Last updated: 14 ก.ค. 2561 | 1750 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
จากเหตุการณ์ “ผู้ประสบภัย” นักฟุตบอลเยาวชนและผู้ช่วยโค้ช “ทีมหมูป่าอะคาเดมี แม่สาย” รวม 13 คน ติดอยู่ภายใน วนอุทยานถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นเวลากว่า 17 วัน นะครับ โดยภารกิจการค้นหาและกู้ภัยที่เกิดจากการบูรณาการของ “พลังประชารัฐ” ไม่เพียงในประเทศไทย แต่หลั่งไหลมาจากทั่วโลก ก็นับเป็นปฏิบัติการกู้ภัยครั้งประวัติศาสตร์ ของมวลมนุษยชาติ ที่ไม่มีเส้นแบ่งทางเผ่าพันธุ์ ชนชาติ หรือศาสนา โดย “จิตอาสา” เหล่านั้น ต่างทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายร่วม คือการรักษา 13 ชีวิตในถ้ำ จนประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีตามที่มีรายงานข่าวสู่สายตาชาวโลกไปแล้วในช่วงที่ผ่านมานั้น
สำหรับในการแก้ปัญหาที่ถ้ำหลวงนี้ อย่างที่บอกไปแล้ว ด้วยความร่วมมือของคนไทย และคนต่างประเทศ ทั้งราชการ ประชาชน แล้วก็ภาคเอกชน ทุกหมู่เหล่า จิตอาสา ที่สำคัญที่สุดคือ พระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เป็นกำลังใจที่พระราชทานกำลังใจให้กับพวกทุกคน สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเป็นผลสำเร็จนะครับ ก็ขอให้พระองค์ ทรงพระเจริญ
วันนี้ ผมอยากชี้ชวนปวงชนชาวไทย ให้ช่วยกันคิดไปข้างหน้า พร้อม ๆ กันขยายประเด็น ที่ผมได้กล่าวไว้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อให้มีความชัดเจน บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ในอนาคต ได้แก่...
ประเด็นแรกการจัดทำ “แผนบทเรียน” อาทิ การบันทึกสิ่งที่ได้ดำเนินการไประหว่างภารกิจนี้ ในรายละเอียดนะครับ ที่อธิบายถึงกระบวนการคิด การบริหารจัดการ แผนงาน แผนเผชิญเหตุ การถ่ายทอดประสบการณ์ ข้อมูลทางสถิติต่าง ๆ ของบุคคล และหน่วยงานตามบทบาทหน้าที่ของตน หรือที่ต้องปฏิบัติร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งองค์ความรู้ใหม่ ๆ จากผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติ ในทุก ๆ สาขาวิชาชีพ ที่ได้มารวมกันในครั้งนี้ ทั้งธรณีวิทยา ถ้ำวิทยา อุทกวิทยา การดำน้ำ การดำน้ำในถ้ำ การเจาะน้ำบาดาล การบริหารการไหลเวียนของน้ำ การเบนน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานของศูนย์อำนวยการร่วม ทั้งพื้นที่จำกัด พื้นที่หวงห้าม การจัดการจราจร ลานจอดรถทั่วไป รถฉุกเฉิน ลานจอด เฮลิคอปเตอร์ เรื่อยไปจนถึงกิจกรรมสนับสนุนอื่น ๆ ทั้งเรื่องอาหาร การพยาบาล สุขาภิบาล ที่พักผ่อน พักแรม เป็นต้น ทั้งหมด ทั้งปวง ต้องถูกบันทึกอย่างเป็นระบบ ตามแนวทาง KM ก็คือ “การจัดการความรู้” สำหรับเป็นบทเรียน และให้การศึกษาแก่เยาวชน และประชาชน “เจ้าของพื้นที่” รวมทั้ง สามารถนำมาฝึกฝนทักษะ เพิ่มพูนความรู้ ความ สามารถ แก่เจ้าหน้าที่ของเรา ประชาชนของเราด้วย ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานการทำงานของเราสู่สากล ในส่วนของการทำงานนี้ อยากจะให้ทุกคนได้วางแผนร่วมกัน ในเรื่องของการป้องกันนะครับ แล้วก็แก้ไข แล้วก็ฟื้นฟูให้ครบระบบ เพราะฉะนั้นป้องกันไม่ให้เกิด ย่อมดีกว่าที่จะต้องแก้ไขในโอกาสต่อไป เว้นแต่ว่าเป็นสถานการณ์ที่สุดวิสัย
นอกจากนี้ ผมเห็นว่าการจัดทำแผนบทเรียนของเรา ต้องตอบอีก 3 โจทย์ ได้แก่
(1) การแก้ไขข้อบกพร่องในอดีต
(2) การป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ ในอนาคต โดยโมเดล “ถ้ำหลวง” นี้ จะต้องถูกนำไปขยายผล กับทุกแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นป่าเขา ถ้ำ น้ำตก แม่น้ำ ทะเล จำเป็นต้องมีมาตรการดูแลนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ให้ได้รับบริการที่ดี ประทับใจ และปลอดภัย โดยเจ้าหน้าที่ต้องมีการตรวจตรา กำกับดูแลให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎกติกา เพื่อสวัสดิภาพของตน และเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีคู่มือ มีคำ แนะนำ สำหรับนักท่องเที่ยว หลายภาษา มีระบบเตือนภัย กล้องวงจรปิด และแผนเผชิญเหตุ ซึ่งกำหนดช่องทางการสื่อสารเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน และกำหนดผู้ปฏิบัติที่ชัดเจน การให้ความรู้เบื้องต้นแก่ประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งก็อาจจะเป็น "ไกด์ประจำถิ่น" ที่สามารถให้ความรู้เชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสถานที่ รวมทั้งให้คำแนะนำการปฏิบัติเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ การตรวจสอบความมั่นคงของสิ่งปลูกสร้าง ทางเดิน สะพาน รั้วกั้น ป้ายเตือน เป็นต้น
(3) ความพร้อมของบุคลากร และหน่วยงาน โดยเฉพาะอุปกรณ์กู้ภัยประจำหน่วย ที่ต้องจะมีแผนการจัดหาใหม่ จัดหาทดแทน ให้ทันสมัย และมีแผนซ่อมบำรุงตามระยะเวลา ให้พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา มีการทำบัญชีเครื่องไม้เครื่องมือของหน่วยงานข้างเคียง หรือของเอกชน ที่สามารถจะประสานงาน หยิบยืมมาใช้ ร่วมกัน ในการทำประโยชน์ต่อทางราชการ ในการบรรเทาสาธารณภัย ได้ทันท่วงที อีกทั้งยังต้องมีการขึ้นบัญชีผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ ระดับโลก ซึ่งเราสามารถจะขอความร่วมมือได้ ในอนาคต ก็ไปดูว่าเหตุการณ์เหล่านี่เกิดอะไรขึ้นมาบ้างในโลกใบนี้ เราก็ต้องศึกษา เปิดดูตาม เว็บไซท์ เฟสบุ๊ค ดูก็ได้ แล้วเราก็ขึ้นบัญชีเอาไว้ ถึงเวลาเราก็สามารถติดต่อได้ ขอความช่วยเหลือเขาได้ ผมคิดว่าเขาเต็มใจ ทุกประเทศ เช่นที่ผ่านมานี่ เขาก็สมัครใจ ยินดีกันมาทั้งสิ้น ที่สำคัญ เราต้องมีการซักซ้อมแผนการปฏิบัติต่าง ๆ ภายในหน่วยงาน และระหว่างหน่วยงาน ในลักษณะ “ประชารัฐ” ในห้วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้แผนสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง มีประสิทธิภาพ
ประเด็นที่ 2 การพัฒนาเป็น “ห้องสมุด หรือ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ ที่มีชีวิต” ตามที่ผมได้กล่าวไว้นั้นว่าถ้ำหลวงนี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ ทางประวัติศาสตร์การกู้ภัย ของโลกเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ณ เวลานี้ ที่มีลักษณะเฉพาะ ก็คือเป็นถ้ำที่มีน้ำท่วมจนเต็มในฤดูฝน ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นทางระบายน้ำ ใต้พื้นดิน ในฤดูฝนน้ำจะเต็ม ซึ่งชาวโลกรู้จักเป็นอย่างดีแล้ว และย่อมเป็นที่สนใจอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตอีกด้วย ทั้งนี้ จากการติดตามข่าวสารจากทุกสื่อ รวมทั้งสื่อโซเชียลแล้ว ก็ดีใจที่หลายคนคิดตรงกับ บางท่านก็มีการเสนอแนวคิด ที่ให้รายละเอียด วาดภาพความคิดของผม ออกมาได้ชัดเจน เช่น ดร. วรภัทร โตธนะเกษม ซึ่งผมขอนำความคิดบางส่วน มาประกอบการอธิบายดังนี้ว่าทำอย่างไร เหตุการณ์ยิ่งใหญ่ระดับโลกที่ถ้ำหลวง จะถูกบันทึกไว้ในความทรงจำของคนไทย และของมนุษยชาติ ที่จะบังเกิดประโยชน์ต่อคนในสังคมต่อไป อีกนานแสนนาน
ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายนะครับ ในอดีต ที่เหตุการณ์ “สึนามิ” เมื่อปี 2547 ที่กวาดชายหาดภาคใต้ของไทย ครั้งนั้นก็มีเรื่องราวยิ่งใหญ่ มีการสูญเสียจำนวนมาก แล้วน้ำใจของคนไทยเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งคนทั้งโลกได้รับรู้ แต่หลักฐาน และบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ส่วนใหญ่สูญหายไปกับกาลเวลา ไม่นำไปส่งเสริมการศึกษา เช่น การตามรอยสึนามิ หากถามถึง “อนุสรณ์สถานสึนามิ” คำตอบที่ได้รับจากไกด์ท้องถิ่น คือไม่มีอะไรจะให้ชม หรือศึกษามากนัก ควรจะดีกว่านั้น ก็ช่วยกันทำ ช่วยกันคิด ค่อย ๆ ทำไป อย่าใช้งบประมาณสูงมากนัก ต้องเกิดขึ้นมาได้ในอนาคตนั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงทำให้ผู้ที่สนใจ อยากจะเรียนรู้ก็ผิดหวังไป
ดังนั้น “พิพิธภัณฑ์ถ้ำหลวง” ก็เป็นบทพิสูจน์ ถึงความยากลำบากในการช่วยชีวิต เป็นสถานการณ์ที่ท้าทายความสามารถ ทั้งทีมงานไทย และผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ซึ่งท่านก็กล่าวว่าไม่เคยเห็น คือไม่เคยได้ทำงานในลักษณะแบบนี้ เพราะว่ามีความแตกต่าง กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆ เพราะฉะนั้นเราก็สมควรบันทึกไว้ในความทรงจำตลอดไป และให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น ก็คือศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหาย ถ้ำหลวง จ.เชียงราย ที่ต้องเริ่มต้นก่อน มีการถ่ายทอดแนวคิด เตรียมแผนรองรับ หลังจากนี้ จะฟื้นฟูถ้ำหลวงอย่างไร ให้คงสภาพเดิมไว้อย่างดีที่สุด เพราะว่าที่ถ้ำหลวงนี้เป็นเหมือนกับทางระบายน้ำ น้ำใต้ดิน แล้วก็มีการซึมต่อไปยังพื้นที่อื่น ๆ แล้วก็ใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูก พืชไร่ พืชสวน ทำไร่ ทำนาอีก ถ้าเราไปเปลี่ยนแปลงมากจะเกิดปัญหาในอนาคตในเรื่องของการเกษตร
ผมให้แนวทางกับสำนักงานบริหารจัดการน้ำไปวางแผนให้ดี ว่าเราจะบริหารจัดการน้ำเหล่านี้ไว้ได้อย่างไร โดยที่ไม่ไปเปลี่ยนแปลงสภาพเดิมมากนัก อย่างเช่นอาจจะต้องไปหาวิธีการที่จะหาที่เก็บน้ำบริเวณใกล้เคียงไว้ให้ได้ โดยขอความร่วมมือจากภาคประชาชน และเกษตรกร แล้วให้เขาได้ประโยชน์ไปด้วย เพราะฉะนั้นเราจะทำให้ร่องรอยที่เกิดจากการปฏิบัติภารกิจห้วงที่ผ่านมานั้น ให้กลมกลืน ให้อยู่กับธรรมชาติเช่นเดิมต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นเครื่องบันทึกความทรงจำที่สัมผัสได้ และได้เห็น “ของจริง” บางส่วนยังคงอยู่ แทนการได้เห็นเพียงภาพถ่าย ที่ไม่สมจริง ไม่น่าสนใจ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ “ที่มีชีวิต” ก่อนที่จะส่งมอบความรับผิดชอบ ให้หน่วยงานปกติ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงราย รวมความถึงจังหวัดอื่น ๆ ด้วย ที่มีสถานที่ท่องเที่ยว ในลักษณะเช่นนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน เหล่านี้ต้องรับรู้รับทราบทั้งหมด เพราะเรากำลังขับเคลื่อนในเรื่องของการท่องเที่ยว เมืองรอง ท่องเที่ยวชุมชน เราต้องไปสำรวจ แล้วหาวิธีการป้องกัน แก้ไข แล้วก็ฟื้นฟูให้ได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น อย่าให้เกิดขึ้นอีกโดยเด็ดขาด
หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามา “รับไม้” ต่อ ไม่ใช่ “จบภารกิจ” แล้วแยกย้ายกลับบ้าน ก็ต้องทำอย่างไรให้ปลอดภัย ทำอย่างไรจะเหลืออะไรไว้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้ชนรุ่นหลัง เมื่อเหตุการณ์สงบลงแล้ว ก็อย่าให้เหลือแต่ถ้ำหลวง ควรเก็บเครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ ท่อระบายน้ำ ชุดมนุษย์กบ ชุดปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ชาวไทย และชาวต่างชาติ “บางส่วน” ที่สามารถที่จะนำให้เป็นประวัติศาสตร์ ไว้ที่นั่นได้บ้าง อาจจะที่ใช้งานไม่ได้แล้ว อะไรทำนองนี้ ที่ชำรุดก็เก็บ ๆ ไว้เหมือนกับพิพิธภัณฑ์อื่น ๆ เพราะฉะนั้น รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เช่น เก็บกล่องอาหารที่ลอยเข้าไปให้เด็ก ๆ ในถ้ำ จดหมายที่เด็ก ๆ เขียน อุปกรณ์ที่ใช้ขุดเจาะ ถังออกซิเจน ผ้าห่มฟลอย ที่นำไปให้เด็ก เพื่อให้เกิดความอบอุ่น รถจักรยาน รองเท้าของเด็ก ๆ และสิ่งของอีกมากมาย ที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการครั้งนี้ พยายามเก็บไว้ให้ครบสมบูรณ์มากที่สุด ที่สามารถทำได้ ด้วยความเต็มใจ ในทุกแง่มุมที่น่าศึกษาไม่เว้นแม้แต่เครื่องครัว กระทะ ที่ใช้ในโรงครัว อาคารศูนย์อำนวยการ ถ้าเรารักษาสภาพปัจจุบันไว้ได้ ให้กลมกลืนกับธรรมชาติ ก็น่าจะเก็บไว้เช่นเดิม โต๊ะ เก้าอี้ จุดแถลงข่าว ป้ายไวนิล แบ็คดร็อป เอกสารที่ใช้ในการวางแผน ฐานข้อมูล บอร์ด แผนที่ ภาพถ่ายต่าง ๆ รวมทั้งภาพไฮไลท์ในการช่วยชีวิต ก็สามารถจะใส่ไว้ทั้งในพิพิธภัณฑ์ หรือไม่ก็ก็ใส่ไว้ในเว็บไซท์ เฟสบุ๊ค ต่าง ๆ เพื่อจะเก็บเรื่องราวสำคัญเหล่านี้ไว้ทั้งหมด เรียกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ ที่มีชีวิต ผู้ที่ไปเข้าชมจะได้เห็นภาพ ตั้งแต่นอกถ้ำ และก็ในถ้ำ และมีประวัติศาสตร์ของถ้ำหลวงแห่งนี้
สำหรับ จ่าเอก สมาน กุนัน ที่เราให้เขาเป็น “วีรบุรุษถ้ำหลวง” นั้นเพราะเขาสละชีพเพื่อภารกิจ แล้วก็เต็มเปี่ยมด้วยอุดมการณ์ในส่วนนี้ ก็น่าชื่นชมและยกย่อง ที่อาจารย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ประกาศว่าจะนำลูกศิษย์ พร้อมทั้งบรรดาศิลปินชาวเชียงราย ประมาณ 300 คน จัดทำอนุสรณ์สถาน เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมูป่านี้ และสร้างอนุสาวรีย์ให้กับ “จ่าแซม” บริเวณปากถ้ำหลวงนี้ ด้วยนะครับ ก็ขอให้ดูให้เหมาะสม ผมมั่นใจว่า ท่านจะทำให้เกิดผลสำเร็จ เหมือนกับที่ท่านเคยสร้าง “วัดร่องขุ่น” จนเป็นที่รู้จักทั่วโลก ก็ขอให้ปรึกษาหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องด้วย ไม่อย่างนั้นจะดูไม่สอดคล้องกันหรือเปล่า ก็ต้องไปดูกันตรงนั้น แต่ผมยินดีที่ท่านมีแนวคิดนี้ ขอบคุณอาจารย์เฉลิมชัย จะได้ถูกบรรจุลงในแผนที่ท่องเที่ยวของชาวโลกในการมาเยือนเมืองไทย เป็นที่หมายที่ไม่ควรพลาด คงไม่ใช่แค่ถ้ำอย่างเดียว บรรยากาศแถวนั้นก็สวยงาม ภูเขา ป่าสมบูรณ์
นอกจากนั้น ภาพของเกษตรกรที่ประสบความยากลำบาก ในการเพาะปลูกพืช แล้วต้องระบายน้ำลงไปนะครับ แล้วยินดี สละพื้นที่เพื่อรองรับน้ำ เกิดความเสียหายจากภารกิจนี้ อันนี้รัฐบาลให้ไปดูแลแล้ว ภาพของ “จิตอาสา” จำนวนมาก ที่แบ่งกันทำหน้าที่ ภาพเหล่านี้จะทำให้คนที่ไปชมถ้ำหลวงในอนาคต ได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของน้ำใจ และความเสียสละ ของมวลมนุษยชาติ ที่อุทิศเพื่อภารกิจนี้ ร่วมกัน รวมทั้งการจัดนิทรรศการแสดงทิศทางของน้ำ ที่ไหลเข้าถ้ำ ระดับน้ำ โดยใช้แสง สี และวิทยาการยุคใหม่ เข้าช่วยเพื่อให้ได้ทั้งความรู้ และตื่นตาตื่นใจ
สิ่งที่ต้องคิดต่อมา คือจะจัดโครงการอย่างไร ในการที่จะดึงดูดเยาวชนให้เข้าไปชมเพื่อการเรียนรู้ และอยู่กับธรรมชาติ อย่างสร้างสรรค์ และปลอดภัย เน้นว่าต้องปลอดภัย แล้วต้องไม่ลืมที่จะตระเตรียมแผนต่าง ๆ เส้นทาง หรือจุเยี่ยมชมที่ปลอดภัย ให้เกิดความสะดวกยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องดัดแปลงธรรมชาติ รวมทั้งมีการบริหารมาตรฐานความปลอดภัยให้เป็นไปในระดับสากล ผมคาดหวังว่าสถานที่แห่งนี้ จะเป็นความทรงจำ ที่สอนลูกหลาน และ บอกกับนักท่องเที่ยวว่า คนไทยรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ในยามคับขันรวมทั้ง ยิ่งกว่านั้น “ภัยพิบัติ” ครั้งนี้ ช่วยดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก มาช่วยกันในการจะรักษา 13 ชีวิต เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ
สำหรับอีกเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยของเรา ในระยะเวลาอันใกล้เคียงก็คือ “เรือล่ม” ที่จังหวัดภูเก็ต ก็เป็นเรื่องที่สร้างความสูญเสียครั้งใหญ่ของ “เพื่อนมนุษย์” ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นฟู ดูแลผู้ประสบภัย ครอบครัวต่าง ๆ ตามที่ปรากฏในข่าว ตามสื่อต่าง ๆ แล้ว ในฐานะรัฐบาล ที่เป็น “เจ้าบ้าน” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยดำเนินการทุกเรื่อง ทั้งการค้นหา พิสูจน์ทราบ ติดตามหาญาติการประกันภัย การส่งกลับ และอำนวยความสะดวกกระบวนการทั้งปวง ไม่ให้เป็นอุปสรรค ก็ขอให้เร่งดำเนินการ ให้เรียบร้อยโดยเร็ว เพราะทางญาติ พี่น้อง ที่อยู่ทางต่างประเทศ เขาก็เป็นห่วง เป็นกังวล เพราะฉะนั้นขอให้ทำอะไรให้เร็ว รวมทั้ง มาตรการต่าง ๆ ในการช่วยเหลือเยียวยา ตามกฎหมาย อย่างเต็มที่ ที่สำคัญมากในขณะนี้คือการรักษาขวัญและกำลังใจแก่ญาติผู้สูญเสีย ผมก็ได้พบไปแล้ว ก็น่าสงสาร น่าเห็นใจ บางครอบครัวเขาก็เสียบุตร บางครอบครัวเสียภรรยา บางครอบครัวก็เสียสามี ถ้าเป็นเราเอง เราก็คงเสียใจมากเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นด้วยหลักเมตตาธรรม และหลักมนุษยธรรม เราก็ต้องดำเนินการให้เต็มที่ แล้วเราเป็นเพื่อนกัน นักท่องเที่ยวต่าง ๆ ก็มาจากต่างประเทศ เป็นประเทศจีน ซึ่งเป็นมิตรที่ดีของเรา
เพราะฉะนั้นเราต้องแสดงให้เขาเห็นถึงการเป็นเจ้าบ้านที่ดี เป็นรัฐบาลที่ดี ในการที่ดูแล ค้นหาสาเหตุ แล้วก็มีการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก เป็นการรักษาระดับมาตรฐานสากล เพื่อจะรองรับนักท่องเที่ยวต่อ ๆ ไป ในอนาคต อาทิ เรื่องการกำกับดูแลบริษัทผู้ให้บริการ เราต้องเคร่งครัดในการออกใบอนุญาตนะครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีปัญหามานานแล้ว รัฐบาลพยายามแก้ไขมาตลอดเวลา โดยเราได้ขอความร่วมมือไปยังประเทศต้นทางด้วย มีการดำเนินการทางกฎหมายไปแล้ว แต่ก็อาจจะคงมีอยู่ ไม่ใช่เฉพาะจากประเทศจีน ผมพูดถึงทั่วไป แม้กระทั่งเป็นบริษัทของคนไทยก็เช่นกัน เราต้องตรวจสอบมาตรฐานทั้งหมด ผมได้สั่งการไปแล้ว วันนี้จะมีการประชุมเพื่อเตรียมการเพื่อตรวจสอบบริษัททัวร์ บริษัทให้บริการทั้งหมดทั้งระบบ ผมไม่เรียกว่าเป็นทัวร์ศูนย์เหรียญ ผมใช้คำว่าทัวร์ที่ผิดกฎหมาย จำเป็นต้องดำเนินตามกฎหมาย ทั้งนี้ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วย เราไม่ไปรังแกใคร และเราก็ไม่อยากทำให้ธุรกิจเสียหาย แต่ถ้าบอกว่าเราเข้มงวดแล้วทำให้ธุรกิจเขาเสียหาย แล้วเวลาเสียหายด้วยการบาดเจ็บสูญเสียอย่างนี้ใครจะรับผิดชอบ
เพราะฉะนั้น ผมให้ทบทวนหลักการทั้งหมด ไม่ว่าจะเรื่องของการจัดตั้งบริษัท ในเรื่องของการให้การบริการ เจ้าหน้าที่ประจำเรือ เจ้าหน้าที่บริการ การระวังป้องกัน เจ้าหน้าที่ รปภ.ประจำเรือ สิ่งอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ก็อาจจะใช้เทียบเคียงในส่วนของการให้ความปลอดภัยในการบริการ อาจจะเหมือนเครื่องบินด้วยซ้ำไป เพราะมีกฎระเบียบต่าง ๆ มากมาย ทั้งเจ้าหน้าที่ ทั้งเครื่องมือ ทั้งตัวเรือ ตัวเครื่องบินที่ผ่านมาที่เราแก้ปัญหา ICAO รวมความไปถึงระบบแจ้งเตือน ตรวจจับ ผู้ละเมิดมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย เช่นในกรณีที่หากว่า ประกาศไปแล้วว่าช่วงนี้ คลื่นลมแรง ไม่ควรออกเรือ แต่ก็ยังฝ่าฝืนออกไป ก็ต้องตรวจสอบว่า แล้วออกไปได้อย่างไร แล้วใครจะต้องรับผิดชอบ ต้องมีการติดตาม เมื่อมีการประกาศออกไปแล้ว ผมได้สั่งการไปแล้วว่าให้ทางฝ่ายมั่นคงมาช่วยด้วย โดยมีทหารเรืออยู่แล้ว ก็มีเรือบางประเภทที่มีเรดาร์ มีอะไรต่าง ๆ ก็ออกมาลอยลำตรวจจับ เรียกกลับ อะไรทำนองนี้ ได้สั่งการกันไปแล้ว มีการบูรณาการกันทั้งระบบ รวมความไปถึงในเรื่องของกรมเจ้าท่าด้วย ที่จะต้องรับผิดชอบในเรื่องเหล่านี้ จะต้องเพิ่มมาตรการ โดยใช้มาตรการใช้สติปัญญาก่อน แล้วก็หาเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามหน่วยงานทั่วไป มาช่วยกันบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้โดยทันทีก่อน ไม่ใช่รองบประมาณ จัดตั้งทำแผนงานโครงการ ทีละหลายร้อยล้านมา ให้ทีเดียวไม่ได้ เพราะบางอย่างนั้น ต้องทยอยดำเนินการ แต่เราสามารถบูรณาการเครื่องไม้เครื่องมือจากหลายหน่วยงานได้
นี่คือการทำงานบูรณาการร่วมกันต้องทำได้ รัฐบาลนี้มุ่งหวังอย่างนี้ และมีนโยบายในการที่จะให้ออกมาแบบนี้ ไม่อย่างนั้นเราก็จะทำงานเป็นฟังก์ชั่นของใครของมัน ต่างคนต่างเสนองบประมาณขึ้นมา เวลาทำงานร่วมกันก็ร่วมกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่ามีการตรวจสอบพบว่ามีการทุจริต ไม่ว่าจะใครก็ตาม ก็จะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ ที่ปล่อยปละละเลยหรือได้รับผลประโยชน์ จากการทำผิดกฎหมายเหล่านี้ ผมจะลงโทษอย่างเด็ดขาด หลังจากที่เราทำในเรื่องของผู้บาดเจ็บสูญเสียไปเรียบร้อยแล้วผมจะตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยตัวเองอีกครั้งหนึ่ง จากการให้คณะทำงานลงไปตรวจสอบ แล้วเราจะตรวจสอบทั้งประเทศ เราเตรียมการเพื่อจะรองรับนักท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นขอให้ทำความเข้าใจกับภาคธุรกิจด้วย ไม่ใช่พอรัฐบาลเข้มงวดไป แล้วบอกว่าจะทำให้การท่องเที่ยวเสียหาย ท่านก็ต้องร่วมมือ ไม่ใช่เรื่องยาก ที่จะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว แต่ท่านไม่ปฏิบัติ ขอชมเชยที่ดีดีนะครับมีมากกว่าไม่ดี ผมคิดว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ดีหมด จะมีหลงเหลืออยู่บ้าง บางทีก็ดำเนินคดีไป 3-4 บริษัท ร้องเรียนมาว่า ทำไมทำ 3 บริษัทนี้ หรือทำไมไม่ไปจับบริษัทอื่น ก็บริษัทอื่นกำลังตามอยู่เหมือนกัน ถ้าทำผิดก็จับอีก ไม่ใช่ว่าเป็นการทำลายกลุ่มนี้เพื่อประโยชน์กลุ่มโน้น ในทำนองที่ใส่ลงไปในโซเชียลในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ก็เสียหายหมด
เจ้าหน้าที่ก็ระวังตัว ในการตรวจสอบ ดำเนินคดีต่าง ๆ ให้ชัดเจน มีหลักฐานชัดเจนเป็นธรรมแล้วก็อธิบายให้คนเขาเข้าใจ ใช้วาจาที่สุภาพ ในการทำงาน ผมไม่เคยบอกให้ใช้แต่อำนาจ หรือกฎหมาย ต้องใช้ความละมุนละม่อมในการบังคับใช้กฎหมาย ให้เขายอมรับ ให้เขานับถือ เขาเชื่อมั่น เพราะชื่อเสียง เกียรติยศ หรือความไว้วางใจนั้น ท่านทำเองไม่ได้ ท่านต้องให้ประชาชนเขาตอบกลับมาว่า ท่านทำดีหรือไม่ดี ชื่อเสียงเกียรติยศ เราสร้างเองไม่ได้ การเป็นวีรบุรุษต่าง ๆ เราก็สร้างตัวเองไม่ได้เป็นวีรบุรุษ เป็นเรื่องของสังคม เป็นเรื่องของประชาชน เขาจะให้เกียรติแก่เรามา อย่าไปคิดอะไรที่มันเกินเลยไป ความเสียหายครั้งนี้ รวมความไปถึงความเสียหายอื่น ๆ ด้วย เราไม่สามารถจะประเมินค่าเป็นตัวเงิน และเรายอมรับไม่ได้เลย เพราะเป็นเรื่องของชีวิต
ในส่วนของความพร้อมของบุคลากร และเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์นิรภัย ต้องตรวจตราให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้ทันทีอย่างมีประสิทธิภาพ มีการฝึกฝนทักษะ มีการซักซ้อมแผนการปฏิบัติ ในกรณีฉุกเฉิน ได้เป็นอัตโนมัติ ผมเห็นในโทรทัศน์ต่างประเทศ ในเรือโดยสารขนาดใหญ่ เรือท่องเที่ยว อะไรก็แล้วแต่ เขามีการซักซ้อม มีแผน มีการชี้แจง มีการให้ใส่ชูชีพ และตรวจว่าใส่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เวลาถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นจะออกประตูช่องไหน ทางไหนจะเปิดได้อย่างไร เหล่านี้ผมไม่แน่ใจว่าได้มีการเตรียมการเรื่องเหล่านี้ได้สมบูรณ์ครบถ้วนหรือไม่ ขอให้ทุกบริษัททัวร์หรือเจ้าของเรือ ทุกคน ไปเตรียมการให้พร้อม จะเริ่มมีการตรวจสอบในสัปดาห์หน้า อย่างต่อเนื่องให้ทั่วประเทศ ทุกบริษัท ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างนี้เกิดขึ้นต่อไป ขณะเดียวกันเราก็ต้องรักษามาตรฐานและยินดีต้อนรับประชาชน หรือนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศ ให้เขามั่นใจว่าที่เราทำแบบนี้เพื่อชีวิตของเขาทุกคนไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียวของประเทศไทย ของบริษัทเท่านั้น ต้องรับผิดชอบครอบครัว ชีวิตทุกคนมีค่า ไม่ว่าจะเกิดจากอะไรก็ตาม เราต้องดูแลเขาอย่างดี ในฐานะที่เราเป็นเจ้าบ้าน
สุดท้ายนี้
ท่ามกลางของความปรวนแปรของลมฟ้าอากาศที่นับว่ารุนแรงขึ้นทุกวัน เราไม่อาจจะปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้ว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยของเรานั้น มีการตัดไม้ทำลายป่า การรุกล้ำเขตป่า เพื่อปลูกพืชผลทางเศรษฐกิจแล้วผลก็ย้อนกลับมา นอกจากภัยพิบัติทางธรรมชาติแล้ว ยังมีภัยแล้ง และอุทกภัย ที่เป็นผลสืบเนื่อง จากพฤติกรรมที่ทำให้ “เสียสมดุล” ทางธรรมชาติ
ในโอกาสที่เดือนกรกฎาคมนี้ เป็นเดือนมหามงคล เนื่องจากเป็นเดือนที่ปวงชนชาวไทยจะได้เฉลิมฉลอง “วันเฉลิมพระชนมพรรษา” สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้เชิญชวนให้พสกนิกรชาวไทย ทุกภาคส่วน ได้ร่วมใจกันแต่งกาย “สีเหลือง” ตลอดทั้งเดือน อย่างพร้อมเพรียงกัน นอกจากนี้ อยากจะเชิญชวนให้บ้านเรือน ชุมชน วัด สถานที่ราชการ ได้ร่วมกันปลูกป่า ปลูกต้นไม้ เฉลิมพระเกียรติ โดยเฉพาะ “ต้นรวงผึ้ง” ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำพระองค์ มีดอกสีเหลือง เป็นสีประจำวันพระราชสมภพ จะผลิดอก ช่วงวันพระราชสมภพพอดี
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เมื่อพระองค์เสด็จฯ ประกอบพระราชกรณียกิจตามสถานที่ต่าง ๆ ก็จะทรงปลูกต้นรวงผึ้งพระราชทานไว้ เพื่อเป็นตัวแทนแห่งพระองค์ท่าน และ เป็นสิริมงคลแก่ราษฎรในพื้นที่ หรืออาจจะรณรงค์กันปลูก “ต้นไม้ประจำจังหวัด” ของตนด้วยก็ได้ ไม้ยืนต้น ตามข้างถนน ริมน้ำ สวนสาธารณะ ให้เป็นทิวแถวสวยงาน หรือสลับสีสัน เวลาออกดอกก็งดงาม อาจจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวประจำถิ่น ในอนาคต ทำอุโมงค์ต้นไม้ ที่มีสีสันด้วยอะไรทำนองนี้ ก็ดูตัวอย่างจากทางภาคเหนือ หรือดูตัวอย่างจากต่างประเทศเขาบ้าง มีภาพงดงามมากมายไป ที่เป็นประโยชน์ที่เราจะเอามาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยได้ จะทำให้พวกเราชาวเมืองรู้สึกผูกพัน แล้วมีความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ประจำจังหวัดของตน แล้วต้นไม้อื่น ๆ อีกด้วย เด็กวันนี้หลายคน ไม่รู้จักต้นไม้ ชื่อต้นไม้ต้นอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่ต้นไม้ที่ทุกคนน่าจะรู้จัก แสดงว่าขาดหายไปในเรื่องเหล่านี้ การที่จะให้เด็ก ๆ เยาวชนช่วยกันรักษาป่า แล้วเราจะต้องมีการปลูกฝังความรักธรรมชาติเหล่านี้ รักป่าไม้ หรืออาจจะปลูกป่าเพื่อเป็น ธนาคารอาหารชุมชน (Food Bank) ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงต้องการให้ราษฎรมีอาหารไว้กิน ไว้ใช้ อย่างยั่งยืน พูดง่าย ๆคือมีการปลูกพืชที่สามารถเก็บกินได้ต่าง ๆ ในพื้นที่ป่า ที่ไม่มีปัญหาทางกฎหมาย เขาก็มีการจัดสรรพื้นที่ไปแล้ว เช่นป่าชุมชน หรือป่าเศรษฐกิจเหล่านี้ เพราะฉะนั้นก็ฝากดูแลกันด้วย เช่น หน้าฝนมีเห็ด มีโอกาสเก็บได้ บางทีไปปลูกพืชผักสวนครัวไว้ได้ก็เก็บได้ ขายได้ อันนี้ก็อยู่ในพื้นที่ที่เป็นป่าชุมชน สามารถที่จะได้ประโยชน์จากป่าด้วย จะได้ช่วยกันดูแลป่าไปด้วย แต่ทั้งนี้ความรับผิดชอบหลักก็คงเป็นหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรแห่งชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานราชการทั้งสิ้น
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นห่วงว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ สภาพแวดล้อม อาจจะส่งผลให้โลกขาดอาหาร เปรียบเสมือนการสร้าง "ธนาคารอาหาร" ของครัวเรือน หรือชุมชน ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ได้มีประโยชน์ร่วมกัน เราอาจจะเริ่มการปลูกไม้ยืนต้น ในพื้นที่ของตนเองไว้บ้าง ไม้มีค่าเหล่านั้น ก็จะถือเป็นการออม วันนี้กฎหมายก็ออกมาแล้ว นอกเหนือจากสะสมเงินทอง ก็อาจจะเป็นการสร้างความมั่นคง ในอนาคตด้วยการปลูกต้นไม้ ที่มีค่า ที่สามารถแปลงเป็นเงินได้ในอนาคต ก็ต้องไปแจ้งจดทะเบียนให้เรียบร้อย ตามนโยบายและกฎหมายที่รัฐบาลนี้ได้ออกไป ก็จะถือว่าเป็นมรดกให้กับลูกหลานในวันข้างหน้า เพราะมีค่าทั้งสิ้น ไม้ที่ใช้ประโยชน์ได้
อีกทั้ง ในเดือนมหามงคลนี้ ผมอยากเชิญชวนให้พี่น้องประชาชน ชาวบ้าน ชาวเมือง ทั้งหลาย ได้ร่วมกันดูแลบ้านเรือนของตน ให้เรียบร้อย สะอาดตา รวมทั้ง การร่วมกันบูรณะวัดวาอารามของชุมชน และรักษาสถานที่ราชการที่ใกล้เคียง ด้วยการตัดแต่งต้นไม้ ดูแลสนามหญ้า ทาสีรั้ว ซ่อมแซมอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ให้สวยสดงดงามนะครับ ให้เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา อาชีวะต่าง ๆ มาร่วมกิจกรรม เพื่อปลูกฝังความรัก ความผูกพันกับชุมชนของตน เช่น ที่ทำเนียบรัฐบาลของเรา
วันนี้ก็ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา นักศึกษาอาชีวะ ขอขอบคุณอาสาสมัคร เอาชั่วโมงเรียนที่ต้องฝึกงานนั้นมาฝึกงานในพื้นที่จริง มีการมาฝึกการทาสีรั้ว ทาสีกำแพง อาคารต่าง ๆ ให้ดูใหม่ขึ้น แล้วก็รักษาของเดิมไว้ด้วย ไม่ให้เสียหาย พร้อมทั้งได้ความรู้ในการทำนุบำรุงสถานที่ราชการ ตามหลักวิชาการ ซึ่งมีความสำคัญสำหรับคนไทยทุกคนด้วย
เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่ง คืออยากจะเตือนทุกคนต้องช่วยกัน ในขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะไปสู่เรื่องการเตรียมการเป็นประชาธิปไตยสากล ไม่ว่าจะเรื่องของการปฏิรูปประเทศ ไม่ว่าจะเรื่องของการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องไปสู่วิสัยทัศน์ คือความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ทุกคนกรุณาทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ หลายมาตรการที่ออกไปในขณะนี้ได้ดูแลทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย มากน้อย ตามความสามารถของรัฐบาลที่มีอยู่ ไม่ใช่หว่านไปทั่ว คงไม่ใช่แบบนั้น
วันนี้รัฐบาลไม่ได้ทำการเมือง ทำเพื่อประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย เพราะฉะนั้นทุกคนต้องไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง ใครรู้อะไรมาใหม่ ๆ ก็บอกเพื่อน ชักจูงเพื่อนมารวมกลุ่มกัน มาปรึกษาหารือกัน ให้คำแนะนำซึ่งกันและกัน ผมก็ยังเป็นห่วงผู้มีรายได้น้อยอยู่ดี ข้างบนก็ต้องให้เขาสามารถที่จะลงทุนได้ เพื่อจะมีภาษี มีรายได้กลับเข้าประเทศ ส่วนที่สองก็คือการลงทุนในประเทศ วันนี้เราก็มี EEC และวันหน้าก็อาจจะดีขึ้นภายใน 5 ปี ก็เห็นผลบ้างแล้วในเรื่องของการลงทุนต่าง ๆ ทุกอย่าง แต่ในส่วนของภาคการเกษตร ผู้ประกอบการ อาชีพอิสระ ไม่ว่าจะมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ทุกคนต้องคุยกัน ถ้าทุกคนต่อสู้กันด้วยกฎหมายอย่างเดียว ผมว่าไปไม่ได้ หรือความเห็นส่วนตัวกันอย่างเดียว ต้องปรับเข้าหากันให้ได้ เมื่อกฎหมายมีอย่างนี้ แล้วเราทำได้หรือไม่ ควรจะทำได้เพราะกฎหมายไม่ได้ไปบังคับจนกระทั่งทำอะไรไม่ได้ แต่ท่านบางทีก็อยากได้มากกว่านี้ทำนองนี้ น่าจะมีวิธีการที่หาทางออกได้ ผมว่าถ้าสู้กันด้วยกฎหมายก็ไม่ได้ เพราะกฎหมายใช้ทั่วไป
เพราะฉะนั้นแต่ละกลุ่ม อาชีพ ควรจะรวมกลุ่มกันได้หรือไม่ รัฐบาลก็จะได้สนับสนุนได้ ดูแลได้ เพราะมีหลายอาชีพเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร อาชีพอิสระ ขายของเข็นรถผัก อะไรมากมายไปหมด รับจ้าง มีทุกอย่าง ถ้าท้องถิ่นหรือใครก็แล้วแต่ในกรุงเทพมหานครทำนองนี้ก็รวมกลุ่มกันมา แล้วจะทำยังไงกับเขา เขาต้องการอะไร จะดูแลเขาได้แค่ไหน แล้ววันนี้รัฐบาลก็ดูแลได้ในเรื่องของบัตรผู้มีรายได้น้อย ซึ่งวันนี้ก็เตรียมแผนที่จะใช้ในเรื่องของการให้บริการขนส่งมวลชนได้อย่างไร จะมีโอกาสได้ขึ้นรถไฟฟ้ากับเขาได้บ้างไหม รัฐบาลคิดแบบนี้มาโดยตลอด เพราะฉะนั้นก็ขอให้ฟังรัฐบาลบ้าง ขอให้มองในสถานะที่ ที่ให้กำลังใจซึ่งกันและกันมากกว่า ผมไม่อยากจะไปบอกว่าทำดีที่สุดแล้ว แล้วใครทำไม่ดี ผมไม่อยากพูดเรื่องนี้อีกแล้ว วันนี้มองอนาคตนะครับเราจะต้องก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน
ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน” รักษาสุขภาพ และ “ทุกครอบครัว” มีความสุขนะครับ สวัสดีครับ
ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard