รายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 14 กันยายน 2561

Last updated: 21 ก.ย. 2561  |  1155 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 14 กันยายน 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 14 กันยายน 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

วันนี้ ผมมีเรื่องที่น่ายินดีของบ้านเมืองมาบอกกล่าวเช่นเคย ก็คือประเทศไทยได้รับเกียรติให้ชนะการโหวต จากเวที Travel Bulletin ที่เรียกว่ารางวัล STAR AWARDS 2018 ซึ่งบรรดาผู้ประกอบการท่องเที่ยวในสหราชอาณาจักร ยกให้ประเทศไทย เป็น “แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์” ที่ดีที่สุด อีกทั้งยังเป็นลำดับที่ 2 ในประเภท “หลักสูตรการฝึกอบรมออนไลน์” เพื่อสนับสนุนกิจกรรมและบริการด้านการท่องเที่ยว ทั้งนี้ Travel Bulletin เป็นนิตยสารชั้นนำในสหราชอาณาจักร ที่นำเสนอข่าวสารในแวดวงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ตลอดจนการจัดทำกิจกรรมการฝึกอบรมต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการด้วย สำหรับ STAR AWARDS 2018 เป็นรางวัลที่มีความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับ ที่มีการจัดอันดับในลักษณะนี้ มากว่า 20 ปีแล้วครับ 

เป็นภาพพจน์ดี ๆ ของประเทศไทย ในสายตาชาวโลกอีกครั้ง หลังจากที่เราได้รับการโหวตให้เป็นประเทศที่ดีที่สุดสำหรับผู้คน อันดับ 1 ของโลก จากนิตยสารท่องเที่ยวชั้นนำสหรัฐฯ ซึ่งผมได้นำมากล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น เฉลี่ยเกือบร้อยละ 10 โดยเฉพาะช่วงหลังจากที่บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ปราศจากความขัดแย้งทางการเมืองบนท้องถนน เรามีรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 1.14 ล้านล้านบาท ในปี 2557 และคาดว่าจะมีรายได้สูงถึง 2 ล้านล้านบาทในสิ้นปีนี้ โดยในปีที่แล้วประเทศไทยมีนักท่องเที่ยว เดินทางมาเยือนเกือบ 36 ล้านคน นับว่ามากที่สุดติด 1 ใน 10 ของโลกอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ตลาดภายในประเทศ หรือการส่งเสริมให้ไทยเที่ยวไทยก็เป็นอีกนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ลงท้องถิ่นให้มากที่สุด เกิดการเชื่อมโยงเศรษฐกิจในทุกระดับตลอดห่วงโซ่อุปทาน อาทินโยบาย “เที่ยวเมืองรอง ลดหย่อนภาษีได้” ตลอดปี 2561 โดยพี่น้องประชาชนสามารถนำค่าใช้จ่าย เช่น ค่าอาหารและค่าที่พักในการท่องเที่ยว 55 เมืองรอง มาลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อคน ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 4 เดือน สำรวจปฏิทินท่องเที่ยว หรือหาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว และเทศกาลที่สำคัญ ๆ ของแต่ละจังหวัด จากสื่อออนไลน์ได้ไม่ยากในยุคดิจิทัลนี้ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ก็ขอให้เจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการ สำรวจความเรียบร้อยอย่าเอารัดเอาเปรียบและดูแลเรื่องความปลอดภัย ของระบบแจ้งเตือนภัย กล้องวงจรปิด เครื่องเล่นต่าง ๆ ด้วย รวมทั้งความสะอาดของห้องน้ำและสถานที่ให้พร้อมต้อนรับผู้มาเยือน ทั้งนี้จะได้สร้างความประทับใจ จนอยากกลับมาเยือนใหม่ หรือบอกต่อกันไป อย่าให้เขามาเที่ยวครั้งเดียว แล้วเขาก็เข็ดไม่อยากจะมาอีก 

พี่น้องประชาชนที่รักครับ

การกระจายรายได้และการส่งเสริมอาชีพในท้องถิ่น นอกจากการท่องเที่ยวตามที่กล่าวมาแล้ว รัฐบาลยังส่งเสริมวงจรเศรษฐกิจในระดับฐานรากให้กระจายทั่วทั้งประเทศ โดยส่งเสริมการตั้งตลาดประชารัฐ เพื่อให้เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่มีสถานประกอบการ ได้มีพื้นที่ค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้าในตลาดประชารัฐ 10 ประเภท จากหลายกระทรวง กว่า 6,600 แห่งทั่วไทย รวมทั้งเป็นแหล่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร สินค้าชุมชนต่าง ๆ อีกด้วย ตลอดระยะเวลา 8 เดือนโดยมีผู้ผลิต เกษตรกร ผู้ประกอบการ มาลงทะเบียนเพื่อนำสินค้ามาขายในตลาดกว่า 1 แสนรายและได้รับการจัดสรรพื้นที่จำหน่ายแล้วกว่า 96,000 ราย (หรือ ร้อยละ 91) สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้กว่า 1,200 ล้านบาท หรือกล่าวได้ว่าเราสามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 1,800 บาท ต่อเดือน

ทั้งนี้ ตลาดประชารัฐจะเป็นตลาดต้นแบบในอนาคต ที่จะเน้นการสร้างมาตรฐานใหม่ คือ ความสะอาด ปลอดภัย สะดวก และไม่ใช้โฟม ลดถุงพลาสติก โดยมีการตรวจมาตรฐานเป็นระยะ ๆ ปัจจุบันก็มีตลาดที่ผ่านเกณฑ์การประเมินระดับดีมากและดี ร้อยละ 37 โดยมีเพียงร้อยละ 19 ที่ต้องได้รับการปรับปรุงต่อไป อย่างไรก็ตาม ทุกมาตรการ ทุกนโยบาย รัฐบาลก็มุ่งเน้นการสร้างกลไกสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น เพื่อจะตอบสนองความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ได้จัดให้มีการอบรมและแต่งตั้ง “ผู้บริหารจัดการตลาดประชารัฐ” (CMO) ครบทุกจังหวัดแล้ว รวมทั้งเรียกมาอบรมแล้ว 25 จังหวัด 3,000 กว่าคน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ โดยตั้งคลินิกผู้ประกอบการระดับอำเภอ และเปิดให้มีการอบรมไปแล้วจำนวนมากกว่า 6,000 ราย

ในอนาคตก็จะยกระดับตลาดประชารัฐให้เป็นตลาดเพื่อการท่องเที่ยวอีกด้วย โดยคัดเลือกตลาดที่มีศักยภาพ เสนอบรรจุกิจกรรมต่าง ๆ ไว้ในปฏิทินปีท่องเที่ยวไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน จำนวน 171 ตลาดใน 70 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งให้เป็นตลาดรองรับสินค้าเกษตร หรือเป็นแหล่งระบายสินค้าเกษตรตามฤดูกาล ช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภาวะสินค้าล้นตลาด พร้อมขยายผลตลาดประชารัฐไปยังส่วนราชการที่มีความพร้อม ในการสนับสนุนพื้นที่ให้เกษตรกรที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมนำสินค้ามาจำหน่ายในตลาด 475 แห่งทั่วประเทศ โดยก้าวต่อไปของโครงการตลาดประชารัฐ กระทรวงมหาดไทย จะร่วมกับหน่วยงานเจ้าของตลาด ขยายตลาดประชารัฐในพื้นที่ให้เป็นไปในลักษณะตลาดกลางพืชผลทางการเกษตร คัดเลือกและสนับสนุนเกษตรกร ในการนำสินค้ามาจำหน่ายในตลาดประชารัฐที่เข้าร่วมโครงการ เปิดโอกาสให้เกษตรกรที่มีศักยภาพและความพร้อม ได้นำสินค้ามาจำหน่ายในตลาด อีกทั้งคัดเลือกตลาดประชารัฐที่มีการดำเนินการเป็นเลิศของแต่ละจังหวัดเพื่อเป็นต้นแบบ และถอดบทเรียนผลความสำเร็จ สู่การดำเนินงานของตลาดประชารัฐเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป ซึ่งผมเองนั้นก็เห็นว่าตลาดคือวิถีชีวิตของคนไทย แทบทุกกิจกรรมเกิดขึ้นที่ตลาด ทั้งอาหารการกิน การค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า ไปจนถึงการจับจ่ายซื้อหาผลิตภัณฑ์ชุมชน หากรัฐสามารถเข้าไปสนับสนุน สร้างความยั่งยืนได้อย่างต่อเนื่องก็จะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียน สร้างงาน สร้างรายได้ ในระดับฐานรากได้ โดยไม่ต้องหวังพึ่งเงินจากกิจกรรมสีเทามาหล่อเลี้ยง วงจรเศรษฐกิจของชุมชน ทุกคนประกอบสัมมาชีพตามความถนัด และสร้างไทยไปด้วยกัน สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องยางพารา และพืชผลเกษตรชนิดอื่น ๆ ที่อาจจะมีราคาตกต่ำ รัฐบาลกำลังหารือกับทุก ๆ ฝ่าย ต่างฝ่ายต่างคงต้องช่วยกัน คนละไม้ละมือ ทั้งสองฝ่ายจึงจะประสบผลสำเร็จนะครับ 

พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่เคารพครับ

ในช่วงที่ผ่านมาเราคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับการเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลต่อค่าเงิน ราคาหุ้น และราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ในหลายประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก ในช่วงแรก ๆ เกิดวิกฤตในประเทศเวเนซุเอลา จากปัญหาในประเทศ และลุกลามจนเกิดปัญหาเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคมสูงขึ้นมาถึง 200,000 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจะสูงขึ้นได้ถึง 1,000,000 เปอร์เซ็นต์ในสิ้นปีนี้ ต่อมาในช่วงเดือนมิถุนายน ประเทศอาร์เจนติน่าประสบปัญหาเงินทุนไหลออกและค่าเงินอ่อนลงต่อเนื่อง จนต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 60 เพื่อพยายามดึงดูดนักลงทุน และต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นเงินถึง 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และล่าสุดในเดือนสิงหาคม ประเทศตุรกีก็ประสบปัญหาเงินไหลออก ค่าเงินอ่อนลงกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับต้นปี เงินเฟ้อก็เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 18 จนธนาคารกลางต้องประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นราวร้อยละ 17.8 เราก็ต้องเป็นกำลังใจให้เขาแก้ปัญหาให้ได้ แล้วก็ระมัดระวัง อย่าให้เราเดินไปสู่จุดนั้น
หลายประเทศที่ประสบปัญหา ก็เกิดจากการมีภาวะการขาดดุลแฝด โดยด้านแรกคือ การขาดดุลการคลังของรัฐบาล  เพราะรัฐบาลมีการใช้จ่ายสูงกว่ารายได้มาก มากเกินไปทำให้ต้องชดเชยโดยการกู้ยืมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมักเป็นผลจากความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สูงเกินความจำเป็น ส่งผลให้ราคาสินค้าในประเทศปรับสูงขึ้น จึงต้องประสบปัญหาเงินเฟ้อ หรือเงินเสื่อมมูลค่าในอัตราที่สูงอีกด้าน ก็คือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งหมายถึงการที่รายได้สุทธิจากการขายสินค้าและบริการกับต่างประเทศติดลบ เพราะมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าสูงกว่าที่ขายสินค้าส่งออก ทำให้ต้องสูญเสียเงินสำรองระหว่างประเทศออกไป การขาดดุลแฝดนี้ ได้บั่นทอนความมั่นคงด้านการคลัง ส่งผลต่อขีดความสามารถของประเทศในการรองรับความเสี่ยง และลดความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้มีการนำเงินทุนออกจากประเทศเหล่านี้ และเงินตราของประเทศก็ได้อ่อนค่าลงมากในช่วงที่ผ่านมา

ปรากฏการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความกังวลว่า ประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ อาจติดโรค หรือประสบปัญหาในรูปแบบที่คล้ายกันนี้ได้ โดยเฉพาะประเทศที่มีฐานะด้านต่างประเทศไม่เข้มแข็งนัก เช่น มีเงินสำรองระหว่างประเทศต่ำหรือลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งมีหนี้ต่างประเทศในระดับสูง ส่งผลให้มีนักลงทุนทยอยนำเงินออกนอกประเทศ ที่มีอาการเหล่านี้ เช่น บราซิล อินโดนีเซีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ ที่ค่าเงินได้ปรับอ่อนลงอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา

ท่ามกลางปัญหาทางเศรษฐกิจเหล่านี้ ประเทศไทยยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เห็นได้จากค่าเงินที่อ่อนลงไม่มาก และราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่ได้ปรับลดลงมากนัก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ประเทศของเราได้รับบทเรียนจากปี 40 ที่ทุกภาคส่วนของประเทศ ทั้งภาครัฐ เอกชน ธนาคารพาณิชย์ ต่างตั้งอยู่บนความพอเพียง มีความพอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้มีความเข้มแข็งในทุกภาคส่วน ที่สำคัญในด้านต่างประเทศ เรามีปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง ล่าสุด ณ สิ้นเดือนสิงหาคม เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยอยู่ที่เกือบ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นับว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของไทย และเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศของไทย เราพบว่าเรามีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงกว่าหนี้ระยะสั้น ที่เป็นเงินตราต่างประเทศถึง 3.5 เท่า ซึ่งก็หมายถึงเรามีเงินตราต่างประเทศในระดับเกินพอ หากต้องการที่จะชำระหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศในวันนี้ หนี้ต่างประเทศของรัฐบาล เราก็ได้ทยอยคืนจนเหลือเพียงร้อยละ 4 ของ GDP รวมทั้งพยายามปรับโครงสร้างให้เป็นการกู้ยืมระยะยาวมากขึ้น เป็นการกู้ภายในประเทศมากขึ้น ฐานะด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่งนี้ เป็นผลมาจากการสะสมความมั่งคั่งของประเทศ การส่งออกสินค้าและบริการที่เติบโต สร้างรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้กับไทยได้อย่างต่อเนื่อง ภาคเอกชนและธนาคารพาณิชย์ที่มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง รวมถึงการดำเนินนโยบายภาครัฐอย่างระมัดระวัง มีวินัยทางการเงินการคลัง โดยจะเห็นได้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศ เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณร้อยละ 41 ซึ่งอยู่ในกรอบที่เรากำหนดไว้ และถือเป็นระดับที่ดีกว่าหลักเกณฑ์สากล ที่กำหนดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะไม่ควรสูงเกินร้อยละ 60 ของขนาดเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้เป็นภาระที่เกินตัวของภาครัฐ และที่ผ่านมาหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นของเรา ก็เป็นผลมาจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าการลงทุนใหม่และเป็นประโยชน์ ให้กับประชาชนและภาคธุรกิจในอนาคต รวมทั้ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ในระยะยาวอีกด้วย

กล่าวได้ว่าความแข็งแกร่งของฐานะด้านต่างประเทศ และฐานะการคลังของไทย รวมถึง อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศ นับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง  ทำให้เศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม มหภาค หรือ Macro ที่เข้มแข็ง ซึ่งพิสูจน์ให้เราเห็นว่าเป็นผลดี และถือว่าเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับประเทศ จะช่วยให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมีความมั่นใจ เราจึงยังไม่เห็นภาพการไหลออกของเงินทุนอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในบางประเทศ ที่ผมอาจจะกล่าวถึงในตอนต้น ขออนุญาตเอ่ยนาม และในทางที่กลับกัน เราอาจจะเห็นว่ามีนักลงทุนบางส่วนเคลื่อนย้ายเงินทุนจากประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ เข้ามาในไทยอีกด้วย ผมจึงอยากขอเน้นย้ำว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศนั้นจะต้องดูแลให้ครบทุกมิติทุกระดับ ทั้งภาพเศรษฐกิจมหภาค และจุลภาคที่มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งในปัจจุบัน ระดับมหภาคของประเทศดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.9 ในปี 2557 โดยล่าสุดมาอยู่ที่ร้อยละ 4.7 ในครึ่งแรกของปีนี้ อีกทั้งเรายังมีความมั่นคงของฐานะด้านต่างประเทศ อย่างที่ผมได้เรียนข้างต้น ซึ่งสิ่งที่สำคัญก็คือการกระจายการเติบโตในด้านมหภาคมาสู่จุลภาค มาสู่ประชาชน และธุรกิจรายย่อยผู้มีรายได้น้อยให้ได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลไม่เคยนิ่งนอนใจในการจะแสวงหาแนวทางและริเริ่มมาตรการใหม่ ๆ เพื่อนำมาดูแลในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างทั่วถึงให้มากที่สุด   

พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่านครับ   

อีกเรื่องที่น่ายินดี ก็คือขอชื่นชมเยาวชนไทยที่สามารถเป็นเจ้าเหรียญทองในการแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม ถึง 2 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีเยาวชนจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม 300 กว่าคน เป็นเยาวชนไทย 52 คน แข่งขันกันใน 26 สาขา 6 กลุ่มสาขาอาชีพได้แก่ กลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมการผลิต เทคโนโลยีการสื่อสาร แฟชั่นและครีเอทีฟ ขนส่งและโลจิสติกส์ เทคโนโลยีก่อสร้างและอาคาร รวมทั้งกลุ่มสาขาบริการส่วนบุคคลและสังคม โดยครั้งนี้เด็ก ๆ ของเราสามารถคว้าเหรียญทองทั้งหมด 16 เหรียญ เหรียญเงิน 4 เหรียญ เหรียญทองแดง 3 เหรียญ และเหรียญฝีมือยอดเยี่ยมอีก 13 เหรียญ รวมทั้งหมด 36 รางวัล เราต้องช่วยกันนะครับ สนับสนุนเด็กเหล่านี้ให้เข้าสู่ระบบราชการ ภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งเราจะต้องมีคนรุ่นใหม่ของประเทศ ซึ่งได้รับการพัฒนาอย่างครบวงจรมาอยู่ในระบบให้ได้มากที่สุด
 
ผมขอขอบคุณคณะอนุกรรมการเทคนิค ทีมผู้ฝึกสอนในแต่ละสาขา และทุกฝ่ายที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ในวันนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการนำไปประยุกต์ใช้ การนำไปประกอบอาชีพ โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมไทย ให้สอดรับกับแนวโน้มของตลาดโลกยุคดิจิทัล โดยเยาวชนที่ได้รับรางวัลกลุ่มดังกล่าว หากประสงค์จะศึกษาต่อ กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะให้การสนับสนุน โดยจะประสานสถาบันสถานศึกษาและขอรับทุนการศึกษา เพื่อจะลดภาระค่าใช้จ่ายให้ หรือหากประสงค์จะหางานทำ ก็จะอำนวยความสะดวกในการหางานที่ตรงกับความต้องการ ทั้งนี้ก็เพื่อจะส่งเสริมให้เยาวชนเหล่านี้ ที่ถือได้ว่าเป็นช้างเผือก ได้ก้าวเข้าสู่การเป็นช่างฝีมือในตลาดแรงงานของประเทศ เป็นการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน และการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตามแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งเราก็จำเป็นต้องเตรียมแรงงานให้ครบในอีกหลายด้าน เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของไทยในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้าด้วย  
 
นอกจากการพัฒนาแรงงานฝีมือแล้ว รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ ไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมา ได้มีการเห็นชอบให้ออกกฎหมายส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย ได้มีการประกาศใช้เป็นเวลานานแล้ว ในสหรัฐอเมริกา ประกาศใช้กฎหมายลักษณะนี้มาเกือบ 40 ปีแล้ว ซึ่งช่วยให้การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของทั้งภาครัฐและเอกชนเพิ่มมากขึ้น เกิดทรัพย์สินทางปัญญากว่า 13,600 ฉบับ มหาวิทยาลัยยื่นจดสิทธิบัตรประมาณ 3,000 ฉบับต่อปี และเกิดบริษัทตั้งใหม่ ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัย 5,000 บริษัท รวมถึงมีการจ้างงานจากเทคโนโลยีที่เกิดจากมหาวิทยาลัยมากกว่า 250,000 อัตรา ปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้สหรัฐอเมริกามีฐานความสามารถทางเศรษฐกิจในอันดับต้น ๆ ของโลก

รัฐบาลก็ได้เอาแนวคิดนี้ มาประยุกต์ปรับใช้ให้เหมาะสมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยหลายแห่ง เริ่มมีการทำวิจัยเชิงลึก เช่น มหาวิทยาลัยวิจัย  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สวทช. และสถาบันวิจัยเฉพาะทางอื่น ๆ เมื่อกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย จะได้เป็นเจ้าของผลงานวิจัย และสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย การทำสัญญา อนุญาตให้ใช้สิทธิ ไปยังภาคเอกชนเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้า บริการ และออกขายในตลาด ต่อไปจะสามารถทำได้อย่างคล่องแคล่วคล่องตัว โดยรายได้จากการอนุญาตให้ใช้สิทธิจะกลับมาที่มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย โดยจะต้องจัดสรรรายได้ให้กับนักวิจัยในสัดส่วนที่เหมาะสม เมื่อนักวิจัยได้รับส่วนแบ่งของรายได้ก็จะเกิดแรงจูงใจในการสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของภาคการผลิตและภาคบริการ ยิ่งไปกว่านั้น หากนักวิจัยจะนำเอาผลงานวิจัยนั้นไปต่อยอดและทำธุรกิจเอง โดยตั้งเป็นบริษัทก็สามารถกระทำได้ หรือหากผู้ประกอบการ Startup สนใจทำธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้น ก็สามารถทำได้ รวดเร็วและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

กฎหมายฉบับนี้จะสนับสนุนให้เกิดระบบนวัตกรรมที่สมบูรณ์ ส่งเสริมให้เกิด Startup จำนวนมากที่จะขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมมากขึ้น มีสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง นำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีนัยยะสำคัญ และที่สำคัญจะทำให้เห็นว่าการลงทุนด้านการวิจัย ที่รัฐได้ให้งบประมาณสนับสนุนไปนั้นคุ้มค่าและไม่สูญเปล่า สามารถจะสร้างให้เกิดรายได้แก่ประชาชนคนไทย สร้างให้เกิดวัฒนธรรมการแข่งขันกัน ด้วยความรู้ และเทคโนโลยี ก็จะเกิดเป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนให้ระบบนวัตกรรมของประเทศสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นไปอีกนั้น เมื่อมีกฎหมายฉบับนี้แล้ว จะต้องมีการเร่งสร้างบุคลากรที่มีความรู้ด้านการบริหารจัดการ ผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้สามารถบริหารจัดการนวัตกรรมได้ ถ่ายทอดเทคโนโลยีได้ ช่วยสนับสนุนการทำงานทั้งของภาคการวิจัยและภาคอุตสาหกรรม ให้ได้รับประโยชน์จากผลงานวิจัยอย่างเต็มที่ สามารถนำรายได้กลับเข้าสู่ประชาคมวิจัยได้ ขณะเดียวกันก็จะช่วยส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม บริษัทเอกชน ให้นำเอาผลงานวิจัยไปใช้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลทุกรัฐบาลที่จะต้องให้การสนับสนุน โดยมีการร่วมกับภาคเอกชนจัดโปรแกรมสร้างนักถ่ายทอดเทคโนโลยี นักบริหารจัดการนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เป็นไปได้อย่างครบวงจรยิ่งขึ้น 

พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่านครับ 

วันที่ 24 กันยายน ที่จะถึงนี้ ถือเป็น "วันมหิดล" หรือ วันคล้ายวันสวรรคต ของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ได้ทรงพระราชกรณียกิจมากมายที่เป็นประโยชน์แก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุขของประเทศไทย ช่วยเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่โรงเรียนแพทย์ อีกทั้งได้ทรงพัฒนาการเรียนการสอน ตลอดจนการผลิตแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการวางรากฐานแก่การแพทย์ และการสาธารณสุข ให้เจริญพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ในโอกาสนี้ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น กล้องจุลทรรศน์ผ่าตัดตา พร้อมอุปกรณ์ต่อพ่วง เพื่อดูเนื้อเยื่อขนาดเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ เครื่องเอกซ์เรย์ที่ใช้ร่วมกับการผ่าตัด กล้องส่องทางเดินอาหาร เพื่อช่วยให้การรักษาแก่ผู้ป่วยด้อยโอกาสที่โรงพยาบาลศิริราช โดยทางกลุ่มนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และคณะเทคนิคการแพทย์ คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล จะออกรับบริจาคพร้อมมอบ "ธงวันมหิดล" เป็นที่ระลึกแก่พี่น้องประชาชนที่ให้บริจาคในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง หรือท่านที่สนใจ สามารถร่วมเป็นผู้ให้ในครั้งนี้ได้ที่ "ศิริราชมูลนิธิ" ผ่านช่องทางต่าง ๆ ตามรายละเอียด ตามหน้าจอนี้นะครับ

สุดท้ายนี้ ผมขอฝากไว้ว่า “การปฏิรูปก็คือการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า” แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจะต้องเริ่มจากตนเองก่อน ต้องหาความรู้ ต้องไม่หยุดพัฒนาตนเอง ผมได้ยินคำพูดจากพี่น้องเกษตรกรบางคน ที่เคยมีรายได้น้อยจากการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม แต่เขาก็กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง เริ่มลงมือทำโดยมีข้อมูล คำแนะนำที่ถูกต้อง  ถ้าทุกคนมัวแต่กลัว บ่นไม่พอใจ เราก็จะยึดติดกับวิถีเดิม ๆ แล้วเราก็จะไม่มีทางดีขึ้นได้อย่างแน่นอนนะครับ
 ขอบคุณครับ  ขอให้ทุกคนรักษาสุขภาพ และทุกครอบครัวมีความสุข ปลอดภัยนะครับ  สวัสดีครับ

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้