Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 1770 จำนวนผู้เข้าชม |
“ครั้งนี้ค่อนข้างจะหยาบเล็กน้อย คือ ใช้วิธีการค่อนข้างจะทื่อ ๆ ตรง ๆ ฉันอยากจะข่ม ฉะนั้นทุกคนต้องมาเข้าคอก โดยให้มาขอใบอนุญาต”
สุทธิชัย หยุ่น นักสื่อสารมวลชนอาวุโส ผู้ร่วมก่อตั้งเครือเนชั่น เปิดฉากโจมตีผู้มีอำนาจรัฐ ที่ผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ...โดยยืนยันคัดค้าน ร่างกฎหมายฉบับนี้ชัดเจน
อันตรายของความคิดข้างต้น สุทธิชัย ระบุว่า คือ ผู้มีอำนาจรัฐ ที่คิดว่า การผลักดันร่างกฎหมายจะสามารถควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชนได้ หรือควบคุมการไหลเทของข่าวสารตามที่ต้องการได้ ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่ล้าสมัย ทั้งที่ความจริง ลืมไปหรือว่า สังคมสื่อสารมวลชนปัจจุบันได้แปรสภาพไป จนถึงขั้นไม่สามารถควบคุมข่าวสารในสังคมได้อีกต่อไป
“ที่น่าห่วง เพราะว่า คนอยู่ในอำนาจไม่กี่คน ตื่นเช้าขึ้นมาอ่านหนังสือพิมพ์ มักจะไม่ชอบฉบับที่นำเสนอความคิดความอ่านต่าง ๆ ซึ่งความจริงไม่ชอบแค่คอลัมน์นิสต์ของหนังสือพิมพ์บางฉบับเท่านั้น”
สุทธิชัย ชวนสังคมกระตุกต่อมคิดว่า กรณีที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านจะควบคุมทุกคนในสังคมไทย ไม่เฉพาะบุคคลที่มีอาชีพสื่อสารมวลชนกระแสหลักเท่านั้น แต่คำว่า ‘ทุกคน’ ในที่นี้ หมายถึง ใครก็ตาม แม้แต่ใช้โซเซียลมีเดียในการสื่อสารล้วนเข้าข่ายทั้งสิ้น นั่นแสดงว่า ประชาชนกว่าครึ่งค่อนประเทศต้องมาขอรับใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพ เพื่อจะได้แสดงความคิดเห็นตามปกติได้
ปรากฎกรณ์ครั้งนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า ผู้มีอำนาจไม่เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกข่าวสาร ด้วยยังคิดว่า หากสามารถควบคุมบุคคลจำนวนหนึ่งได้ จะสามารถควบคุมทุกอย่างได้ ซึ่งแท้จริงแล้วคนในวงการสื่อสารมวลชนจับสัญญาณนี้มาระยะหนึ่งแล้ว โดยระยะแรกกังวลว่า สังคมอาจไม่เห็นถึงอันตรายที่แฝงตัวมากับร่างกฎหมายฉบับนี้ จนมาถึงวันนี้รู้สึกดีใจที่ทุกคนได้เห็นแล้วว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องการควบคุมคนทั้งสังคม
ทั้งนี้ ต่อให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ให้สัดส่วนคณะกรรมการในสภาวิชาชีพมาจากผู้แทนของสื่อมวลชน 100% สุทธิชัย บอกว่า รับไม่ได้ เพราะผิดหลักการที่ว่า คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่มีสิทธิจะมากำกับว่า คุณทำสื่อได้ คุณทำสื่อไม่ได้ หรือคุณจะเป็นสื่อ คุณต้องมาสอบใบอนุญาต ซึ่งยังนึกไม่ออกว่า จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
“ถ้าจะเริ่มเขียนคุณสมบัติของผู้ทำอาชีพสื่อสารมวลชนโดยให้มีใบอนุญาต ตั้งคำถามว่า คุณสมบัติข้อแรกคืออะไร และต้องเรียนจบอะไร ถามอีกว่า จบชั้นป.4 เป็นสื่อสารมวลชนได้หรือไม่ หรือจบแพทย์เป็นสื่อสารมวลชนได้หรือไม่ ซึ่งถ้าคิดอย่างตื้น ๆ ต้องเขียนคุณสมบัติว่า จบวารสารศาสตร์ หรือจบนิเทศศาสตร์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้”
เขาให้เหตุผลว่า อาชีพสื่อสารมวลชนต้องมีตัวแทนจากทุกสาขาวิชาชีพ ฉะนั้นใครก็ตามที่มีหลักการปฏิบัติ มีความซื่อสัตย์ต่อข้อเท็จจริง และมีจริยธรรมวิชาชีพ สามารถเป็นสื่อมวลชนได้ทุกคน ซึ่งการที่ผู้มีอำนาจอ้างว่า ต้องมีอนุญาตการประกอบวิชาชีพเหมือนแพทย์ หรือวิศวกร แตกต่างกัน เพราะสื่อสารมวลชนเป็นตัวแทนของประชาชนทุกรูปแบบ หากเรียนจบแพทย์ อยากทำข่าวอาชญากรรมก็ทำได้ หากมีความเข้าใจ
สุทธิชัย กล่าวถึงเสรีภาพสื่อสารมวลชนที่มีอยู่ทุกวันนี้กำลังสึกกร่อนไปจากระบบทุนนิยม และกติกาทางการที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีดิจิทัลทีวี หรือการควบคุมออนไลน์ ฉะนั้นความเข้มข้นของคนทำสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะคนรุ่นหลัง จึงแผ่วอ่อนลง นักสื่อสารมวลชนรุ่นใหม่จึงต้องตระหนักให้มากว่า การปกป้องเสรีภาพ คือ การปกป้องเสรีภาพของสังคมส่วนรวม เพราะเสรีภาพของสื่อ คือ เสรีภาพของประชาชน
การที่ผู้มีอำนาจระบุว่า สื่อกำกับดูแลกันเองไม่ได้ ตั้งคำถามว่า มีอาชีพใดบ้างที่กำกับดูแลกันเองได้ 100% มีอาชีพใดบ้างที่ไม่มีคนไม่ดี คนคอร์รัปชัน เชื่อว่าทุกอาชีพมีหมด ฉะนั้นผู้มีอำนาจรัฐไม่มีสิทธิตัดสิน เพราะสังคมจะทราบเองว่า สื่อใดไม่ยอมเล่นตามกติกา แล้วสังคมจะเป็นผู้ตัดสินเอง ไม่ใช่รัฐบาลหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตัดสิน
ที่สำคัญ สื่อสารมวลชนไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับรัฐบาลเหมือนอย่างที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ข้อคิดไว้ เพราะจุดเดียวของสื่อสารมวลชนคือการเชื่อมโยงกับประชาชน ดังนั้น หากจะผลักดันกฎหมายใด ๆ ออกมา จะต้องเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมให้สามารถกำกับดูแลกันเอง โดยผ่านการตรวจสอบของประชาชนเท่านั้น ไม่ใช่จากผู้มีอำนาจรัฐ
หมายเหตุ: สุทธิชัย หยุ่น นักสื่อสารมวลชนอาวุโส ผู้ร่วมก่อตั้งเครือเนชั่น แสดงความคิดเห็นในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม 2560 ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ต่อการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ...
ต้นฉบับ: https://www.isranews.org/isranews/55939-freedommedia030560111.html
18 ส.ค. 2567