รายการ “คลื่นชุมชนถนนปลอดภัย” วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 19.30-20.00 น.

Last updated: 14 ก.พ. 2561  |  2547 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ “คลื่นชุมชนถนนปลอดภัย” วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 19.30-20.00 น.

ข้อควรปฏิบัติในการขับรถยนต์เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

ไม่ว่าผู้ขับขี่จะใช้ความระมัดระวังในการเดินทางอย่างดีแล้วก็ตาม นาทีฉุกเฉินต่างๆ อาจเกิดขึ้นได้เสมอซึ่ง อาจจะมาจากความคาดไม่ถึง ของท่าน หรือของผู้อื่นฉะนั้นท่านควรจะรู้วิธีป้องกันและแก้ไขเหตุการณ์วิกฤตต่างๆ เหล่านั้นด้วย และสามารถเผชิญปัญหาเหล่านั้นได้อย่างมั่นใจ

กระจกบังลมหน้าแตก

     เป็นเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งส่วนมากมีสาเหตุมาจากก้อนหินที่ถูกทับแล้วกระเด็นมาจากรถคันหน้าทำ ให้กระจกแตกได้ มักไม่ค่อยมีปัญหา หากกระจกหน้าเป็นแบบ LAMINATED 2 ชั้น ซึ่งมีแผ่นฟิล์มเหนียวคั่นกลาง เพราะจะไม่ร่วนเป็นเม็ดข้าวโพดเหมือนกระจกแบบ TEMPERED ชั้นเดียว โดยแผ่นฟิล์มเหนียวตรงกลางจะเป็นตัวยึดไม่ให้เศษกระจกแยกออกจากกัน จึงทำให้พอมองทะลุผ่านและขับต่อไปได้ไกล กรณีกระจกแบบ LAMINATED ไม่ใช่ปัญหา 
     ถ้าเป็นกระจกแบบ TEMPERED จะแตกรวดเร็วมาก เพียงจุดแตกเล็กๆ ทำให้เนื้อกระจกสูญเสียความ แข็งแรง และเกิดรอยร้าวทั่วแผ่น เป็นฝ้าขาว จนไม่สามารถมองผ่านได้ ผู้ขับจึงต้องตั้งสติให้มั่นและค่อยๆ ชะลอความเร็ว แล้วเบี่ยงรถยนต์เข้าสู่ไหล่ทาง ถ้าเหลือกระจกติดที่ขอบให้ใช้ไม้หุ้มด้วยผ้าหนาๆ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ในการกระแทกเศษกระจกที่ยังติดอยู่บนขอบออกให้หมด โดยหากระดาษหรือเศษผ้า รองบนแผงหน้าปัด และฝากระโปรงหน้า เพื่อป้องกันเศษกระจกหล่นลงไปในช่องแอร์ หรือขูดขีดสีตัวถัง 
      ขณะขับขี่รถยนต์ที่ไม่มีกระจกบังลมหน้า ควรปิดกระจกทุกบาน การเปิดกระจกหน้าต่าง ทำให้ลมมาปะทะกับคน และทำให้รถยนต์มีการทรงตัวไม่ดีจากลมที่ไหลผ่าน ถ้ามีแว่นกันแดดหรือแว่นสายตาก็ควรนำมาใส่ เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและเศษกระจกที่อาจค้างอยู่ 

ยางแตกหรือยางระเบิด 

      เมื่อยางแตกหรือยางระเบิดกะทันหัน ไม่ว่าอยู่ในช่วงความเร็วใด จะต้องถือพวงมาลัยไว้ให้มั่นคงต้องพยายามบังคับรถให้เข้าข้างทางให้ได้ด้วยความระมัดระวัง และควรคำนึงถึงว่าอย่าใช้เบรกอย่างกะทันหันเมื่อรถวิ่งในความเร็วสูง เพราะจะทำให้รถที่วิ่งมานั้นหมุนเป็นวงกลม พยายามใช้เกียร์ของเครื่องยนต์เป็นตัวชะลอความเร็วโดยการเปลี่ยนเกียร์ต่ำทันที  
     กรณียางหลังระเบิด ด้านหลังรถจะส่าย แต่ถ้าถือพวงมาลัยไว้ให้มั่นคงและรักษาทิศทางให้ตรงก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ พยายามย้ำเบรกหลายๆครั้งติดกัน เพื่อที่น้ำหนักของรถจะได้ตกอยู่บนล้อข้างที่ยังใช้งานได้  
     กรณียางหน้าระเบิด พยายามจับพวงมาลัยให้มั่นคง ใช้เบรกให้เบาที่สุด มิฉะนั้นน้ำหนักจะทิ้งไปข้างหน้ามากขึ้น ถ้ารถแฉลบไปข้างใดต้องคอยขืนพวงมาลัยกลับมาให้ตรงทิศทางให้ได้ จนกว่ารถจะเข้าข้างทางได้เรียบร้อย

มีสัตว์ขวางทาง 

     มีสัตว์วิ่งตัดหน้า หรือขวางทาง ควรลดความเร็ว แล้วตรึงพวงมาลัย จับให้มั่นแต่ไม่ควรเบรกอย่างรุนแรงหรือหักหลบทันที เพราะอาจทำให้รถยนต์พลิกคว่ำได้ และไม่ควรหักหลบในช่องทางที่รถยนต์เล่นสวนมา 
     หากไม่รีบเร่ง ควรปล่อยให้สัตว์เหล่านั้นเดินจนพ้นจากถนน ไม่ควรบีบแตรไล่เพราะอาจทำให้สัตว์ตกใจและหันมาทำอันตรายเราได้  
     การแซงควรเลี้ยวไปทางด้านหลังของสัตว์ เพราะการตัดหน้าจะทำให้สัตว์ตกใจและเตลิด ซึ่งอาจจะทำอันตรายกับรถยนต์ในช่องทางอื่นได้ 

มีรถวิ่งสวนเข้ามาในเลน 

     เช่นนี้มักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในการขับรถยนต์บนถนน 2 เลนส่วนกัน โดยขั้นแรกควรลดความเร็วลงแต่อย่ามากเกินไปจนทำให้รถยนต์คันที่ตามมาด้านหลังชนได้ และมองกระจกด้านซ้ายเพื่อหาทางหนีทีไล่ พร้อมกระพริบไฟสูงและบีบแตรเตือน และเบี่ยงออกทางเลนซ้าย  
     ไม่ควรหลบข้ามเลนเลยไปในช่องทางของรถยนต์ที่แล่นสวนมา เพราะบ่อยครั้งที่คนขับเพิ่งรู้สึกตัวแล้วหักหลบกลับเข้ามายังเลนเดิมจนทำให้เกิดการชนกันได้ 

คันเร่งค้าง  

     เมื่อเกิดคันเร่งค้าง ให้ใช้เบรกช่วยในการชะลอความเร็วโดยไม่ต้องแตะคลัทช์ ให้ใช้คลัทช์เฉพาะในการเปลี่ยนเกียร์เท่านั้น เพื่อช่วยในการลดความเร็วลงเมื่อจำเป็น และประคองรถมาเรื่อยๆโดยใช้เบรกหลายๆครั้งในกรณีที่เครื่องยนต์รอบไม่จัด เมื่อรถยนต์ลดความเร็วมาถึงอัตราที่ปลอดภัยแล้วให้ใช้ปลายเท้าขวาสอดเข้าใต้คันเร่งแล้วดันขึ้น ถ้าคันเร่งไม่ขึ้นก็ให้พารถยนต์เข้าข้างทางด้วยการปิดสวิทช์การทำงานของเครื่องยนต์ แต่ต้องให้รถยนต์มีความเร็วช้าๆ และจะต้องใช้เบรกมือช่วยในการชะลอความเร็ว
     ข้อควรระวัง การปิดสวิทช์กุญแจ ควรปิดมาตำแหน่ง OFF อย่าปิดมาที่ตำแหน่งล็อค LOCK เพราะพวงมาลัยจะถูกล็อคทำให้ไม่สามารถบังคับรถยนต์ได้ 

ล้อหลุด 

     สาเหตุมักเกิดจากน๊อตล้อหลุด และรถจะเสียการทรงตัวส่ายไปมาในกรณีนี้ต้องใช้เบรกฉุกเฉินและถือพวงมาลัยให้มั่นคง บังคับไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับรถที่ส่าย และนำรถเข้าข้างทางเพื่อแก้ไข ซึ่งเราสามารถถอดน๊อตจากล้ออื่นๆ อย่างละ 1 ตัว มาใส่ยึดล้อข้างที่หลุด เพื่อแทนที่น๊อตล้อตัวที่หลุดไป แล้วใช้ช่างแก้ไขเมื่อถึงอู่ที่อยู่ใกล้ที่สุด 

รถหลุดออกจากทางวิ่ง 

     อาจเป็นเพราะหักลบสิ่งกีดขวางอย่างกะทันหัน ทำให้รถยนต์ไถลออกนอกเส้นทางเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ควรตั้งสติให้มั่น ไม่ควรเหยียบเบรก
อย่างแรง เพราะอาจทำให้ล้อล็อคหรือลื่นไถลจนรถยนต์เสียการทรงตัวได้ 
     วิธีที่ถูกต้องควรลดความเร็วด้วยการแตะเบรกแล้วปล่อย พร้อมกับลดจังหวะเกียร์ เพื่อใช้เครื่องยนต์ช่วยในการชะลอความเร็วอีกเล็กน้อย และควรมองหาที่ราบไม่มีสิ่งกีดขวางเพื่อจอดรถ นอกจากนั้นสายตายังต้องมองทางข้างหน้าเพื่อหลบสิ่งกีดขวาง ไม่ควรหักหลบทันทีเพราะรถยนต์อาจ
พลิกคว่ำได้ 

เครื่องยนต์ร้อนจัด  

     เมื่อเครื่องยนต์ร้อนจัดจะมีไฟเตือนโชว์ขึ้นมาหรือเข็มวัดอุณหภูมิสูงถึงตัว H ย่อมแสดงว่าเกิดความผิดปกติในระบบระบายความร้อน ให้รีบนำรถเข้าข้างทางเปิดไฟฉุกเฉิน และห้ามเปิดฝาหม้อน้ำในทันทีเพราะภายในหม้อน้ำที่ร้อนจัด จะมีแรงดันสูงน้ำร้อนอาจจะพุ่งขึ้นมาซึ่งเป็นอันตรายได้ และให้ตรวจดูสภาพหม้อน้ำ ตรวจสภาพสายพาน ตรวจสภาพพัดลมระบายความร้อนและอื่นๆ และให้ติดต่ออู่หรือศูนย์บริการที่ใกล้ที่สุด 

สิ่งของตกกีดขวางอยู่บนถนน 

     เมื่อมีสิ่งของอยู่บนถนนเราไม่ควรแล่นทับ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายหรือเกิดความเสียหายได้ ควรลดความเร็วลง หากช่องทางทั้งซ้าย-ขวาที่ไม่มีรถยนต์แล่นตามหลังมาให้หักหลบโดยพยามเบี่ยงให้น้อยที่สุด เพราะการหักหลบมากๆ ในขณะที่รถยนต์มีความเร็วสูง อาจจะทำให้รถยนต์หมุนหรือปัดส่ายไปมาได้ 
      หากเลี่ยงไม่ได้หลังการทับหรือชน ควรจอดรถแล้วตรวจสอบชิ้นส่วนใต้ท้องรถยนต์ว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น คันชักคันส่ง, ท่อส่งน้ำมันเชื้อเพลิง, ถังน้ำมันเชื้อเพลิง, ยางล้อ เป็นต้น 

ฝากระโปรงหน้ารถยนต์เปิดบัง 

     หากกำลังขับขี่รถยนต์แล้วฝากระโปรงหน้าหลุดออกจากล็อค หรือเปิดขึ้นเนื่องจากปิดไม่สนิท จึงเป็นเหตุให้ฝากระโปรงหน้าเปิดขึ้นมาบังกระจกหน้ารถ ให้รีบหยุดรถแต่อย่าให้กะทันหันเกินไป เพราะรถยนต์คันหลังซึ่งอาจจะตามมาติดๆ ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ และควบคุมสติอย่าตกใจรีบนำรถยนต์เข้าข้างทาง โดยชะลอความเร็วของรถยนต์ และตรวจเช็คล็อคฝากระโปรงหน้าให้เรียบร้อย

รายการ “คลื่นชุมชนถนนปลอดภัย”

  • วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561
  • เวลา 19.30-20.00 น.

ผู้ดำเนินรายการ

  • นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ
  • นางสาวอรอุมา สิงห์กวาง

ผู้ผลิตรายการ

  • สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ
  • สมาคมสื่อช่อสะอาด

ห้องบันทึกเสียง

  • สถานีวิทยุปากเกร็ด FM 93.75 MHz จังหวัดนนทบุรี

ผู้ควบคุมรายการ 

  • นายสุทนต์ กล้าการขาย
  • นางอิสรีย์ กล้าการขาย

รูปแบบรายการ

  • รายการข่าวสารประโยชน์ต่อสาธารณะเพื่อความปลอดภัยทางถนน สัดส่วน 25% สำหรับผู้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. 2556
  • ความยาว 30 นาที

วิธีการดำเนินงาน

  • บันทึกรายการล่วงหน้า

งบประมาณสนับสนุน

  • ไม่มี

ช่องทางการเชื่อมโยงสัญญาณถ่ายทอดเสียง

ช่องทางการส่งกระจายเสียงครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

  • สถานีวิทยุกระจายเสียง จำนวน 421 สถานี

ฟังรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้