รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน 2561

Last updated: 8 มิ.ย. 2561  |  2144 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

“วันอานันทมหิดล” ตรงกับวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ผู้ทรงให้กำเนิดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย โดยทรงมีพระราชปรารภให้มีการผลิตบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชน อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านสุขภาพยังคงเป็นปัญหาพื้นฐานในการดำรงชีวิตของเราทุกคน ซึ่งผมเห็นว่าการป้องกันย่อมจะดีกว่าการแก้ไข ที่ทำได้ยากกว่า สิ้นเปลืองเงินมากกว่า ทรัพย์สินที่ได้มา สะสมมา อาจต้องหมดไปกับการรักษาพยาบาล อีกทั้งเสียเวลา เสียโอกาสในการทำมาหาได้และเป็นภาระให้กับคนรอบข้าง ทั้งนี้ ไม่ว่ารัฐจะสามารถจัดสวัสดิการได้ดี ได้มากเพียงใด แต่หากพี่น้องประชาชนไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเอง เราก็จะไม่อาจหลุดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ ทั้ง ๆ ที่เราสามารถป้องกัน หลีกเลี่ยงได้โดยง่าย อาทิ ไม่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าจนติดเป็นนิสัย ไม่กินหวาน มัน เค็ม เกินพอดี จนเสี่ยงเป็นโรคอ้วนโรคไต ไม่ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ดูแลบ้านเรือนให้ถูกสุขลักษณะ จนเป็นแหล่งเพาะเชื้อ เป็นที่อยู่ของหนู แมลงสาบ ยุง หรือสัตว์พาหะนำโรคต่าง ๆ ไปจนถึงไม่มีตู้ยาสามัญประจำบ้านติดไว้ใกล้มือ

ที่กล่าวมานั้น จะเห็นได้ว่าทุก ๆ การปฏิรูปต้องเริ่มที่ตนเองก่อนเสมอ ปัจจุบันนโยบายด้านการแพทย์ บางอย่างก็เป็นการต่อยอด ขยายผลทำให้ดีขึ้น เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับสวัสดิการที่ดีมากยิ่งขึ้น บางอย่างก็เป็นมาตรการใหม่ ๆ ที่ต้องอาศัยการบูรณาการกับหลายหน่วยงาน จนเป็นผลสำเร็จ อาทิ “นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (UCEP) เพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตในช่วง 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการมีชีวิตรอด ต้องได้รับการปฐมพยาบาลทันที โดยสามารถเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุที่สุด รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน แม้จะไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพก็ตาม เพราะชีวิตคนไม่ว่ายากดีมีจน ก็มีคุณค่าเท่ากัน ทั้งนี้ เมื่อครบ 1 ปีที่มีการประกาศใช้นโยบายนี้ มีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับบริการ รอดชีวิตจากวินาทีวิกฤติได้ กว่า 15,000 รายแล้ว ผมถือว่าสิ่งนี้คือการสร้างความเสมอภาคในสังคม และเป็นการรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเราทุกคน อย่างเท่าเทียม หากใครยังไม่คุ้น ยังไม่รู้จัก อย่ารอให้เกิดเหตุการณ์ก่อน หาความรู้ไว้ล่วงหน้า ฉุกเฉินขึ้นมา ไม่ว่าที่ไหน กับใคร เราทุกคนสามารถช่วยชีวิตเขาได้ โทรสายด่วน 1669

พี่น้องประชาชนที่รัก

สุภาษิตโบราณกล่าวว่า “จิ้งจกทัก” เรายังต้องฟัง เพราะฉะนั้นทุกเสียง ทุกความเห็น โดยเฉพาะจากพี่น้องประชาชนเจ้าของประเทศ ผม รัฐบาล และ คสช. ได้ยินและได้นำมาสู่กระบวนการแก้ไขอยู่ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เพราะเป้าหมายของเรา คือ “การคืนความสุขให้กับคนในชาติ” ซึ่งแน่นอนว่า เราไม่ได้ตีความ “ความสุข” แต่เพียงตัวเลขทางเศรษฐกิจ ที่เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ ใช้อ้างอิงในวงวิชาการ วงการธุรกิจ หรือเป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจต่าง ๆ แต่รัฐบาลมองและให้ความสำคัญในเรื่องอื่น ๆ ที่กว้างกว่านั้น ทั้งเรื่องปากท้อง ความเหลื่อมล้ำ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาทุจริต การขาดโครงสร้างพื้นฐานที่ดีพอ รวมไปถึงความแตกแยกอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นต้น ดังนั้น เสียงสะท้อนจากโพล หรือ “เสียงบ่นในใจ” ก็ขอให้ถ่ายทอดมาเถิดครับ ผ่านสายด่วนต่าง ๆ ตามที่ผมได้เคยบอกไปแล้วหลายครั้ง ทั้ง 1111 และศูนย์ดำรงธรรม 1567 รวมทั้ง “สายด่วนไทยนิยม” ซึ่งผมก็ดีใจที่วันนี้หลายเรื่องหลายราว ซึ่งเป็นความทุกข์ใจได้รับการแก้ไขแล้ว แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็จะไม่ถูกมองข้าม แต่เรื่องยาก ๆ ซับซ้อน ก็ต้องขอเวลาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทำงาน ได้มีเวลาพิจารณาหามาตรการที่เหมาะสม หลายเรื่องซุกอยู่ใต้พรม คนรู้เบาะแสก็ไม่กล้าเปิดเผย เพราะกลัวภัยจะมาถึงตัว ก็ถูกหยิบขึ้นมาสู่สังคม แล้วรัฐบาลนี้ก็เอาจริงเอาจังในการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ เรื่องอาหารกลางวันเด็ก “ขนมจีนน้ำปลา” เรื่องเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้-ผู้ประสบภัย เรื่องกองทุนเสมา ไปจนถึงเรื่องเงินทอนวัด แม้กระทั่งความเดือดร้อนจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ เช่น ถนนชำรุด เป็นต้น เราก็ได้พยายามแก้ไขมาตามลำดับ ก็ขอให้ทุกคนสามารถแจ้งเข้ามาตามช่องทางที่กล่าวไว้ได้ อย่าทำให้เสียเวลา อย่าโทรมาโดยที่ไม่มีความจำเป็น

สำหรับปัญหาเชิงโครงสร้าง หรือการปฏิรูปเรื่องใหญ่ ๆ ก็คงต้องอาศัยเวลา ในการ “ผลิดอก ออกผล” การปลูกข้าว ยาง อ้อย ยังต้องใช้เวลา ระหว่างรอ ชาวสวน ชาวนาก็หาอาชีพเสริมทำ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว วันนี้เราลงทุนเพื่ออนาคตจำนวนมาก นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนแล้ว ก็ยังเป็นการสร้างโอกาส สร้างสิ่งดี ๆ เพื่อวันข้างหน้า อาทิ การเร่งสร้างรถไฟฟ้าเกือบ 10 สายในวันนี้ เพราะที่ผ่านมาเดินหน้าไม่ได้ อาจทำให้รถติด ก็คงต้องอดทน เพื่อความสะดวกสบายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การสร้าง EEC ที่จะเริ่มทยอยเห็นผล จะมีการจ้างงานหลายหมื่นอัตราในหลายสาขา จะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี จะมีการส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 7 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็นต้น ทุกคนที่เป็นคนไทย จะได้รับอานิสงส์ได้รับโอกาสร่วมกัน ซึ่งเพื่อให้ได้ประโยชน์เต็มที่ ต้องมีความจำเป็นในการที่จะต้องมีปรับตัว-พัฒนาตนเองไปด้วย แล้วหาช่องทางมีส่วนร่วม

ทั้งนี้ แรงงานและวัตถุดิบก็ไม่ได้มาจากไหน ก็มาจากท้องถิ่นและทั่วประเทศ ผู้ผลิตรายย่อย SME Start up ก็ต้องเชื่อมโยงผู้ประกอบการรายใหญ่ในพื้นที่ EEC กิจกรรมต่าง ๆ นั้นคงไม่ได้เกิดเพียงใน EEC แต่จะเชื่อมโยงไปทั่วประเทศ เชื่อมไปยัง CLMV อาเซียน และโลก ลองมองย้อนไปยุค “โชติช่วงชัชวาล” เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา วันนี้เหมือนเรากำลังกินบุญเก่าอยู่ เมื่อใกล้จะหมดลง ประเทศเราก็จะมี EEC เข้ามาทดแทน วันนี้ผมต้องการทำเพื่อลูกหลาน เพื่อคนรุ่นใหม่ ที่กำลังจะเติบโตขึ้นมา วันนี้แม้อาจจะยังไม่เห็นผล ก็ไม่เป็นไร แต่อีก 3 ปีข้างหน้าเป็นต้นไป เมื่อโครงการต่าง ๆ ทยอยเสร็จสมบูรณ์ ท่านก็จะได้รู้ว่าสิ่งที่ผมพูดตอนนี้ เป็น “ความจริง” เป็นการสนองตอบ “สัญญาใจ” ที่เรามีไว้ต่อกัน

พี่น้องประชาชนที่รักครับ

สัปดาห์ก่อน เราคนไทยคงได้รับทราบข่าว ที่นำมาซึ่งความสุข ในการคว้าแชมป์เมเจอร์ รายการ ยูเอส วีเมน โอเพ่น 2018 ของ “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล นักกอล์ฟสาวขวัญใจชาวไทย ซึ่งปัจจุบัน ขึ้นมาอยู่ใน “อันดับ 2” ของโลก สิ่งที่ผมต้องการชี้ให้เห็น นอกจากความขยัน อดทน มีวินัย ในระหว่างการฝึกซ้อมแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่า คือ “การครองสติ มีสมาธิ” ที่ทำให้เกิดปัญญา มีการตัดสินใจ มีการแก้ปัญหาได้ ในระหว่างการแข่งขันนะครับ ซึ่งผมอยากจะเรียกว่า “ความมั่นคง” ทางจิตใจ

หากพูดในเรื่องความมั่นคงแล้ว หลายคนอาจจะคิดถึงเรื่องชีวิต ทรัพย์สิน บ้านเมือง แล้วมักทิ้งภาระให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอาจไม่ถูกต้องนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความมั่นคงทางจิตใจ” ที่จะต้องเริ่มสร้างจาก “บวร” บ้าน-วัด-โรงเรียน ซึ่งก็ป็นศาสตร์พระราชา ในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ และพลเมืองดี ให้กับประเทศชาติ ตั้งแต่ต้นทางที่ที่เรียกว่า “ไทยนิยม” ดังนั้น วันนี้ผมจึงอยากจะชวนคุยเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล ในเรื่อง “บ้าน ที่อยู่อาศัย” ซึ่งเป็น “1 ในปัจจัย 4” ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และมีส่วนสำคัญโดยตรงต่อ “ครอบครัว” อันเป็นแหล่งบ่มเพาะ ปลูกฝัง สร้างภูมิคุ้มกัน ให้กับสมาชิกในครอบครัว ก่อนก้าวไปเผชิญโลกหรือสังคมภายนอก อย่างมีสวัสดิภาพ ผมเชื่อว่าถ้าทุกคนมีบ้านเรือนที่เป็นหลักแหล่งมั่นคงแล้ว ก็จะมีความสุข มีความอบอุ่นในครอบครัว สมาชิกทุกคนก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ปัญหาน้อยใหญ่ของสังคม ของบ้านเมืองที่เรากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ก็จะลดลง เพราะแทบทุกปัญหา เกิดจาก “คุณภาพของคน” การแก้ปัญหา ก็คงต้องเริ่มที่ “ต้นตอ” ก็คือ “คน”
ในอนาคต การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและการอพยพย้ายถิ่น จะทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ครัวเรือนไทยกว่า 5 ล้านครัวเรือน ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ซึ่ง 3 ล้านครัวเรือน เป็นผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลมีทั้งมาตรการระยะสั้น ในการช่วยจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ด้อยโอกาส พร้อมกับพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตไปด้วย สำหรับมาตรการระยะยาว ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560 ถึง 2579 โดยมีเป้าหมายให้ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในปี 2579” โดยมีหลักในการดำเนินการ 5 ด้าน เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ได้แก่
(1) การพัฒนาและสนับสนุนให้มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานและขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น โดยมีการบริหารจัดการที่ดินอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปด้วย รวมถึงเร่งพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านที่อยู่อาศัย เพื่อรับทราบข้อมูลความต้องการที่อยู่อาศัยที่แท้จริงในการจัดทำนโยบายสนับสนุน หรือแก้ไขได้อย่างตรงจุด ตรงความต้องการ
(2) การเสริมสร้างระบบการเงินและสินเชื่อ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสการมีที่อยู่อาศัย อาทิ กองทุนที่อยู่อาศัยแห่งชาติ กองทุนเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับชุมชน ระดับเมือง และกองทุนค้ำประกันความเสี่ยงในการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น
(3) การยกระดับการบูรณาการด้านบริหารจัดการที่อยู่อาศัยในทุกระดับ โดยภาคเอกชนและท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วม รวมถึงจัดตั้งศูนย์บริการร่วมแบบเบ็ดเสร็จ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อน
(4) การส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน โดยมีการจัดสวัสดิการในชุมชนเพื่อให้เกิดการพึ่งพากันภายใน และสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน
(5) การจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยส่งเสริมการจัดการที่ดินและผังเมือง รวมทั้งระบบสาธารณูปโภค มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ภายใต้แผนแม่บทนี้รัฐบาลได้จัดทำแผนงานแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย และยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อรองรับผู้มีรายได้น้อย กว่า 1 ล้านครัวเรือน ทั้งในเมืองและชนบท และอีกประมาณ 2 ล้านครัวเรือน ก็จะจัดให้มีการเช่า หรือเช่าซื้อ เช่น บ้านประชารัฐ บ้านเอื้ออาทร ที่ปรับระบบการบริหารจัดการใหม่ เป็นต้น จะครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ประมาณ 6,500 ชุมชน 700,000 กว่าครัวเรือน ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพการทำงานของรัฐบาลได้ชัดเจนขึ้น ผมขอยกตัวอย่างโครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาลดำเนินการไปแล้ว สำหรับพี่น้องประชาชนในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
กลุ่มแรก คือ โครงการที่อยู่อาศัย สำหรับผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมือง ได้แก่

(1) บ้านประชารัฐริมคลองลาดพร้าว ยาวเกือบ 32 กิโลเมตร โดยที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการปลูกสร้างบ้านเรือนโดยไม่ได้รับสิทธิการเช่าที่ดินจากทางการอย่างถูกต้อง และบ้านเรือนทรุดโทรมเพราะปลูกสร้างในน้ำ ซึ่งโครงการบ้านประชารัฐ ได้ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐกับพี่น้องประชาชน ในการย้ายบ้านเรือนออกจากแนวก่อสร้างเขื่อน แล้วรวมตัวกันเช่าที่ดินอย่างถูกต้อง ระยะเวลาช่วงแรก 30 ปี เมื่อครบ 30 ปีแล้ว ก็สามารถทำสัญญาต่อได้คราวละ 30 ปี ค่าเช่าก็ไม่แพง ปีละไม่กี่ร้อยบาท หรือเดือนละ 50 ถึง 100 บาทต่อครัวเรือนเท่านั้น รวมถึงมีการให้สินเชื่อเพื่อการสร้างที่อยู่อาศัยในรูปแบบสหกรณ์ ครัวเรือนละไม่เกิน 360,000 บาท ผ่อนชำระ 15 ปี ซึ่งโครงการนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย มีสถานที่พักผ่อนในชุมชน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพี่น้องชุมชนริมคลอง ส่งเสริมการฝึกอาชีพให้กับกลุ่มแม่บ้าน รวมทั้งมอบทุนการประกอบอาชีพในหลายชุมชน ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 29 ชุมชน 2,600 กว่าครัวเรือน ซึ่งก่อสร้างที่อยู่อาศัยแล้วเสร็จ ทั้งสิ้น 1,190 ครัวเรือน อีก 1,200 กว่าครัวเรือน อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องในชุมชนริมคลองเท่านั้น แต่จะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากได้อีกด้วย

(2) โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงจากพื้นที่อาคารแฟลตดินแดงเดิมที่ทรุดโทรม และไม่ปลอดภัยแก่การอยู่อาศัยมาเป็นเวลานาน ที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะดำเนินการปรับปรุงมาต่อเนื่องนานถึง 16 ปี รัฐบาลนี้ได้เข้ามาสานต่อเพื่อเร่งแก้ไข ปรับเปลี่ยนเพิ่มคุณภาพชีวิต และยกระดับการอยู่อาศัยของคนในพื้นที่ ให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อช่วยขับเคลื่อนและให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และความจำเป็นการฟื้นฟูชุมชนดินแดง จนในที่สุดก็สามารถทยอยเริ่มดำเนินการได้ช่วงปลายปี 2559 ซึ่งหากโครงการเสร็จสิ้น จะสามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ได้ทั้งหมด 20,000 กว่าหน่วย แยกเป็นการรองรับผู้อยู่อาศัยเดิม ประมาณ 6,500 หน่วย ซึ่งการก่อสร้างในระยะแรก คาดว่าจะแล้วเสร็จ ในเดือนมิถุนายนนี้ สำหรับการรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ ที่เป็นข้าราชการ และประชาชนทั่วไป ประมาณ 13,000 หน่วย อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทุนกับเอกชน โครงการนี้ นอกจากจะทำให้ประชาชนในชุมชนมีความปลอดภัยแล้ว ยังเป็นการสร้างทัศนียภาพเมืองให้น่าอยู่ เพิ่มพื้นที่นันทนาการ สวนสาธารณะ อีกทั้ง ยังจัดพื้นที่ร้านค้าชุมชน เพื่อจะสร้างโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนมีรายได้มีสุขภาพที่ดี ทั้งด้านจิตใจ ร่างกาย เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

(3) โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในเมืองที่ไร้บ้าน เพื่อฟื้นฟูศักยภาพบุคคล และช่วยเหลือให้คนไร้บ้าน กลับคืนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และสังคม มีการดำรงชีวิตประจำวันดีขึ้น ได้มีการสร้างศูนย์คนไร้บ้าน เพื่อดำเนินกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และกรุงเทพมหานคร โดยในปี 2560 มีการก่อสร้างศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ สามารถรองรับกลุ่มคนไร้บ้าน 80 ราย ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก็มีการปรับปรุงศูนย์แรกรับคนไร้บ้าน เขตตลิ่งชัน รองรับกลุ่มคนไร้บ้าน 50 ราย และในปี 2561 ดำเนินการจัดซื้อที่ดินพร้อมอาคารในพื้นที่ อ.เมือง จ.ปทุมธานี รองรับกลุ่มเป้าหมาย 120 ราย พื้นที่ จ.ขอนแก่น กำลังดำเนินการจัดซื้อที่ดินและออกแบบศูนย์ร่วมกันระหว่างเครือข่ายคนไร้บ้าน นักวิชาการ และภาคีในพื้นที่ เพื่อจะรองรับกลุ่มเป้าหมายอีก 125 ราย ก็คงต้องทำต่อไป จำนวนเรามีมากพอสมควร
สำหรับโครงการในกลุ่มที่สอง เป็นโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับคนยากจน ผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มผู้เปราะบาง ผมขอยกตัวอย่าง ได้แก่

(1) โครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการเพื่อขจัดอุปสรรค และสนับสนุนให้คนพิการสามารถดำรงชีวิต และปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ โดยพิจารณาคนพิการที่มีฐานะยากจน มีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง ไม่มีคนดูแล ไม่ปลอดภัย หรือไม่เหมาะกับสภาพความพิการ โดยจะมีการปรับสภาพแวดล้อม ให้เอื้อต่อการดำรงชีวิต เช่น การปรับปรุงห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ บันได ทางเดิน ห้องนอน และอื่น ๆ ตามความจำเป็น มีเป้าหมายในการดำเนินการ จำนวน 132,700 หลัง นอกจากนี้ ผมได้สั่งการให้ทุกโครงการเพื่อสาธารณะ จะต้องสอดคล้องกับแนวทาง “อารยสถาปัตย์” แม้จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่เราจะต้องลดความเหลื่อมล้ำ “ทางกายภาพ” ให้ได้เสียตั้งแต่วันนี้

(2) โครงการเสริมสร้างชีวิตใหม่ให้คนไร้ที่พึ่ง เร่ร่อน และผู้ทำการขอทานภายใต้โครงการบ้านน้อยในนิคมสร้างตนเอง โดยที่รองรับกลุ่มเป้าหมาย ที่ผ่านกระบวนการฟื้นฟูศักยภาพ ตามธัญบุรีโมเดล จำนวน 347 หลังในพื้นที่นิคมสร้างตนเอง 23 แห่ง ใน 17 จังหวัด พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพ และทักษะการใช้ชีวิตอิสระ เพื่อให้พร้อมในการกลับคืนสู่ครอบครัว และชุมชน ปัจจุบัน มีผู้เข้าสู่กระบวน การพัฒนา 224 ราย ส่งกลับบ้านแล้ว ในปีงบประมาณ 2561 ทั้งหมด 10 รายและยังมีผู้เข้าร่วมโครงการ 202 ราย อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพ เช่น การทำงานในสถานประกอบการ การจ้างงานตามบ้าน และพื้นที่การเกษตร
กลุ่มที่ 3 เป็นการบูรณาการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน ให้กับเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และที่อยู่อาศัยในชนบท ผมขอตัวอย่าง ดังนี้

(1) โครงการบ้านมั่นคงชนบทในพื้นที่ สปก.ที่ดำเนินการใน 7 จังหวัด 10 โครงการ จำนวน 982 ครัวเรือน ดำเนินการแล้ว 497 ครัวเรือน เช่น โครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่ สปก. จังหวัดอุทัยธานี ที่มีการจัดสรรที่ดิน 3,000 กว่าไร่ ให้เกษตรกรเกือบ 500 แปลง ครอบครัวละประมาณ 5 ไร่ ซึ่งภาครัฐสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างบ้าน หลังละ 40,000 บาท และเจ้าของบ้านสมทบส่วนที่เหลือ โดยการก่อสร้างบ้านจะใช้วิธีการลงแรงร่วมกัน เพื่อประหยัดงบประมาณ ซึ่งครัวเรือนจะปลูกพืชผักสวนครัวไว้ทานเอง ส่วนในแปลงเกษตรจะปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพหลัก และเป็นเกษตรผสมผสานเป็นต้น ซึ่งก็เป็นตัวอย่างที่ดี ของการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ระดับฐานราก ด้วยการทำงานอย่างบูรณาการกันของภาครัฐ สิ่งสำคัญคือ “พลังของประชาชน” ในแต่พื้นที่ รวมทั้ง “การระเบิดจากข้างใน” ตามศาสตร์พระราชา

(2) โครงการบ้านพอเพียงในชนบท เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนยากจนในพื้นที่ชนบทที่มีปัญหาความเดือดร้อนด้านที่ดิน และที่อยู่อาศัย รวมทั้งพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติ และ ที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย โดยในปี 2560 ได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 10,000 ครัวเรือนส่วนในปี 2561 มีเป้าหมายจำนวน 15,000 ครัวเรือน แต่ดำเนินการได้มากกว่าเป้าหมายที่ 16,000 กว่าครัวเรือน ซ่อมสร้างเสร็จแล้ว 4,000 กว่า ครัวเรือน งบประมาณรวมราว 340 ล้านบาท โดยรัฐสนับสนุนงบประมาณซ่อมแซม หรือสร้างบ้านใหม่ โดยใช้วัสดุเก่าที่มีอยู่บางส่วน ครัวเรือนละไม่เกิน 18,000 บาท ส่วนที่เกินเจ้าของบ้าน หรือชุมชนอาจต้องร่วมสมทบ โดยใช้แรงงานในชุมชนร่วมกัน “ลงแขก” สร้างความสามัคคีในชุมชนของตน ในบางตำบลก็ร่วมกันก่อตั้งกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นกองทุนนำไปช่วยเหลือผู้อื่นต่อไปอีกด้วย

นอกจากโครงการที่ผมยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างแล้วนั้น ยังมีอีกหลายโครงการที่ภาครัฐดำเนินการโดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ สนับสนุนให้พี่น้องประชาชนในทุกกลุ่ม มีโอกาสได้ปรับปรุงที่อยู่อาศัย และยกระดับการดำรงชีวิตให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการซ่อมแซมและปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ หรือการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรยากจน และด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งหมดนี้ ถือเป็นความคืบหน้าการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังของภาครัฐ ซึ่งจะเป็น “จุดเริ่มต้น” ที่ดี ให้กับการขับเคลื่อนแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย และ ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ในการลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ยกระดับความเป็นอยู่ และ สร้างภาวะแวดล้อมที่ดีให้กับลูกหลานของเราต่อไปด้วย ขอชมเชยคณะทำงานแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ IUU ICAO ต่าง ๆ ที่ได้มีการดำเนินการก้าวหน้ามาตามลำดับ ผมพอใจในการทำงาน เข้าใจและเห็นใจ ทั้งข้าราชการ ทั้งพี่น้องชาวประมงที่ได้ทำในสิ่งที่เป็นปัญหามายาวนาน ได้สำเร็จตามลำดับขั้น ก็ต้องมีผู้ได้รับผลกระทบบ้าง แต่เราก็ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาต่อไป เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของบ้านเมืองของเรา

สุดท้ายนี้ ผมขอยกย่องและร่วมแสดงความยินดีกับ นายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ “ตูน บอดี้สแลม” ที่ได้รับการพิจารณาให้เข้ารับรางวัลพระราชทาน “บันเทิงเทิดธรรม” รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปีนี้ก็ถือว่าเป็นรางวัลสำคัญที่สุดจากเวทีไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ด จากกิจกรรมเพื่อสังคม “ก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ” ที่คนไทยทุกคนรับทราบเป็นอย่างดีแล้ว ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการปฏิรูปของคนบันเทิงครั้งสำคัญ ครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศ ตามแนวคิด “หน้าม่านคุณภาพ หลังม่านคุณธรรม” ในการประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ให้กับทุกคนในสังคม ทั้งหน้ากล้อง และหลังกล้อง ทำให้คนไทยตระหนักถึงการรักสุขภาพด้วยออกกำลัง และการมีจิตอาสาทำเพื่อส่วนรวม สอดคล้องกับช่วงเวลาแห่งการปฏิรูปประเทศของเราในเวลานี้ ที่จะต้องเกิดขึ้นในทุกวงการ และในทุก ๆ ด้าน
สัปดาห์หน้า มีกิจกรรมที่สำคัญ 2 กิจกรรม

(1) ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ณ จังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างวันที่ 11 - 12 มิถุนายน ที่จะลงพื้นที่เพื่อพบปะพี่น้องประชาชนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วย (นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี) และไปดูในเรื่องการฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตร การพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ (บึงสีไฟ บึงบอระเพ็ด) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ตลอดจนการพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและความยั่งยืน เป็นต้น

(2) มีการประชุมผู้นำ ACMECS หรือยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี เจ้าพระยา แม่โขง ระหว่างวันที่ 15 - 16 มิถุนายน 2561 ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเราเป็นเจ้าภาพ โดยมี 5 ประเทศ สมาชิก ก็คือ CLMVT ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และเป็นจุดยุทธศาสตร์ระหว่าง จีนกับอินเดียและ ระหว่างมหาสมุทรอินเดีย กับแปซิฟิก

สำหรับประเด็นที่นำมาพูดคุย และผลการประชุม ผมจะนำมาเล่าในโอกาสต่าง ๆ ต่อ ๆ ไป สิ่งสำคัญ คือ ขอความร่วมมือร่วมใจเป็นเจ้าบ้าน เจ้าภาพที่ดี

ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน ทุกครอบครัว” มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้