Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 2588 จำนวนผู้เข้าชม |
พระราชบัญญัติมาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยตัวชั่วคราวโดยศาล ให้ศาลแต่งตั้งผู้กํากับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว
เมื่อวันที่ 26 ก.ันยายน 2560 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ.มาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยชั่วคราวโดยศาล พ.ศ. 2560 โดยระบุเหตุผลในการประกาศใช้คือ เนื่องจากมีผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยศาลหลบหนีไปทําให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลต้องล่าช้า ส่งผลกระทบต่อนโยบายในการป้องปรามอาชญากรรม
สาเหตุสําคัญประการหนึ่งคือการไม่มีเจ้าพนักงานกํากับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ศาลกําหนดเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อเกิดการหลบหนีก็ไม่มีเจ้าพนักงานที่มีอํานาจหน้าที่โดยตรงในการติดตามจับกุมผู้ต้องหาหรือจําเลยเหล่านั้นกลับมาดําเนินคดี ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีดําเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมควรกําหนดมาตรการกํากับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวและการติดตามจับกุมผู้ต้องหาหรือจําเลยที่หลบหนี รวมทั้งการนําเงินค่าปรับตามคําพิพากษาในคดีอาญามาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในมาตรการดังกล่าว จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สำหรับรายละเอียด พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยมาตรการกํากับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยชั่วคราวโดยศาลจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติมาตรการกํากับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยชั่วคราวโดยศาล พ.ศ. 2560”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
“เงินสินบน” หมายความว่า เงินที่จ่ายให้แก่ผู้แจ้งความนําจับตามพระราชบัญญัตินี้
“เงินรางวัล” หมายความว่า เงินที่จ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้จับตามพระราชบัญญัตินี้
“ผู้กํากับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้สอดส่องดูแล รับรายงานตัว หรือให้คําปรึกษาผู้ถูกปล่อยชั่วคราวเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว
“ผู้แจ้งความนําจับ” หมายความว่า บุคคลเดียวหรือหลายคนซึ่งชี้ช่องหรือแจ้งเบาะแสแก่ทางราชการ จนทางราชการสามารถจับกุมผู้ต้องหาหรือจําเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยศาลซึ่งหลบหนีได้แต่ต้องมิใช่เจ้าหน้าที่ผู้จับ ผู้ประกัน บุคคลซึ่งเป็นหลักประกัน หรือบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของหลักประกันในการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจําเลยนั้น
“เจ้าหน้าที่ผู้จับ” หมายความว่า พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งจับกุมผู้ต้องหาหรือจําเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยศาลซึ่งหลบหนี และให้หมายความรวมถึงราษฎรผู้จับตามที่เจ้าพนักงานผู้จดการตามหมายจับขอความช่วยเหลือด้วย
“ก.บ.ศ.” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม
มาตรา 4 ในกรณีที่ศาลมีคําสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยกําหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นตามมาตรา 108 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ศาลอาจมีคําสั่งแต่งตั้งบุคคลใดเป็นผู้กํากับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวเพื่อให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวก็ได้
บุคคลตามวรรคหนึ่งต้องมิใช่เจ้าพนักงานซึ่งมีอํานาจหน้าที่โดยตรงในการดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว ตามที่ ก.บ.ศ. กําหนด ผู้ประกัน บุคคลซึ่งเป็นหลักประกัน หรือบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของหลักประกันในการขอปล่อยชั่วคราว
คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้ง และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้กํากับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.บ.ศ. กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 5 ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้กํากับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวตามมาตรา 4 มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนและค่าใช้จ่าย เว้นแต่ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวได้หลบหนีหรือไปก่อภัยอันตรายหรือความเสียหายขึ้นโดยผู้กํากับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมิได้ปฏิบัติหน้าที่ตามสมควรแก่กรณี
ในกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลว่า ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวซึ่งอยู่ภายใต้การกํากับดูแลเป็นผู้ยากไร้และไม่มีค่าพาหนะสําหรับการเดินทางไปศาลหรือเพื่อปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกําหนด ให้ศาลมีอํานาจสั่งจ่ายค่าพาหนะแก่ผู้นั้นได้ตามความจําเป็น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กําหนดในระเบียบ ก.บ.ศ. โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง และประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 6 การขอรับค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ให้ผู้กํากับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวยื่นคําร้องต่อศาลชั้นต้นที่ได้ออกหมายปล่อยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เสร็จสิ้นการปฏิบัติหน้าที่หรือวันที่ได้รับแจ้งจากศาล และให้ศาลมีอํานาจสั่งจ่ายค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวตามที่เห็นสมควร โดยคํานึงถึงลักษณะของภารกิจและระยะเวลาที่ต้องดําเนินการประกอบด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กําหนดในระเบียบ ก.บ.ศ. โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง และประกาศในราชกิจจานุเบกษา
คําสั่งของศาลตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด
มาตรา 7 เมื่อมีการจับกุมผู้ต้องหาหรือจําเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยศาลซึ่งหลบหนีและได้ส่งตัวต่อศาลแล้ว ให้ผู้แจ้งความนําจับมีสิทธิได้รับเงินสินบน และเจ้าหน้าที่ผู้จับมีสิทธิได้รับเงินรางวัล
มาตรา 8 การขอรับเงินสินบนหรือเงินรางวัลตามมาตรา 7 ให้ผู้แจ้งความนําจับหรือเจ้าหน้าที่ผู้จับยื่นคําร้องต่อศาลชั้นต้นที่ได้ออกหมายปล่อยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ส่งตัวผู้ต้องหาหรือจําเลยต่อศาล โดยผู้ร้องต้องแสดงพยานหลักฐานที่น่าเชื่อว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว และหากศาลพิจารณาเห็นว่าคําร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีอํานาจสั่งจ่ายเงินสินบนแก่ผู้แจ้งความนําจับหรือเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ผู้จับตามที่เห็นสมควร โดยคํานึงถึงความยากง่ายในการติดตามจับกุมผู้ต้องหาหรือจําเลยนั้นเป็นสําคัญ
ถ้ามีผู้แจ้งความนําจับหรือเจ้าหน้าที่ผู้จับหลายราย ให้ศาลสั่งแบ่งจ่ายเงินสินบนหรือเงินรางวัลแก่ผู้มีสิทธิได้รับเท่ากันทุกราย
ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินในลักษณะอย่างเดียวกันตามกฎหมายอื่นแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินสินบนหรือเงินรางวัลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
หลักเกณฑ์และอัตราในการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.บ.ศ. กําหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง และประกาศในราชกิจจานุเบกษา
คําสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด
มาตรา 9 การเบิกจ่ายค่าตอบแทน ค่าใช้จ่าย ค่าพาหนะ เงินสินบน และเงินรางวัลแก่ผู้มีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เบิกจ่ายจากเงินค่าปรับตามคําพิพากษาในคดีอาญา ก่อนนําส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
วิธีการเบิกจ่ายและรับเงินตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.บ.ศ. กําหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง และประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 10 ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มีผู้ต้องหาหรือจําเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว โดยศาลหลบหนีไปทําให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลต้องล่าช้า ส่งผลกระทบต่อนโยบายในการป้องปราม อาชญากรรม สาเหตุสําคัญประการหนึ่งคือการไม่มีเจ้าพนักงานกํากับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวให้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ศาลกําหนดเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ เมื่อเกิดการหลบหนีก็ไม่มีเจ้าพนักงานที่มีอํานาจหน้าที่โดยตรงในการติดตามจับกุมผู้ต้องหาหรือจําเลย เหล่านั้นกลับมาดําเนินคดี ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีดําเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมควรกําหนดมาตรการกํากับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวและการติดตามจับกุมผู้ต้องหาหรือจําเลยที่หลบหนี รวมทั้งการนําเงินค่าปรับ ตามคําพิพากษาในคดีอาญามาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในมาตรการดังกล่าว จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ต้นฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดาวน์โหลด
18 ส.ค. 2567