รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561

Last updated: 5 ก.พ. 2561  |  2428 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

                นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่ปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฤดูหนาวขึ้น ภายใต้ชื่อ “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ และแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

                ซึ่งกว่าจะเป็นประเทศไทยได้อย่างทุกวันนี้นะครับ บ้านเมืองของเราได้ผ่านทั้งศึกสงคราม และเรื่องราวต่างๆ มามากมาย หลายเหตุการณ์สำคัญที่เราผ่านพ้นมาได้ เพราะพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต

                ดังนั้น งานนี้จึงมีการจัดนิทรรศการประวัติศาสตร์ไทย กุศโลบายการพัฒนาประเทศ รูปแบบการจัดงานจะมีลักษณะ “ย้อนยุค” นะครับ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไทย วิถีชีวิตของคนไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นอีกนะครับ แบ่งเป็น 3 โซน ด้วยกัน ก็คือ

                (1) โซนพระลานพระราชวังดุสิต จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมสยามประชารำลึกนะครับ ที่ตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมอันงดงาม มีการจัดสวน พันธุ์ไม้ น้ำพุ และงานประดิษฐ์ตามศิลปะไทยแบบชาววัง

                (2) โซนสนามเสือป่าจัดร้านค้าในพระบรมวงศานุวงศ์และร้านค้ารับเชิญ เช่น ร้านศิลปาชีพ 904  ร้านภูฟ้า ร้านจิตรลดา ร้านของมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก  ร้านมูลนิธิโครงการหลวง และร้านแม่บ้านเหล่าทัพ ฯลฯ รวมทั้งมีการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้านที่หาชมได้ยากนะครับจากทั่วไทยมาไว้ ณ ที่แห่งเดียวนี้

                และ โซนที่ 3 คือโซนร้านอาหาร จะมีร้านค้าในแนวคิดใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารสืบสานชุมชนวิถีไทย มีการสาธิตเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น อีกทั้ง มีการจัดซุ้มร้านอาหารไทยโบราณ เป็นต้นนะครับ

                ทั้งนี้ ภายในงานการแต่งกายของพ่อค้า-แม่ค้าก็จะสวมชุดไทยย้อนยุค โดยเชิญชวนประชาชนที่ไปร่วมงาน แต่งกายย้อนยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยนะครับ หรือสวมใส่ผ้าไทย  หรือชุดสุภาพตามสมัยนิยม ใครไม่มี ก็สามารถแต่งกายชุดสุภาพมาร่วมงานได้นะครับ “ฟรี” ไม่มีค่าบัตรผ่านประตู

                สำหรับรายได้จากการจัดงาน โดยไม่หักค่าใช้จ่ายจะทรงนำไปใช้ในการพระราชกุศล บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากภัยและเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตามพระราชอัธยาศัย ต่อไป ทั้งนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทาน ชุดภาพวาดฝีพระหัตถ์ จัดพิมพ์เป็นบัตร ส.ค.ส. 4 ภาพต่อ 1 ชุด นะครับ เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจ ภายในงานอีกด้วย

                สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน แทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานรางวัล สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี พ.ศ. 2560 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อวันพุธที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา

                เป็นรางวัลสำหรับบุคคล หรือองค์กร ทั่วโลกนะครับ ที่มีผลงานดีเด่น เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์และด้านการสาธารณสุข อย่างละ 1 รางวัล เป็นประจำทุกปี สำหรับปีนี้ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับพระราชทานรางวัลฯ นั้น มาจากผู้ได้รับการเสนอรายชื่อ จำนวน 45 คน จาก 27 ประเทศ คือ

                (1) สาขาการแพทย์ ได้แก่ โครงการจีโน มมนุษย์นะครับ เกี่ยวกับพันธุศาสตร์ และรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ ซึ่งจะเป็นกลไกในการกำกับ และควบคุมกระบวน การของสิ่งมีชีวิตในทุกขั้นตอน ช่วยให้เกิดความเข้าใจกลไกการทำงานของเซลล์ และอวัยวะต่างๆ นะครับ ก็จะก่อ ให้เกิดความก้าวหน้าทางการแพทย์หลายด้าน อย่างก้าวกระโดด

                (2) คือสาขาการสาธารณสุข ก็ได้แก่ การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ ฮีโมฟีลุส อินฟลูเอนเซ ชนิดบี หรือ “ฮิบ” นะครับ และการผลักดันให้เด็กทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนนี้ รวมถึงเด็กๆ ในประเทศกำลังพัฒนาด้วย ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของเด็กหลายร้อยล้านคนนะครับ เราต้องพัฒนาวัดซีนตัวนี้ ผลิตเอง ให้ใช้ได้โดยเร็ว เพื่อจะได้ใช้อย่างทั่วถึงในเด็กทารกทุกคนนะครับ

                สำหรับการสร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อประเทศชาติ และมวลมนุษยชาตินั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของปวงชนชาวไทย เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทย และ ครั้งแรกของโลกนะครับ ที่ทรงจดทะเบียน และได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่มีผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือที่เรียกว่า “กังหันน้ำชัยพัฒนา” นะครับ เป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย

                ดังนั้น เพื่อเป็นการแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และ ระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ดังกล่าว รัฐบาลจึงจัดให้มี “งานวันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2561 ระหว่างวันที่ 2 ถึง 6 กุมภาพันธ์ นี้ ณ EventHall 98 - 99 นะครับ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทคบางนา กรุงเทพฯ

                สำหรับปีนี้ จะจัดขึ้นภายใต้รูปแบบกิจกรรม “ตลาดนัดเปิดโลกผลงานวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อจะเป็นการนำเสนอสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพร้อมใช้ และ ความก้าวหน้าด้านการประดิษฐ์คิดค้นของประเทศนะครับเราจะส่งเสริมให้เกิดการขยายผล และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ในมิติต่างๆ ซึ่งก่อนการประชุม ครม. ที่ผ่านมานั้น ผมได้พบกับนักเรียน-นักประดิษฐ์ ที่สามารถคว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์จากประเทศเกาหลีใต้

                และได้ชิม “กาแฟพริกขี้หนูสกัด” ที่เป็นผลิตภัณฑ์ในบัญชีนวัตกรรมของไทยและบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย ดื่มแล้วรู้สึกอุ่นร้อนนะครับ ช่วยเร่งการเผาผลาญพลังงานและไขมัน ไม่มีคลอเรสตอรอล ให้พลังงานเพียงแค่ 60 กิโลแคลอรี นะครับ ใช้ซูคราโลส เป็นวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล มีส่วนผสมของถั่วขาว กระบองเพชร ส้มแขก ที่แฝงความเป็นไทยในกาแฟนี้ ด้วยนะครับ ก็ฝากช่วยกันชิมแล้วกันนะครับ

                ทราบว่าปัจจุบันนั้นได้รับการติดต่อให้มีการส่งออกจำหน่ายแล้ว 10 ประเทศนะครับ และเป็น 1 ในเมนู ตู้กดเครื่องดื่มของประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีปืนตรวจวัดการปนเปื้อนสารฟอร์มาลีนในอาหารแบบพกพา เครื่องม้วนกรวยใบตองสำหรับทำงานบายศรี ไม้เท้าช่วยพยุงเดินปรับระดับอัตโนมัติ เป็นต้น

                ก็อยากให้มีการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของไทย ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นนะครับ และก็สนับสนุนสินค้ามีสิทธิบัตรของไทยกันเยอะๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญเป็นกำลังใจนะครับ ในการขับเคลื่อนประเทศ ด้วยงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของคนไทย ตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ด้วยนะครับ

                พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ, การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนนั้นเราจำเป็นต้องตระหนัก และยึดมั่นในความเป็นไทย ศึกษาประวัติศาสตร์ของบรรพบุรุษและ ความเป็นชาติอย่างลึกซึ้ง ในขณะเดียว กัน ก็ต้องเปิดกว้างรับความเปลี่ยนแปลง หรือพลวัตรของโลก อย่างรู้เท่าทันนะครับ จึงจะได้ชื่อว่าเรา “มีภูมิคุ้มกัน” ตามศาสตร์พระราชา

                ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ไทยนิยม” นะครับ ที่ผมกล่าวถึงบ่อยครั้งในช่วงนี้ เนื่องจากมีความสำคัญมากในวางรากฐานอนาคต หากคนไทยเราลืม หรือไม่เข้าใจรากเหง้าของตนแล้ว ก็จะเหมือนการสร้างขื่อ - แป - หลังคาบ้าน บนเสา บนพื้นบ้านที่รากฐานสั่นคลอน ที่พร้อมจะล้มครืนลงได้โดยง่ายนะครับ

                เราควรได้ภาคภูมิใจร่วมกันนะครับ ว่าเมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา สำนักข่าว U.S. News ได้ประกาศผลจัดอันดับประเทศที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2560 ซึ่งประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับ 27 จาก 80 ประเทศ

                โดยเป็นประเทศที่น่าเริ่มต้นธุรกิจที่สุดในโลก อันดับ 1 นะครับ แล้วก็ที่มีมรดกทางวัฒนธรรมโดดเด่น อันดับ 8 มีอิทธิพลทางวัฒนธรรม เป็นอันดับ 19 ของโลก ห้วงเวลาที่ผ่านมานั้น รัฐบาลให้ความสำคัญ ไม่ละเลย ในการเสริมสร้างความรู้เชิงประวัติศาสตร์และ วัฒนธรรมของชาติ ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน โดยส่งเสริมให้มีการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในทุกมิติ อย่างต่อเนื่อง

                อาทิ การยกระดับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในรูปโฉมใหม่ มีระบบนำชม QR Code ที่แสดงข้อมูลและภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุอย่างทันสมัย สามารถใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่น บนสมาร์ทโฟน ไอแพด และแท็บเล็ตได้นะครับ จนเทียบเท่ามาตรฐานพิพิธภัณฑ์ระดับสากล ก็จะเป็นการปลูกฝังให้เด็ก เยาวชน เข้าถึง และภาคภูมิใจ ที่เรามีมรดกทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น มีอิทธิพลต่อคนทั่วโลกนะครับ เป็นไปตามแนวทางพระราชโยบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ด้วยนะครับ เราต้องรักษา สืบสาน และต่อยอด สิ่งเหล่านี้ให้ได้

ทั้งนี้ผมอยากจะบอกว่าการขับเคลื่อนด้วยหลักคิด “ไทยนิยม” นั้น เป็นสิ่ง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งในมิติสังคม ที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความเข้มแข็งในมิติเศรษฐกิจ ของประเทศ “การแก้ปัญหาความยากจน” ของประเทศที่ผ่านๆ มา มีปัญหาหลัก 2 ประการ นะครับ ที่เราต้องยอมรับ ก็คือ

                (1) คือการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่อาจจะละเลยในเรื่องการพัฒนาทางสังคมไปด้วยนะครับ และ (2) คือการแก้ปัญหาที่ขาดความเข้าใจที่ลึกซึ้งจนเราไม่รู้ว่าอะไรคือความจน ไม่รู้ว่าใครบ้างที่จนจริง คนเหล่านั้นอยู่ที่ไหน ปัญหาของเขาคืออะไรกันแน่ เราก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนนะครับ

            มาตรการต่างๆ ออกมา หรือ นโยบายสาธารณะที่ออกมา ก็อาจจะเป็นลักษณะ “เหมารวม - หว่านแห - เน้นสูตรสำเร็จที่ไม่มีจริง” นะครับ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาที่แตกต่างของแต่ละครัวเรือนได้ นำไปสู่การใช้งบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ บางครั้งก็เลยเถิดไปสร้างกระแส “ประชานิยม” นะครับ ทีผิดๆ ก็ยิ่งแย่ไปใหญ่นะครับ

                สำหรับโครงการ “ไทยนิยมยั่งยืน” ที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นั้น ผมขอย้ำและทำความเข้าใจอีกครั้งนะครับ ว่ารัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังเพื่อผลประโยชน์อื่นใด กับรัฐบาลเลยนะครับ แต่เป็นเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ก็คือ "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา"

                รัฐบาลจัดทำโครงสร้างการทำงานมาอย่างต่อเนื่องนะครับ จะเห็นได้ว่า 3 ปีที่ผ่านมา มีตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ขับเคลื่อนนะครับ และระดับพื้นที่ เพื่อจะขับเคลื่อน และสร้างการรับรู้ถึงงานและนโยบายของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่เรียกว่า กขป. และ คณะกรรมการบริหารราชแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปของประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และ การสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)

เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูป สัญญาประชาคม หน้าที่พลเมือง ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติด เป็นต้น

                แต่ผมเห็นว่าปัญหาที่ผ่านมานั้นเรายังขาดกลไกขับเคลื่อนสำคัญในระดับพื้นที่ โดยเราจะต้องมีทั้งท้องถิ่น ในพื้นที่นอกจากนั้นก็เป็น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการในพื้นที่ของทุกกระทรวงนะครับที่ต้องเข้าใจงานในลักษณะบูรณาการ ทั้งการจัดทำแผนงาน โครงการ งบประมาณให้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ ต้องรู้งานของคนอื่นเขาด้วยนะครับ เราจะต้องสร้างการรับรู้ สร้างความเชื่อมโยงเกี่ยวข้อง ให้ประชาชนได้เข้าใจ จะได้เกิดความร่วมมือในลักษณะ "ประชารัฐ" ได้ชัดเจนขึ้น ในระดับพื้นที่

                ซึ่งเราจะต้องนำงบประมาณ ทั้งงบรายจ่ายประจำ งบงานนโยบาย งบเพิ่มกลางปี หรืองบอื่นๆ นะครับ มาทำให้เกิดการประสานสอดคล้องกันให้ได้ในทุกพื้นที่ เพื่อช่วยให้การทำงานของรัฐบาลมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มากยิ่งขึ้น ประชาชนได้รับประโยชน์โดยแท้จริง และรวดเร็วทันการณ์

                โดยประชาชนก็จะต้องมีการทำประชาคมหมู่บ้านนะครับ ความต้องการอะไรต่างๆ เหล่านี้ ให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่อย่างนั้นก็ทำไม่ตรงกันอีกนะครับ ก็ขอให้เข้าใจ ร่วมมือกัน ในระดับพื้นที่ด้วยนะครับ ไม่ใช่มุ่งแต่โครงการที่รัฐบาลจะกำหนดลงไป ผมอยากให้เป็นการทำงานสองทางนะครับ ข้างบนก็กำหนดแนวนโยบายลงไป ข้างล่างก็ไปหาแนวแนวทางในการปฏิบัติ โดยเกิดความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ และภาคประชาชนด้วยนะครับ ในเรื่องสำคัญก็ได้แก่เรื่องน้ำ  เรื่องเกษตรนะครับ เรื่องท่องเที่ยว  บริการ ค้าขาย อาชีพอิสระนะครับ เราต้องไปดูแลเขาให้ถึงครัวเรือนนะครับ ถึงพื้นที่ เพื่อจะได้มีรายได้ที่พอใช้อย่างยั่งยืนนะครับ เราต้องเริ่มด้วยความพอเพียงก่อนให้ได้นะครับ

                สำหรับเรื่องยาเสพติดนั้น เราจับกุมได้มากยิ่งขึ้นนะครับในพื้นที่ตอนใน ถ้าเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็มองได้ 2 ประเด็นนะครับ ว่ามาจากข้างในได้ มาจากข้างนอกได้อย่างไร ก็คงต้องไปดูที่ต้นทางด้วยนะครับ ประเด็นสำคัญคือทำอย่างไร เราจะลดความต้องการของผู้เสพในประเทศ บางคนก็เสพไปโดยไม่คำนึงถึงผลเสียต่อสุขภาพนะครับ เอาสนุกสนานอย่างเดียว ทำให้เกิด สังคมที่เสื่อมทราม ทั้งโดยรู้ตัว และไม่รู้ตัว เราต้องแก้ไขให้ครบวงจรนะครับ ฝากฝ่ายความมั่นคงให้กวดขัน แก้ไข อย่างต่อเนื่อง แล้วแสวงหาความร่วมมือจากต่างประเทศด้วยนะครับ

                พี่น้องประชาชน ที่รักครับ สำหรับ “ผู้มีรายได้น้อย และเป็นหนี้” ที่รักทุกท่าน นะครับ ผมมีข่าวดีเกี่ยวกับ “คลินิกแก้หนี้” ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด บสส. นะครับหรือ SAM ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ธปท. นะครับ ได้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 16 แห่ง ภายใต้การดูแลของสมาคมธนาคารไทย ในการช่วยเหลือประชาชนรายย่อยที่เป็นหนี้เสีย NPL นะครับ ของธนาคารพาณิชย์ หลายแห่ง

                ให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ อย่างเบ็ดเสร็จ และมีประสิทธิภาพ จะได้ช่วยแก้ไขปัญหาภาระหนี้ครัวเรือน รวมทั้ง ให้โอกาสลูกหนี้ NPL ในการที่จะกลับมามีวินัยทางการเงินที่ดี มีเครดิตที่ดี สำหรับทำธุรกรรมทางการเงินในอนาคต โดยไม่ต้องติด Black List ของธนาคาร ไม่ต้องถูกติดตามทวงถามหนี้ ไม่ต้องถูกฟ้อง หรือ เป็นบุคคลล้มละลายนะครับ

                ซึ่งเราก็ได้เริ่มดำเนินโครงการมาเมื่อ 1 มิถุนายน ปีที่แล้ว สำหรับลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา ผู้มีรายได้ประจำ อาทิ ข้าราชการพนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัทเอกชน

                นับว่ามีผลงานความก้าวหน้าดี และได้รับความสนใจ จาก “กลุ่มเป้าหมาย” สมัครเข้าร่วมโครงการ กว่า 30,000 ราย มียอดหนี้ที่สามารถปรับโครงสร้างหนี้รวมแล้ว เกือบ 130 ล้านบาท หรือ เฉลี่ยภาระหนี้เงินต้น ประมาณ 230,000 บาทต่อราย  ซึ่งเฉลี่ยเป็นหนี้อยู่กับธนาคาร 3 แห่ง

                บัดนี้ โครงการนี้ ได้ขยาย “กลุ่มเป้าหมาย” ให้ครอบคลุมพี่น้องประชาชนทั่วไป ที่มีรายได้ไม่ประจำ ไม่มีหลักประกัน อาทิ พ่อค้า-แม่ค้าผู้ประกอบอาชีพอิสระผู้รับจ้างทั่วไป  ชาวไร่ชาวนาที่เป็นหนี้เสียบัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคล ของธนาคารพาณิชย์ 16 แห่ง ที่ร่วมในโครงการนี้

                ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ มุ่งหวังเพื่อจะช่วยแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการขาดความรู้ ความเข้าใจ ในการบริหารจัดการหนี้ รวมถึงอาจจะขาดวินัยการออมโดยคลินิคแก้หนี้

นอกจากจะช่วยแบ่งเบาภาระการชำระหนี้ ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ บริหารหนี้อย่างเป็นสุข ดอกเบี้ยอัตราต่ำ และพิจารณาความสามารถที่แท้จริงจากรายได้-รายจ่ายที่พิสูจน์ได้ ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม แล้ว

ยังจะให้ความรู้ - คำปรึกษาด้านการเงินกับผู้เข้าร่วมโครงการ อีกด้วย   ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียด ตามข้อมูลบนหน้าจอได้ นะครับ ขอให้ติดตามนะครับ ถ้าไม่ติดตามเข้าไปมันก็ไม่ได้ มันก็ไม่เจอกันนะครับ

พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่านครับ    สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยล่าสุดของเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง หลักๆ เป็นผลจากการส่งออกสินค้าและ การท่องเที่ยวที่เติบโตดี นะครับ

                โดยมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม โตได้ถึงร้อยละ 9.3 จากปีก่อนเป็นการส่งออกที่ดีต่อเนื่อง ในทุกตลาดคู่ค้าสำคัญ ในเกือบทุกประเภทสินค้า นะครับ

                ปัจจัยส่งเสริมการขยายตัว ได้แก่                

                (1) ความต้องการสินค้าไทยของประเทศคู่ค้า เช่น ข้าว ผลิตภัณฑ์ยางพารา อุปกรณ์สื่อสารและโทรคมนาคม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์

                (2) ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ทำให้สินค้าส่งออกมีราคาน้ำมันดิบเป็นต้นทุน เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม  ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี สามารถส่งออกไปในราคาที่สูงขึ้น อันนี้ก็ต้องไปดูถึงราคายางด้วย มันมีความผูกพันกับราคาน้ำมัน ก็ค่อยๆ ดีขึ้นนะครับ

                (3) บางอุตสาหกรรมมีการขยายกำลังการผลิต  เพื่อการส่งออกในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การผลิตที่เกี่ยวข้องขยายตัวตามไปด้วย เช่น  หมวดยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง และปิโตรเคมี

            สำหรับการท่องเที่ยวก็คงเติบโตดี ช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ อย่างต่อเนื่อง มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซียเป็นหลัก นะครับ ต้องรักษาไว้

                อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนในประเทศชะลอการขยายตัวลงส่วนหนึ่งมาจากมาตรการส่งเสริมการใช้จ่ายและท่องเที่ยว ในช่วงปลายปี 2559 ทำให้พอมาถึงปี 2560 จึงขยายเพิ่มในระดับปกติที่ไม่มากเท่าช่วงปลายปี ที่มีการกระตุ้นด้วยมาตรการต่างๆ

                แต่สิ่งสำคัญที่รัฐบาลให้ความสนใจติดตามอย่างใกล้ชิด ก็คือ ปัจจัยที่จะมาสนับสนุนกำลังซื้อของประชาชนในระยะต่อๆ ไป ซึ่งยังไม่เข้มแข็งมากนัก ยังมีปัญหาการกระจายตัวของรายได้ ทั้งนี้ การปรับขึ้น “ค่าแรงขั้นต่ำ” ที่กำลังดำเนินการอยู่ ก็จะช่วยเสริมรายได้ของพี่น้องประชาชนได้มากขึ้น

                แต่สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ทางรัฐบาลได้พยายามเร่งบูรณาการมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาภาระที่เพิ่มขึ้น อาทิ ใช้มาตรการทางภาษี ให้ผู้ประกอบการสามารถนำรายจ่ายส่วนที่เป็นค่าจ้างไปลดหย่อนภาษีได้

                จากปัจจุบันที่นายจ้างสามารถขอลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่าอยู่แล้ว ก็จะสามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้อีกเป็นจำนวน 1.15 เท่า คิดเป็นร้อยละ 3 ของอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น หรือ ลดหย่อนได้ประมาณ 9-10 บาท ของค่าจ้างนะครับ

                นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจ ลดค่าใช้จ่าย ชดเชยค่าแรงที่สูงขึ้น และช่วยเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ และบุคคลากรได้

                โดยรัฐบาลจะเร่งดำเนินการในมาตรการต่างๆ และ จะหาแนวทางเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการภาษี รวมถึง กลุ่มพี่น้องเกษตรกรด้วย  นะครับ

                ในด้านการลงทุนภาคเอกชนในภาพรวมยังทรงตัว จากเดือนก่อนโดยแม้ภาคธุรกิจจะนำเข้าสินค้าทุนและ ซื้อหาเครื่องจักรในประเทศมากขึ้น แต่ยอดซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์ของภาคธุรกิจปรับลดลงบ้าง

                อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าของภาคธุรกิจปรับดีขึ้น โดยธุรกิจมองว่าจะมีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้นซึ่งจะทำให้ผลประกอบการและการลงทุนปรับดีขึ้นได้

                นอกจากนี้ ในสายตาของนักธุรกิจต่างประเทศ ไทยยังเป็นประเทศที่น่าลงทุน โดยล่าสุดผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของนักธุรกิจญี่ปุ่น ที่ลงทุนในประเทศไทย ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

                สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนและภาคธุรกิจญี่ปุ่นที่มีการลงทุนในประเทศไทย จากการสำรวจ คาดว่าจะมีการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ร้อยละ 34 และ จะมีการส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 37

โดยนักลงทุนและนักธุรกิจญี่ปุ่นมีความพึงพอใจกับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ ความมั่นคงและความสงบสุขของประเทศ  การแก้ไขปัญหาด้านศุลกากรและ การอำนวยความสะดวกการให้บริการภาครัฐ หรือEase of doing business ของประเทศไทยที่มีความคืบหน้าไปมาก รวมทั้ง              ความชัดเจนในการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

สิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องระมัดระวัง ทุกส่วนราชการ ทุกหน่วยงาน รัฐวิสาหกิจ คือ เราต้องมารื้อฟื้นซิว่า ระบบบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่เดิมมันเป็นยังไง เราจะนำหลายสิ่งหลายอย่างมาบูรณาการร่วมกันได้หรือไม่ ต้องมีการเข้มงวด ทบทวน ตรวจสอบ ในทุกกิจการให้ได้  อย่าให้มีปัญหาโยเด็ดขาด ในการที่เราจะสร้างเศรษฐกิจใหม่ หรือการประกอบการในอุตสาหกรรมแนวใหม่ก็ตาม  ต้องระมัดระวังเรื่องน้ำเสียนะครับ  อย่าลืมว่าการพัฒนานาจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย 

                อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องเร่งดำเนินการให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมั่นคง ก็คือการใช้จ่ายภาครัฐ ที่บางส่วนล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ มันมีหลายกลไกที่เกี่ยวข้องข้างใน  ดังนั้นรัฐบาลพยายามอย่างยิ่งที่จะเร่งรัด และติดตามการเบิกจ่ายในโครงการต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด  แผนงานใหญ่ๆ บางทียังออกไม่ได้เพราะติดในเรื่องของการทำ EIA  เรื่องความคิดความเห็น รับฟังความคิดเห็นเหล่านี้นะครับ

                ซึ่งมันต้องแก้ไขกันยังไง  ก็ต้องไปช่วยกันนะครับ  ถ้าอยากให้มันเกิด  ถ้าอยากมีการใช้จ่าย มีเงินลงมาในระบบเศรษฐกิจ  มันก็ต้องทำให้ได้  แต่ไม่ไปทำให้ทุกอย่างเสียหาย  มันต้องมีวิธีการทำได้  ไม่งั้นก็เร่งไปก็ทำไม่ได้อยู่ดี  ทุกคนต้องช่วยกันนะครับ  อาจจะต้องมีการปรับแผนเมื่อจำเป็น   เราคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ดีขึ้น ในระยะต่อไป รัฐบาลนี้ไม่เคยปล่อยปละละเลยนะครับ ในการเร่งในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ

                นอกจากนั้น การที่เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้เดิม ประกอบกับผลการจัดเก็บรายได้ ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม - พฤศจิกายน 2560) ก็ยังสูงกว่าประมาณการ กว่า 12,000 ล้านบาทหรือ ประมาณร้อยละ 5.1

                และเราก็คาดว่าจะมีรายได้ที่มาจากภาษีและรัฐพาณิชย์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีก ประมาณ 50,000 ล้านบาท ทำให้มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมอีก 150,000 ล้านบาท ซึ่งเราก็มีแผนจะนำไปใช้จ่ายใน 2 ส่วน ได้แก่

                นำไปชดเชยเงินคงคลังที่ได้จ่ายไปแล้ว ซึ่งเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ในการรักษาวินัยการคลังของประเทศ อีกส่วน เป็นการนำไปใช้จ่ายในโครงการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ ในปี 61 ตามแนวทางที่สำคัญ  อันได้แก่

                (1) การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก      (2) การพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุน วิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน และ        (3) การปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรทั้งระบบ

                พี่น้องประชาชนที่รักครับ, ผมอยากให้เข้าใจว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมดังกล่าว ไม่ใช่ว่ารัฐจะเร่งรัดกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไม่ลืมหูลืมตา โดยไม่คำนึงถึงวินัยทางการคลัง นะครับ

            ในรอบ 4 ปีงบประมาณที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะใช้นโยบายงบประมาณขาดดุลมาโดยตลอด แต่รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ก็ได้พยายามรักษาวินัยทางการคลัง อย่างเคร่งครัด จะเห็นได้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ในปี 2557 คิดเป็นร้อยละ 47.18 และ “ลดลง” อย่างต่อเนื่อง จนมาอยู่ที่ร้อยละ 41.67 ในเดือนพฤศจิกายน 2560

            ซึ่งสัดส่วนที่เป็นสากลกำหนดไว้ ที่ไม่เกินร้อยละ 60  และ หากพิจารณาในภาพรวม ถือเป็นการขาดดุล ประมาณร้อยละ 3.3 ของ GDP เทียบกับช่วงปี 2552 - 2556 ที่การขาดดุลงบประมาณเฉลี่ย อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ของ GDP ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกัน นะครับ แต่เราทำหลายอย่างเพิ่มขึ้นมาได้

                นอกจากนี้ การจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมนี้ มีการจัดทำอย่างมีขั้นตอนและ แผนงานใช้งบประมาณที่ชัดเจน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ตามนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ  ก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ลดความซ้ำซ้อนในกระบวนการ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูปประเทศ และ ยุทธศาสตร์ชาติ เป็นหลักด้วย

                ผมจึงอยากให้ทุกท่าน รับรู้และเข้าใจว่าการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ผมตั้งใจเป็นอย่างยิ่ง ที่จะวางรากฐานที่สำคัญให้กับประเทศ วางระบบและแนวทางการปฏิรูป ให้นโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายเชิงโครงสร้าง ที่จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และ เพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะยาว ที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการจัดทำ และให้ความเห็น

                ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องง่าย และทำได้ในระยะเวลาสั้น ๆ ที่จะ “ปรับถาง สร้างทางเดินใหม่” ให้กับประเทศ ทั้งในเรื่องการปฏิรูปกฎหมายต่าง ๆ และ การจัดตั้งหรือปฏิรูปองค์กร ที่มีความสำคัญของรัฐ แต่รัฐบาลมีความตั้งใจจริง และ หลายฝ่ายก็ได้ร่วมมือร่วมใจ

                สิ่งเหล่านี้ แม้ผมอยากทำให้ทุกท่านได้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ว่ามันจะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างไร แต่มันคงไม่ง่าย ไม่เร็วดั่งใจคิด เพราะเป็นนโยบายระยะยาวเป็นรากฐานรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ให้ประเทศก้าวไปได้อย่างมั่นคง

                ผมไม่ได้ต้องการให้ใครมาชื่นชม หรือสรรเสริญเยินยอในความพยายามนี้ เพียงแต่ขอให้รับรู้ และเห็นในความตั้งใจ เพื่อช่วยกันสานต่อ ช่วยกันผลักดัน คนละไม้ละมือ หากเห็นจุดที่ทำให้ดีขึ้นได้ ก็ช่วยกันเสนอแนะ ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ทำเพื่อผม แต่เป็นเพื่อประเทศ และลูกหลานของเราในอนาคต นะครับ

                สุดท้ายนี้ ผมอยากให้พี่น้องประชาชนได้ติดตามข่าวสารของทางราชการ สิ่งใดที่ยังเข้าใจไม่ตรงกัน ก็จะได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาแถลงไขประเด็นปัญหา จนหมดข้อสงสัย ปัจจุบันก็จะมีการปรับปรุง และเพิ่มเติมช่องทางการสื่อสาร ระหว่างรัฐบาลกับพี่น้องประชาชนใหม่ๆ ดังนี้

                (1) เวที “สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า” ทุกเดือน

                (2) เวที Meet the press ทุกวันพฤหัสบดี

                (3) รายการ “เดินหน้าประเทศไทย” ทุกวัน (เว้นวันศุกร์) หลังเคารพธงชาติ 18 นาฬิกา ที่จะปรับรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากขึ้น โดยความร่วมมือของสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ก็ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย นะครับ

                (4) Facebook “ไทยคู่ฟ้า” ของสำนักโฆษกฯ ที่ปรับรูปแบบการนำเสนอ ให้สอดรับการไลฟ์สไตล์ของประชาชน “ยุค 4.0” ได้ดีกว่าเว็บไซต์ “รัฐบาลไทย” ที่เน้นความเป็นทางการที่มีความน่าเชื่อถือ อ้างอิงทางวิชาการได้ แต่เป็นการสื่อสาร “ทางเดียว” เป็นหลัก

                ส่วน Facebook “ไทยคู่ฟ้า” จะเป็นการสื่อสาร “2 ทาง” ฝากเรื่องราว คำถาม เสนอแนะเข้ามาได้ อะไรที่อยู่ในความสนใจ ไม่เข้าใจ ก็จะอัดคลิปสัมภาษณ์สั้นๆ พร้อมคำอธิบาย จากนายกรัฐมนตรี รองนายกฯ รัฐมนตรี หรือผู้บริหารหน่วยงาน ที่เน้นการเข้าถึงง่าย และรวดเร็ว นะครับ

                ก็ขอให้ติดตามได้ แลกเปลี่ยนความคิดกันได้  ผมอยากให้เป็น “ตัวอย่าง” การใช้สื่อโซเชียลที่สร้างสรรค์ เพื่อสาธารณะประโยชน์อย่างแท้จริง จะได้เป็น “ไทยแลนด์ 4.0” และ “ไทยนิยม” ที่มากด้วยคุณค่า และมีวัฒนธรรมที่งดงามของไทย ขอให้ทุกคนภูมิใจในความเป็นไทยนะครับ

                ขอบคุณครับ  ขอให้ “ทุกคน ทุกครอบครัว” มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้