‘อลงกรณ์’ ลั่นลาออกจาก รองประธาน สปท. หากร่างกฏหมายบังคับตีทะเบียนสื่อ

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  1563 จำนวนผู้เข้าชม  | 

‘อลงกรณ์’ ลั่นลาออกจาก รองประธาน สปท. หากร่างกฏหมายบังคับตีทะเบียนสื่อ

3 พฤษภาคม วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ยื่น 4 ข้อเสนอ จี้รัฐบาลยับยั้ง ร่างกฏหมายคุมสื่อ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ‘อลงกรณ์ พลบุตร’ ท้าลาออกจากรองประธาน สปท. หากบังคับนักข่าวตีทะเบียน ขณะที่ ‘เทพชัย หย่อง’ เผยไทยถูกจัดประเทศคุกคามสื่อ 142 ของโลก หากผ่านกฏหมายมีหวังย่ำแย่

วันที่ 3 พฤษภาคม 2560 คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป จัดงานวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ซึ่งปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อ “เสรีภาพสื่อกับอนาคตสังคมไทย” โดยมีคณะฑูต ผู้บริหารองค์กรสื่อ สื่อมวลชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

โดยคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป ขอให้รัฐบาลยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... เพราะนอกจากจะเป็นร่างกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นยังมีเนื้อหาที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ (รธน.) พ.ศ.2560 รวมถึงให้ยกเลิกบรรดาประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีเนื้อหาจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน เนื่องจาก รธน. มีเนื้อหารับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนไว้ชัดเจน

นอกจากนี้ยังขอให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคข่าวสารมีส่วนร่วมในการตรวจสอบควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้อยู่ในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพอย่างเข้มข้น และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ยืนยันว่า เสรีภาพของสื่อมวลชนมีความสำคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำของทุกฝ่ายที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน เป็นสิ่งที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนไม่อาจยอมรับได้ และจะต่อสู้เรียกร้องจนถึงที่สุด

(อ่านประกอบ:30 องค์กรวิชาชีพ แถลงจี้รัฐบาลหยุดกฏหมายคุมสื่อ หนุนประชาชนตรวจสอบการทำหน้าที่)

นายเทพชัย หย่อง ประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ ว่าเป็นตัวอย่างชัดเจนของความพยายาม ที่จะสร้างกลไกที่มีอำนาจทางกฎหมายในการควบคุมสื่อมวลชนและเปิดทางให้อำนาจรัฐเข้าแทรกแซง รวมถึงปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชนในการรายงานข้อมูลข่าวสารและตรวจสอบ

ทั้งที่ในอดีตในยุคประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยได้รับการยกย่องด้านเสรีภาพสื่อมวลชนให้เป็นแม่แบบประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค แต่ปัจจุบันกลับถูกจัดอันดับ 142 ของโลก ให้เป็นประเทศที่ถูกคุกคามทางเสรีภาพสื่อมวลชน ดังนั้น หากร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ บังคับใช้ จะยิ่งทำให้เสรีภาพของสื่อมวลชนไทยย่ำแย่กว่าที่เป็นอยู่ ฉะนั้นประเทศจะเป็นประชาธิปไตยยั่งยืน ผู้มีอำนาจต้องมีธรรมาภิบาล ตรวจสอบได้

ขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ ของ สปท. จะไม่มีการตีทะเบียนสื่อโดยเด็ดขาด หากพบว่าบังคับให้ตีทะเบียนสื่อจะลาออกจากตำแหน่งรองประธาน สปท.ทันที อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา การร่างกฎหมายได้ยึดหลักการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนภายใต้การปกครองกันเอง ในรูปแบบสภาวิชาชีพที่มีกฎหมายรองรับ เหมือนวิชาชีพอื่น ๆ ที่มีมาตรฐานสูง เพื่อให้พ้นจากข้อครหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นและความเสื่อมโทรมของวงการสื่อมวลชนที่มีคนไม่ดีเข้ามาแอบเฝงและละเมิดจรรยาบรรณวิชาชีพ

“เมื่อไม่มีการตีทะเบียนสื่อ คณะกรรมการของสภาวิชาชีพจึงไม่มีอำนาจใด ๆ ที่จะเข้ามาแทรกแซง ครอบงำ กดขี่ หรือปิดปากสื่อ ดังนั้นคณะกรรมการของสภาวิชาชีพทั้ง 15 คน มีผู้แทนภาครัฐเพียง 2 คนเท่านั้น ซึ่งจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อน ไม่ได้มุ่งใช้อำนาจรัฐ ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีปลัดกระทรวงต่าง ๆ แม้แต่คนเดียวเข้ามาอยู่ในสภาวิชาชีพ” รองประธาน สปท. กล่าวในที่สุด

ต้นฉบับ: https://www.isranews.org/isranews-news/55933-freedom0305601.html

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้