Last updated: 20 ธ.ค. 2560 | 6490 จำนวนผู้เข้าชม |
ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด อดีต ผอ.สำนักพุทธฯ และพวก ทุจริตเงินทอนวัดพนัญเชิง ชง อสส. ฟ้องอาญา
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายพนม ศรศิลป์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นางสาวประนอม คงพิกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และนางชมพูนุท จันฤาไชย บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ร่วมกันทุจริตงบประมาณโครงการเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่อนุมัติให้แก่วัดพนัญเชิงวรวิหาร ตำบลกระมัง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประจำปีงบประมาณ 2557 และประจำปีงบประมาณ 2558
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 เวลา 14.00 น. ณ ห้องแถลงข่าวสำนักงาน ป.ป.ช. (สนามบินน้ำ) นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกกรรมการ ป.ป.ช. ได้แถลงถึงมติการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีกล่าวหานายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กับพวก ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยร่วมกันทุจริตเงินงบประมาณโครงการเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่อนุมัติให้แก่วัดพนัญเชิงวรวิหาร ตำบลกระมัง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประจำปีงบประมาณ 2557 และประจำปีงบประมาณ 2558 โดยมีนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน นั้น
การไต่สวนข้อเท็จจริงพยานหลักฐานฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2560 กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ส่งเรื่องกล่าวหา นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กับพวก ตามมาตรา 89 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งจากการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานพบว่ามีผู้ร่วมกระทำความผิดเป็นขบวนการและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งที่ 1205/2560 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2560 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อทำการไต่สวนข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ พฤติการณ์ของขบวนการทุจริตเงินทอนวัดได้มีการวางแผนและแบ่งหน้าที่กันกระทำความผิดเป็นขั้นเป็นตอน โดยจะมีกลุ่มบุคคลซึ่งจะทำหน้าที่ติดต่อวัดต่างๆ โดยแจ้งว่าจะมอบเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดให้แก่วัด แต่มีเงื่อนไขว่าวัดจะต้องมอบเงินกลับคืนเพื่อนำไปใช้ในกิจการของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในการจัดสรรให้แก่วัดต่างๆ ต่อมากลุ่มบุคคลดังกล่าวจะนำรายชื่อวัดที่เชื่อตามคำกล่าวอ้างไปจัดทำเอกสารการอนุมัติเงินอุดหนุนให้แก่วัด โดยไม่มีคำขอรับเงินอุดหนุนของวัดประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินอุดหนุนให้แก่วัดตามขั้นตอนและระเบียบแบบแผนของทางราชการ และเมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้โอนเงินอุดหนุนเข้าบัญชีเงินฝากของวัดแล้ว กลุ่มบุคคลดังกล่าวจะแจ้งให้วัดโอนเงินหรือรับเงินกลับคืนมาแล้วนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต
การทุจริตเงินทอนวัดพนัญเชิงวรวิหาร เมื่อปีงบประมาณ 2557 นางสาวประนอม คงพิกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ติดต่อวัดพนัญเชิงวรวิหารว่าจะจัดสรรเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดให้แก่วัดพนัญเชิงวรวิหาร จำนวน 10,000,000 บาท แต่เมื่อวัดได้รับเงินแล้วให้โอนเงินจำนวน 8,000,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของนางชมพูนุท จันฤาไชย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ซึ่งเป็นบุคคลใกล้ชิดของนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยแจ้งว่าจะนำไปใช้ในกิจการของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หลังจากนั้นนางสาวประนอม คงพิกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้จัดทำเอกสารการอนุมัติเงินอุดหนุนให้แก่วัดพนัญเชิงวรวิหาร จำนวน 10,000,000 บาท เสนอให้นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 อนุมัติเงินอุดหนุนโดยไม่มีคำขอรับเงินอุดหนุนของวัดพนัญเชิงวรวิหารประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินอุดหนุนให้แก่วัดพนัญเชิงวรวิหารตามระเบียบแบบแผนของของทางราชการ โดยหลังจากที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้โอนเงินอุดหนุนให้แก่วัดพนัญเชิงวรวิหาร จำนวน 10,000,000 บาท แล้ว วัดพนัญเชิงวรวิหาร ได้โอนเงินกลับคืนจำนวน 8,000,000 บาท โดยโอนเข้าบัญชีเงินฝากของนางชมพูนุท จันฤาไชย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 แล้วนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต
สำหรับการทุจริตในปีงบประมาณ 2558 นางสาวประนอม คงพิกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้ติดต่อวัดพนัญเชิงวรวิหารอีกครั้ง และแจ้งว่าจะโอนเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดให้แก่ วัดพนัญเชิงวรวิหาร จำนวน 10,000,000 บาท แต่ในครั้งนี้มีเงื่อนไขว่าวัดจะต้องคืนเงินสดจำนวน 5,000,000 บาท ให้แก่นางสาวประนอม คงพิกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 หลังจากนั้นนางสาวประนอม คงพิกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้จัดทำเอกสารการขออนุมัติเงินอุดหนุนให้แก่วัดพนัญเชิงวรวิหาร จำนวน 10,000,000 บาท เสนอนายพนม ศรศิลป์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ขณะดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พิจารณาอนุมัติเงินอุดหนุนโดยไม่มีคำขอรับเงินอุดหนุนของวัดพนัญเชิงวรวิหารประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินอุดหนุนให้แก่วัดพนัญเชิงวรวิหารตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยเมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้โอนเงินให้แก่วัดพนัญเชิงวรวิหาร จำนวน 10,000,000 บาท แล้ว วัดพนัญเชิงวรวิหาญได้นำเงินสด จำนวน 5,000,000 บาท ไปมอบให้แก่ นางสาวประนอม คงพิกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 แล้วนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วมีมติว่าการทุจริตปีงบประมาณ 2557 นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีมูลความผิดฐานเป็นตัวการร่วมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 90 นางสาวประนอม คงพิกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มีมูลความผิดฐานเป็นตัวการร่วมในควาเตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 90 และผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองรายมีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 82 (1), (2), (3) ประกอบมาตรา 85 (7) และมาตรา 85 (1), (4) ส่วนนางชมพูนุท จันฤาไชย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จึงเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86
การทุจริตปีงบประมาณ 2558 นายพนม ศรศิลป์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีมูลความผิดฐานเป็นตัวการร่วมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 90 นางสาวประนอม คงพิกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มีมูลความผิดฐานเป็นตัวการร่วมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 มาตรา 90 และมาตรา 91 และมีมูลความผิดฐานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162 (1), (4) อีกบทหนึ่งด้วยและผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองรายมีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 82 (1), (2), (3) ประกอบมาตรา 85 (7) และมาตรา 85 (1), (4)ให้ส่งรายงานและเอกสารพร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 92 และมาตรา 97 ต่อไป
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาเส้นทางของการทุจริตเงินอุดหนุนวัดและพบว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 รายได้กระทำความผิดจริง จึงส่งความเห็นไปให้ผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยและส่งให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญาในศาลต่อไป ส่วนคดีเงินทอนวัดอื่นๆนั้น ยังคงค้างอยู่ในการไต่สวนของ ป.ป.ช.อีก 97 สำนวน ซึ่งคาดว่า ทุกสำนวนจะมีลักษณะเส้นทางการโอนเงินและการทุจริตคล้ายกัน ดังนั้น บทลงโทษน่าจะไม่แตกต่างกันมากนัก
หมายเหตุ : การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
18 ส.ค. 2567