตร์พระราชา ตามแนวทางประชารัฐ ดำเนินการโดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพและการยกระดับรายได้ให้เพิ่มขึ้นกองทุนละไม่เกิน 3 แสนบาท ได้รับอนุมัติโครงการไปแล้ว 47,000 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 71 ของเป้าหมาย ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของการจัดงานประเพณีต่าง ๆ ร้อยละ 37 นอกจากนั้น เป็นการสร้างร้านค้าชุมชน น้ำดื่มชุมชน กองทุนปุ๋ย ยา เมล็ดพันธุ์พืช ลานตากพืชผลทางการเกษตร เป็นต้น ทั้งนี้ ผมก็หวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าแผนงาน โครงการ ทั้งหลายตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ดังกล่าว นอกจากจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ที่เป็นฐานรากของบ้านเมืองแล้ว ยังจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้จุนเจือครอบครัว ไม่เป็นภาระ แต่ก็เป็นพลังส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศร่วมกัน อย่างไรก็ตาม โครงการขนาดใหญ่ที่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาค เช่นนี้ สิ่งที่ต้องพึงระวัง และต้องช่วยกันเป็นหู เป็นตาก็คือการทุจริต ที่จะเป็นมะเร็ง ในระบบราชการ และการบริหารประเทศ ผมถือว่าเป็นความผิด ทั้งผู้ให้และผู้รับ ซึ่งรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในเรื่องนี้ และต้องการให้กระบวนการยุติธรรม มีความเข้มแข็ง ในการดำเนินการต่าง ๆ โดยไม่เข้าไปแทรกแซง ดังนั้น ผมขอความร่วมมือในการแจ้งเบาะแสตามช่องทางต่าง ๆ ด้วย ประชาชนพี่น้องเกษตรกรต้องทราบถึงช่องทางการเข้าถึงมาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวของรัฐบาล เราต้องช่วยตัวเองด้วย ต้องขวนขวาย มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่เข้าใจ แล้วก็จะบอกว่าเราเข้าไม่ถึงเศรษฐกิจไม่ดี อะไรไม่ดี เพราะเราเข้าไม่ถึง เพราะเราไม่เรียนรู้ รัฐบาลหามาตรการออกไปมากมาย แต่ไม่เคยทำแบบนี้มาก็อาจจะเข้าใจยาก แต่ทุกคนต้องขวนขวายนะครับ

พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ

วันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปีถือเป็น "วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล" เป็นวันที่ไทยได้ร่วมลงนามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต เมื่อปี 2546 และสะท้อนว่าเรื่องทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาในหลายประเทศทั่วโลก โดยในปีที่ผ่านมา ค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของ 120 ประเทศ จาก 180 ของประเทศทั่วโลก ยังอยู่ต่ำกว่า 50 คะแนน ทำให้ประเทศสมาชิกคงต้องร่วมมือกัน และดำเนินการตามอนุสัญญาให้เข้มข้น เข้มแข็งยิ่งขึ้น สำหรับประเทศไทย ก็ได้มีการรณรงค์ผ่านการใช้แนวทาง และมาตรการต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องโดยตั้งแต่เริ่มปลูกฝังให้เยาวชนรู้ถึงผลเสียและ ไม่ยอมรับการทุจริต เพราะจะเป็นการเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม และสร้างความแตกแยกทางสังคม รวมทั้งสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เอาจริงเอาจังกับการปราบปรามทุจริตและมีจุดยืนที่ชัดเจนในการต่อต้านคอร์รัปชัน

สำหรับปี 2561 นี้ รัฐบาลร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. และภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้กำหนดจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ขึ้น ในวันที่ 7 ธันวาคม ซึ่งก็คือวันนี้ อย่างพร้อมเพรียงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยก่อนหน้านี้ ได้จัดกิจกรรม "เดิน วิ่งเพื่อรณรงค์ส่งเสริมคุณธรรม ราษฎร์ - รัฐร่วมใจ ไม่เอาคอร์รัปชัน" ครั้งที่ 1 ภายใต้แนวคิด "GOOD GUY RUN 2018" โดยนำหลักส่งเสริมสุขภาพ มาร่วมบูรณาการ กับการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ด้วยการแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์ ส่งเสริมความดีร่วมต้านการทุจริตและพลังความดีด้วยการซื่อสัตย์ต่อตนเอง เพราะทุกคนต้องเคารพกฎกติกา กฎหมายต่าง ๆ ทั้งปวง เพื่อให้คนทั้งประเทศได้เห็นว่าเราสามารถเริ่มต้นแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเราเอง ซึ่งก็มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมนี้มากกว่า 2,300 คน

อีกกิจกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ก็คือ การประกาศเจตนารมณ์ในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ที่รัฐบาล สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. องค์กรต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ในทุกภูมิภาค ได้จัดขึ้น เพื่อแสดงแนวคิด "Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต" ซึ่งผมได้เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตกับพี่น้อง ณ อิมแพค เมืองทองธานี ด้วย โดยหวังว่าการรณรงค์นี้จะช่วยส่งต่อพลังและปลุกกระแสสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตของไทยเรา

กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นนี้ ถือเป็นมิติใหม่ในการสร้างเจตจำนง เพื่อการแก้ไขปัญหาทุจริตร่วมกันของทุกฝ่าย โดยภาครัฐ ได้ยกเรื่องการปราบปรามการทุจริตให้เป็นวาระเร่งด่วน และวาระแห่งชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นรากฐานสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทุจริตที่ยั่งยืนของประเทศ ในส่วนของภาครัฐได้มีการดำเนินการออกแนวนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่ครอบคลุมตั้งแต่การป้องกัน หรือปลูกฝังแนวคิด การแก้ไขปัญหาและการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง โดยพยายามปรับปรุงแนวทางให้เหมาะสมและเท่าทันต่อเหตุการณ์เสมอ ทุกอย่างต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ เมื่อตรวจสอบ เมื่อมีการเห็นการทุจริต ก็ต้องร้องทุกข์กล่าวโทษให้เกิดการสืบสวน มีการสืบหาวัตถุพยาน พยานบุคคล ตามกระบวนการทางกฎหมาย ส่วนใหญ่เรามักจะร้องเรียนผ่านทางโซเชียล อาจไม่มีประโยชน์มากนัก ก็คงต้องเข้ากระบวนการ มีการร้องทุกข์กล่าวโทษ แจ้งความอะไรก็แล้วแต่ ขอให้ทุกคนได้เข้าใจกฎหมายตรงนี้ด้วยนะครับ

ล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้รับทราบผลการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและ การบริหารงานพัสดุภาครัฐ ที่ออกมาใหม่ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสร้างความโปร่งใสในธุรกรรมต่าง ๆ ของภาครัฐ และเพิ่มความเชื่อมั่นของภาคเอกชนในการร่วมงานกับภาครัฐด้วย โดยที่ผ่านมา ได้มีการออกกฎหมายลำดับรอง ในเรื่องเงื่อนไขการซื้อพัสดุโดยวิธีคัดเลือก หรือวิธีเฉพาะเจาะจง การกำหนดราคากลาง และการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ รวมถึงแนวปฏิบัติในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (หรือ e-GP) ให้มีความชัดเจน และสามารถนำมาใช้ในการปฏิบัติงานได้จริง สะท้อนจากจำนวนหน่วยงานภาครัฐที่ร่วมใช้ e-GP ในปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากปี 2560 รวมถึงผู้ค้ากับภาครัฐ ก็มาใช้งานเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 18 ก็ยังต้องเพิ่มให้มากกว่านี้ ปัจจุบันมีทั้งหมดเกือบ 250,000 ราย ซึ่งภาครัฐมุ่งที่จะปรับปรุงการปฏิบัติงานและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนงานต่าง ๆ และบริการประชาชนได้ดีขึ้น และโปร่งใสขึ้นไปพร้อม ๆ กัน นอกจากแนวปฏิบัติภายใต้การจัดซื้อจัดจ้างแบบรวมศูนย์โดยภาครัฐแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังได้จัดทำมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใน 4 ด้าน ได้แก่
(1) มาตรการด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการจัดตั้ง อปท.
(2) มาตรการด้านการบริหาร
(3) มาตรการด้านการตรวจสอบ กำกับดูแล และการมีส่วนร่วมของประชาชน
และ (4) มาตรการด้านคุณธรรม และจริยธรรม

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขกรณีร้องเรียนการทุจริตของผู้บริหารในท้องถิ่น ที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางหารือในรายละเอียดของมาตรการดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เหมาะสมต่อไป

ที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศที่เป็นปัญหาที่หยั่งรากลึก และสะสมมานานนั้น หากประชาชนคนไทยทุกคน ถือว่าเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหานี้ นอกเหนือไปจากการยึดมั่น ตั้งมั่น อยู่ในความซื่อสัตย์ คิดดี ทำดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทำตามกฎกติกาและระเบียบของสังคมแล้ว ประชาชนทุกคน ยังมีบทบาทในการช่วยเป็นหู เป็นตา ช่วยสอดส่อง ดูแล ตักเตือน และแจ้งข้อมูลให้กับภาครัฐ หากเห็นมีพฤติกรรมทุจริตเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กแค่ไหนก็ตาม อย่าปล่อยผ่านนะครับ ถือว่าไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่เกี่ยวข้องกับเรา ติติงกันอยู่ในโซเชียลอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเรื่องเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้หากไม่ได้ถูกหยุด หรือขจัดออกไปด้วยวิธีทางกฎหมายที่ถูกต้อง ก็อาจสั่งสมจนบานปลาย กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ได้ยากในที่สุด เหมือนหลาย ๆ ปัญหาที่ผ่านมาในวันนี้ นอกจากนี้ การละเลยที่จะตักเตือน ว่ากล่าวหรือแจ้งข่าว ในพฤติกรรมทุจริตของเราในวันนี้ ก็อาจกลายเป็นการปลูกฝังการยอมรับเรื่องเหล่านี้ให้กับคนรอบข้าง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่จะเป็นอนาคตของเราต่อไปนะครับ

สุดท้ายนี้ ช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ รัฐบาลมีมาตรการช็อปช่วยชาติ ซึ่งเป็นมาตรการทางภาษีเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นประจำทุกปีของพี่น้องประชาชน จำได้ไหมครับปีก่อน ๆ ที่ผ่านมาก็มีเช่นนี้นั่นแหละ อย่ามองว่าเป็นเรื่องของการเมืองเลย และใครที่ไม่มีสิทธิตรงนี้ ก็ไม่ต้องไปซื้อขนาดนั้นเพื่อจะต้องการลดภาษี ผมคิดว่าคงไม่มีใครทำแบบนั้น อย่าไปฟังคำบิดเบือนนะ นอกจากจะช่วยเหลือประชาชนตรงนี้แล้ว เรายังช่วยส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วย ในประเทศโดยรวม สินค้าเราก็ได้กำหนดไว้เพียง 3 ประเภท ด้วยกัน ได้แก่
(1) สินค้าประเภทยางล้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถจักรยาน
(2) สินค้าประเภทหนังสือ และ e-Book เพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ที่จะช่วยการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ หรือการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศ ก่อนอื่นต้องสร้างนิสัยตัวเองให้เป็นคนรักการอ่าน ผมบอกแล้วตัวหนังสือทุกตัวมีจิตวิญญาณของผู้เขียนลงไปด้วยนะครับ ลองคิดดูสิว่าทำไมเขาถึงเขียนมาอย่างนั้น หาเหตุหาผลดู ถ้าเป็นเราเราจะเขียนอย่างไร จะเข้าใจว่าอย่างไร อันนั้นเป็นการสร้างหลักคิดที่ถูกต้อง สร้างความคิดที่มีวิสัยทัศน์ ต่อเนื่อง เชื่อมโยงกระบวนการคิดได้ ถ้าเราไม่ปรับตรงนี้เราไปไม่ได้แน่นอนนะครับ
และ (3) สินค้า OTOP ซึ่งเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนโดยตรง กำหนดให้ซื้อจากผู้ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน แต่จะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ก็ได้ จึงมิได้จำกัดอยู่แค่ห้างสรรพสินค้า แต่จะช่วยกระจายรายได้ไปยังชุมชนต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ หากใครกำลังมองหาของขวัญปีใหม่อยู่ ก็อยากให้พิจารณาของที่มีคุณค่า เช่น หนังสือที่เป็นประโยชน์ต่อผู้รับ หรือสินค้า OTOP ที่ช่วยพัฒนาชุมชน ท้องถิ่นของไทยเราด้วย

สำหรับผู้ที่จะเดินทางสัญจรไป-มา คงต้องเตือนกันอีก ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ เกือบทั้งปี ต้องเตือนกันตลอด ในช่วงปีใหม่ก็จะมีการกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยว ก็ขอให้มีการเตรียมการล่วงหน้า ทั้งคนและยานพาหนะ ศึกษาเส้นทางให้ดี พักผ่อนให้เพียงพอ ขับขี่มีวินัย มีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมทาง ในเขตชุมชนก็ขอให้ใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ และจิตอาสา ก็ขอให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด ขอขอบคุณทุกคนที่เสียสละ ทั้งแรงกาย แรงใจ เวลาของตัวเองที่ต้องอยู่กับครอบครัว มาช่วยดูแล มาเป็นที่พึ่งให้กับพี่น้องประชาชนของเราด้วยทุกคนนะครับ ขอบคุณทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ พลเรือน ทหาร จิตอาสา อาสาสมัครอะไรต่าง ๆ ก็แล้วแต่ในช่วงเทศกาล

ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง จิตใจที่เบิกบาน และทุกครอบครัวมีความสุข ความอบอุ่น พร้อมหน้าพร้อมตากันนะครับ สวัสดีครับ

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้