รายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 2561

Last updated: 18 ส.ค. 2561  |  1715 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

     เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ผมก็ได้มีโอกาสลงพื้นที่ตรวจราชการด้านการจราจร ซึ่งมีปัญหากับการสัญจรไปมาของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่อื่น ๆ ด้วย ก็จะเน้นในเรื่องของการแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร มีการเยี่ยมศูนย์ควบคุมการจราจร บก. 02 แล้วก็ฟังการบรรยายสรุปจากหลายหน่วยงานด้วยกัน ของกระทรวงคมนาคมด้วย และในส่วนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งก็ได้พูดคุยกันถึงเรื่องการเชื่อมโยง เรื่องล้อ ราง แล้วก็เรือ เป็นเป้าหมายของเราในอนาคต ที่เราจะต้องอาศัยเวลาในการทำงาน หลายปีที่ผ่านมานั้นเราไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่ควรจะเป็น วันนี้ก็เลยต้องใช้เวลา หรือทำให้เกิดปัญหาการจราจรเพิ่มขึ้น ด้วยการเร่งสร้าง เร่งโครงการต่าง ๆ มากมายในเวลาเดียวกัน อาจจะส่งผลกระทบต่อการสัญจรไปมาของพี่น้องชาว กทม. และปริมณฑลอยู่ในปัจจุบัน ก็คงต้องช่วยกันครับขอให้อดทนไประยะหนึ่ง อีกไม่นานเราก็จะมีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น วันนี้จะเล่าให้ฟังถึงสภาพปัญหา จนนำไปสู่แนวทางแก้ไขของรัฐบาลในปัจจุบัน ว่าจะเป็นไปได้ได้อย่างไร
       
ทุกคนคงทราบดีอยู่แล้วว่าปัญหาจราจรติดขัดนี้เป็นปัญหาที่สะสม ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวของเมือง ที่อาจจะไร้ยุทธศาสตร์ ไร้ข้อจำกัด ไม่เป็นไปตามผังเมือง หากว่าผังเมืองที่ว่านั้น เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับประชาชนไปด้วย เพราะฉะนั้นผังเมืองที่ออกมา บางครั้งอาจจะไม่มีประสิทธิภาพ เพราะว่าประชาชนไม่ยินยอม ในการที่จะจัดทำผังเมืองใหม่ ก็เลยเกิดปัญหาซ้ำซ้อนตามกันมาอีก ในขณะที่มีการเดินทางเข้าสู่ศูนย์กลางเมือง เพื่อประกอบกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ทั้งทำงาน ส่งลูกหลาน ติดต่อธุรกิจ ท่องเที่ยว ของคนกว่า 15 ล้านคน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่จำกัด 1,500 กว่าตารางกิโลเมตร ถ้าคำนวณกันเป็นความหนาแน่นก็จะมากกว่า 9,500 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร ก็ถือว่าแออัดมาก และผิวการจราจรก็ไม่สามารถรองรับได้อย่างสมดุล ในปี 2560 นั้นมีจำนวนรถยนต์สะสม กว่า 6.6 ล้านคัน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4% ต่อปี ถ้าเราจะมองให้เห็นภาพ ก็คือมีรถจดทะเบียนใหม่ทุกวัน ๆ ละ 700 คัน และรถจักรยานยนต์ 400 คัน ในขณะที่การสัญจรของรถ ต้องอาศัยถนน มีผิวการจราจรที่สร้างเพิ่มขึ้นได้ยาก แพง แล้วก็นาน แล้วก็ติดที่ของเอกชนเกือบทั้งหมด ปัจจุบันนั้น กทม. มีถนนประมาณ 4,300 กิโลเมตร เป็นถนนสายหลักเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น หากเทียบ พื้นที่ถนนเป็นร้อยละแล้ว กรุงเทพฯ มีเพียง 6.8% ในขณะที่มหานคร เมืองใหญ่ ๆ ของโลก เช่น นิวยอร์ก ลอนดอน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มีพื้นที่ถนน 21 - 36% แต่อย่าคิดว่าเขาไม่ติดนะครับ เขาก็ติดคล้าย ๆ เรานี่แหละ ทั้ง ๆ ที่เขามีพื้นที่ถนนมากกว่าเรา อาจจะถึง 2-3 เท่า เพราะฉะนั้นรวมทั้งความต้องการเดินทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาก็มากขึ้นอีก สะพานที่เรามีอยู่ในปัจจุบันก็จำนวนจำกัด เราก็มีการวางแผนจะสร้างใหม่เพิ่มขึ้น ก็สร้างไม่ได้ ก็ยังต้องฟังความคิดเห็นประชาชนอีก จากการศึกษาพบว่าในปี 2564 เราจะมีความต้องการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 480,000 คนต่อวัน และในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นเป็น 840,000 คนต่อวัน

ปัญหาสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ การเชื่อมโยงทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา  เชื่อมต่อแนวตะวันตก – ตะวันออก ซึ่งมีปัญหาการเชื่อมโยงตรงนี้อยู่เหมือนกัน ตะวันตก - ตะวันออกของเรา แล้วทำอย่างไรจะสอดคล้องรองรับกับทางด่วนและวงแหวนต่าง ๆ ทั้งทางขึ้น - ทางลง เพื่อให้เกิดการไหลเวียน การสัญจรบนถนน ในพื้นที่ชั้นนอก - ชั้นใน ไม่ติดขัด ไม่อย่างนั้นก็ขึ้นทางด่วน ลงมาแล้วขึ้นใหม่ ก็เลยติดกันทั้งข้างบน ข้างล่าง รวมไปถึงจุดตัดรถไฟ วงเวียน และแยกไฟแดง ที่ต้องมีการคำนวณเวลาและปริมาณรถด้วย สำหรับแนวทางแก้ปัญหานั้น ผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องการก็คือ ส่งเสริมให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แล้วหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะการผลักดันให้ระบบรางเป็นแกนหลักในการเดินทางและขนส่ง สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล นั้น ภายในปี 2575 อีก 15 ปี จะต้องเร่งลงทุนสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ครบทั้ง 10 สาย ระยะทางรวม 464 กิโลเมตร ประกอบกับนโยบาย One Transport ที่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อ การเดินทาง ล้อ ราง เรือ แบบไร้รอยต่อให้ได้ ทั้งในเรื่องของการเชื่อมโยง ทั้งในเรื่องของการขนานกันไป เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกให้เข้าถึงบริการระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ทั้งรถ ขสมก. คิวรถตู้ วินมอเตอร์ไซค์ รถไฟฟ้า เรือด่วนเจ้าพระยา เป็นต้น นอกจากนี้ต้องจัดทำที่จอดแล้วจร ให้กระจายตัวในพื้นที่สำคัญ ที่จะเชื่อมโยงต่อการขนส่งด้านต่าง ๆ รวมถึงมีระบบตั๋วร่วม ซึ่งก็ได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ควรต้องนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารการจราจร และการขนส่งอย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น วันนี้เราใช้เจ้าหน้าที่ บางครั้งก็ไม่สามารถจะครอบคลุมในพื้นที่กว้าง ๆ ได้ ในพื้นที่ใหญ่ได้ ในต่างประเทศ ผมไปดูไปเยี่ยมเยือนมา ก็เห็นเขาใช้การบริหารโดยการใช้เทคโนโลยี ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมทั้งพื้นที่ไปเลย เช่น เส้นทางนี้ติด ก็สามารถจะเปลี่ยนทิศทางการจราจรไปเส้นอื่นได้  หรือเปลี่ยนในเรื่องของการ เปิด-ปิด สัญญาณไฟแดงไฟเขียวได้ ขณะเดียวกันก็สามารถคำนวณความเร็วในเส้นทางที่เป็นเส้นทางด่วน เหล่านั้นได้ เขาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยคำนวณจากปริมาณรถติด ปริมาณรถสะสม ของเรายังไปไม่ถึงตรงนั้น ก็จะเป็นปัญหาบ้าง ตอนนี้ผมก็ได้สั่งการให้ไปทำการศึกษาเพิ่มเติม มีการหารือกับนักวิจัยของมหาวิทยาลัย หรือองค์กรต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งจากต่างประเทศ เพื่อนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ควบคุมการจราจร ให้มากยิ่งขึ้น จะเร่งดำเนินการ  อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ถึงจุดนั้น รัฐบาลก็ได้จัดทำมาตรการรองรับเพื่อจะแก้ปัญหาการจราจร เป็นแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ดังนี้

แผนระยะสั้น ได้แก่ การบริหารจัดการกระแสการจราจรบนท้องถนน เช่น ไฟจราจร จุดกลับรถ จุดตัดรถไฟ เหล่านี้ เป็นต้น การเข้มงวดกวดขันวินัยจราจร ถ้ารถติดแล้วทุกคนไม่มีการละเมิดก็พอจะอดทนกันได้บ้างครับ แต่หลายอย่างก็ไม่อดทนกัน บางคนก็แซงซ้าย แซงขวา รถช้าก็วิ่งเลนกลาง วิ่งเลนขวา อะไรทำนองนี้ เพราะฉะนั้นทุกคนต้องเคารพกฎจราจร แล้วก็การบังคับใช้กฎหมายที่เหมาะสม ผมก็ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเร่งดำเนินการให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพิ่มมาตรฐานเรือโดยสาร เพื่อให้การสัญจรทางน้ำเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ปัญหาก็คือว่าเราจะต้องหาเส้นทางที่คู่ขนานกันให้ได้ ทางบก กับทางน้ำ ถ้าทางบกแน่น เราสามารถให้บริการทางน้ำคู่ขนานกันไปได้ไหม ก็ต้องไปดูคูคลอง แม่น้ำ อะไรต่าง ๆ ที่คู่ขนานไป เพื่อจะลดเวลาในการเดินทาง ปัญหาของเราอีกอย่างหนึ่งก็คือ ครอบครัวของเรานี่เป็นครอบครัวใหญ่ที่ต้องใช้รถ เพราะต้องดูแลครอบครัวของเขา สามีทำงาน ภรรยาทำงาน ลูกไปเรียนหนังสือ คนละที่กันหมด เพราะฉะนั้นการใช้การบริการขนส่งภาครัฐบางทีอาจจะไม่ตอบสนองครอบครัวของเขาได้โดยสมบูรณ์ เขาก็เลยต้องมาขับรถเอง แล้วก็ส่งลูก ส่งหลาน กว่าจะไปถึงที่ทำงานได้ เพราะฉะนั้นเราต้องหาทางเลือกให้ประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ปรับหรือเพิ่มเส้นทางรถ ขสมก. ทำรถที่จะเชื่อมต่อให้มีการที่เรียกว่าฟีดเดอร์ เพื่อจะเอาคนจากตรงนี้ไปขึ้นรถไฟฟ้าให้ได้ ไม่อย่างนั้นระยะทางก็ไกลเกินไป รถไฟฟ้าก็ต้องเชื่อมต่อกับเส้นทางรถ ขสมก. ที่เราต้องปรับ หรือเพิ่มเส้นทางให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มรถโดยสารรับส่งระยะสั้น ในรอบเขตพื้นที่วิกฤต และมีมาตรการเคลื่อนย้ายรถเสีย รถจอดข้างทางผิดกฎหมาย รถที่เกิดอุบัติเหตุให้ได้เร็วที่สุดเป็นต้น  

แผนระยะกลาง 1 - 3 ปี นอกจากเราต้องเร่งลงทุนสร้างระบบขนส่งสาธารณะให้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว เราต้องกำหนดสิทธิการผ่านในบางพื้นที่ เช่น พื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ เพื่อลดปริมาณการจราจร ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงข่ายการจราจร และการขนส่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกัน เช่น การทำช่องทางบัสเลน ซึ่งบางทีก็มีปัญหาเพราะถนนเราแคบ ที่ผ่านมาก็ทำหลายเส้น ก็ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นเราต้องดูแลกวดขันการปฏิบัติตามกฎกติกาอย่างเคร่งครัดด้วย และ

แผนระยะยาว 3 ปีขึ้นไป อาทิ ใช้มาตรการจำกัดสิทธิ์  มาตรการด้านการเงินในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นโครงข่ายรถไฟฟ้า ไม่ต่ำกว่า 0.2 กิโลเมตร ต่อตารางกิโลเมตร เพื่อเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การเดินทางที่ไม่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล  และการปลูกฝังจิตสำนึก วินัย น้ำใจการใช้รถใช้ถนน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาจราจรได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ผมก็ได้สั่งการให้เพิ่มเส้นทางคมนาคมทางน้ำในการเดินทาง คู่ขนานไปกับถนนสายหลัก เพื่อให้ประชาชนเลือกใช้บริการได้สะดวกขึ้น บรรเทาจราจรติดขัดทางถนน ซึ่งทั้งกรมเจ้าท่า กรุงเทพมหานคร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ต้องร่วมกันดำเนินการอย่างเร่งด่วนในระยะแรก ควบคู่กันไปกับการก่อสร้าง และในเรื่องของการเตรียมการจัดหาการใช้ระบบดิจิทัลมาควบคุมการจราจรในเขตเมือง ทางด่วน เส้นทางที่แออัด ไฟเขียวไฟแดง เส้นทางอ้อมผ่านในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่ก่อสร้างให้ได้โดยเร็ว ขอทำความเข้าใจกับประชาชนด้วยว่า บางครั้งการอ้อมผ่านบ้างจะดีกว่ารถติดนาน ๆ บนเส้นทางเดิม ๆ ที่เสียเวลา เสียเชื้อเพลิง เป็นต้น

นอกจากนี้ผมอยากจะขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ก่อสร้างถนน ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการลดช่องทางจราจร ให้มีการตั้งป้าย ให้สัญญาณล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ เมื่อก่อสร้างไปแล้ว ตรงไหนสร้างเสร็จแล้ว ก็บีบให้เล็กลง ไม่ใช่รักษาพื้นที่ก่อสร้างมากไปตลอด จนกว่าจะสร้างเสร็จ อย่างนี้ไม่ได้ ก็ต้องค่อย ๆ ลดพื้นที่ลงไปให้ได้ตลอดระยะเวลาที่มีการก่อสร้าง ตรงไหนเสร็จ ก็รีบแก้ไขตรงนั้น เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุด้วย ขอให้ทุกคนทำหน้าที่ในส่วนของตนในการเคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ผู้ใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ต้องมีวินัย คิดถึงเพื่อนร่วมทางให้มากยิ่งขึ้น ผมยกตัวอย่าง เช่น เวลาติดไฟแดงนี่ ควรจะติดตรงไหนก็ติดตรงนั้น ไม่ใช่ว่าถึงเวลามอเตอร์ไซค์ก็แทรกไป แทรกมา ก็เกิดกระทบกระทั่งกันขึ้นมา แล้วเพื่อจะไปถึงข้างหน้าให้มากที่สุด ถึงไฟเขียว ไฟแดง ให้เร็วที่สุด เพราะฉะนั้นการออกตัวต่าง ๆ  ช้าไปหมด เมื่อเวลาเปิดไฟแดง เวลากำหนดไว้แล้ว ถ้าทั้งรถมอเตอร์ไซค์ พอไฟแดงข้างหน้า ตัวเองก็หยุดตรงนี้ก็ได้ ทำไมจะต้องขึ้นไปถึงข้างหน้า ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน ก็ไม่ได้เร็วไปกว่าเดิมเท่าไร แต่ทำให้การจราจรมีปัญหา ต้องคิดถึงเพื่อนร่วมทางให้มากขึ้น รวมถึงคนเดินถนน ให้ใช้ทางข้ามที่ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น ถ้าทุกคนช่วยกันปฏิบัติไปพร้อม ๆ กัน ก็อาจจะทำให้การจราจรลื่นไหลได้ดีขึ้น สื่อมวลชนเองนะครับ ก็ขอให้ช่วยกันในการนำเสนอข้อมูลการจราจรที่ถูกต้อง นอกจากนี้ หากภาคเอกชนเห็นว่าพื้นที่ใดควรสร้างเป็นพื้นที่จอดรถ เช่น พื้นที่ใกล้กับสถานที่ที่สำคัญ ก็สามารถเสนอมายังรัฐบาล เพื่อจะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ได้มากขึ้น และช่วยบรรเทาการจราจรติดขัดบนท้องถนนได้อีกทางหนึ่ง คือมีการลงทุนเรื่องที่จอดรถ ที่จอดรถใต้ดิน อะไรทำนองนี้ให้มากยิ่งขึ้น การที่จะสร้างศูนย์การค้าใหม่ ๆ ก็ต้องคำนึงถึงที่จอดรถด้วย อันนี้ก็คงต้องกำหนดไปให้ชัดเจนขึ้นต่อไป
 

พี่น้องชาวไทยที่รักครับ ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม เป็นต้นมา กรุงเทพมหานครได้เปิดทดลองเดินเรือเส้นทางใหม่ เพื่อจะเชื่อมโยงระบบคมนาคมทางน้ำกับโครงข่ายสาธารณะอื่น ๆ ตามนโยบาย ล้อ ราง เรือ ตั้งแต่ท่าเรือสะพานตากสิน-เพชรเกษม (บางหว้า) คลองภาษีเจริญ ถึงท่าเรือวัดกำแพงบางจาก คลองบางกอกใหญ่ ในระยะทดลองนี้ เป็นการบริการประชาชนโดยไม่เก็บค่าโดยสาร ในทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.00 - 18.00 น. โดยเรือจะออกทุก 30 นาที มีท่าเรือที่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS บางหว้า และจุดจอดรถโดยสารประจำทาง ซึ่งผ่านเส้นทางที่เป็นย่านท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ตลาดคลองบางหลวง บ้านศิลปิน และชุมชนร้านค้าโบราณเป็นต้น

ในการทดลองใช้เส้นทางเดินเรือดังกล่าวของ กทม. ผมได้เห็นศักยภาพในการพัฒนาตามโครงการฟื้นวิถีชีวิตชุมชน ผ่านการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สมัยธนบุรี ชุมชนคลองบางหลวง ที่สามารถนำไปสู่การเป็นต้นแบบของเขตเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมได้ในอนาคต ด้วยการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยว การเชื่อมต่อของรถ ราง เรือ ที่จะช่วยฟื้นวิถีชีวิตและกระตุ้นเศรษฐกิจคลองบางหลวง ย่านฝั่งธน ในรูปแบบการส่งเสริม Startup ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตชุมชน นอกเหนือจากเขตบางรัก ที่ในปัจจุบันเริ่มมี Boutique Hotel ในย่านบ้านขุนน้ำขุนนาง คลองบางหลวง หรือการตั้งร้านอาหาร ตลาดน้ำชุมชน เป็นต้น

ทั้งนี้ในปัจจุบัน เรารู้จักคลองบางหลวงช่วงปลายบริเวณวัดกำแพงบางจาก ที่มีบ้านศิลปิน แต่หากมีการพัฒนาช่วงต้นคลองบางหลวง ด้านวัดกัลยาณมิตรฯ วัดอรุณราชวราราม ซึ่งเป็นหัวใจของประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรี ก็จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากฝั่งพระบรมมหาราชวังได้อีกมาก นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีสถานี MRT ใกล้เคียง เช่น สถานีสนามไชย สถานีอิสรภาพ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้สามารถเชื่อมต่อโปรแกรมการท่องเที่ยว ระหว่างเกาะรัตนโกสินทร์กับธนบุรี ได้มากขึ้น เราต้องวางแผนร่วมกัน เพื่อจะเตรียมการทั้งในเรื่องแหล่งท่องเที่ยว และการเดินทาง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวดังกล่าว ให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ และยั่งยืน แล้วก็ปลอดภัยด้วย ด้วยการบูรณาการกันระหว่าง กทม. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงคมนาคม ร่วมกันเป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมมือกันสร้างเส้นทาง เรื่องราวการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้สามารถรองรับความต้องการ และปริมาณนักท่องเที่ยวในอนาคตให้ได้ด้วย โดยเฉพาะการพัฒนาท่าเรือ สุขา การบริการเรื่องน้ำดื่ม สุขาภิบาลอะไรต่าง ๆ ทั้งหมด จะต้องมีการให้บริการเรื่องเหล่านี้ตามจุดท่องเที่ยวที่สำคัญ ควบคู่กับการวางมาตรการความปลอดภัย ในการสัญจรทางลำน้ำ คู คลอง อีกทั้งให้พิจารณาในเรื่องการออกแบบก่อสร้าง ให้เป็นอารยสถาปัตย์ ที่จะช่วยให้เด็กเล็ก ผู้สูงวัย และผู้พิการ ได้เข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวของเรา อย่างเท่าเทียมกันด้วย

โดยพื้นที่ย่านนี้ ในทางประวัติศาสตร์แล้วเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงน้ำพระราชหฤทัยของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ทรงมีต่อคนทุกชาติ ทุกศาสนา ชาวจีน แขก ฝรั่ง ที่ติดตามพระองค์มาจากอยุธยา ด้วยมีศรัทธาในพระองค์เป็นอย่างมาก เห็นได้จากที่พระองค์ทรงสร้างวัดไทย วัดจีน โบสถ์ และมัสยิด รอบ ๆ บริเวณนี้ ตัวอย่างนักท่องเที่ยวชาวจีน มักเดินทางมาเพื่อสักการะพระพุทธไตรรัตนนายก ที่คนจีนเรียกกันติดปากว่า ซำปอกง  ส่วนคนไทยมักเรียกว่าพระโต ที่วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร นอกจากนี้ ยังมีวัดซางตาครู้ส โบสถ์ซางตาครู้ส หรือวัดกุฎีจีน ที่เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับพระราชวังเดิม สมัยธนบุรี ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระราชทานที่ดินให้แก่ชาวโปรตุเกส ซึ่งร่วมทำการศึกต่อต้านพม่าจนได้รับชัยชนะ อีกทั้งมัสยิดต้นสน ซึ่งล้วนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ สำหรับผู้มาเยือนจำนวนมาก  
 
พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ
ผลประเมินดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคมปีนี้ ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 82.2 ซึ่งถือว่าปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แล้วก็เป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 62 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 โดยทุกรายการปรับตัวดีขึ้นแทบทั้งสิ้น เนื่องจากประชาชนเห็นว่าการส่งออก และการท่องเที่ยวขยายตัวดีขึ้น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมให้ดีขึ้นต่อไป ส่วนราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มดีขึ้น และกำลังซื้อของประชาชนในหลายจังหวัดก็ปรับตัวดีขึ้น ระมัดระวังในเรื่องของการผลิตที่เกิดความต้องการของตลาด หรือคุณภาพไม่ดีพอ เช่นเดียวกัน รายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในเดือนกรกฎาคมนี้ ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ระบุว่าปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เนื่องจากครัวเรือนมีมุมมองต่อเรื่องรายได้ และการมีงานทำที่ดีขึ้น เรื่องมีงานทำ ไปติดตามจากกระทรวงแรงงานด้วย ว่าเขามีความต้องการแรงงานที่ไหนอย่างไร ก็ไปสมัคร มีตู้ 500 กว่าตู้ที่จะเข้าไปตรวจสอบได้ เพื่อตัวเองจะได้เข้าไปหางานทำได้ หรือไม่ก็ไปสมัครเรียนในหลักสูตรต่าง ๆ ซึ่งเขามีให้บริการอยู่  ถ้าไม่ฟังเลยที่ผมพูดก็ไปไม่ได้ บางทีก็ไม่ได้ใส่ใจ ไม่สนใจมากนัก โอกาสก็หายไป ขณะที่ภาคเกษตรกรรม เริ่มเข้าสู่ฤดูเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาด ช่วยหนุนให้เกษตรกรมีรายได้ ตัวเลขการจ้างงานของประเทศเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6 แสนกว่าอัตรา แล้งก็เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนกว่า 2 แสนอัตราเป็นต้น อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหารายได้ของประชาชนที่ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ผ่านมาภาครัฐก็มีมาตรการช่วยเหลือหลายอย่าง เพื่อเพิ่มรายได้ ลดภาระค่าใช้จ่าย เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นาโนไฟแนนซ์ พักชำระหนี้เกษตรกร ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกร  โครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพ เป็นต้น มีการลดหนี้สินต่าง ๆ ก็ทำทุกอัน ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมากในหลาย ๆ เรื่อง เช่น 

1. การฝึกอาชีพให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นการดำเนินการในระยะที่ 2 กระทรวงแรงงานได้เพิ่มศักยภาพด้านการประกอบอาชีพเพิ่มรายได้ เสริมความมั่นคงให้กับชีวิตโดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมการฝึกอาชีพ กว่า 6 แสนราย ได้แก่ อาชีพช่างอเนกประสงค์ 80,000 กว่าราย และอาชีพอิสระอื่นอีก 5 แสนกว่าราย ใน 58 หลักสูตร กรุณาไปเรียนกันด้วย เช่น ศิลปประดิษฐ์ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างตัดผม และทำอาหาร เป็นต้น รวมทั้ง การจัดหางาน ที่มีเป้าหมายราว 1 แสนราย ได้มีการติดตั้ง JOB BOX 500 ตู้ ที่ผมกล่าวไปเมื่อสักครู่ มีตำแหน่งงานรองรับแล้ว 70,000 อัตรา ทั้งงานในสถานประกอบการ ในประเทศและต่างประเทศ หรืองานที่รับไปทำที่บ้าน นอกจากนั้นยังมีการให้บริการความรู้เรื่องกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และส่งเสริมการเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 อีกด้วย

2. แอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐ สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในการดำเนินการในระยะที่ 2 เช่นกัน กระทรวงพาณิชย์เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมานี้ ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ให้คนมีรายได้น้อยทั่วประเทศ มากกว่า 11 ล้านคน สามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้มีการติดตั้งเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ให้กับร้านค้าไปแล้วกว่า 38,000 ร้านค้า ปัจจุบันมีการจ่ายเงินสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ร้านธงฟ้าประชารัฐแล้วกว่า 34,000 ล้านบาท ล่าสุดมีการต่อยอดมาตรการดังกล่าว โดยผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถชำระเงินค่าสินค้าผ่านแอปพลิเคชั่นถุงเงินประชารัฐ ของธนาคารกรุงไทยบนโทรศัพท์มือถือได้ โดยไม่ต้องใช้รูดกับเครื่อง EDC ส่งผลให้มีการขยายร้านค้าธงฟ้าประชารัฐไปอย่างทั่วถึง เปิดโอกาสให้แผงร้านค้าในตลาดสด ร้านข้าวแกง ร้านก๋วยเตี๋ยว รวมไปถึงรถเร่ขายสินค้า สามารถสมัครเป็นร้านค้าธงฟ้าประชารัฐได้ ต้องสมัครเข้ามาครับ ปัจจุบันมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 20,000 ราย จากเป้าหมายร้านค้าเข้าร่วมโครงการ 1 - 2 แสนราย

คุณสมบัติพื้นฐานของร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ คือ (1) เป็นร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ในครัวเรือน สินค้าเพื่อการศึกษา สินค้าวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม ผลผลิตทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้า OTOP สินค้า GI อาหาร รวมไปถึงยารักษาโรค เป็นต้น และ (2) ผู้ขายมีสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ส่วนขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการ ก็ง่ายและสะดวก โดยร้านค้าที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้จากเว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์ และส่งทางไปรษณีย์ หรือมายื่นด้วยตนเอง ได้ที่สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ของท่าน จากนั้น ก็รอการอนุมัติ ภายหลังจากการลงทะเบียนในระบบ เพื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นถุงเงินประชารัฐมาใช้ ก็เป็นอันจบขั้นตอน ก็คงไม่ยากจนเกินไปนะครับ 

ผมเชื่อว่าการต่อยอดร้านธงฟ้าประชารัฐนี้ จะเปิดโอกาสให้ร้านค้ารายย่อย ได้รับการพัฒนา และมีรายได้ที่ยั่งยืนขึ้น ขณะที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็จะได้รับประโยชน์จากการมีทางเลือก ในการซื้อสินค้าที่หลากหลายขึ้น และทั่วถึงมากขึ้น ก็ไปสร้างห่วงโซ่ขึ้นมาในหลายพื้นที่ด้วยกัน ถือว่าเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องในชุมชนระดับฐานรากในภาพรวม ซึ่งจะช่วยให้ประเทศเดินหน้าไปได้อย่างยั่งยืน

3. การขับเคลื่อนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของพี่น้องประชาชน ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร รวมถึงอาชีพอิสระต่าง ๆ ทั้งนี้ จากการสำรวจของหน่วยงานราชการ ได้รับข้อมูลแจ้งจากประชาชน พบว่ามีประชาชนเป็นลูกหนี้ราว 9 แสนราย จากเจ้าหนี้เกือบ 18,000 ราย มีมูลหนี้รวมกว่า 52,000 ล้านบาท โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินการเดือนกรกฎาคม เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงร่วมกับกระทรวงการคลัง และกระทรวงยุติธรรม ระดับจังหวัด ได้เดินหน้าเจรจาไกล่เกลี่ย ทำข้อตกลงประนีประนอม และปรับโครงสร้างหนี้ ให้ความเป็นธรรมกับทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้แล้วกว่า 2 แสนราย ขณะเดียวกันได้ร่วมกันใช้มาตรการทางกฎหมายกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ไม่ร่วมมือ ผ่านศูนย์ปฏิบัติการป้องกันปราบปรามการฉ้อโกงทรัพย์สินของประชาชน เรียกชื่อย่อว่า ศปฉช. ณ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ทั่วประเทศ และนครบาล ซึ่งเราได้เห็นภาพการดำเนินการไปแล้ว จากรายการเดินหน้าประเทศไทย เมื่อวันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา สิ่งสำคัญก็คือเรื่องราวความเลวร้ายของการทำนาบนหลังคน ที่เราไม่สามารถจะปล่อยให้เกิดขึ้นอีกต่อไป ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมา สามารถนำทรัพย์สินของประชาชนจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม กลับสู่มือผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งถูกเอาเปรียบด้วยอำนาจที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นโฉนดที่ดินกว่า 7,000 ไร่ และรถยนต์จำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าโดยรวมกว่า 3,000 ล้านบาท 

ส่วนการเร่งรัดแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา  เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สิน สามารถตกลงปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ และเข้าซื้อหนี้ของเกษตรกรจากสถาบันการเงินเจ้าหนี้ เช่น ธ.ก.ส. สหกรณ์การเกษตร และ ธนาคารพาณิชย์ทั่วไป รวมประมาณ 36,000 ราย มูลค่าหนี้ราว6,000 ล้านบาท โดยสามารถช่วยลดยอดหนี้แต่ละรายลงร้อยละ 50 หยุดดอกเบี้ยระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จมากที่สุดในรอบ 19 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการตั้งกองทุนฯ มาในปี2542 ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2549 - 2557 การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดำเนินการได้เพียง 29,000 รายเท่านั้น จากจำนวนสมาชิกเกษตรกรที่ลงทะเบียนหนี้สินไว้ราว 460,000 ราย เห็นไหมครับ มีความแตกต่างกันอยู่มาก เราก็พยายามจะแก้ไขปัญหานี้ อย่างไรก็ตามเราจะต้องเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรลูกหนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถชำระหนี้ตามสัญญาใหม่ได้ โดยได้กำชับให้สำนักงานกองทุนฯ ไปหาแนวทางฟื้นฟูอาชีพ ร่วมกับ ธ.ก.ส. และกรมส่งเสริมการเกษตรต่อไป

4. การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนซึ่งกำหนดพื้นที่เป้าหมายไว้ประมาณ 1 ล้านไร่ ใน 70 จังหวัด ปัจจุบันสามารถดำเนินการออกหนังสืออนุญาตได้แล้วประมาณ 4 แสนไร่ คิดเป็นร้อยละ 40ของเป้าหมาย โดยมีผู้ยากไร้ ได้รับการจัดสรรที่ดิน มากกว่า 46,000 ราย รวมถึงมีการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพไปพร้อม ๆ กันด้วย อย่างไรก็ตาม ยังคงพบปัญหาความซ้ำซ้อน และข้อจำกัดในการจัดที่ดิน หรือการอนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดินตามความต้องการของชุมชน ดังนั้น คณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ได้ประชุมหารือเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ โดยเห็นชอบให้ส่งมอบงานโฉนดชุมชนให้กับคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ไปดำเนินการต่อ ซึ่งอาจจะต้องยึดหลักเรื่องการจัดที่ดินในรูปแบบแปลงรวม มีการรับรองสิทธิ์ของชุมชนให้กับประชาชน ซึ่งไม่ใช่สิทธิปัจเจกกับใครคนใดคนหนึ่ง แต่จะเป็นไปในลักษณะการรับรองสิทธิแปลงรวม  ไม่อย่างนั้นให้ไปก็ไปขายอีกต่อไปในอนาคตเหมือนเช่นเดิม ๆ ที่ผ่านมา

5. นโยบายสานพลังประชารัฐ โดยประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ช่วยกันแก้ปัญหา คิดหาทางสร้างอนาคตให้ประเทศไทย ผ่านโครงสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน และ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มีคณะทำงานร่วมภาครัฐ ภาคเอกชน เป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบาย ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และแนวทางการพัฒนาของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา มาเป็นหลักคิดที่มีเป้าหมายสุดท้าย คือการพัฒนาสู่ความยั่งยืน

สำหรับคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ได้ดำเนินการ 3 เรื่อง ประกอบด้วย เกษตร แปรรูป และท่องเที่ยว โดยชุมชนเอง ภายใต้ 5 กระบวนการ ได้แก่ การเข้าถึงปัจจัยการผลิต การสร้างองค์ความรู้ การตลาด การสื่อสารสร้างการรับรู้ และการบริหารจัดการโดยมีคณะกรรมการประสานงานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด (คสป.) และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ครบทุกจังหวัดแล้ว เป็นกลไกในการขับเคลื่อน มีผลงานประกอบการที่ดีขึ้นมาตามลำดับ ผลการดำเนินงานมากว่า 2 ปี สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างเป็นรูปธรรม มีการนำนวัตกรรมและองค์ความรู้มาเสริมสร้างเพิ่มมูลค่า จัดหาช่องทางการตลาด รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพสินค้า ช่วยให้เศรษฐกิจพื้นฐาน คือชุมชนได้เติบโต เข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ แล้วก็เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ พร้อมก้าวสู่เศรษฐกิจ 4.0 ในวันข้างหน้า
สำหรับผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมดังกล่าว ก็คือกลุ่มเป้าหมายราว 4,000 กลุ่ม แยกเป็น ด้านการเกษตร  ด้านการแปรรูป การท่องเที่ยวโดยชุมชน ได้รับการพัฒนา สามารถสร้างรายได้ รวมแล้วกว่า 2,200 ล้านบาท มีผู้ได้รับประโยชน์มากกว่า 5 แสนคน นอกจากนี้ จากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ปรากฏว่าชุมชนเป้าหมายมีรายได้เพิ่มขึ้น จากปีที่ผ่านมามียอดเงินรวม กว่า 700 ล้านบาท อีกทั้งยังมีการขยายผลวิสาหกิจเพื่อสังคม ระดับอำเภอ ตำบล มีการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ข้ามจังหวัด เช่น เครือข่ายผ้าบาติก เครือข่ายโคขุน เครือข่ายตลาดประชารัฐ เครือข่ายนครชัยบุรินทร์ เครือข่ายเพชรสมุทรคีรี และเครือข่ายมโนราห์ รวมทั้งมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับตลาด เช่น เห็ด จังหวัดอ่างทอง  ชาใบข้าวหอมมะลิ จังหวัดร้อยเอ็ด ท่องเที่ยวชุมชนบ้านเดื่อ จังหวัดหนองคาย และ เครื่องสำอาง แบรนด์ส้มซ่า จังหวัดพิษณุโลก เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการเพิ่มช่องทางการตลาดที่หลากหลายในทุกจังหวัด และตลาด Modern Trade อีกด้วย ใครที่ไม่เคยได้ยินคำที่นายกฯ พูด แสดงว่ายังไม่เข้าถึงโอกาสเหล่านั้น ท่านต้องติดตาม ไม่อย่างนั้นท่านก็จะว่ารัฐบาลไม่ทำอะไร ๆ อย่างเช่น มีคนบางกลุ่ม บางฝ่ายมาพูดในวันนี้ เรามีตัวเลข มีผลสัมฤทธิ์ออกมาตลอด แต่ถ้าใครยังไม่เคยได้ยินคำเหล่านี้ ไม่เห็น ไม่เคยฟังช่องทางเหล่านี้ ท่านก็เข้าไม่ถึงโอกาสเหล่านั้น แล้วจะให้เราทำอย่างไร ก็ต้องพยายามฟังบ้างหรืออ่านบ้าง 

เพราะฉะนั้นที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่ประกอบกันจนเป็นความสำเร็จของเรา ในวันนี้รัฐบาลจำเป็นต้องดูแลให้ครบวงจร ให้ตลอดห่วงโซคุณค่า ทั้งในระดับฐานรากไปจนถึงระดับประเทศ ที่เชื่อมโยงไปยังกลุ่มประเทศ CLMVT อาเซียน และประชาคมโลก ในรูปแบบความสัมพันธ์ ความร่วมมือต่าง ๆ ด้วย สิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้สามารถรักษาผลสำเร็จ ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ก็คือเปิดรับและปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเริ่มจากตัวเราเองก่อน ด้วยการไม่หยุดที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องฟัง ต้องอ่าน และพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่าทุก ๆ วัน  เพื่อที่เราทุกคนจะได้เข้มแข็ง เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างไทยไปด้วยกัน โดยต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
 
สุดท้ายนี้ สำหรับพี่น้องประชาชน และนักท่องเที่ยว ช่วงฤดูฝนนี้ โดยเฉพาะช่วงนี้ ที่มีพายุโซนร้อนเบบินคา ซึ่งจะส่งผลต่อฟ้าฝนบ้านเราอย่างมาก ใครที่จะไปเที่ยวตามน้ำตก ช่วงนี้ต้องระมัดระวัง ก็เห็นว่ามีได้รับผลกระทบพอสมควร ก็ระมัดระวังอย่าเพิ่งไปในช่วงนี้ ไปตรงไหนที่ปลอดภัย การนั่งเรือ ลงเรือ ท่องเที่ยวต่าง ๆ ต้องดูสภาพลมฟ้าอากาศด้วย ตรวจสอบข้อมูลได้ที่สายด่วน 1182 และศึกษาความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากเมื่อมีฝนตกบริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นพื้นที่ลาดชันจากเชิงเขาและหุบเขา น้ำที่ไหลลงมามีกำลังแรง เราคาดการณ์ได้ยาก เพราะเราอยู่ในพื้นที่ป่าเขา เราไม่สามารถไปติดตั้งเครื่องวัดได้ ส่วนใหญ่เรามาวัดข้างล่าง ข้างบนเขายังสะสมด้วยป่าที่ยังสมบูรณ์อยู่มาก แล้วก็ไหลลงมาเมื่อมันเต็ม เก็บไว้บนเขาเต็มก็ไหลลงมา มีกำลังแรง เจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ที่รับผิดชอบอยู่ ขอให้คอยดูแลรักษาความปลอดภัย เตรียมการให้พร้อม แจ้งเตือนประชาชน อพยพประชาชน เมื่อคาดว่าจะเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ดีกว่าที่จะไปรอรับแล้วก็เผชิญกับภัยต่าง ๆ อย่างที่บอกไว้แล้ว ระบบแจ้งเตือนภัยต้องสามารถใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้ที่ไปท่องเที่ยวเอง ก็ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลน้ำตกอย่างเคร่งครัด ผมเห็นหลายพื้นที่เขาเตือนก็ไม่เชื่อ ไม่ฟัง พอมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ก็มาโทษเจ้าหน้าที่ เหล่านี้ต้องไปทั้ง 2 ทาง เจ้าหน้าที่ก็ต้องทำงานกันให้เหมาะสมด้วย พูดจากันดี ๆ การพักผ่อนในพื้นที่ที่กำหนดให้ หรือจุดที่ปลอดภัย ก็ต้องปฏิบัติ ไม่ลงเล่นในจุดที่เป็นโขดหิน หรือบริเวณที่กระแสน้ำไหลเชี่ยว กลางลำน้ำที่เป็นจุดอันตราย เช่นเดียวกับการเที่ยวชายทะเล ช่วงที่มีธงแดง หรือคลื่นสูง ก็ต้องระมัดระวัง ไม่ลงไปเล่นในทะเล ปฏิบัติตามมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของทางสถานที่นั้น ๆ แนะนำให้ลูกหลานได้ สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลง หรือสัญญาณที่จะเป็นภัยต่าง ๆ ตามหลักวิชาการ ที่เจ้าหน้าที่แนะนำด้วย  คราวที่แล้วเราก็สูญเสียเป็นจำนวนมากจากสึนามิ เพราะไม่เคยเกิด หลายคนก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นนี่คือการเรียนรู้ ต้องติดตามว่าโลกเกิดอะไรขึ้น เปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงในเรื่องลมฟ้าอากาศอย่างไร ก็ขอให้ติดตามครับ ถ้าไม่ฟัง ไม่อ่าน ก็ไม่รู้ เมื่อเวลาทุกคนเดือดร้อนก็กลับมาที่รัฐบาล เจ้าหน้าที่ก็ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว รัฐบาลก็รับผิดชอบ แต่ขอให้ฟังกันบ้างครับ 

ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนรักษาสุขภาพ และทุกครอบครัวมีความสุข ปลอดภัย ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นะครับ สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้