รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน 2561

Last updated: 30 มิ.ย. 2561  |  1585 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

จากปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือ เด็กและโค้ชทีมฟุตบอล “หมูป่า อะคาเดมีแม่สาย” ทั้ง 13 คน ที่พลัดหลงในถ้ำหลวง จ.เชียงราย ในช่วงที่ผ่านมา ตามที่มีรายงานข่าวมาอย่างต่อเนื่องนั้น  ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยได้ทรงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งพระราชทานกำลังใจไปยังครอบครัวผู้ประสบภัยทุกคน รวมถึงพระราชทานกำลังใจ และอาหาร  เครื่องดื่มแก่จิตอาสาและผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้ประสบความสำเร็จ โดยสวัสดิภาพ  จะเห็นได้ว่าทุกข์สุขของพสกนิกรปวงชนชาวไทย ทุกหย่อมหญ้า แม้จำนวนเพียง 13 จากเกือบ 70 ล้านชีวิต ก็อยู่ในพระเนตร พระกรรณของพระองค์ท่าน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ 

เหตุการณ์นี้ สะท้อนอะไรมากมายให้กับพวกเราทุกคน ซึ่งผมไม่อาจจะละเลย หรือปล่อยให้วิกฤตนี้ผ่านเลยไป โดยไม่ได้ชวนให้คิด หรือหยิบยกมาเป็นโอกาสในการสร้างคุณประโยชน์ ให้กับสังคมของเรา อาทิ “น้ำจิต น้ำใจ” ของพี่น้องชาวไทย ที่รวมกันเป็นหนึ่งยามมีความสุข เราจะสุขด้วยกัน หากมีทุกข์ เราก็จะทุกข์ด้วยกัน แล้วร่วมกันแก้ไข ทุกข์ให้เกิดสุข โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่สำคัญคือ เราต้องมีสติ อันจะทำให้เกิดปัญญาในการแก้ปัญหาทุกประการร่วมกัน ให้แคล้วคลาดและปลอดภัย

นอกจากนี้ ผมขอชื่นชมความพยายามร่วมกัน และความทุ่มเทในการทำงานคนละไม้ คนละมือตามหน้าที่ ตามความถนัด ความสามารถของแต่ละคน แต่ละหน่วยงาน ด้วยการบูรณาการงานกันอย่างสามัคคีนะครับ ช่วยกันทั้งอาสาสมัคร จิตอาสา เจ้าหน้าที่จากหลากหลายสาขาสหวิทยาการ พลเรือน  ตำรวจ  ทหาร ได้มีการระดมทรัพยากร เครื่องมืออุปกรณ์ที่มีศักยภาพมากที่สุด และบุคลากรจากหน่วยงาน ที่เชี่ยวชาญมากที่สุด ในแต่ละด้าน
 
จากทั่วทุกสารทิศของประเทศ มาบูรณาการกันอย่างมีระบบ ซึ่งปฏิบัติการครั้งนี้ ไม่ได้จำกัดแต่เพียงคนไทย หรือหน่วยงานของไทยเท่านั้น  ทั่วโลกก็ให้ความสนใจติดตามด้วย ผมเห็นข่าว ผมไปต่างประเทศ ก็มีข่าวออกทั่วโลกถึงความห่วงใย แล้วให้กำลังใจประเทศไทยในการแก้ปัญหานี้  ทุกฝ่าย ทุกประเทศต่างก็ให้ความสำคัญ และเห็นคุณค่าของทุกชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน โดยเราได้รับความช่วยเหลือจากทีมกู้ภัยและนักประดาน้ำจากประเทศลาว เพื่อนบ้านใกล้ชิดของเรา ผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำในถ้ำระดับโลก จากประเทศอังกฤษ ซึ่งเร่งรีบเดินทางเข้าพื้นที่ในทันที ที่ได้รับการประสานจากรัฐบาลไทย  รวมทั้งเจ้าหน้าที่พลเรือน และทหาร จากกองกำลังสหรัฐภาคพื้นแปซิฟิก (USPACOM) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการบรรเทาสาธารณภัย ก็ได้เดินทางมาพร้อมกับเครื่องมือค้นหาผู้รอดชีวิต หรืออุปกรณ์ตรวจหาสัญญาณชีพ ที่ทันสมัย เป็นต้น ทั้งนี้ ในฐานะผู้นำประเทศ นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลไทย ผมขอเป็นตัวแทนแสดงความขอบคุณ และชื่นชมทุกคน ทุกฝ่าย ด้วยใจจริงอีกครั้ง 
 
พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เล่าถึงการปฏิบัติภารกิจ ณ สหราชอาณาจักรของผมและคณะ รวมถึงผลลัพธ์จากการหารือในหลาย ๆ เรื่อง และการพบปะภาคเอกชนไปแล้ว  หลังจากนั้น ผมและคณะได้เดินทางต่อไปยังกรุงปารีส ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยได้มีโอกาสพบหารือกับนาย เอมานูว์แอล มา-ครง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่ได้ให้การต้อนรับคณะของเราอย่างอบอุ่นและสมเกียรติ โดยผมได้เชิญชวนให้ฝรั่งเศสเข้ามาเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทย และแผนแม่บทของ ACMECS ที่มีไทยเป็นศูนย์กลาง รวมทั้ง 2 ประเทศ จะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) โดยไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางหลักในการดำเนินงาน

นอกจากนี้ ผมขอให้ทางการฝรั่งเศสช่วยดูแลนักลงทุนไทย นักเรียนไทย และช่วยสนับสนุนการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ให้ได้โดยเร็ว  ซึ่งจะช่วยเพิ่มการค้า การลงทุน ของทั้ง 2 ประเทศ ได้อีกด้วย ในส่วนของไทยเอง ผมได้แจ้งไปว่าเราพร้อมที่จะสนับสนุนบทบาทของฝรั่งเศส ต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค โดยจะร่วมเป็นหุ้นส่วนในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เพื่อผลักดันให้ "ข้อตกลงปารีส" บรรลุผลสำเร็จ

นอกจากนี้ ผมและประธานาธิบดี มา-ครง ได้ร่วมเป็นสักขีพยาน ในการลงนามความตกลงที่จะนำไปสู่การจัดตั้ง ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา และสัญญาซื้อขายดาวเทียมTHEOS II เพื่อใช้ในการสำรวจทรัพยากร และการพยากรณ์สภาพลมฟ้าอากาศของไทย ซึ่งดวงเก่านั้นหมดอายุการใช้งานแล้ว แล้วอันนี้เป็นดาวเทียมที่ทันสมัย สามารถใช้ในหลายภารกิจด้วยกัน รวมถึงมีการลงนามใน MOU ระหว่างภาครัฐและเอกชน ไทย และฝรั่งเศส รวมทั้งหมด 11 ฉบับ  ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมกันผลักดันความร่วมมือเหล่านี้ โดยเฉพาะโครงการลงทุนในเขต EEC ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเร็ว ซึ่งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ตอบรับ ที่จะเดินทางมาเยือนไทย ในช่วงที่ไทยจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนใน ปี 2562 อีกด้วย
สำหรับการพบปะกับภาคเอกชน ผมได้เข้าร่วมและเปิดงานสัมมนา Thailand Business Forum ซึ่งผมได้เน้นถึงความสัมพันธ์ ระหว่าง ไทยและฝรั่งเศส ที่ต่อเนื่อง ยาวนานกว่า 333 ปี   อีกทั้งเรายังเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญระหว่างกัน ทั้งในบทบาทของการนำเข้า และส่งออกสินค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ผมได้เล่าถึงการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะ EEC ซึ่งก็จะเป็นโอกาสอันดี ที่ต่างชาติจะเข้ามาลงทุน และสร้างฐานการผลิตในประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ ผมได้มีโอกาสหารือถึงแผนการลงทุนในไทยให้กับนักลงทุนรายใหญ่ของฝรั่งเศสหลายราย เช่น กลุ่ม Transdev ที่ทำธุรกิจหลักในการบริหารและระบบขนส่งมวลชน  กลุ่ม Michilin ซึงเป็นผู้ผลิตยางรายสำคัญของโลก ที่เพิ่งเปิดโรงงานใหม่ที่จังหวัดสงขลา และจะสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยางของไทย ให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาดโลก มีการพัฒนาในประเทศของเรา ใช้ในประเทศของเราให้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่ม Vinci Concession เป็นบริษัทก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่สนใจจะลงทุนในประเทศไทย ในอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0” และ EEC รวมถึงกลุ่ม SUEZ ที่เชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรน้ำ และการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งมีประสบการณ์ในการพัฒนานวัตกรรม เพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ ส่งเสริมการเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งมีความสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทย เช่นกัน  ผมได้แจ้งบริษัทเหล่านี้ไปว่า รัฐบาลไทยยินดีต้อนรับการลงทุนที่สอดรับกับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านนวัตกรรม และขอให้นักลงทุนมองยาวไปอีก 20 ปีข้างหน้า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งนโยบาย “ไทยแลนด์+1” ที่จะเชื่อมไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ก็จะทำให้เป็นโอกาสการลงทุนที่ดีอีกด้วย

การไปเยือนต่างประเทศในครั้งนี้ผมมองว่า เราประสบความสำเร็จมากนะครับ ในการที่กระชับความเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ ระหว่างประเทศในยุโรป และประเทศไทย ซึ่งก็จะส่งผลให้เกิดความเจริญ และกินดีอยู่ดีของคนไทย ในวันข้างหน้า อีกทั้งเป็นการสานต่อความ สัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ที่มีมาอย่างยาวนานอีกด้วย

การเดินทางครั้งนี้ ทำให้ผมได้มีโอกาสได้ไปเห็นแนวคิดในการพัฒนาบ้านเมือง ที่เราอาจนำส่วนที่ดีๆ และเหมาะสม มาช่วยสร้าง “จุดแข็ง-จุดขาย” ในบ้านเมืองของเรา โดยเฉพาะในเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งเราก็มีโอกาสอยู่มาก ผมได้ไปเห็นการปรับปรุงภูมิทัศน์ของชุมชนชานเมือง ที่เป็นเมืองบ้านเกิดของประธานาธิบดี มา-ครง  ชื่อเมือง “อาเมียง”  ที่ได้พัฒนาคูคลองให้สวยงาม มีการใช้เรือไฟฟ้า เพื่อไม่ให้มีเสียงดังรบกวน และไม่ก่อมลภาวะ ทำให้เหมาะกับการพักผ่อนหย่อนใจ มีการปลูกสวนผัก สวนดอกไม้ และปลูกป่าเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นร่มเงา และสร้างกิจกรรมให้กับครอบครัวในวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อเติมเสน่ห์ให้กับการท่องเที่ยวในบ้านเมืองเรา

สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นคือ บรรยากาศและวิวทิวทัศน์ของบ้านเรานั้น มีความหลากหลาย ทำให้เมื่อถ่ายรูปออกมาก็จะให้อารมณ์ที่หลากหลายออกไป ซึ่งต่างจากทิวทัศน์ของแหล่งท่องเที่ยวในประเทศอื่น ๆ  นี่แหละคือจุดเด่นของเรา ที่สามารถจะนำมาพัฒนาต่อยอดได้ ให้แหล่งท่องเที่ยวของเราที่มีความเป็นเอกลักษณ์ น่าสนใจ สามารถจะสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่ไปดูมา ชุมชนเขาบริหารกันเอง เพื่อจะให้เกิดการพัฒนาประเทศได้ในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้มีรายได้น้อยด้วย ซึ่งเป็นเกษตรกร เป็นสวนผัก สวนผลไม้ อะไรก็แล้วแต่ หรือแม้กระทั่งนาข้าว ก็ขอให้มีการทำให้สวยงาม ให้สะอาดเท่านั้นเอง แล้วก็จัดทำเส้นทางที่เหมาะสม
 
ทั้งนี้ ผมได้กลับมาแล้วก็สั่งการในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว ให้มีการสำรวจคู คลอง ทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด เพื่อเป็นโครงการนำร่องแล้ว เราจะได้ร่วมกันพัฒนาบ้านเมืองของเราให้สวยงาม และเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาอารยประเทศที่มีการพัฒนา แล้วเขาไม่เคยลืมประวัติศาสตร์ เขาใช้ประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น ของเดิมที่เขามีอยู่แล้ว มาทำให้ดีขึ้น รีโนเวทใหม่ โดยไม่ทิ้งเอกลักษณ์เดิมเขาไว้
 
พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ

ภารกิจ ณ ต่างประเทศดังกล่าวนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมโยงความร่วมมือในทุกมิติ ระหว่างเรากับมิตรประเทศทั่วโลก ซึ่งก็เป็นอีกนโยบายสำคัญของรัฐบาลนี้ โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การตลาด ในเรื่องของความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และปากท้องของพี่น้องประชาชนโดยอ้อม สอดคล้องกับสโลแกนของโครงการ EEC ที่ว่า “เชื่อมโลก ให้ไทยแล่น” ที่กำลังได้รับความสนใจจากทั้งนักลงทุนชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างมาก ทุกภูมิภาค  เนื่องจากถือว่าเป็น “เครื่องจักรใหม่” ที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ในอีก 20 ปีข้างหน้า

สิ่งสำคัญที่ผมอยากจะกล่าวถึงคือ การเตรียมความพร้อมและการพัฒนาตนเองของทุกคน โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งหมายรวมไปถึงแรงงาน สำหรับป้อนภาคการผลิตทั้งภาคเกษตรกรรม  อุตสาหกรรม  ท่องเที่ยว และบริการ ล่าสุดถือว่าเป็นข่าวดีอีกครั้ง ที่ข้อมูลจากเว็บไซต์ Trading Economics.com และ Index mundi.com แสดงผลการสำรวจ อัตราการว่างงานของ 215 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่าประเทศไทยมีอัตราการว่างงาน “น้อยที่สุด” เป็นอันดับที่ 4 ของโลก โดยมีอัตราการว่างงาน เพียงร้อยละ 1.2 จากจำนวนประชากรทั้งหมด ราว 67 ล้านคน เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลพยายามจะควบคุมอัตราการว่างงาน ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และส่งเสริมให้คนไทยมีงานทำ เข้าถึงการจ้างงานที่สะดวกรวดเร็ว เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงดูตนเอง และครอบครัว เช่น การจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทยทั่วประเทศ การจัดกิจกรรมนัดพบแรงงาน การจ้างงานผู้สูงอายุ คนพิการ และนักศึกษา บริการแนะแนวอาชีพ การจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน และการบริการจัดหางานบนมือถือผ่าน Smart Job Application เป็นต้น

ทั้งนี้ ผมได้กำชับให้กระทรวงแรงงานได้มีการบูรณาการร่วมกับทุกฝ่าย เพื่อจะส่งเสริมการมีงานทำอย่างจริงจัง เดินเครื่องแก้ปัญหาว่างงานโดยเฉพาะผู้ที่จบปริญญาตรี ต้องมีงานทำโดยเร็ว เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องไม่เกี่ยง  ไม่ปฏิเสธงาน หนักนิด เบาหน่อย ก็ขอให้มีอาชีพ มีงานทำตลอดปีพัฒนาตนเอง เพื่อให้มีรายได้มาจุนเจือครอบครัวให้มากขึ้นต่อไป มีทั้งอาชีพหลัก - อาชีพเสริม เป็นต้น ก็อาจจะเหน็ดเหนื่อยบ้างในระยะนี้  ขอให้ทุกคนได้ติดตาม และหาช่องทางที่จะเข้าเชื่อมต่อได้ประโยชน์ มีการพัฒนาฝีมือ และความรู้ของตนเองอยู่เสมอด้วย
 
ไม่เพียงแต่เท่านี้ ที่รัฐบาลได้คำนึงถึง เกี่ยวกับแรงงานของประเทศ  รัฐบาลได้พิจารณาล่วงหน้า และเตรียมการสำหรับอนาคต อีกหลายประการ อาทิ
          (1) การเตรียมคนวัยแรงงานให้มีความพร้อม รองรับการพัฒนาประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ และ การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ในอีก 5 ปีข้างหน้า
          (2) การจัดการศึกษาแบบ “ทวิภาคี” เพื่อให้นักเรียนอาชีวะ ได้ฝึกการปฏิบัติวิชาชีพจริง ณ สถานประกอบการ ในห้วงเวลาที่จะต้องศึกษาในอาชีวะต่าง ๆ
          (3) การขึ้นบัญชีนวัตกรรม  บัญชีนักเรียนนักศึกษา ที่ผ่านเวที หรือชนะการประกวด ในระดับต่าง ๆ เพื่อกำหนดให้มีแนวทางในการส่งเสริมนวัตกรรมของเรา ไปสู่การผลิต แล้วนำคนเหล่านี้ มาใช้ประโยชน์ในการวิจัยและและพัฒนาหรือเป็นข้าราชการ หรือไปอยู่ในบริษัท ห้างร้านใหญ่ ๆ  เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการสร้างนักประดิษฐ์ของประเทศในอนาคต แล้วพลิกจากประเทศนำเข้านวัตกรรมไปสู่ประเทศส่งออกนวัตกรรม บ้างที่เราอาจจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม จากความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างมาก เราค่อยเป็นค่อยไป ทำเร็วได้ก็ดี
          (4) การจัดทำประมาณการความต้องการแรงงานของประเทศ ในอนาคต เพื่อจะป้อนภาคการผลิตของประเทศ โดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC เช่น ช่างซ่อมอากาศยาน วิศวกรรมซ่อมแซม และควบคุมการเดินรถไฟฟ้า เป็นต้น
          (5) การกำหนดมาตรฐานแรงงานไทย และการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อสามารถขอรับอัตราค่าแรง ที่สูงกว่าปกติ ตามขีดความสามารถที่แท้จริง เพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนาตนเองของแรงงานไทย เราอยู่ที่เดิมไม่ได้หรอกครับ รายได้จะไม่เพิ่ม
          (6) การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว เพื่อเป็นการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในการจ้างงาน ณ สถานประกอบการต่าง ๆ ให้ได้รับการดูแล และคุ้มครองสิทธิพื้นฐานตามหลักการสากล เช่น สวัสดิการด้านสุขภาพ เป็นต้น  รวมถึง
          (7) การฝึกฝีมือแรงงาน สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11 ล้านคน รวมทั้ง ผู้สูงอายุ  คนพิการ  ขอทาน  คนเร่ร่อน อีกด้วย   ในช่วงปิดเทอม ก็มีงานให้เยาวชนของเราได้มีรายได้ในช่วงปิดเทอม ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ผมหวังใจว่าพี่น้องแรงงานของเราเหล่านั้น ล้วนแต่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจของไทย ในระดับฐานรากของประเทศ โดยเฉพาะ SME และ Start-up ที่มีความเชื่อมโยงกับสถานประกอบการ โรงงานขนาดใหญ่ของประเทศ ในลักษณะห่วงโซ่คุณค่า ของระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ก็จะต้องได้รับการส่งเสริมให้มีการพัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบ และมีแบบแผนด้วย ก็ขอความร่วมมือด้วย ทำให้ถูกกฎหมาย ขึ้นทะเบียน จดทะเบียน จะได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนต่าง ๆ  
 
พี่น้องประชาชนที่เคารพ ครับ

เมื่อพูดถึงการสร้างแรงงานของชาติในอนาคต เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต้องมองย้อนไปถึงนักเรียน  นักศึกษา ณ สถานศึกษา ระดับต่าง ๆ ด้วย  จากข้อมูลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย เมื่อปี 2557 พบว่าภาวะโภชนาการของเด็กไทย จำนวนมากไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เช่น กว่า 4 แสนคน “เตี้ย” เกือบ 5 แสนคน น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ในขณะที่เกือบ 7 แสนคน เป็นโรคอ้วน ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ที่เราต้องให้ความสำคัญกับการจัดการอาหารในโรงเรียน และที่บ้านด้วย เพื่อจะแก้ปัญหาโภชนาการของเด็ก ใน 4 มิติ ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยทางอาหาร คุณภาพอาหาร และอาหารศึกษา ด้วยการจัดการอาหารโรงเรียน โดยโปรแกรมสำเร็จรูป และการจัดครัวกลาง สำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน ในแต่ละชุมชนและผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วมด้วย อาทิ การจัดหาวัตถุดิบเพื่อประกอบอาหาร โดยการรับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์ จากคนในชุมชน นอกจากเปิดโอกาสให้ชุมชน ซึ่งคือ พ่อแม่  ญาติพี่น้องของเด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วมในการดูแลอาหารการกินของลูกหลาน ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนด้วย รวมทั้ง เป็นตลาดในชุมชน และการสนับสนุนพืชผลิต  ผลิตภัณฑ์ในชุมชนของตนเอง อีกด้วย ขอให้ท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน ช่วยในการบริหารจัดการ สนับสนุนเกื้อกูลกัน ดูแลเรื่องราคาให้เหมาะสมนะครับ ก็รวมความไปถึงผลิตผลด้านการเกษตร GAP ด้วยนะครับ ก็ขอความร่วมมือด้วย ทุกคนต้องช่วยกัน

ผลการดำเนินการในพื้นที่นำร่อง จังหวัดสุรินทร์ โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับจังหวัดสุรินทร์ ในการดำเนินการตามหลักการดังกล่าวเบื้องต้น ห้วงปี 2558 – 2559 เราก็ได้เห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เด็ก ๆ มีพัฒนาการทางร่างกายที่สมกับวัยตามเกณฑ์ เนื่องจากได้รับสารอาหาร ครบ 5 หมู่ ตามหลักโภชนาการ ยิ่งกว่านั้นช่วยส่งเสริมให้มีการทำเกษตรอินทรีย์ในชุมชน ทำให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วย  ผลผลิตก็มีตลาดที่แน่นอน และขจัดปัญหาความไม่โปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดหาอาหารของนักเรียนทุกโรงเรียนอีกด้วยนะครับ ก็จะนำไปสู่การเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และ สนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชนได้ ในที่สุด  ซึ่งโมเดล “อาหารกลางวัน” ดังกล่าว ผมได้สั่งการให้นำไปขยายผลสู่จังหวัดอื่น ๆ ต่อไปด้วย

สุดท้ายนี้ ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันรณรงค์ “กำจัดลูกน้ำยุงลาย ลดป่วยตายโรคไข้เลือดออก” ในช่วงฤดูฝนนี้ ในปัจจุบันสถานการณ์จากการรายงาน โรคไข้เลือดออกตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง มิถุนายน ปีนี้พบผู้ป่วย 22,500 ราย เสียชีวิตแล้ว 29 ราย  และจากการจากการสำรวจลูกน้ำยุงลาย ช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ ยังพบค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในชุมชนมีอัตราที่สูง โดยเฉพาะการพบลูกน้ำยุงลาย ในภาชนะตามสถานที่สำคัญต่างๆ  ทั้งโรงแรม  วัด  โรงเรียน  โรงงาน และโรงพยาบาล ทั้งนี้ เราต้องมีมาตรการ ที่จะป้องกันโรคที่จะนำโดยยุงลาย ผมอยากให้ทุกคนได้ตระหนัก และเป็นความรู้ร่วมกันเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัด ทั้งผู้ใหญ่และเด็กเลย และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยยึดหลัก  “3 เก็บ 3 โรค” คือ
          (1) เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง ไม่ให้ยุงลายอยู่อาศัย
          (2) เก็บขยะให้เกลี้ยง ไม่ให้ยุงลายเพาะพันธุ์
          (3) เก็บปิดน้ำให้มิดชิด ไม่ให้ยุงลายวางไข่
จะช่วยป้องกัน 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัส ซิกา ด้วย
 
ขอบคุณครับ  ขอให้ “ทุกคน” รักษาสุขภาพ และ “ทุกครอบครัว” มีความสุข  สวัสดีครับ

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้