รุกกำกับโฆษณาอาหารและยาในสื่อออนไลน์

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  4062 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รุกกำกับโฆษณาอาหารและยาในสื่อออนไลน์

รุกกำกับโฆษณาอาหารและยาในสื่อออนไลน์

ตั้งวงหาทางออกจัดการปัญหาการโฆษณาอาหารและยาผิดกฎหมายในสื่อออนไลน์ หวังคุ้มครองลูกหลานตกเป็นเหยื่อ

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นประธานการประชุม NBTC Public Forum เรื่อง “การกำกับโฆษณาอาหารและยาผิดกฎหมาย จากวิทยุโทรทัศน์สู่โลกออนไลน์” กล่าวว่า เวทีวันนี้จัดขึ้นเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลเรื่องโฆษณาอาหารและยา นักวิชาการ องค์กรวิชาชีพ และผู้ประกอบการ ต่อสถานการณ์การโฆษณาอาหารและยาผิดกฎหมายที่เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ ที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช. มีแนวทางในการกำกับดูแลอย่างชัดเจนในสื่อวิทยุและโทรทัศน์แล้ว ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเล็กน้อย โดยประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เครือข่ายผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด แต่ปัญหาการโฆษณาอาหารและยาที่ผิดกฎหมายกลับไปพบมากขึ้นเรื่อยๆ ในสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นกูเกิ้ล เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ยูทูป รวมถึงไอพีทีวี ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่มีหน่วยงานใดที่จะสามารถติดตามกำกับได้สำเร็จ แต่ทุกภาคส่วนต้องสร้างความร่วมมือกัน ไม่ว่าจะในขณะที่เรากำลังก้าวสู่ยุค 4.0 ในโลกดิจิตอลมีทั้งอินเทอร์เน็ตสีขาวและสีดำ ถ้าหน่วยงานกำกับดูแลอ้างว่าไม่มีกฎหมายใดจัดการได้จะไม่สามารถทำอะไรได้เลย แต่ถ้าทุกฝ่ายจริงจังที่จะทำ กฎหมายจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งแต่ละประเทศมีวิธีการในการคุ้มครองผู้บริโภคทางอินเทอร์เน็ตที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นเรื่องนี้เราต้องหาทางออกที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยให้ได้

“ที่ผ่านมามีเด็กวัยรุ่นที่เสียชีวิตจากการกินยาลดความอ้วนที่ซื้อจากอินเทอร์เน็ต มีผู้เสียหายที่หน้าพังยับเยินจากครีมหน้าขาวใสที่หาซื้อจากเฟซบุ๊ก และอื่นๆ อีกมาก การกำกับเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ท้าทายองค์กรกำกับทั่วโลก แต่ถ้าทุกฝ่ายจริงใจเพื่อคุ้มครองลูกหลานของเราไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการหลงเชื่อจากการถูกหลอกลวงจากการขายสินค้าเป็นเท็จเหล่านี้ ดิฉันเชื่อว่าจะแก้ปัญหานี้ได้แน่นอน” สุภิญญากล่าว


 
ด้านเภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการ อย. เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่าการโฆษณาอาหารและยาทางออนไลน์กำกับดูแลได้ยากมาก ถึงแม้ว่ากฎหมายกำหนดว่าก่อนที่จะโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งอาหาร ยา และเครื่องมือแพทย์จะต้องขออนุญาตจาก อย.ก่อนทุกครั้ง ไม่ว่าจะเผยแพร่ในสื่อช่องทางไหนก็ตาม แต่ปัจจุบัน โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผ่านสื่อออนไลน์เหล่านี้ไม่เคยขออนุญาตจาก อย. ส่วนใหญ่จะผิดกฎหมาย พบยาและอาหารหลายประเภทที่โฆษณาเกินจริงหลอกลวงผู้บริโภค ที่ผ่านมาต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ ตำรวจ รวมทั้งผู้ประกอบการที่ให้บริการด้วย ซึ่งหากทุกหน่วยงานเห็นความสำคัญของปัญหานี้ร่วมกันและแก้ปัญหา ทำงานอย่างใกล้ชิด เหมือนที่ อย. กำกับโฆษณาอาหารและยาในสื่อวิทยุและโทรทัศน์กับ กสทช. มาตลอด ปัญหานี้จะลดลงได้จริง

นางสาวสถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าตนได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ด้านสื่อและโทรคมนาคม (คอบช.) ให้ศึกษาวิจัยการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายของหน่วยงานกำกับดูแล ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ พบผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากเครื่องสำอาง เช่น ครีมเพิร์ลลี่ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรตราภูมิไทย ซึ่งได้ร้องเรียนไปยังหน่วยต่างๆ รวมทั้งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วย และยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดีกับผู้ประกอบการที่หลอกลวง จากปัญหาดังกล่าวพบว่าหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะ อย.ต้องเร่งจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการอนุญาตโฆษณาต่างๆ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก ต้องมีการปรับปรุงกฎหมายให้มีบทลงโทษที่สูงขึ้น และประกาศใช้โดยเร็ว รวมทั้งต้องใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และเด็ดขาดเพื่อไม่ให้มีการกระทำผิดซ้ำ หน่วยงานกำกับดูแลต้องสั่งระงับการขายสินค้า ระงับการโฆษณาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายทุกช่องทางทันทีเมื่อมีผู้บริโภคได้รับผลกระทบทางสุขภาพ หน่วยงานกำกับดูแลต้องกำกับดูแลการโฆษณาทางโซเชียลมีเดียอย่างจริงจัง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้