รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2560

Last updated: 11 ธ.ค. 2560  |  5364 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ, พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน นับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559  ซึ่งยังความเศร้าโศกอาลัย ให้แก่พสกนิกรชาวไทยอย่างใหญ่หลวง โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทาน พระราชานุญาต ให้รัฐบาล และประชาชนชาวไทยจัดงานพระราชพิธี ถวายพระเพลิง พระบรมศพฯเพื่อถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามขัตติยะโบราณราชประเพณี ซึ่งบัดนี้ ได้สำเร็จลุล่วง อย่างเรียบร้อย สมบูรณ์ สมพระเกียรติ แล้ว ซึ่งนับเป็นการรวมพลัง ความสามัคคี ทุกภาคส่วน ที่ได้ร่วมกันปฏิบัติงาน อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความสำนึก ในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ


และเนื่องในโอกาสดังกล่าว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเลี้ยงอาหาร แก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่งานพระราชพิธี ถวายพระเพลิง พระบรมศพฯ เมื่อวันพุธที่ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้ อีกทั้งยังจะเป็นขวัญ และกำลังใจอันสำคัญ ให้แก่ผู้ปฏิบัติภารกิจหน้าที่ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติ และประชาชน  ตามพระราชปณิธาน สืบไป


พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ, เมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทาน พระราชวโรกาส ให้นายกรัฐมนตรี เฝ้าฯ รับพระราชทานวีดิทัศน์ “สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา”  ซึ่งประกอบด้วย 4 เรื่อง ได้แก่ น้ำคือชีวิตแผ่นดิน, พิทักษ์ป่า พัฒนาสินสายน้ำ, พืชพรรณปลูกชีวิตมั่นคง และเศรษฐกิจพอเพียงนำทางชีวิตโดยมีพระราชปรารภ สรุปใจความว่า “ศาสตร์พระราชา” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานไว้ มีมากมาย และมีคุณค่าคุณูปการ สำหรับการพัฒนา ประเทศชาติ และสร้างความสุขให้แก่ประชาชน  จึงมีพระราชประสงค์ให้ศึกษาและน้อมนำพระราชดำริต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสม และพอเพียงทันต่อสถานการณ์


ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลนี้ไม่เพียงน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชาต่างๆ เป็น “กรอบแนวคิดหลัก” สำหรับการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี,  การจัดทำแผนปฏิรูปประเทศ  และนำไปสู่การปฏิบัติในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น แต่ยังได้นำไปเผยแพร่อย่างมีระบบและเป็นรูปธรรม ในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประชาคมโลกต่อไป อีกด้วย  โดยหลายประเทศได้นำไปประยุกต์ใช้ ให้เหมาะสมกับบริบทของตนแล้ว ในปัจจุบัน สำหรับในประเทศของเราเอง ตั้งแต่ระดับจังหวัด ลงมาถึงท้องถิ่น ผมเห็นตัวอย่างการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ไปประยุกต์ใช้จนประสบผลสำเร็จโดยเฉพาะเรื่อง “การระเบิดจากข้างใน” และการรวมกลุ่มสร้างพลังในสังคมของตน ตามที่รัฐบาลนี้ เรียกว่า “พลังประชารัฐ” จึงขอนำมากล่าวคร่าวๆ เพื่อเป็นแนวทาง และเป็นกำลังใจ ให้กับกลุ่มอื่นๆ ได้ฟัง ดังต่อไปนี้


1. ขอนแก่นโมเดล ซึ่งเป็นความร่วมมือของคนในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคเทศบาล ภาคเอกชน 20 บริษัท และภาคประชาสังคม เป็น “ประชารัฐ” ที่เข้มแข็ง  ในการพัฒนาเมือง วางผังเมือง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถไฟฟ้ารางเบา (LRT) และ Smart Bus เป็นต้น ตามแนวคิด Smart City เพื่อจะรองรับการเติบโตของเมืองที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล และของภาคสอดคล้องกับความต้องการของคนขอนแก่น ที่ได้มีส่วนร่วม อย่างมีระเบียบแบบแผน เป็นตัวอย่างความเข้มแข็งด้วยตนเอง โดยไม่รอพึ่งพางบประมาณแผ่นดิน แต่เพียงอย่างเดียว


และ 2. ‘บ้านผาสุข’ ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นชุมชนเล็กๆ 130 ครัวเรือน ที่เป็นที่ตั้งของโครงการพระราชดำริศูนย์ภูฟ้า สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ผู้คนพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก ชุมชนเริ่มประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอ สำหรับเกษตรกรรม และอุปโภคบริโภค  เป็นที่มาของโครงการพัฒนาระบบการจัดการน้ำโดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)


เข้ามาอบรมกระบวนการทำวิจัยเพื่อท้องถิ่น มีการระดมความคิด ช่วยคิดช่วยทำ เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และสร้างความเข้าใจระหว่างกัน นำมาสู่การวางแผน สืบค้นปัญหา จัดเก็บข้อมูล ตั้งแต่การใช้น้ำของแต่ละครัวเรือน สำรวจแหล่งต้นน้ำ สอบถามผู้สูงอายุและปราชญ์ชุมชน จดบันทึก ลงพื้นที่สำรวจ แล้วนำข้อมูลทั้งหมดจัดทำเป็น “ฐานข้อมูล” กลายเป็นคู่มือของชุมชน สำหรับใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำของชุมชน อีกทั้ง มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชุมชนให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน เช่น มีกฎกติกาของชุมชนในการใช้ประโยชน์จากดิน ป่า น้ำ มีการฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำ การปลูกป่าเสริม และป่าชุมชนโดยแบ่งการใช้ประโยชน์เป็น 3 ส่วน ได้แก่ ป่าต้นน้ำ ป่าอนุรักษ์ และป่าใช้สอย ตลอดจนสร้างจิตสำนึกการรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมกัน พัฒนาชุมชนและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ภายใต้หลักปรัชญาของ “เศรษฐกิจพอเพียง”  นะครับ


จะเห็นได้ว่า “ความร่วมมือกัน” แก้ปัญหาในอดีตนั้น หรือวางรากการพัฒนาในอนาคตในทุกมิติ จะต้องเริ่มจากคนในพื้นที่เอง เหมือนการ “ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน” เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดนะครับ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน เพราะกลไก “ประชารัฐ” มีอยู่ในทุกระดับ ทุกพื้นที่ หากรวมตัวกันได้ เข้าใจกันได้นะครับ ก็จะได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน


พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ, เรื่องดีๆ เกี่ยวกับปากท้องของเราทุกคน ที่ผมอยากมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ คือ การได้เห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่องนะครับ กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ในไตรมาส 3 ของปีนี้ ขยายตัวถึงร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และนับว่าสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส ที่ผ่านมานะครับ


ถ้ามองภาพรวม 3 ไตรมาสของปี 2560 นี้ เศรษฐกิจไทยโต ร้อยละ 3.8 นะครับและก็คาดว่าเมื่อรวมไตรมาส 4 แล้ว ตลอดปีน่าจะเติบโตได้ ร้อยละ 3.9 นะครับ ซึ่งน่าจะมีกรขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปีหน้า เราก็คาดว่าจะขยายตัวถึง ร้อยละ 4.1 นะครับ  หากเรามองย้อนกลับไป จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวมาอย่างต่อเนื่อง นับจากที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศในปี 2557 ที่เรามีการเติบโตได้เพียงร้อยละ 0.9 เท่านั้นเนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกอ่อนแอ และเรามีปัญหาความขัดแย้งในประเทศ แต่นับจากปี 2558 และ 2559 เราก็ขยายตัวได้ดีขึ้น ต่อเนื่อง เป็นร้อยละ 2.9 และ 3.2 ตามลำดับ เนื่องจากความมีเสถียรภาพในประเทศ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งในและระหว่างประเทศ  แม้ภาพรวมของโลกจะยังชะลอตัวอยู่บ้าง และค่อยๆ ฟื้นตัว


ที่ผ่านมา ภาครัฐก็ได้ทำงานอย่างเต็มที่ ในการที่จะออกมาตรการต่างๆ ทั้งการใช้จ่าย การลงทุน และมาตรการด้านภาษี กฎหมายนะครับ เพื่อจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจได้มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง มีการขยายตัวอย่างราบรื่นสม่ำเสมอ ปัจจุบันเราก็เห็นว่าภาคเอกชน ได้เริ่มออกมาใช้จ่าย ลงทุนกันมากขึ้น ตามลำดับนะครับ มากบ้างน้อยบ้าง รวมถึงการส่งออกที่ฟื้นตัว และแข็งแกร่งขึ้น มีการขยายวงกว้างมากขึ้นไปในหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะในไตรมาสล่าสุดนี้ นะครับ 


ทั้งนี้สินค้าส่งออกสำคัญ ที่ขยายตัวในอัตราที่สูง ได้แก่ชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ข้าว มันสำปะหลัง และน้ำตาล ซึ่งก็จะเป็นรายได้ให้กับภาคธุรกิจ และพี่น้องประชาชน ที่อยู่ใน “ห่วงโซ่การผลิต” ของกลุ่มสินค้าเหล่านี้ เราต้องย้อนกลับมาดูนะครับว่า ราคาวัสดุเหล่านั้นที่เกษตรกรได้รับนั้นมีความสมดุลหรือไม่นะครับกับการที่มูลค่าสินค้าเหล่านี้ในการส่งออกมีมากขึ้น เพราะว่าบางอย่างนั้นกลไกการตลาดนั้นกดทับอยู่นะครับ ซึ่งเราก็จำเป็นต้องหารือกับทั้งในประเทศ กับต่างประเทศนะครับ ซึ่งก็เป็นการที่ยากพอสมควร เพราะทุกประเทศก็แข่งขันกันนะครับ ในการที่จะลดราคาสินค้าเพื่อจะขายได้มากขึ้นนะครับ ของเราก็จำเป็นต้องไปดูที่ต้อนทางด้วยนะครับ อันนี้ก็อยากเรียนพี่น้องเกษตรกรให้เข้าใจนะครับ เราพยายามเต็มที่แล้วนะครับ แต่ก็จะทำให้ดีขึ้นต่อไปนะครับ


ล่าสุด เราได้เห็นการขยายตัวที่ชัดเจนขึ้น ในผลผลิตภาคเกษตร การขนส่ง โรงแรมและภัตตาคาร รวมถึงภาคการค้า ซึ่งหมายถึงการจ้างงาน และรายได้ ในกลุ่มเหล่านี้ ที่จะมีต่อเนื่อง และในภาพรวม เม็ดเงินเหล่านี้ ก็จะถูกหมุนเวียนผ่านการจับจ่ายใช้สอย ซื้อวัตถุดิบในการผลิต และการจ้างงาน ต่อกันเป็นทอดๆ ลงไปสู่พี่น้องประชาชนได้ อย่างทั่วถึงในที่สุด อีกทั้งยังจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วยนะครับ


อย่างไรก็ตามการที่เราทยอยฟื้นตัว จากช่วงที่เศรษฐกิจผ่านเหตุการณ์หลายๆ อย่างนะครับ รวมถึงความท้าทายของโลกยุคนี้ ซึ่งได้แก่การที่ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำทั่วโลกมายาวนาน  เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจนอาจเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์  และภัยธรรมชาติที่เกิดบ่อยครั้งสร้างความเสียหายรุนแรงขึ้น


แต่การกระจายตัวของรายได้ ผลตอบแทนจากการลงทุน อาจจะยังลงไปไม่ทั่วถึงพี่น้องประชาชนบางส่วน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก และยังไม่สามารถปรับตัวได้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนะครับ  ผมจึงอยากจะเรียนว่า ภาครัฐได้ตระหนักถึงปัญหานี้ และไม่ได้หลงใหลได้ปลื้มไปกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว จนไม่ได้มองว่าจะมีการกระจายตัวของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างไรนะครับ ยังลงไปไม่ถึงทุกกลุ่ม หรือไม่ทั่วถึงเท่าที่ควรนะครับ ยังไม่พอเพียง
จะเห็นได้จากช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลก็ได้เร่งดำเนินมาตรการหลากหลายรูปแบบ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องผู้มีรายได้น้อย เช่น การใช้เงินผ่านบัตรสวัสดิการ ที่แจกจ่ายไปแล้ว 92% คิดเป็นมูลค่ากว่า 5,200 ล้านบาท ณ ร้านธงฟ้าราว 20 ล้านครั้ง และเมื่อวางเครื่อง EDC ครบ 18,000 เครื่อง ตามเป้าหมายสิ้นเดือนนี้ ก็น่าจะมีเงินหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้ดีขึ้นอีก


นอกจากนี้ ก็มีการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและน้ำท่วม  รวมถึงธุรกิจ Micro SMEs ผ่านกลไกประชารัฐ เพื่อจะให้สามารถประกอบธุรกิจ และดำเนินชีวิต ในช่วงที่ต้องปรับตัวในระยะสั้นได้  รวมถึงการปฏิรูปด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ  ภาคเกษตร  กฎหมาย  การศึกษา  สาธารณสุข เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมมากยิ่งขึ้น ให้กับพี่น้องประชาชนและธุรกิจขนาดเล็ก ในระยะยาวอีกด้วยนะครับ  ทุกอย่างต้องเริ่มแก้ปัญหาภายในก่อนนะครับ แล้วก็ทำตั้งแต่การบูรณาการไปด้วย เพื่อจะให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยตรง ลงไปสู่พี่น้องประชาชนทุกกลุ่มทุกระดับนะครับ


ในระยะต่อไปรัฐบาลก็จะคงมุ่งมั่นจะเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการเร่งลงทุนในโครงการต่างๆ ให้ได้อย่างเต็มที่นะครับ เพราะทุกอย่างนั้นต้องผ่านกลไกตามขั้นตอนของกฎหมายนะครับ ก็ขอความร่วมมือจากภาคประชาชนด้วยนะครับ โดยเฉพาะความร่วมมือทางด้านที่ดิน การจัดพื้นที่ต่างๆ นะครับ เพื่อให้เกิดการลงทุนเหล่านั้นเกิดขึ้นได้นะครับ รัฐบาลก็ดูแลอย่างเต็มที่ เรามีงบประมาณการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ทั้งของภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ อีกทั้งมีมาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ ที่จะดำเนินการต่อเนื่อง ในปีหน้าซึ่งมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ก็จะเป็น “เข็มทิศนำทาง” ในการขับเคลื่อนประเทศที่ชัดเจน และมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาเรื่องการทุจริต คอรัปชั่น การกระทำผิดกฎหมายไปด้วยนะครับ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เม็ดเงินที่ไม่สุจริตนะครับ ก็จะไม่อออกมาวนเวียนอยู่ในพื้นที่นะครับ


ก็อาจจะทำให้มีปัญหาบ้างนะครับ เพราะคนมีรายได้น้อยส่วนใหญ่ก็มีอาชีพรับจ้างนะครับ เพราะฉะนั้นเงินเหล่านี้ก็อาจจะต้องกายไปส่วนหนึ่ง จะทำยังไงล่ะครับ เราก็ควรจะต้องทำให้ถูกต้องซะ เปิดโอกาสให้คนอื่นเขาเข้ามาบ้าง มากขึ้น การทำธุรกิจผิดกฎหมายลดลง ทางรัฐบาลพยายามมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้นะครับ ก็ขอความร่วมมือจากภาคประชาชน พี่น้องทั้งหลายด้วยนะครับ


ในส่วนของการเดินหน้าทางการเมืองสู่การเลือกตั้งตาม Roadmap ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคเอกชน และประชาคมโลกด้วยนะครับ ดังนั้นทุกคนก็ควรจะหารือกัน ว่าวันหน้าเราจะอยู่กันอย่างไรนะครับ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมือง ภาคธุรกิจ ประชาชน รัฐบาล คสช. ต้องมีหนทางร่วมมือกันซิครับ ไม่ใช่ติติงกันไปมา รัฐบาลผมไม่ได้มีนโยบายในการที่จะไปต่อสู่ ปิดกั้น กีดขวางท่านเลยนะครับ ก็อย่ามาบิดเบือนซึ่งกันและกันนะครับ ต่อไปก็จะทำทุกอย่างสามารถจะพูดคุย เจรจา หาหนทางออกกันได้นะครับ ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่


ผมอยากจะขอความร่วมมือให้ทุกฝ่าย ได้ช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หันหน้าพูดคุยหารือกัน รับฟังกันอย่างมีเหตุมีผล และด้วยหลักการ ด้วยเหตุผล ด้วยปัจจัยภายใน ภายนอกที่เป็นข้อเท็จจริงนะครับ ไม่ใช่คิดเอาเอง หรือมาเปรียบเทียบกับในช่วงบางช่วง ซึ่งไม่ใช่สถานการณ์เช่นในปัจจุบันนะครับ ซึ่งมีหลายอย่าเข้ามาประกอบด้วย ก็ขอให้ช่วยกันเสนอแนะสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ เราจะต้องยึดมั่นจุดมุ่งหมายเดียวกัน ก็คือ การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศนะครับ และยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ในระยะยาว สิ่งที่ผมอยากเห็นมากที่สุดนะครับ จากพี่น้องประชาชนก็คือ การเตรียมตัวเองให้พร้อม ในการการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ นะครับ และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย โลกทุกวันนี้นั้น ไม่เหมือนเดิมแล้วนะครับ


ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเรื่องเทคโนโลยี ที่เราจะต้องก้าวให้ทัน “รู้เท่าทัน” ก้าวไปกับเทคโนโลยี และโลกยุคดิจิตอลนะครับ เพื่อจะแสวงหาโอกาส สร้างนวัตกรรม มุ่งไปสู่การผลิตที่มีมูลค่ามากขึ้น ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุดนะครับโดยเฉพาะในเรื่องสินค้าเกษตร นับวันประเทศคู่แข่ง ต่างก็จะเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ผลผลิตก็สูงขึ้น มีการพัฒนาพันธ์ขึ้นมาแข่งขันกับเรานะครับ ส่งผลกดดันให้ราคาตกต่ำ อีกทั้งน้ำท่วม – น้ำแล้ง ที่รุนแรงขึ้นนะครับ


เราก็ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การผลิต ให้เลือกผลิตพืชผลที่เหมาะกับพื้นที่ เหมาะกับฤดูกาล เหมาะกับดิน กับน้ำ กับอากาศ อันนี้สำคัญที่สุด สอดคล้องกับความต้องการของตลาดด้วย เคยเรียนไปแล้วว่าดูซิว่า ประชาชนอยากรับประทานอะไร ชอบอะไร ต่างชาติชอบสินค้าแบบไหน เราก็ผลิตแบบนั้นออกมานะครับ จะยากหน่อยในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราเคยทำมายาวนาน มีความเคยชินนะครับ ก็ขอให้เริ่มศึกษา นำ Agrimap มาใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดนะครับ


และดูสถานการณ์น้ำด้วยนะครับ  มีโปรแกรมต่างๆ มีเว็ปไซต์มากมาย รวมความไปถึงในเรื่องของการให้ข้อมูลในเรื่องของการเพาะปลูกต่างๆ ในเรื่องของการใช้วิธีการของปราชญ์ชาวบ้านหรือการบริหารจัดการของภาคการเกษตรที่ดำเนินการในลักษณะเป็น smart farmer เหล่านี้ ท่านต้องติดตามในเว็ปไซต์ของรัฐบาลและของอื่นๆ นะครับ


ภาครัฐเองก็ต้องเร่งสนับสนุนให้ข้อมูล ขยายการผลิตเพื่อทำเมล็ดพันธุ์ให้ลงไปสู่ประชาชนมากยิ่งขึ้น  โดยอาจจะกระทรวงเกษตรผลิตได้ไม่พอเพียงนะครับ มันต้องไปหาพื้นที่ในการกำหนดการเพาะปลูกเพื่อทำเมล็ดพันธุ์ในพืชทุกชนิด จะได้ไม่ต้องเอาไปขายแต่เพียงแปรรูปอย่างเดียว  ถ้าคิดทำเมล็ดพันธุ์ ราคามันก็สูงขึ้น ฉะนั้นคงต้องไปเลือกพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ในการที่จะผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ และขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ อีกด้วยนะครับเพิ่มเติมมาจากของรัฐบาล จะได้ไม่ต้องใช้เงินมากในการที่จะต้องไปซื้อจากภายนอก  ทั้งนี้ก็เป็นทางเลือกของประชาชนนั่นเอง


รวมถึงในเรื่องของการช่วยเหลือเรื่องเครื่องมือ การจัดระเบียบเครื่องมืออุปกรณ์ทางการเกษตร และนำเทคโนโลยีมาใช้ให้ได้มากขึ้น   รวมทั้งให้การสนับสนุนที่ตรงตามความต้องการของประชาชน  บางคนอาจไม่ต้องการเงินทุน  แต่ต้องการความรู้ ต้องการเทคโนโลยี  ต้องการในเรื่องของการตลาด การบริหาร ในเรื่องของการผลิต การแปรรูปและการจำหน่าย เราจะได้สามารถพัฒนาการผลิตของตนในระยะยาวได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำไปสู่การทำให้ครบวงจร เพิ่มผู้ประกอบการรายใหม่ ทั้ง start up , SMEs และไปสู่การเป็นบริษัทขนาดกลาง  ขนาดใหญ่ ต่อไปในอนาคต


เราต้องเริ่มใหม่นะครับ  รวมกันให้ได้ รวมกลุ่มสหกรณ์ รัฐวิสาหกิจ บริษัทประชารัฐ ต้องเข้มแข็งนะครับ เราสู้กันไปสู้กันมาเวลานี้ไม่ได้แล้วนะครับ เราต้องเปิดช่องทางของตนเอง  เราส่งเสริมตรงนี้ เพราะนี่คือการส่งเสริมให้มีการพัฒนาเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งภายใน ที่เรียกว่าระเบิดจากข้างใน เกิดจากใจของประชาชนเอง ของเกษตรกรเองนะครับ เราเอาทุกอย่างมาปรับใช้ให้มากขึ้น เพื่อการลดต้นทุน


สำหรับพี่น้องแรงงานเองก็ต้องเรียนรู้ เข้าใจการนำเทคโนโลยีมาใช้  รวมทั้งเตรียมพร้อมในการที่จะต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงเข้าสู่งานใหม่ที่มีรายได้มากขึ้น หรือกรณีที่แหล่งจ้างงานต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนการใช้แรงงานของท่าน ก็ต้องมีการยกระดับ เพิ่มศักยภาพของตนเอง ให้เป็นผู้ใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองด้วยนะครับ


ภาครัฐให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ได้มีนโยบายสนับสนุนให้สถานศึกษาจัดหลักสูตรระยะสั้น ในการพัฒนาฝีมือและความเชี่ยวชาญ เพื่อให้แรงงานมีทักษะ– ความรู้ ที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการในยุค 4.0 ด้วยนะครับ ขอให้ลองติดตามและใช้ประโยชน์เพื่อเปิดโอกาสให้กว้าง สร้างรายได้ให้สูงขึ้น ให้กับตัวท่านเองต่อไป เพื่อจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนตลอดไปนะครับ  ประชาชน รัฐบาล และทุกคน ต้องร่วมมือกัน พี่น้องประชาชนที่เคารพ ครับ, ตัวอย่างการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ที่ต้องอาศัยการปรับตัว ปรับโครงสร้างเกษตรกรรมของประเทศ ภายใต้หลักคิด “ตลาดนำการผลิต” คือ การผลิตให้มีปริมาณสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งต้องพิจารณาให้ครบวงจร  อาทิ...


1. โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง อันนี้คือต้องแก้ปัญหาเรื่องข้าว นะครับ ราคาข้าวทุกชนิด ที่ต้องการแก้ปัญหาผลผลิตข้าวล้นตลาด ไปแข่งขันกับภายนอกซึ่งก็ล้นตลาดเหมือนกัน  5 ปีที่ผ่านมา เราผลิตข้าวได้ เฉลี่ยราว 36 ล้านตันข้าวเปลือก ในขณะที่มีความต้องการของตลาด เพียง 30 ล้านตันข้าวเปลือก (ใช้ในประเทศ 16 ล้านตัน และส่งออก 14 ล้านตัน โดยประมาณ ) เราจำเป็นต้องลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังลงนะครับ นาปีก็ว่าไป ตามที่มีน้ำ  ในเขต นอกเขตชลประทาน  แต่นาปรังเราคงต้องลดลงบ้างนะครับเพื่อทำการเกษตรอย่างอื่น  เป็นการพักที่ดินด้วยนะครับ เพื่อจะพัฒนาดินให้มันดีขึ้น  ลดการใช้ปุ๋ยให้น้อยลง  


ถ้าเราสามารถลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง จำนวน 150,000 ไร่ ใน 53 จังหวัด ช่วง พ.ย.60 – เม.ย.61 แล้วไปทำกิจกรรมทางเลือกอื่นทดแทน เป็นการทำนาเชิงระบบ ได้แก่ การปลูกข้าวสลับพืชอื่น สำหรับเป็นวัตถุดิบเพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และอาหารแปรรูป เช่น ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน และพืชผักสวนครัว    นะครับรวมทั้ง เพื่อลดการนำเข้า เช่น ถั่วเหลือง นำเข้า 2.2 ล้านตันต่อปี, ถั่วลิสง นำเข้า เกือบ 100,000 ตันต่อปี และถั่วเขียว นำเข้า 30,000 ตันต่อปี เหล่านี้เป็นต้น ก็จำเป็นนะครับ ขาดแคลนก็ต้องเอาเข้ามา แต่อย่าให้มีการลักลอบ มันก็จะมีปัญหาทั้งหมด เพราะทุกคนก็ไม่ซื้อสัตย์ซึ่งกันและกัน  รัฐบาลก็พยายามทำเต็มที่นะครับ 
 

ทั้งนี้ นอกจากการช่วยลดความเสี่ยงราคาผลผลิตข้าวปีหน้าตกต่ำแล้ว ยังช่วยให้มีรายได้เสริมจากการปลูกพืชอื่น ตัดวงจรการระบาดของศัตรูข้าว ดินก็มีการฟื้นตัวและได้รับแร่ธาตุเพิ่มเติม อีกด้วย  รัฐบาลจะเข้าไปส่งเสริมทางวิชาการ และค่าใช้จ่าย ไร่ละ 2,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ ก็ขอให้ ให้ความสนใจ เข้ามาร่วมโครงการด้วย


 2. โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ซึ่งเป็นกิจกรรมทางเลือก เพิ่มเติมจากโครงการแรก เป็นส่วนหนึ่งของแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2560/61 เพื่อลดรอบการปลูกข้าว ส่งเสริมการปรับปรุงบำรุงดิน ให้มีความสมบูรณ์ เป็นผลดีในการเพิ่มผลผลิตในฤดูกาลถัดไป มีพื้นที่ทำนาปรัง 22 จังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง ประมาณ 200,000 ไร่ ตั้งแต่ พ.ย. 60 – มิ.ย.61  รัฐบาลจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด และงบค่าไถ 2 ครั้ง คือ ไถเตรียมดินและไถกลบ 500 บาทต่อไร่ต่อครั้ง และครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่  นะครับ ทั้งนี้ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์นี้ ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการได้ทั้ง 2 โครงการแล้ว   ผมไม่เพียงแต่อยากเชิญชวนให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายเข้าร่วมในโครงการดังกล่าว โดยสมัครใจเท่านั้น  แต่ผมอยากให้พี่น้องประชาชนได้ตระหนัก ได้เข้าใจถึงแนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาล เพื่อจะมุ่งสร้างความยั่งยืนใน “วงจรผลิตและตลาดข้าว” ที่ต้องการความร่วมมือจากทุกคน


ซึ่งผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับพี่น้องเกษตรกรทุกคน  รวมทั้ง ผู้ที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาง นะครับ วันนี้ผมได้สั่งการไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  แล้ว   พื้นที่ใดก็ตามที่มีการปลูกยาง  ซึ่งเป็นการบุกรุกโดยนายทุน จะต้องตัดทิ้งนะครับ ไม่มีการกรีดอีกต่อไป


ในส่วนของพื้นที่ที่ประชาชนได้มีความเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ก็ได้มีการตรวจสอบ  และหามาตรการว่าจะทำอย่างไร ในการที่สามารถจะมีรายได้จากผลผลิตยางเหล่านั้นได้ด้วย  แต่ต้องถูกกฎหมายนะครับ ตอนนี้ก็สั่งการไปหมดแล้วนะครับ ในเรื่องของการกรีดยางในสวนป่า ของรัฐบาลก็ลดการกรีดลงไปทั้งหมดนะครับ  เพื่อจะให้ปริมาณยางที่ออกสู่ตลาด ลดลง มิฉะนั้นแล้วปัญหามันก็จะเกิดขึ้น ผมได้สั่งการให้แก้ปัญหาไปทาง กยท.  กระทรวงเกษตร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


ได้ประชุมหารือกัน และนำข้อเสนอทั้ง 6 ข้อของเกษตรกร ชาวสาวนยางมาพิจารณานะครับ อะไรทำได้ ไม่ได้ ก็ขอให้ฟังเหตุฟังผลกันด้วย ไม่ใช่จะเอาชนะคะคานกัน รัฐบาล ข้าราชการ ก็มีกฎหมาย มีพันธะสัญญา ต่างประเทศ มากมายนะครับ  ทำอะไรตามใจตัวเองมากๆ มันก็มีปัญหาทั้งหมดนั่นแหละ ซึ่งต้องดู ตั้งแต่ต้นทาง – กลางทาง – ปลายทาง ในเรื่องของการบริหารจัดการที่ดิน ทรัพยากรน้ำทั้งระบบ ต้นทุนการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย เครื่องจักรกล พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ เหล่านี้นะครับ แหล่งเงินทุน หนี้สิน ตลาดประชารัฐ ตลาดออนไลน์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนี้ทั้งสิ้น นะครับ


เราออกมาเน้น ดึงออกมา ในช่วงแรกก็จะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ผมคิดว่ามันจะเป็นความสำเร็จในระยะต่อไป ส่วนหนึ่งที่มีความก้าวหน้ามาได้ ก็มาจากการประชาสัมพันธ์ การให้ข้อมูลกันเอง ปากต่อปาก ของเกษตรกรเอง หรือผู้ประกอบการ หรือผู้ผลิต นะครับ ในส่วนของการให้ข้อมูลข่าวสารของพี่น้องสื่อมวลชน ก็เช่นกัน  ขอบคุณนะครับ ที่เราจะช่วยกันสร้างความเข้าใจ และร่วมมือให้มากยิ่งขึ้นต่อไป


อีกทั้ง ผมได้มอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ ได้เชื่อมโยง “เครือข่ายวิทยุชุมชน – หอกระจายข่าว” ที่สำคัญมาก ในการที่จะมีบทบาทในชุมชน เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะประโยชน์ ให้มากกว่าสิ่งที่เอามาพูดกันแล้วเกิดความเสียหาย  ทะเลาะขัดแย้งเช่นเดิมๆ 


ก่อนหน้าที่ผมเข้ามานั้น เราคงยอมรับไม่ได้นะครับ ก็ขอให้ไปช่วยกันทำประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "วิทยุชุมชน"  เหล่านี้นะครับ เพื่อจะให้ถึงมือพี่น้องประชาชนทุกคน ได้รับทั้งข่าวสาร ข้อมูลข้อเท็จจริง ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ  บางพื้นที่อาจจะต้องใช้ภาษาถิ่นด้วยนะครับ


สุดท้ายนี้  เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนแห่ง “การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” ซึ่งเราทุกคนรู้ดีว่า “ครอบครัว หรือบ้าน” เป็นสถาบันที่เล็กที่สุดของสังคม แต่มีความสำคัญที่สุด เอาบ้านก่อน ครอบครัว แล้วถึงไปโรงเรียน แล้วค่อยไปสังคม ประเทศชาติต่อไป สำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ก็คือครอบครัว อันเป็น “1 ใน 3 ประสาน” ของหลักการ “บวร” ตามแนวทางพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9  ทั้งนี้ นอกจาก “อวัจนภาษา” เช่น การกอด หอม แสดงความรักต่างๆ แล้ว “วัจนภาษา” หรือคำพูดดีๆ สำหรับคนในครอบครัว เช่น เหนื่อยไหม – รักนะ – มีอะไรให้ช่วยไหม – เก่ง ดีเยี่ยม – พ่อ-แม่ลูก-สามี-ภรรยา ญาติพี่น้อง ใช้ได้ทั้งหมดนะครับ ขอบคุณนะ – ขอโทษนะ เป็นต้น อย่าใช้อารมณ์ใส่กัน ล้วนช่วยสร้างกำลังใจ และเป็นพลังให้กับทุกคนในครอบครัว นะครับ รับฟังซึ่งกันและกัน อย่าใช้อารมณ์
 

ส่วนคำพูดที่ไม่ดี ที่ทำลายจิตใจ ทำลายขวัญ ทำร้ายจิตใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะผู้ใหญ่กับเด็กนะครับ บางครั้งก็ต้องฟังเด็กบ้าง ตอนนี้โลกมันเปลี่ยน แปลงไปแล้ว เราอาจจะเป็นคนที่เกิดในรุ่นก่อนหน้านี้ แต่ลูกหลานก็โตในยุคที่มีดิจิตอล มีเทคโนโลยีที่มันเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้บางครั้งเราต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน ลูกก็ต้องเข้าใจพ่อแม่นะครับ ซึ่งผมก็ไม่อยากนำมากล่าว ณ ที่นี้ (ตัวอย่างตามหน้าจอ) ก็ควรลด – ละ – เลิกเสีย นะครับ 


เพราะนอกจากจะเป็น จุดเริ่มต้นของ “การใช้อารมณ์ เหนือเหตุผล” แล้ว ยังนำไปสู่การใช้กำลังกับคนในบ้าน ลุกลามไปสู่การใช้ความรุนแรงในสังคม – ตามท้องถนน ปัญหาอีกเรื่องนึงก็คือการใช้กำลัง ในเรื่องของการคุกคามทางเพศเหล่านี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่เสมอนะครับ ถึงแม้จะเปรียบเทียบสิ่งเหล่านี้มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ แต่มันก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น มันต้องเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าทุกคนช่วยกันดูแล ถ้าทุกคนมีสติ มีจิตสำนึก และการตัดสินปัญหาด้วยการใช้ความรุนแรง ประทุษร้ายกัน เช่นบนท้องถนน ขับรถอะไรต่างๆเหล่านี้ก็มีให้เห็นอยู่เสมอ ก็อย่าให้เกิดขึ้นอีกนะครับ


สำหรับการใช้ความรุนแรง ทางกาย – วาจา – ใจ เช่น การกักขัง ข่มขืน ข่มขู่ ด่าทอ ทุบตี ทำอนาจาร ฯลฯ เหล่านี้มันเกิดขึ้นมาในสังคมทุกวัน เราเห็นอยู่แล้ว ก็ต้องไปดูในโซเซียลมีเดียนะครับ การที่นำเสนอเหตุการณ์ความรุนแรง หรือว่าเป็นเรื่องราวที่ไม่น่าจะแพร่กันต่อมา คำหยาบคาย  เว็บที่มันส่อให้เห็นในเรื่องของการหมกมุ่นทางเพศ อะไรเหล่านี้นะครับ มันต้องแก้ไขทั้งหมด แล้วใครจะแก้ล่ะครับ ผมก็ไม่สามารถจะไปตามได้ทั้งหมด เพราะมันมีจำนวนเยอะมาก เพราะทุกคนเข้าถึงการใช้เทคโนโลยี การใช้ดิจิตอลจำนวนมากนะครับ ประเทศไทยถือเป็นอันดับแรกๆในอาเซียนด้วยนะครับ สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชีวิต ของประเทศชาตินะครับ และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนต้องพิทักษ์ไว้ ต้องไม่ละเมิดผู้อื้น การที่เราจะเขียนในโซเซียลมีเดีย หรือไปให้ร้ายใครโดยที่เราไม่มีข้อเท็จจริง อันนั้นก็ละเมิดสิทธิผู้อื่นนะครับ อย่ามองว่าจ้องแต่รัฐบาลจะไปละเมิดสิทธิของท่าน ถ้าท่านไม่ละเมิดกันเอง รัฐบาลจะไปทำอะไรได้ล่ะครับ รัฐบาลจำเป็นต้องดูแลกฎหมายนะครับ ไม่มีการละเมิดกฎหมายบ้านเมืองด้วย 


ทั้งนี้ ผมหมายรวมถึงการละเมิดสิทธิสตรี ซึ่งขัดแย้งกับ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDG 2030) เรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ และการเสริมพลังสตรี  รวมทั้งหลักการ “การทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน” ขององค์การสหประชาชาติ ที่ให้ความสำคัญกับลูกจ้าง – แรงงาน เพื่อสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ และความเป็นธรรมทางสังคม ประกอบด้วย “ 3 เสาหลัก” คือ การคุ้มครอง – การเคารพ – การเยียวยา อาทิ การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์  การทำประมงที่ผิดกฎหมาย IUU ซึ่งรัฐบาลนี้ถือเป็น “วาระแห่งชาติ”


การไม่ดำเนินธุรกิจที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อมในชุมชน เป็นต้น  ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่หลายฉบับ อย่าไปมองเฉพาะเรื่องการเมืองอย่างเดียว


โดยรัฐบาลนี้ เปิดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน และไกล่เกลี่ยของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เช่น ศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ (สายด่วน 1567)  ส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่จะรับเรื่องร้องเรียน และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบได้  นอกจากนี้ ผมเห็นว่าบริษัท หรือผู้ประกอบการเอง ก็ควรจัดให้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียน ในสถานประกอบการของตน เพื่อขจัดและแก้ไขปัญหา หรือบรรเทาผลกระทบ ด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น ก่อนที่จะบานปลาย นะครับ 


อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าหากสามารถยุติการใช้ความรุนแรงได้ ตั้งแต่ที่บ้าน ก็จะเป็นการสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ให้กับสังคมของเราโดยรวม  ยิ่งกว่านั้น หากสังคมไทยสามารถรักษาสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามที่กล่าวมานั้น ควบคู่กับวางรากฐานการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลแล้ว ก็จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สอดคล้องกับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ของรัฐบาลนี้ ด้วย  นะครับ  


พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ, สัปดาห์หน้าวันที่ 27-28 พฤศจิกายน จะมีการลงพื้นที่ของจังหวัดต่างในภาคใต้ของคณะรัฐมนตรี ส่วนราชการ ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการต่างๆ ตามงบประมาณของรัฐบาล จะได้ขับเคลื่อนสิ่งที่ยังมีปัญหาติดขัดอยู่นะครับ และสอบถามความต้องการเพิ่มเติม รวมทั้งจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีในพื้นที่อีกด้วย สำหรับผลการปฏิบัติจะนำมาเล่าให้พี่น้องประชาชนได้รับฟังในวันศุกร์หน้านะครับ วันนี้ต้องขอโทษเสียงดังไปนิดหนึ่งนะครับเพราะว่าเป็นการพูดภาย


นอกอาคาร อาจจะมีเสียงรถยนต์ เสียงอะไรต่างๆ ผมก็อยากให้ทุกอย่างเป็นธรรมชาติบ้าง

 

ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน” มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้