Last updated: 13 ส.ค. 2561 | 3054 จำนวนผู้เข้าชม |
"...รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะได้เดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดสงขลา นาย ก. ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เชิญนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ไปที่ห้องพักแล้วพูดขอให้ช่วยซื้อยาและเวชภัณฑ์จากบริษัทพรรคพวกของนาย ก. จากเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรเพิ่มเติม ส่วนนาย ข. ได้พูดกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานีว่าเงินงบประมาณเพิ่มเติมที่ได้รับ จำนวน 16 ล้านบาทเศษ..."
เป็นตอนสุดท้ายของรายงานผลการศึกษาตัวอย่างคดีทุจริตสำคัญๆ ในหมวดการจัดซื้อจัดจ้าง ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ลงมติชี้ความผิด นับตั้งแต่ปี 2543 -2557 และมีการจัดทำรวบรวมไว้เป็นทางการ ซึ่งสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเสนอต่อสาธารณะเพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนำไปใช้เป็นแนวทาง ในการตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ว่า รูปแบบพฤติการณ์การทุจริต รวมไปถึงข้อกฎหมายสำคัญที่ใช้ในการตัดสินคดีของป.ป.ช. มีรายละเอียดเป็นอย่างไร (การเผยแพร่ข้อมูลระบุชื่อผู้เกี่ยวข้อง เป็นตัวอักษรย่อ เพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา เพราะบางคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล)
ตัวอย่างคดีทุจริตสำคัญๆ ในหมวดการจัดซื้อจัดจ้าง ที่นำมาเสนอต่อไป จะมีคดีอะไรบ้างดูรายละเอียดได้ดังต่อไปนี้
@ ทุจริตจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์
ข้อเท็จจริง กระทรวงสาธารณสุขได้รับจัดสรรเงินงบประมาณเพิ่มเติมเป็นเงิน 2,704.23 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีเงินงบประมาณจำนวน 1,400 ล้านบาท เป็นเงินที่จัดสรรในหมวดเงินอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล (หมวด 800) โดยได้จัดสรรแยกเป็น 2 ส่วน คือ โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป จำนวน 560 ล้านบาท และจัดสรรให้แก่โรงพยาบาลชุมชน จำนวน 840 ล้านบาท ต่อมามีการขอแปลงงบประมาณดังกล่าวเป็นค่าเวชภัณฑ์ในหมวดค่าตอบแทนใช้สอยวัสดุ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้รับงบประมาณเพิ่มเติมเป็นเงิน 17,167,000 บาท สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเงิน 19,521,000 บาท และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเงิน 16,199,000 บาท
ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะได้เดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดสงขลา นาย ก. ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เชิญนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ไปที่ห้องพักแล้วพูดขอให้ช่วยซื้อยาและเวชภัณฑ์จากบริษัทพรรคพวกของนาย ก. จากเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรเพิ่มเติม ส่วนนาย ข. ได้พูดกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานีว่าเงินงบประมาณเพิ่มเติมที่ได้รับ จำนวน 16 ล้านบาทเศษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้แปรญัตติกลับมาให้กระทรวงสาธารณสุขและพูดขอเงินสวัสดิการให้กับผู้ใหญ่ จำนวนร้อยละ 15 ของเงินงบประมาณ นาย ข. จึงได้เสนอให้จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์จากบริษัทหนึ่ง ซึ่งทางบริษัทจะหักเปอร์เซ็นต์ในส่วนที่จ่ายให้กับผู้ใหญ่ไว้เอง ในวันเดียวกันนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช กับพวกได้พบนาย ก. และนาย ก. ได้แจ้งว่าเงินงบประมาณที่ได้รับเป็นงบประมาณที่รัฐมนตรีไปต่อสู้กลับคืนมา จึงขอความร่วมมือให้ซื้อยาและเวชภัณฑ์จากบริษัทในเครือด้วย
หลังจากนั้น ได้มีตัวแทนบริษัทไปพบนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลาและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานีและมอบบัญชีราคายาของบริษัทเพื่อให้จัดซื้อ หัวหน้าเภสัชกรรมประจำสาธารณสุขจังหวัดสงขลาได้รับไปดำเนินการเห็นว่ายามีราคาแพงเกินไปจึงไม่จัดซื้อ ส่วนสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีการแจ้งเรื่องที่ถูก นาย ข. เรียกเงินและมีการหารือกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนในสังกัด โดยตกลงกันว่าให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่างๆ รวบรวมเงินประมาณ 10.2 เปอร์เซ็นต์ของเงินงบประมาณ เพื่อนำไปจ่ายให้ตามที่ถูกเรียกร้องแต่จะไม่จัดซื้อยาจากบริษัทที่กำหนดมาให้ ต่อมาได้มีการรวบรวมเงินได้บางส่วนเป็นเงิน 516,500 บาท และกำลังจะนำส่งแต่ปรากฏว่ามีข่าวทางสื่อมวลชนเรื่องการทุจริตการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข จึงมีการโอนเงินดังกล่าวคืน
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และมาตรา 157 ส่วนนาย ข. มิได้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานหรือข้าราชการการเมือง มีความผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86
@ ทุจริตแก้ไขราคากลางและเอกสารผลการประกวดราคา
ข้อเท็จจริง นาย ก. ตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ได้เสนอผลการพิจารณาผลการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างปรับปรุง Ground Improvement For Airside Pavements ของบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ต่อกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยได้พิจารณาผู้เสนอราคาต่ำสุดใน Option 1 ซึ่งเสนอราคา 11,900,000,000 บาท สูงกว่าราคากลางที่บริษัทที่ปรึกษากำหนดไว้คิดเป็น 9.57 เปอร์เซ็นต์ และเห็นสมควรจัดจ้างบริษัทผู้เสนอราคารายดังกล่าว เพราะเป็นราคาที่สูงกว่าวงเงินไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของราคากลาง กรรมการผู้จัดการใหญ่จึงได้สั่งการให้ นาย ก. และรองผู้จัดการใหญ่อีก 2 คน ทำการต่อรองราคา ผลการต่อรองราคาปรากฏว่าผู้เสนอราคาได้ตัดค่าใช้จ่ายรายการเงินค่าอำนวยการออก 108 ล้านบาท คงเหลือราคา 11,650,000,000 บาท กรรมการผู้จัดการใหญ่จึงสั่งให้นำเข้าเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทพิจารณา
ในระหว่างที่จัดเตรียมเอกสารเพื่อส่งไปให้กรรมการบริษัทฯ พิจารณา ได้มีการแก้ไขเอกสารบันทึกของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา โดยลบข้อความเกี่ยวกับราคากลางที่ระบุไว้ 10,860,743,889.38 บาท แก้ไขเป็น 12,200,000,000 บาท และแก้ไขรายละเอียดในวาระการประชุมให้สอดคล้องกับบันทึกคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาในเรื่องราคากลางให้สอดคล้องกัน โดยนาย ข. เป็นผู้ดำเนินการให้มีการแก้ไขเอกสารแล้วเสนอให้กรรมการบริษัทฯ พิจารณา และในการพิจารณาอนุมัติให้จ้างบริษัทผู้เสนอราคาต่ำสุด เมื่อมีการแก้ไขราคากลางเป็น 12,200,000,000 บาท ทำให้เข้าใจว่าราคา 11,650,000,000 บาท เป็นราคาต่ำกว่าราคากลาง อันเป็นเหตุให้กรรมการบริษัทฯ พิจารณาอนุมัติให้บริษัทฯ ที่เสนอราคาต่ำสุดได้รับการคัดเลือก ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. รองผู้จัดการใหญ่ ที่มีการแก้ไขราคากลางใหม่และเป็นผู้ชี้แจงเรื่องราคากลางให้คณะกรรมการบริษัทฯ ความผิดทางวินัยและมีความผิดทางอาญาฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่บริษัทและฐานเป็นพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 ส่วนการกระทำของ นาย ข. มีมูลความผิดทางวินัย
@ การทุจริตจัดซื้อจัดจ้างเรือขุด
ข้อเท็จจริง นาย ก. เมื่อครั้งดำรงอธิบดีกรมเจ้าท่าในขณะนั้น ได้ลงนามในสัญญาจ้างบริษัท ส. ทำการก่อสร้างเรือขุด จำนวน 3 ลำ โดยมีการตัดการค้ำประกันงวดการจ่ายเงินงวดงานที่ 2-4 ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้วออกตามความเห็นของคณะทำงานเพื่อดำเนินการทบทวนเอกสารประกวดราคารายละเอียดจำเพาะทางเทคนิค ทั้งนี้ ยังทำสัญญาแยกการจ่ายเงินค่าอะไหล่ไว้ต่างหากและจ่ายเงินล่วงหน้า 15% ให้กับบริษัท ส. ผู้รับจ้างอีกด้วย เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย โดยไม่สามารถริบหลักประกันการจ่ายเงินเมื่อผู้รับจ้างไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาจ้าง
นอกจากนี้ ในขั้นตอนการบริหารสัญญาจ้างการจ่ายเงินงวดที่ 2 และงวดที่ 5 มีการชี้มูลความผิด กล่าวคือ การจ่ายเงินงวดที่ 2 เพื่อส่งมอบเครื่องจักรใหญ่ เกิดขึ้นในสมัยที่นาย ข. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเจ้าท่า คณะกรรมการตรวจการจ้างได้ทำการตรวจรับเครื่องจักรขับเคลื่อนกำเนิดไฟฟ้า และจ่ายเงินค่าจ้างงวดที่ 2 โดยระบุว่าเป็นการตรวจรับเครื่องจักรใหญ่ ซึ่งเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้รับจ้างและเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และการจ่ายเงินงวดที่ 5 ตามสัญญาจ้างระบุให้จ่าย 20% ของราคาตามสัญญาเมื่อส่งเรือขุดมายังประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยเรือพี่เลี้ยงจำนวน 3 ลำ และอุปกรณ์ท่อทุ่น แต่ปรากฏว่าผู้รับจ้างได้ขออนุมัติแบ่งงวดการจ่ายเงินงวดที่ 5 ออกเป็น 3 งวด คือ จ่ายร้อยละ 9 เมื่อส่งมอบท่อทุ่น จ่ายร้อยละ 6 เมื่อส่งมอบเรือพี่เลี้ยง และจ่ายร้อยละ 5 เมื่อส่งเรือขุดมายังประเทศไทย ซึ่งนาย ข. ได้อนุมัติและแก้ไขสัญญาให้มีการแบ่งจ่ายเงินค่าจ้างงวดดังกล่าว ตามที่คณะกรรมการตรวจการจ้างเสนอ ซึ่งการแก้ไขสัญญาดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้รับจ้าง ทำให้ราชการเสียประโยชน์ต้องจ่ายเงินให้ผู้รับจ้างไปก่อนงานจะแล้วเสร็จและไม่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากที่ควรได้รับ นอกจากนี้ภายหลังปรากฏว่าผู้รับจ้างไม่สามารถส่งมอบเรือขุดให้กับกรมเจ้าท่าได้
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 85 วรรคสอง ส่วนคณะทำงานเพื่อดำเนินการทบทวนเอกสารประกวดราคารายละเอียดจำเพาะทางเทคนิคที่เสนอความเห็นให้นาย ก. ลงนามในสัญญาตัดเงื่อนไขการค้ำประกันงวดงานที่ 2-4 เป็นความผิดทางวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 85 วรรคหนึ่ง
นอกจากนี้ ในการจ่ายเงินงวดที่ 2 การกระทำของนาย ข. และคณะกรรมการตรวจการจ้าง เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสามและมาตรา 85 วรรคสอง และเป็นความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และคณะกรรมการตรวจการจ้างยังมีความผิดตามมาตรา 162 (4) ประกอบมาตรา 83 ในส่วนของการเบิกจ่ายเงินงวดที่ 5 การกระทำของนาย ข. และคณะกรรมการตรวจการจ้าง เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสามและมาตรา 85 วรรคสอง และเป็นความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และคณะกรรมการตรวจการจ้างยังมีความผิดตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการให้ความเห็นว่า สามารถแบ่งงวดการจ่ายเงินเป็น 3 งวด ตามที่คณะกรรมการตรวจการจ้างเสนอได้ เป็นความผิดทางวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 84 วรรคหนึ่ง
@ ดำเนินการให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม
ข้อเท็จจริง อบต. แห่งหนึ่ง ได้ประกาศสอบราคาก่อสร้างเสริมขยายถนน ในวันสุดท้ายที่กำหนดให้มีการยื่นซองสอบราคาก่อน 15.00 น. นาย ข. ได้ยื่นซองต่อเจ้าหน้าที่รับซองของ อบต. โดยถูกนาย ก. เสนอเงินให้เพื่อมิให้มีการยื่นซองแต่นาย ข. ไม่ยินยอม จึงถูกนาย ก. ทำการกีดกันโดยยืนขวางหน้าประตูทางเข้า และแย่งซองเสนอราคาจนทำให้นาย ข. ไม่สามารถเข้าไปยื่นซองได้ทันตามเวลาที่กำหนด นอกจากนั้นนาย ก. ได้ยื่นเงินให้กับผู้เสนอราคารายอื่นๆ ซึ่งนาย ค. ประธานกรรมการบริหาร อบต. ก็ทราบดีอยู่แล้วว่าการสอบราคาครั้งนี้มีการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 แต่กลับละเว้นไม่ดำเนินการให้มีการยกเลิกการสอบราคาครั้งนี้ และได้สั่งให้มีการเปิดซองเสนอราคาต่อไป
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 5 มาตรา 7 และมาตรา 13 ประกอบมาตรา 3 ส่วนการกระทำของนาย ค. เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 มาตรา 12 และมาตรา 13 ประกอบมาตรา 3
@ ไม่ดำเนินการติดตามผลการดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทที่ส่งมอบรถไม่ตรงตามที่กำหนดในสัญญา
ข้อเท็จจริง กรมไปรษณีย์โทรสารได้ทำสัญญาซื้อขายรถตรวจสอบเฝ้าฟังและหาทิศวิทยุขนาดเล็ก จำนวน 1 คัน กับบริษัท ว. โดยสัญญาเป็นรถโฟล์คตู้ รุ่นคาราเวล บริษัทดังกล่าวได้ทำการส่งมอบและกรมไปรษณีย์โทรสารได้ทำการตรวจรับ ต่อมามีการร้องเรียนว่าการตรวจรับดังกล่าวมีพฤติกรรมส่อไปในทางมิชอบ นาย ก. อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขในขณะนั้น มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง พบว่า บริษัท ว. ได้นำรถโฟล์คตู้ คนละรุ่นที่มีคุณสมบัติและราคาต่ำกว่าไปดัดแปลงให้เหมือนกับรุ่นที่กำหนดในสัญญา แล้วส่งมอบให้โดยมีเจตนาฉ้อโกง ทำให้คณะกรรมการตรวจรับเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่ารถที่ส่งมอบถูกตรงตามสัญญา จึงตรวจรับรถคันดังกล่าว ซึ่งกรมไปรษณีย์โทรสารสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากการส่งมอบของผิดสัญญาได้ จากนั้นนาย ก. ได้มีคำสั่งสั่งการให้นาย ข. หัวหน้าฝ่ายนิติการพิจารณาการดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัท ว. แต่นาย ข. ก็มิได้ดำเนินการใด ๆ กับบริษัท ว. และนาย ก. ก็มิได้ติดตามผลการดำเนินการตามที่ตนเองสั่งการแต่อย่างใด การกระทำของนาย ก. และนาย ข. จึงเป็นการไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการ และไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความอุสาหะ เอาใจใส่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ และไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. และนาย ข. เป็นความผิดทางวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 83 มาตรา 84 วรรคหนึ่ง และมาตรา 85 วรรคหนึ่ง
@ เรียกรับเงินจากบริษัทที่เป็นคู่สัญญาจ้าง
ข้อเท็จจริง นาย ก. ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายช่างโครงการจ้างเหมาก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ มีหน้าที่ควบคุม ตรวจสอบ แนะนำและเร่งรัดการปฏิบัติงานก่อสร้างของผู้รับจ้างให้เป็นไปตามรูปแบบสัญญาจ้าง แต่ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เรียกรับเงินจากบริษัทที่เป็นคู่สัญญาเป็นรายเดือนจนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยอ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมตรวจสอบการทำงานก่อสร้าง ซึ่งเกินกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง โดยขมขู่ว่าถ้าไม่ยินยอมจะต้องขาดทุนและถูกปรับ เป็นเหตุให้บริษัทดังกล่าวต้องจ่ายเงินเนื่องจากเกรงกลัวว่านาย ก. จะใช้อำนาจหน้าที่กลั่นแกล้งทำให้งานล่าช้า การกระทำของนาย ก. เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดย มิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบหรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และเป็นความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 มาตรา 157
@ มีส่วนได้เสียในโครงการที่ตนมีหน้าที่รับผิดชอบโครงการ
ข้อเท็จจริง นาย ก. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกอง ได้ขออนุมัติดำเนินการจ้างเหมาก่อสร้างโดยวิธีประกวดราคา พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการ 3 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการรับซอง คณะพิจารณาผลการประกวดราคา และคณะกรรมการตรวจพัสดุ ทั้งนี้ กรมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลาง โดยนาย ก. เป็นประธานกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการกำหนดราคากลางเกินกว่างบประมาณที่ได้รับการจัดสรร จากนั้น กรมได้ประกาศประกวดราคาค่าจ้างเหมาก่อสร้างและวันยื่นซองเสนอราคา ปรากฏว่ามีผู้มายื่นซองเสนอราคาจำนวน 3 ราย จากผู้ซื้อเอกสารประกวดราคา 9 ราย คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานคุณสมบัติผู้เสนอราคาทั้ง 3 ราย และได้เปรียบเทียบแล้ว บริษัท ส. เป็นรายที่เสนอราคาต่ำสุด ต่อมากรมได้อนุมัติรับราคาและทำสัญญาจ้าง ซึ่งบริษัท ส. ได้ส่งมอบงานและเบิกจ่ายเงินค่าก่อสร้างตามกำหนดระยะเวลา ทั้งนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัท ส. เมื่อหลังจากได้รับเช็คจากกรมได้มีการออกเช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีให้แก่นาย ก .
ดังนั้น การกระทำของนาย ก. จึงเป็นการอาศัยอำนาจในตำแหน่งหน้าที่เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการที่ตนมีหน้าที่ดูแลเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในฐานะเจ้าของและผู้รับผิดชอบโครงการ
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 85 วรรคสอง และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152
@ ข่มขู่และเรียกรับเงินจากผู้ชนะการจ้าง
ข้อเท็จจริง นาย ก. ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ได้รับมอบอำนาจจากอธิบดีกรมสามัญศึกษา ให้มีอำนาจสั่งซื้อหรือสั่งจ้าง โดยโรงเรียนได้ดำเนินการสอบราคาจ้างก่อสร้างอาคารเรียนและห้องน้ำ ซึ่งบริษัท อ. เป็นผู้ชนะการสอบราคาและเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างอาคาร ซึ่งก่อนวันทำสัญญาจ้างนาย ก. ได้ข่มขู่และเรียกรับเงินจากนาย ส. กรรมการบริษัท เพื่อเป็นค่าผ่อนส่งรถยนต์ โดยขู่ว่าหากไม่ให้จะทำงานลำบากขึ้น นาย ส. จึงเข้าแจ้งความและร่วมวางแผนกับเจ้าหน้าที่จับกุมนาย ก. โดยภายหลังจากทำสัญญานาย ส. ได้นำซองบรรจุเงินมอบให้นาย ก. เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้าตรวจค้นพบเงินดังกล่าว การกระทำของนาย ก. เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุให้ผู้อื่นและทางราชกาได้รับความเสียหาย
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู พ.ศ. 2523 มาตรา 4 และเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 มาตรา 149 และมาตรา 157
------------------------
ทั้งหมด คือ ตัวอย่างคดีทุจริตสำคัญๆ ในหมวดจัดซื้อจัดจ้างที่รวบรวมมานำเสนอ สำหรับตอนต่อไปห้ามพลาด เริ่มต้นนำเสนอตัวอย่างคดีทุจริตสำคัญๆ ในหมวดการทุจริตกลุ่มที่ 2 ตรวจการจ้าง เบิกจ่ายเงิน และเรียก รับผลประโยชน์ ซึ่งพฤติการณ์ส่วนใหญ่ของผู้กระทำความผิด ล้วนเกี่ยวข้องกับการเรียกรับสินบน