รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม 2560

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  2450 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม 2560 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

       ตลอดระยะเวลายาวนานหลายสิบปี หรือชั่วชีวิตของคนไทยกว่าครึ่งค่อนประเทศ เรามีช่วงเวลาในความทรงจำร่วมกันของบุคคลที่ยิ่งใหญ่อันเป็นหลักชัยของชาติที่คนไทยต่างเคารพรัก และเทิดทูนยิ่งดุจดั่งพ่อและแม่ของแผ่นดิน นับจากวันนั้นถึงวันนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร มีพระราชกรณียกิจนานัปการเคียงข้างในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อทรงช่วยแบ่งเบาพระราชภาระ อีกทั้งทรงมีพระราชดำริริเริ่มโครงการต่างๆ ที่ล้วนก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพื่อให้ประชาชนพ้นจากความยากจน พึ่งพาตนเองได้ และร่วมกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนอนุรักษ์มรดก ศิลปวัฒนธรรมของชาติ อาทิ ทรงเป็นผู้นำริเริ่มสนับสนุนฟื้นฟู และสืบทอดงานศิลปะแขนงต่างๆ ของไทยมิให้เสื่อมสูญ เป็นมรดกวัฒนธรรมคู่แผ่นดินไทยสืบมาตราบทุกวันนี้ ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า
       
       หากย้อนนึกไปถึงอายุของชาติไทย ซึ่งเป็นชาติที่เก่าแก่สืบเผ่าพันธุ์มาช้านานนับพันปีด้วยแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าบรรพบุรุษของเราได้สร้างสมสิ่งที่ดี ที่งาม ที่เป็นประโยชน์ไว้ให้แก่เราลูกหลาน และแม้แก่โลก ทั้งนี้ก็คือวัฒนธรรมของเรานั่นเอง ทุกคนจึงควรภูมิใจในเผ่าพันธุ์ไทย และวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของเรา และสำนึกว่าเป็นหน้าที่โดยตรงที่จะรักษาให้ดำรงอยู่ได้ตลอดไป ในการนี้ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 85 พรรษา 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2560 นี้ ผมขอเชิญชวนชาวไทยทุกหมู่เหล่าทั่วราชอาณาจักรไทย ร่วมในกิจกรรม ณ พระลานพระราชวังดุสิต เพื่อเฉลิมพระเกียรติถวายพระพรชัยมงคล และถวายพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ตามรายละเอียดหน้าจอดังกล่าวนี้

       1.พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์และสามเณร รวม 851 รูป ในเวลา 07.00 น. ซึ่งสิ่งของและอาหารแห้งในการตักบาตร จะรวบรวมส่งไปยังศูนย์เราทำดีด้วยหัวใจส่วนหน้าภาคอีสาน ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำหรับช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยโดยด่วนต่อไป
       
       และ 2.พิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล ซึ่งจะมีการแสดงดนตรีพระราชทาน และการแสดงแบบชุดไทยพระราชนิยมพระราชทาน ในเวลา 19.29 น.
       
       สำหรับจังหวัดต่างๆ และในต่างประเทศ ขอให้พิจารณาจัดกิจกรรมตามแนวทางที่เคยปฏิบัติ หรือความเหมาะสม รวมทั้งขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ห้างร้าน และประชาชน ร่วมกันประดับธงพระนามาภิไธย สก และพระฉายาลักษณ์ ระหว่างวันที่ 7-14 สิงหาคมนี้ โดยพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ และเนื่องในวันแม่แห่งชาติปีนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พระราชทานคำขวัญวันแม่ ประจำปี 2560 ความว่า
       
       “สอนให้ลูก เรียนรู้ สู้ปัญหา
       พัฒนา ด้วยตน จนเติบใหญ่
       เพราะคนแกร่ง จะก้าว ได้ยาวไกล
       เพื่อมาเป็น กำลังไทย ให้แข็งแรง”
       
       ผมขอให้ปวงชนชาวไทยได้น้อมนำใส่เกล้าใส่กระหม่อม เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของตน และครอบครัวต่อไปด้วย จะได้เป็นส่วนหนึ่งของพลังประชารัฐ และพลังของแผ่นดินไทย ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และขอให้พระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน เป็นมิ่งขวัญของอาณาประชาราษฎร์ตราบกาลนาน
       
       พี่น้องประชาชนที่เคารพรักครับ จากการที่ประเทศไทยต้องประสบปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน หรือในฤดูฝนที่มีน้ำหลากก็เกิดปัญหาอุทกภัยขึ้นในหลายๆ พื้นที่ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำหลักของประเทศ บางครั้งทั้งปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมเกิดขึ้นในพื้นที่เดียวกัน เพียงแต่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง ประกอบกับในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาและขยายตัวของประชากรและชุมชนเพิ่มมากขึ้น ความต้องการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งต้องใช้น้ำในขั้นตอนการผลิต และน้ำบาดาลซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สามารถเข้าถึงง่าย มีการพัฒนาและส่งขึ้นมาใช้ประโยชน์ จนบางครั้งทำให้บางพื้นที่เกิดวิกฤต เสียสมดุล เพราะมีการลดระดับของน้ำบาดาลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องขุดเจาะบ่อลึกลงไปกว่าเดิม เพื่อที่จะสูบน้ำบาดาลขึ้นมา เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย และส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นตามไปด้วย รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำแผนที่เติมน้ำบาดาลทั่วประเทศ เป็นโครงการเติมน้ำลงสู่แหล่งน้ำใต้ดินระดับตื้นใน 3 รูปแบบ ซึ่งเป็นแนวคิดและวิถีทางของปราชญ์ชาวบ้าน โดยให้ทำการศึกษาตามหลักวิชาการ และขยายผลให้เป็นรูปธรรม เป็นสัมฤทธิ์ผลทั่วประเทศ ภายในฤดูฝนของปีนี้ ซึ่งระบบเติมน้ำดังกล่าว ได้แก่
       
       1.การเติมน้ำฝนผ่านบ่อวง
       2.การเติมน้ำผ่านสระ หรือคลองก้นรั่ว และ
       3.การเติมน้ำฝนผ่านหลังคาลงสู่บ่อน้ำบาดาลระดับตื้น
       
       ยกตัวอย่าง นายทองปาน เผ่าโสภา ปราชญ์ชาวบ้านบ้านหนองปลวกตำบลหนองกุล อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก มีระบบเติมน้ำผ่านบ่อวง เรียกกันเองว่า แก้มลิงที่มองไม่เห็น ที่สอดคล้องกับศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นต้น ซึ่งน่าจะสามารถขยายผลได้ โดยภาครัฐเข้าไปสนับสนุนด้านวิชาการ และเทคนิคต่างๆ เพิ่มเติม ส่วนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการทั้งระบบนั้น เราจำเป็นต้องรู้ข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับหน่วยงาน กิจกรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
       
       1.กลไกการขับเคลื่อนทั้งในระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้แก่ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอยู่ภายใต้ 10 กระทรวง รวมกว่า 30 หน่วยงาน ซึ่งดำเนินภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มีความสำคัญ และต้องสอดคล้องเชื่อมโยงกันดังนี้ พื้นที่ต้นน้ำ ได้แก่ การหน่วงน้ำฟื้นฟู บำรุงรักษา อนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งเก็บกักน้ำฝน และรักษาความชื้นตามธรรมชาติ ร่วมกับการพัฒนาเขื่อน อ่างกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ฝายน้ำ รวมทั้งการดำเนินการกับผู้บุกรุก
       
       พื้นที่กลางน้ำมีการฟื้นฟูระบบนิเวศแม่น้ำลำคลอง การจัดการกับผู้บุกรุกลำน้ำ การจัดการและปรับปรุงพื้นที่การเกษตรทั้งในและนอกเขตชลประทาน จัดทำระบบส่งน้ำกระจายน้ำให้สมบูรณ์ในพื้นที่ที่สามารถทำได้รวมทั้งพื้นที่แก้มลิงอีกด้วย
       
       และสำหรับพื้นที่ปลายน้ำ ประกอบด้วย การป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ การขุดลอกปากแม่น้ำ การเร่งผลักดันมวลน้ำให้ระบายลงสู่ทะเล และการดูแลคุณภาพน้ำในลำน้ำ รวมทั้งการจัดการกับผู้บุกรุกลำน้ำ เป็นต้น
       
       2.จากกิจกรรมที่กล่าวมาแล้วนั้น ทำให้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวนมากมาย อาทิ เรื่องการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เรื่องการชลประทานราษฎร์ การชลประทานหลวง เรื่องผังเมืองรวม เรื่องการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณ ประโยชน์ เรื่องคันและคูน้ำ เรื่องการเดินเรือในน่านน้ำไทย เรื่องป่าไม้ เรื่องการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่องพลังงานและการประปา ราว 10 ฉบับ เรื่องสิ่งแวดล้อม น้ำบาดาล แผ่นดิน และอสังหาริมทรัพย์อีก 4 ฉบับ และเรื่องการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอีก 2 ฉบับ เป็นต้น
       
       ทั้งนี้ ด้วยความสลับซับซ้อนในอำนาจหน้าที่และบทบาท ที่ผมได้ยกขึ้นมานั้น ส่งผลให้การดำเนินงานทั้งในภาวะปกติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะฉุกเฉินมักประสบปัญหาด้านความไม่มีเอกภาพ และขาดการบูรณาการ โดยไม่มีผู้รับผิดชอบหลัก และการบังคับบัญชาให้เกิดการดำเนินการที่ชัดเจน รวมทั้งการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง ทำให้การดำเนินงานมีความล่าช้าซ้ำซ้อน ไม่สามารถผลักดันการดำเนินงานด้านการพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศให้ก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็วเท่าที่ควร
       
       ที่ผ่านมา รัฐบาลนี้ได้ริเริ่มจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระยะยาวขึ้น ประกอบด้วย กลุ่มกิจกรรมหลักๆ อาทิ การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคการผลิต การขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย การป้องกันและแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ การฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำและป้องกันการพังทลายของดิน รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการซึ่งผลการดำเนินการห้วง 3 ปีที่ผ่านมา สามารถเพิ่มความจุน้ำได้ร้อยละ 21 ของเป้าหมาย คิดเป็น 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร จากที่มีอยู่เดิม 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ร้อยละ 18 ของเป้าหมาย คิดเป็น 2.4 ล้านไร่ จากเดิม 29 ล้านไร่ ส่งผลให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ จากการดำเนินการเพิ่มเติมนี้ ราว 7.2 แสนครัวเรือนทั่วประเทศ แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง เราจะต้องพยายามกันต่อไป
       
       อย่างไรก็ตาม แม้การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์น้ำดังกล่าวจะประสบความสำเร็จอย่างมาก หากเราสามารถแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ที่คอยฉุดรั้งการทำงานอยู่ ทำให้มีแนวโน้มว่า หลายกิจกรรมในอนาคตจะมีปัญหารอการแก้ไขในกระบวนการทำงานอีก อาทิ
       
       1. การขอให้หรือจัดหาพื้นที่เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งจากที่ดินของรัฐ ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมาย หรือที่ดินของเอกชน ซึ่งต้องมีการเวนคืน จ่ายค่าชดเชยเยียวยา
       
       2. การทับซ้อนของนโยบายในการพัฒนาแหล่งน้ำและพื้นที่อนุรักษ์
       
       3. การไม่มีหน่วยงานกลางในการกำหนดนโยบาย ติดตาม และบริหารจัดการน้ำ
       
       4. ปัญหามวลชน ประชาชน เอ็นจีโอที่ไม่เข้าใจ เหล่านี้เป็นต้น
       
       ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำ ซึ่งรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนมีความสำคัญ และต้องดำเนินการกันอย่างบูรณาการ จึงมีแนวทางที่จะตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ให้เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะยุบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำเท่าที่จำเป็นเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อจะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และทำให้การแก้ไขปัญหาน้ำเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงาน และงบประมาณ ซึ่งเป็นหนึ่งในงานปฏิรูป และบูรณาการการทำงานของส่วนราชการ เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. น้ำ ที่ดำเนินการอยู่ใน สนช. ด้วย
       
       นอกจากนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ผมก็ได้มอบนโยบาย และให้แนวทางแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้คิดถึงเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยให้ตั้งเป้าหมายเพื่อบริหารจัดการปัญหาน้ำทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ 1. น้ำอุปโภคบริโภค 2.น้ำเพื่อภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม 3.น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ รวมทั้งเพิ่มเติม แยกออกมาให้ความสำคัญคือ 4. ปัญหาน้ำท่วม 5. ปัญหาน้ำแล้ง
       
       ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้ ผมเน้นให้คิดในเชิงพื้นที่ ให้ครอบคลุมทุกภาคของประเทศทั้ง ภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ ตะวันออก และกรุงเทพมหานคร พื้นที่ในเขต นอกเขตชลประทาน พื้นที่เมือง พื้นที่เชิงเศรษฐกิจ เนื่องจากแต่ละพื้นมีปัญหาเรื่องน้ำที่แตกต่างกัน ในแต่ละห้วงเวลา ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำจึงต้องทำเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาตอบโจทย์เรื่องน้ำของแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาย้อนกลับมาเหมือนเดิมทุกปีๆ ไป
       
       ผมได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ต้องใช้ข้อมูลเรื่องปริมาณน้ำ การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน น้ำในเขื่อน ประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำ และเขื่อน ประกอบ การกำหนดแผนเผชิญเหตุ ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอย่างทันท่วงที อาจจะต้องทำสมมุติฐานไว้ว่า ปกติเป็นอย่างไร ถ้าฝนมากเกินปกติจะเป็นอย่างไร ถ้าเป็นพายุเข้ามาจะเป็นอย่างไร ต้องเตรียมระดับต่างๆ เหล่านี้ไว้ว่าเราจะเตรียมอะไรไว้บ้างล่วงหน้า
       
       จากที่ประชุมก็ได้รายงานว่า ในห้วงเดือนสิงหาคม ถึง เดือนกันยายนนี้ ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากพายุที่พาดผ่านทะเลจีนใต้ จะทำให้เกิดฝนตกชุก มีความเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่
       
       ทั้งนี้ ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ผมได้ให้แนวคิดและมอบหมายหน่วยงานให้ไปคิดแผนดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในเรื่องการกักเก็บน้ำไว้ใต้ดิน เพิ่มพื้นที่เก็บน้ำ แก้ปัญหาประตูน้ำ ขุดลอกคลอง ขุดคลองผันน้ำ คลองไส้ไก่ คลองตัดตรง และการจัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำ เช่นสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่บุกรุก การปลูกป่าในพื้นที่เพื่อชะลอน้ำ ให้กักเก็บน้ำในพื้นที่ตอนเหนือไว้ เพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจ บ้านเรือน พื้นที่เกษตรกรรม
       
       โดยให้หน่วยงานนำเสนอแผนมาว่า งบประมาณปี 61 - 62 จะใช้ทำอะไรบ้าง อะไรที่ต้องทำเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมก่อน อาจจะไม่ได้ทั้งหมด แต่ต้องทำเป็นพื้นที่ ต้องลดปัญหาให้ได้ อย่างน้อย 30-50% ให้ได้โดยเร็ว เอามาทำก่อน แผนอะไรที่ต้องทำเป็นระยะยาว ก็ให้เสนอมาเป็นแผนระยะต่อไป ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ถึง 2569 ตามแผนใหญ่ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา สำหรับการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร ปัจจุบันเราแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 คือปี 57 - 60 ระยะที่ 2 ปี 61 -62 ระยะที่ 3 ปี 63- 69 ได้เพิ่มรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจรทั้งระบบนี้ ได้เพิ่มเติม ค้นหาได้จากเว็บไซต์ รัฐบาลไทย รายละเอียดตามหน้าจอ
       
       รัฐบาลทราบดีว่าวันนี้เรามีเวลาไม่มากนัก ดังนั้นการเตรียมการในเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และเร่งด่วน ที่จะต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน ภาคเอกชนประชารัฐ ร่วมกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ด้วยความเข้าอกเข้าใจกัน ปัญหาอยู่ที่เรื่องที่ดินในการใช้ประโยชน์
       
       พี่น้องประชาชนที่รักครับ การแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศและประชาชนนั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใดก็ตาม เราต้องหาต้นตอ ของปัญหาที่แท้จริงให้พบ เช่น เมื่อเห็นมดเดินเป็นสายบนพื้นบ้าน ถึงจะกวาดทิ้งแล้ว เดี๋ยวก็จะกลับมาใหม่ เพราะถ้าไม่ตามไปดูว่า ต้นตอคืออะไร และเพียงแค่หยิบออก ทำความสะอาดแล้ว มดก็จะหายไปเอง ไม่ใช่ตามแก้กันที่ปลายเหตุเช่นที่ผ่านมา
       
       สำหรับปัญหาบ้านเมืองในปัจจุบันนั้น เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงมีความเชื่อมโยงกันหลายมิติ เช่น ปัญหาน้ำท่วม นั้นเกิดจากการบุกรุกป่า การละเมิดกฎหมายผังเมือง การสร้างถนน โรงงาน สร้างเมือง ขวางเส้นทางน้ำธรรมชาติ ฟ้าฝนปรวนแปรจากภาวะโลกร้อน การทิ้งขยะ สวะ วัชพืช อุดตัน ขวางลำน้ำ คูคลอง ท่อระบายน้ำ ไปจนถึงการบริหารจัดการน้ำ ที่ไม่มีการบูรณาการอย่างแท้จริง เหล่านี้เป็นต้น
       
       ดังนั้น การแก้ไขปัญหา ก็ต้องแก้ทุกปม ที่ต้นตอปัญหาต่างๆ พร้อมๆ กัน จึงจะได้ผลสัมฤทธิ์ทั้งระบบ รวดเร็ว และยั่งยืน สิ่งสำคัญก็คือ เราจะทำอย่างไรให้ทุกคน ทุกฝ่าย เข้าใจ ยอมรับ พอใจ ร่วมมือ ในทุกกิจกรรม เป็นสิ่งที่ยากตามห้วงระยะเวลาในแต่ละพื้นที่ด้วยความสมัครใจ เต็มใจ และเห็นประโยชน์ส่วนร่วมเป็นที่ตั้ง เราอาจจะต้องเสียสละส่วนน้อย เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ และสิ่งที่เป็นอุปสรรค คือคนที่เกี่ยวโยงกับหลักคิด และหลักวิชาการ ซึ่งหลักคิดอาจมีที่มาจากวิถีชีวิต ความเชื่อ รวมทั้งหลักวิชาการที่ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา สภาพแวดล้อม และปัจจัยอื่นๆ ซึ่งหากเรายึดติด ถือมั่น ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย ก็จะไม่เกิด การพัฒนา ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เสียหายน้อยกว่า หรือไม่เสียหายเลย เหล่านี้ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า และความสมดุลทางธรรมชาติอีกด้วย
       
       ซึ่งเป็นหลักการสำคัญส่วนหนึ่งของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะต้องสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต และเราก็ต้องไม่ลืมว่า เมื่อจำนวนประชากรเพิ่ม ความต้องการที่อยู่อาศัยก็เพิ่ม ในขณะที่พื้นที่มีอยู่เท่าเดิม รวมทั้งมีความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ในขณะที่ทรัพยากรในโลกมีอยู่อย่างจำกัด ปัจจุบันก็เป็นปัญหาอยู่แล้ว ในอนาคตถ้าเราไม่ตระหนัก ไม่เตรียมพร้อม ไม่รักษาไว้ ปัญหาเหล่านี้ก็จะทวีความรุนแรงขึ้น แต่จะทำอย่างไร ให้สมดุลย์กับเรื่องของการพัฒนา
       
       การแก้ปัญหาต้องพิจารณาทั้งปัจจัยภายใน ภายนอก ข้อเท็จจริง หลักการ หลักวิชาการ แล้วนำมาหาข้อยุติ ให้ได้ว่าสาเหตุของปัญหาคือ เราจะต้องแก้ไขอย่างไร ใครเกี่ยวข้องบ้าง วิธีการที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายทำอย่างไร ซึ่งอาจต้องกระทบใครบางคน หรือบางพื้นที่ แต่ทางออกที่ดีที่สุดคืออะไร สุดท้ายก็ต้องยึดประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นสำคัญ ย่อมต้องการความเสียสละ ความร่วมมือ ซึ่งอาจจะต้องมีการชดเชยตามความเหมาะสมด้วย ใครทำแบบนี้ก็จะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งอีก เกิดความปรองดองในการแก้ปัญหาทุกปัญหา
       
       ทุกวันนี้การแก้ปัญหาของประเทศ มีทั้งง่าย และยาก มีทั้งปัญหาเดิม ปัญหาสะสม ปัญหาทับซ้อน รัฐบาล และ คสช. จึงมุ่งแก้ปัญหาเดิม ลดปัญหาใหม่ไม่ใช่แก้ตรงนี้ และไปสร้างปม สร้างเงื่อนไขใหม่ขึ้นมาใหม่ ที่สำคัญ จะไม่ยอมละเลย เพิกเฉย หรือทิ้งปัญหาให้เป็นภาระของรัฐบาลในอนาคต เพราะว่าแต่ละอย่างต้องทำต่อ แก้ตรงนี้แล้วไปสร้างปมสร้างเงื่อนไขขึ้นมาใหม่ ที่สำคัญจะไม่ยอมละเลยเพิกเฉย หรือทิ้งปัญหาให้เป็นภาระของรัฐบาลในอนาคต เพราะว่าแต่ละอย่างต้องทำต่อ ไม่ใช่ทิ้งภาระ เป็นงานที่ท่านต้องทำต่อ ด้วยวิธีการของท่าน สิ่งไหนทำได้ ผมก็จะทำให้ทันที สิ่งไหนแก้ด้วยวิธีเดิมๆ แล้วไม่ยั่งยืน แก้อะไรไม่ได้ ก็ต้องคิดใหม่่ให้รอบคอบ ทำใหม่่ให้เกิดการบูรณาการ เพื่อลดความเดือดร้อน และดูแลพี่น้องประชาชน ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย อย่างเท่าเทียม
       
       การที่มีบางกลุ่มบางฝ่ายออกมากล่าวอ้าง หลักสากลบ้าง สิทธิมนุษยชนบ้าง หรือการรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้าง ผมก็อาจกล่าวได้ว่า ก็ถูกต้อง แต่พอเอามาผสมโรงกัน มันทำให้ทำอะไรไม่ได้เลย พัฒนาก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ แต่ความเสียหายมันเกิดขึ้น ทุกครั้ง ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี
       
       เพราะฉะนั้น เราจะทำอย่างไร ที่จะให้ทุกอย่างเดินหน้าไปพร้อมๆกันได้สักที ให้มันเกิดผลกระทบระหว่างกันให้น้อยที่สุด มันต้องหาทางออกให้ได้ เพราะสุดท้าย ปลายทางของปัญหาของปัญหาเหล่านั้นที่เราทำกันไม่ได้ ก็มาตกอยู่ที่ ประชาชน ประเทศชาติ ประชาชนผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เคยชินกับการถูกปล่อยปละ ละเลย ไม่จริงใจในการช่วยเหลือ อาจจะถูกนายทุนที่ไม่ดีหลอกใช้ หรือทำให้ถูกบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม จนกลายเป็นแพะรับบาป และเป็นเหยื่อเกมการเมือง ที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ โดยถูกนำไปอ้างเพื่อความชอบธรรม เหล่านี้เป็นต้น ผมพูดถึงโดยรวม
       
       ทั้งนี้ ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นปัญหาเร่งด่วน ของบ้านเมือง คือ
       
       1. การเร่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ดูแลให้ประชาชนมีโอกาสที่เท่าเทียม ลดความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการของภาครัฐได้เต็มที่ อาทิ การเร่งบรรเทาภัยเดือดร้อนจากน้ำท่วม ฝนแล้ง การเพิ่มรายได้มวลรวมของประเทศชาติ ภาค จังหวัด โดยเฉพาะตั้งแต่ฐานราก เพื่อช่วยบรรเทาปัญหารายได้ที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จากค่าครองชีพที่สูงขึ้น การให้ประชาชนมีที่อยู่ที่อาศัยที่เพียงพอ ได้มาตรฐาน รวมถึงการเข้าถึงบริการสาธารณะ อาทิ สาธารณสุข การสื่อสาร ไม่ใช่เรื่องง่าย มันสลับซับซ้อนมากมาย หลายวิธีการ หลายขั้นตอน หลายแผนงานโครงการ มันเอาเร็วด่วนไม่ได้ ต้องค่อยทำไป ตามนโยบาย ศักยภาพที่มีอยู่
       
       เรื่องที่ 2 การพัฒนาศักยภาพคนในทักษะความรู้ ผมประกาศช่วงท้ายอีกครั้ง เราต้องเร่งในเรื่องเป็นคนดี มีคุณธรรม มีจิตสาธารณะ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ แบ่งปัน มีจิตรักษา ทำประโยชน์ให้สังคม ประเทศชาติ มีการส่งเสริมกิจกรรมกีฬาควบคู่ไปด้วย มีสุขภาพแข็งแรง เน้นป้องกัน ลดรายจ่าย และที่สำคัญต้องดูแลเตรียมการรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของประเทศอย่างเหมาะสม
       
       3. การสร้างความมั่นคงในวิธีต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ เพื่อการลงทุนในอนาคต โครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโยงทางกายภาพ คมนาคม ขนส่ง ถนน ราง น้ำ อากาศ และเทคโนโลยี เพื่อจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งแนวทางลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ให้กับประชาชน และรัฐบาลเกิดความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ทั้งการใช้ การผลิต และการพัฒนา เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน และพลังงานทดแทนในอัตราส่วนที่เหมาะสม นอกจากนี้ ต้องดูแลให้ทุกฝ่ายมีหลักคิด ศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาล ให้สังคมปราศจากความขัดแย้ง ประชาชนอยู่อย่างสันติสุข
       
       4. ด้านกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ต้องเร่งให้มีกฎหมายทันสมัย อำนวยความสะดวก ไม่เป็นอุปสรรค และลดภาระให้ภาคธุรกิจ และประชาชน เช่น เรื่องบิสสิเนส ที่ดำเนินการอยู่ เพื่อลดขั้นตอนกระบวนการให้ธุรกิจสามารถดำเนินกิจการค้าการลงทุนได้ง่าย รวดเร็ว และต้องไม่สร้างความขัดแย้ง ระดับเจ้าหน้าที่และประชาชน การบังคับใช้กฎหมายด้วย รวมทั้งต้องเร่งขจัดทุจริต ทั้งจากผู้ให้ ผู้รับ ผู้เกี่ยวข้อง ผู้เสนอ ผ่านการใช้กฎหมายและปรับวิธีการให้รัดกุมและเป็นสากล
       
       ทั้งนี้ ควรเร่งสร้างการยอมรับ ความเชื่อมั่น ความไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรม ตำรวจ อัยการ ศาล องค์กรอิสระด้วย
       
       5. เรื่องสภาพแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องการจัดสรรที่ดินเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ป่าและน้ำ รวมถึงรักษาคูคลอง น้ำทะเล ให้มีระเบียบ น่ามอง ไร้มลพิษ ซึ่งต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ สร้างความยั่งยืนเป็นมิตร และปลอดภัย รวมทั้งบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ปรากฎการณ์เรือนกระจก และเปลี่ยนแปลงอากาศของโลก ที่จะส่งผลต่อพี่น้องเกษตรกรด้วย
       
       6. การยกระดับการบริหารของภาครัฐ ต้องเร่งพัฒนาแบบบูรณาการตามนโยบายของประเทศไทย 4.0 โดยปรับระบบราชการให้ทันสมัย ไม่ล่าช้า นำเทคโนโลยีมาเสริมการทำงาน ให้มีมาตรการคุ้มครอง และรักษาความปลอดภัยที่รัดกุมด้วย นอกจากนี้ ต้องเร่งดูแลการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ และภาระที่จำเป็น ซึ่งนับวันจะสูงขึ้น
       
       7. การดูแลความเสี่ยงจากภายนอกที่เพิ่มขึ้นทุกมิติ ที่ปัจจุบันความสมดุลได้เปลี่ยนไป การขยายอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจในโลก ทำให้เห็นการก่อการร้ายเพิ่มขึ้น มีลัทธิสุดโต่ง อาชญากรรมข้ามชาติ ปัญหายาเสพติดยังไม่หมดไป นอกจากนี้ เทคโนโลยีทันสมัยทำให้โลกไร้พรมแดน ต้องเร่งดูแลภัยคุกคามไซเบอร์ การฉ้อโกงในรูปออนไลน์ ขณะที่การสาธารณสุขต้องระมัดระวังโรคระบาดอุบัติใหม่ต่อเนื่อง เหล่านี้ เป็นเพียงตัวอย่างที่หยิบยกมาเล่าให้ฟัง และหลายครั้ง คนจะได้ตระหนัก ติดตาม เรียนรู้ ด้วยความเข้าใจว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการในเรื่องใด อย่างไร และมีผลกระทบต่อท่านอย่างไร มีทั้งได้ทั้งเสีย และท้ายสุดได้ทั้งหมด มันไม่มีเรื่องง่าย และยากเกินไปที่จะร่วมมือกัน หากท่านร่วมและสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ จะสำเร็จได้ มันไม่ใช่ความสำเร็จของรัฐบาล รัฐบาลทำไม่ได้เพียงฝ่ายเดียว แต่จะเป็นความสำเร็จของคนไทยทั้งประเทศ ภูมิใจร่วมกัน
       
       พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน วันนี้ผมคิดว่าการแก้ปัญหาประเทศต้องเริ่มที่คุณภาพของคน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้เราทุกคนเป็นคนเต็มคน นอกจากพ่อแม่ ครอบครัว ก็คือการศึกษา การที่ประเทศจะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ผมถือว่าคนเป็นปัจจัยสำคัญ และการศึกษาคือสิ่งที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพของคนในประเทศ รัฐบาลและคสช.ให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาคนเป็นอย่างยิ่ง เพราะการที่มีคนมีศักยภาพ มีความรู้ จะช่วยเพิ่มความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความมั่นคงในสังคม และจะช่วยเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย ประเทศที่มีคนทีมีคุณภาพ มีการศึกษา มีทักษะที่ดี จะมีพื้นฐานทีดี ผลิตสินค้ามีคุณภาพ ต้นทุนต่ำ แข่งขันได้ เอกชนต้องการมาลงทุนเพิ่มงาน เพิ่มศักยภาพของประเทศ และรายได้ของเราจะเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เราตั้งเป้าหมาย การพัฒนาตามร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไว้ว่า การพัฒนาคนให้มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศ ให้พร้อมกาย ใจ และสติปัญญา ให้มีทักษะคิด วิเคราะห์ มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีความรับผิดชอบ มีจิตสำนึกที่ดีงาม นำไปสู่การสร้างรายได้ ความมั่นคงในชีวิต ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง ปรองดอง สามัคคี รวมถึงผนึกกำลังพัฒนาประเทศได้ต่อไป
       
       การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้น เช่นกัน ไม่ใช่เรื่องง่าย คิดและพูด ไม่ทำ มันไปไม่ได้อยู่ดี พอเริ่มทำปัญหาก็ทับถม ต้องแก้กันไป ทำกันไป อย่าใจร้อน ปัจจุบันเรามีเรื่องท้าทาย ถาโถมเข้ามา และเป็นอุปสรรคพัฒนาคนหลายด้าน ด้านแรกคือการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร คนไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ในปี 2564 หมายถึง 1 ใน 5 ของคนไทยจะเป็นผู้สูงอายุ วัยเด็กและแรงงานจะลดลง คนวัยทำงานจะลดลง มีคนสูงอายุให้ดูแลเพิ่มขึ้น คนวัยทำงานต้องทำงานหนักขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ชดเชยด้วย
       
       ด้านที่ 2 คือช่องว่างระหว่างวัยจากกลุ่มประชากรที่เกิดและเติบโตในช่วงสภาวะแวดล้อมต่างกัน แนวคิด มุมมอง รูปแบบการใช้ชีวิตการทำงานต่างกันออกไป ความขัดแย้งมีมากขึ้นหากไม่เข้าใจกัน การดูแลสังคมให้สงบสุขจะทำได้ยากขึ้น
       
       ด้านที่ 3 เป็นความท้าทายจากภายนอก ที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่ทำให้เกิดประโยชน์มหาศาลกับคนที่ใช้เทคโนโลยีเป็น เอาไปใช้งานได้ สร้างรายได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นด้วย เพราะกลุ่มที่ไม่คุ้นเคย เปลี่ยนยาก ไม่ชอบเทคโนโลยี อาจเสียโอกาส ไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนำเทคโนโลยีมาใช้แทนคนมากขึ้นในการผลิต การบริการ เช่น พนักงานคอลเซนเตอร์ ก็จะส่งผลเสียคนตกงาน รายได้ลดลง ความท้าทายทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อรายได้ความเป็นอยู่ และในที่สุดจะส่งผลถึงศักยภาพของคนที่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ขับเคลื่อนประเทศด้วย ดังนั้น เราต้องรีบหาทางรับมือกับความท้าทาย หาทางแก้ไขปัญหา และปรับตัวเรียนรู้ที่จะต้องทำไปพร้อมกัน ทั้งการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ การเปลี่ยนค่านิยม และวัฒนธรรม เพื่อให้เป็นคนที่มีทั้งทักษะความรู้ หรือ skillset ควบคู่ไปกับความคิดและจิตใจ หรือ mindset ซึ่งผมเห็นว่าการที่จะให้เราสามารถทำการเปลี่ยนโฉมเพื่อรับความท้าทายให้ได้นี้ ระบบการศึกษาจะมีส่วนสำคัญ ที่ผ่านมา รัฐบาลนี้ก็เล็งเห็นถึงปัญหาและความท้าทายนี้ และพยายามที่จะวางแผน แนวทางปฏิรูปการศึกษาที่ชัดเจน เป็นรากฐานการเดินหน้าต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม
       
       การปฏิรูปการศึกษาที่กำลังดำเนินอยู่นี้ นับเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปีก็ว่าได้ ที่ผ่านมา ได้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษาตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เพื่อวางรากฐานในการปรับปรุงการเรียนการสอน รวมถึงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การปฏิรูปมีความสอดคล้องกันในแต่ละพื้นที่ สามารถเดินหน้าสร้างคนที่มีศักยภาพของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการปฏิรูปนี้จะเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และเป็นการวางแนวทางให้ครบวงจร เพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน และสามารถเพิ่มศักยภาพของคนให้มีทักษะความรู้คู่จิตใจ
       
       แนวทางการปฏิรูปการศึกษานี้ เริ่มจากการปฏิรูประบบครู โดยมีการปรับปรุงทั้งการคัดเลือก ปรับระบบสอบคัดครู โดยใช้ข้อสอบกลางเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ รวมถึงการดำเนินโครงการครูคืนถิ่น เพื่อให้ครูสามารถกลับไปพัฒนาถิ่นฐานบ้านเรือนของตน และมีการประกาศรับสมัครครูผู้ช่วยจากผู้ที่ไม่ได้จบครุศาสตร์ ในสาขาวิชาที่ขาดแคลน ในการพัฒนาครูเพื่อให้ได้ครูที่เก่งและดีเข้ามาช่วยสร้างภาวะแวดล้อมในการเรียนรู้ให้ดีขึ้น
       
       นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งสถาบันคุรุพัฒนา ในการดูแลคุณภาพการผลิตครูให้กับทั้งระบบ โดยมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์วิทยฐานะครู เพื่อจูงใจให้ครูได้มีการพัฒนาตนเอง
       
       ด้านการจัดการศึกษา ก็มีแผนการดำเนินการอย่างครบวงจร เริ่มตั้งแต่ระดับปฐมวัย โดยมีการจัดการศึกษาภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ที่กำหนดโดยคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ รวมถึงมีการจัดทำนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2560-2564
       
       สำหรับในด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีการปรับหลักสูตร โครงสร้างชั่วโมงเรียนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของแต่ละโรงเรียน รวมทั้งปรับเปลี่ยนระบบการจัดการเรียนการสอน เพิ่มห้องแล็บวิทยาศาสตร์ เน้นสเต็มศึกษา เพื่อให้นักเรียนสามารถผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ สามารถบูรณาการความรู้ไปใช้ในการพัฒนากระบวนการ หรือสร้างผลผลิตใหม่ได้ นอกจากนี้ ยังให้มีการปรับปรุงมาตรฐานตำราให้ทันสมัย และได้มาตรฐาน มีระบบการใช้หนังสือยืมเรียน ผลักดันโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ รวมทั้งจัดให้มีโครงการโรงเรียนไอซียู ที่เริ่มดำเนินการต้นปี 2560 ขณะนี้มีโรงเรียนในโครงการทั้งสิ้น 5,032 แห่ง ซึ่งเกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 4,000 โรงต่อปี โดยได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากภาคเอกชนหลายแห่ง เข้ามาเสริมเติมเต็ม ซึ่งเป็นที่น่าชื่นชมว่าผลการดำเนินงานทุกโรงเรียนในโครงการนี้ ได้รับการแก้ปัญหาจนพ้นจากสภาวะไอซียู ทั้งหมดแล้ว
       
       ด้านอาชีวศึกษา ได้เน้นการมุ่งผลิตคนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการแรงงานประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0 ในโครงการ Education to Employment หรือ E-to-E ที่เป็นโครงการค่ายอาชีวะฤดูร้อน ที่เปลี่ยนโรงงานเป็นโรงเรียน โดยเป็นการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น เพื่อให้นำไปใช้ทำงานได้จริง ทำงานจริง ซึ่งจะเป็นหลักสูตรเฉพาะเจาะจงที่ผู้จ้างงานมีความต้องการ และยังมีความขาดแคลนในตลาดแรงงาน หรือไม่ได้มีการสอนในโรงเรียนอาชีวะ เช่น ช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ ช่างตรวจรอยร้าวอาคาร การทำบัญชีสำหรับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งก็จะรวมถึงเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงด้วย
       
       โครงการนี้ เริ่มต้นจากปัญหาในเรื่องเด็กที่เรียนจบแล้ว ไม่มีงานทำ หรือต้องการเรียนที่วิทยาลัยข้างนอก ไม่มีสอน หรือทำไม่ได้ เพราะเครื่องไม้เครื่องมือมีราคาสูง กระทรวงศึกษาธิการ จึงให้บริษัทเอกชนเป็นผู้นำโครงการ โดยภาคฤดูร้อนที่ผ่านมา มีกว่า 1,500 บริษัท มาร่วมกันจัดคอร์ส เพื่อเป็นการต่อยอดให้นักเรียนได้เรียนในสาขาอาชีพเฉพาะที่ตลาดแรงงานมีความต้องการ เด็กที่จบใหม่ก็มาเรียนเสริมได้ เพื่อให้พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานจริง
       
       ปัจจุบันมีสถานศึกษาเข้าร่วม 68 แห่ง มีบริษัทเข้าร่วม 14 บริษัท ได้ผลผลิตเป็นนักเรียนอาชีวะที่ผ่านโครงการราวปีละ 8,000 คน ซึ่งเมื่อเอกชนสนับสนุนและเห็นประโยชน์เช่นนี้แล้ว นโยบายนี้ก็จะเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องห่วงว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลไปอย่างไร
       
       ด้านอุดมศึกษา ก็จะมีการปรับระบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย มีส่งเสริมการศึกษาระดับอุดมศึกษาในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเตรียมพร้อมในด้านคนให้กับพื้นที่ที่จะต้องการแรงงาน ที่มีทักษะในระยะต่อไป รวมถึง การปรับปรุงธรรมาภิบาลด้วย
       
       นอกจากนี้ ในเรื่องของภาษาต่างประเทศ ก็ได้ให้ความสำคัญในการเสริมทักษะการสื่อสารของนักเรียนนักศึกษาให้ดีขึ้นภายใต้โลกที่เชื่อมต่อกันแบบไร้พรมแดนแล้วในปัจจุบัน ได้มีการอบรมพัฒนาครูภาษาอังกฤษในรูปแบบบูตแคมป์ และมีการจัดตั้งศูนย์อบรมระดับภูมิภาค เพื่อให้ครูสามารถนำเทคนิคใหม่ๆ และมีความมั่นใจในการสอน มีการเพิ่มชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษจาก 1 เป็น 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในระดับประถม 1-3 รวมทั้งก่อตั้งสถาบันเพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษ สำหรับอาชีวศึกษาทั้งระบบ และมีการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนพร้อมกันไปด้วย
       
       นอกจากนี้ ยังมีโครงการอื่น ๆ อีกมากมาย ภายใต้การปฏิรูปการศึกษา เช่น การปรับเปลี่ยนแนวทางการให้ทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กยากจน การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก การศึกษาทางไกลร่วมกับมูลนิธิทางไกลผ่านดาวเทียม
       
       ซึ่งโครงการต่างๆ เหล่านี้รองรับความท้าทาย ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพของคน เพื่ออนาคตของประเทศ การปฏิรูปการศึกษาก็เปรียบเสมือนเหมือนกับการปฏิรูปด้านอื่น ๆ ที่ต้องทยอยออกดอกออกผล และจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว แต่ระหว่างทาง ผมเชื่อว่าเราจะต้องเห็นการวางรากฐานเพื่อรองรับการปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งภาครัฐด้านเดียวคงดำเนินการได้ยากที่จะสำเร็จ เราต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย ทั้งนักเรียน ครูอาจารย์ และผู้ปกครอง
       
       อย่างไรก็ตาม ถ้าเด็กไม่สนใจ ไม่สนใจการเรียนรู้ ไม่รับฟัง ไม่ฟังครู ไม่อ่านหนังสือ ไม่ว่าจะปรับอะไรมาก็ไม่สำเร็จทั้งสิ้น และครูก็ต้องถ่ายทอดด้วยความตั้งใจ ด้วยความเสียสละ มีการพัฒนาตัวเอง นึกถึงลูกศิษย์ เหล่านี้มันเป็นสิ่งที่ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นครู ลูกศิษย์ บุคลากรทางการศึกษา มันต้องคิดร่วมมือไปด้วยกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา วันหน้าจะลำบากนะครับ เอาแต่เล่น เอาแต่สนุกกัน เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันคนละไม้ละมือ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้การปฏิรูปนี้เห็นผลเร็วและยั่งยืนด้วย
       
       เคยมีบทวิเคราะห์พูดไว้ว่าโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของคนเราไม่เท่ากัน เพราะความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ถ้าเราจะมองจากอีกมุมหนึ่ง ก็พูดได้เช่นกันว่า การศึกษาก็จะเป็นโอกาสให้เราได้พัฒนาตนเอง ให้ยกระดับตนเอง เพื่อปิดช่องว่าง หรือลดช่องว่างการเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ได้เหมือนกัน ดังนั้น ที่พูดกันว่าความเหลื่อมล้ำลดโอกาสทางการศึกษา กับการศึกษาลดความเหลื่อมล้ำ ก็เหมือนความสัมพันธ์แบบไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน ทำนองนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเอาอะไรเป็นตัวตั้ง แต่ผมก็เชื่อว่าการปฏิรูปการศึกษาที่กำลังดำเนินอยู่ จะเปิดโอกาสกว้างขึ้น ให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่ได้มาตรฐาน แต่ละคนก็ต้องพยายามที่จะใช้โอกาสนี้ มาเพิ่มทักษะ ความรู้ และพัฒนาจิตใจควบคู่กันไปด้วย เพื่อรองรับความท้าทาย ที่ผมกล่าวถึงไปก่อนหน้านี้
       
       ทักษะความรู้จะทำให้เราเก่งขึ้น ทำอะไรได้มากขึ้น ทำให้รับภาระที่จะมากขึ้นในสังคมผู้สูงอายุได้ สามารถปรับตัว เรียนรู้ เพื่อเท่าทันกับเทคโนโลยี ปรับตัวไปสู่งานที่เทคโนโลยีมาแทนได้ยาก ส่วนการปรับความคิดและจิตใจ ความอดทน จะช่วยให้เราเรียนรู้ที่จะเข้าใจผู้อื่น และปรับตัวให้อยู่ในสังคมที่มีความแตกต่างกันมากขึ้นได้อย่างผาสุก สร้างคนให้เป็นคนที่เต็มคน และเป็นคนที่เป็นอนาคตของประเทศต่อไป
       
       พี่น้องประชาชนครับ สำหรับช่วงเทศกาลวันแม่ปีนี้ ผมเห็นมีการสำรวจกิจกรรมที่เป็นการแสดงออกถึงความรักแม่ของเยาวชนไทย ซึ่งหลายคนคิดว่าจะกระทำ อาทิ การสวมกอดแม่และบอกรักแม่ การมอบดอกไม้และกราบที่เท้าแม่ การให้สัญญาว่าจะเลิกทำในสิ่งที่แม่ไม่ชอบ การพาแม่ไปทำบุญ ทานข้าว ไปเที่ยวต่างจังหวัด เป็นต้น เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยินดี ผมขอสนับสนุนให้ลูกๆ หลานๆ ได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้กับคุณแม่นะครับ
       
       สำหรับใครที่มองหาของขวัญวันแม่สักชิ้น ผมขอแนะนำให้ลองมาเลือกซื้อเลือกหา ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาลได้ ช่วงวันที่ 10 - 15 สิงหาคมนี้ จัดงานในธีม Gift for Mom ของขวัญวันแม่ มีสินค้าพื้นบ้าน ทำมือ แบบไทยๆ สำหรับแม่ อาทิ ผ้าไหม เครื่องประดับ สินค้าหัตถกรรม และสมุนไพร เป็นต้น ทั้งนี้ ตลอดเดือนสิงหาคม จะเป็นงานตลาดของดี SMEs เกษตรไทย สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนนี้ จัดงานในธีม "แกะกล่องไอเดียไทย ก้าวไกลสู่อนาคต" ที่จําหน่ายสินค้า SMEs เกษตร ที่มีนวัตกรรม สามารถนําไปเป็นของฝากได้ ส่วนสัปดาห์สุดท้ายจะมีการจำหน่ายสินค้าเด่นจากแต่ละท้องถิ่น ผลไม้สดจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผลไม้แปรรูปที่มีแพคเกจสวยงาม สามารถจะนำไปเป็นของฝากได้ ก็ขอเชิญชวนให้มาร่วมกันสนับสนุนซื้อสินค้าคุณภาพของไทยกันมากๆ
       
       สุดท้ายนี้ผมได้ฝากกลอนไว้ 3 บท เรื่องน้ำ เรื่อง คสช. เรื่องประชารัฐ ก็จะสามารถหาอ่านได้ ถ้าใครสนใจ ในเว็บไซต์รัฐบาลไทย รายละเอียดตามหน้าจอนะครับ ก็อย่าไปถือสาเลยว่าจะถูกต้องตามฉันทลักษณ์ทุกประการ ผมพยายามเต็มที่ ผมอยากให้ทุกคนสนใจสาระ เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้อีกทางหนึ่ง
       
       ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีความสุขในช่วงวันหยุดยาว เทศกาลวันแม่ รักแม่ขณะที่แม่ยังมีชีวิตอยู่ในวันนี้ ทำให้ท่านมีความสุขนะครับ

สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้